สมุนไพรไทยสำหรับคนความดันต่ำ
เมื่อพูดถึงอาการของโรคความดันต่ำ สิ่งที่คนมักนึกถึงก็คือกลุ่มอาการวิงเวียนศีรษะ หน้ามืด เป็นลม มองเห็นภาพไม่ชัด ใจสั่น มึนงง สับสน เป็นต้น อาการเหล่านี้สะท้อนว่าคุณอาจเริ่มมีภาวะโรคความดันโลหิตต่ำเข้าแล้ว โดยส่วนใหญ่มักเกิดกับวันรุ่น วัยกลางคน ข้อดีคือภาวะนี้เป็นอันตรายน้อยกว่าความดันสูง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรมองข้าม คุณสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยวิธีดังต่อไปนี้
สาเหตุของภาวะความดันโลหิตต่ำ
ความดันต่ำ คือ ภาวะที่ความดันโลหิตต่ำกว่า 90/60 มิลลิเมตรปรอท โดยเทียบจากค่าความดันมาตรฐานที่ 120/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งเป็นค่าโดยปกติของคนทั่วไป
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ทำความเข้าใจสักนิด “ความดันโลหิตต่ำ” หลายคนเข้าใจว่าเป็นโรคชนิดหนึ่ง แต่ความจริงแล้วมันเป็นอาการหรือภาวะที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของร่างกาย เกิดได้จากหลายสาเหตุหรืออาจเกิดร่วมกับโรคอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจ หัวใจเต้นผิดจังหวะ การเสียเลือดจากอุบัติเหตุ การรับประทานยาบางชนิด เกิดจากภาวะขาดน้ำเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำปริมาณมาก เช่น อาการท้องเสีย ออกกำลังกายหนักเกินไป อาเจียน เหล่านี้ก็อาจทำให้ความดันโลหิตต่ำลงได้ และสาเหตุที่มักพบมากที่สุดก็คือพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ความเครียด การไม่ออกกำลังกาย เป็นต้น
สมุนไพรรักษาโรคความดันต่ำ
ข่าวดีสำหรับผู้ที่มักมีภาวะความดันโลหิตต่ำหรือผู้ที่มีโรคประจำตัวที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะความดันต่ำคือ ไม่จำเป็นต้องหายาที่แพงแต่อย่างใด เพราะ “สมุนไพรไทย” ก็สามารถบำรุงรักษาโรคความดันต่ำได้ดีทีเดียว
สมุนไพรไทยในการรักษาความดันต่ำเหมาะกับการใช้เป็นตำรับยา หมายถึง การใช้สมุนไพรหลายตัวประกอบกัน ซึ่งจะมีสมุนไพรบางตัวเป็นยาหลัก บางตัวเป็นตัวยารอง แต่เมื่อประกอบกันแล้วจะเป็นตำรับที่ลงตัว สำหรับตำรับยาสมุนไพรที่เหมาะกับการรักษาโรคความดันโลหิตต่ำ ได้แก่ เทียนทั้ง 5 หรือเบญจเทียน (ประกอบด้วย เทียนดำ, เทียนแดง, เทียนขาว, เทียนข้าวเปลือก และเทียนตาตั๊กแตน) และโกฐกระดูก
- เทียนดำ เมล็ดมีสรรพคุณบำรุงโลหิต ช่วยในเรื่องระบบการหมุนเวียนของเลือด สามารถใช้เป็นยาฟอกเลือดได้ ช่วยรักษาโรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงสามารถนำไปผสมกับสมุนไพรอื่น ๆ เพื่อใช้ในการรักษาโรคเบาหวาน
- เทียนแดง สรรพคุณของเทียนแดงนั้นเป็นยาเย็น สามารถบำรุงรักษาได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะปัสสาวะ รวมถึงสามารถลดไขมันในเลือดได้
- เทียนขาว นอกจากจะเป็นตำรับยาแก้อาการความดันโลหิตต่ำแล้ว สรรพคุณของเทียนขาวนั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการบำรุงธาตุในร่างกาย ช่วยขับเสมหะ ใช้ปรุงเป็นยาหอม ใช้ผสมกับยาระบายช่วยแก้อาการปวดมวน ใช้เป็นยาฝาดสมานแก้อาการท้องเสีย ฯลฯ จึงมักปรากฏเทียนขาวในตำรับยาหลายสูตร
- เทียนข้าวเปลือก มีสรรพคุณโดยรวมเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยขับลม แก้อาเจียน บำรุงโลหิต และใช้ในตำรับยาหอม รักษากลุ่มอาการทางระบบไหลเวียนโลหิต จัดอยู่ในตำรับยาพิกัดเทียนหลายตำรับ
- เทียนตาตั๊กแตน มีสรรพคุณในการแก้ลมวิงเวียน แก้อาการหน้ามืด ตาลาย ใจสั่น คลื่นเหียน อาเจียน แก้ลมจุกแน่นใน
- โกฐกระดูก คือส่วนของรากที่นำมาใช้เป็นยา มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมยาวเป็นรูปกระสวยคล้ายกระดูก สรรพคุณมีหลากหลาย สามารถบำรุงรักษาอาการที่เกี่ยวกับปอด กระเพาะอาหาร ลำไส้ใหญ่ ตับ และเป็นยาบำรุงโลหิตได้ด้วย
วิธีการรับประทาน
ในส่วนของวิธีการใช้สมุนไพรนั้น สามารถนำไปปรุงได้หลากหลายรูปแบบ หรือบดทำเป็นยาลูกกลอน หรืออัดใส่แคปซูลแล้วรับประทานวันละ 2 ครั้งเช้า-เย็นก็ได้ หรือหากนำไปต้ม ควรใช้หม้อดิน หม้อเคลือบ หรือจะเป็นหม้อสแตนเลสก็ได้ แต่ที่ไม่แนะนำคือหม้ออะลูมิเนียม
ส่วนวิธีการต้มนั้นก็เพียงนำเอาสมุนไพรที่หาได้ทั้งหมดมาต้มรวมกัน โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที อาจเพิ่มเวลานิดหน่อยได้หากมีสมุนไพรส่วนที่เป็นแก่นไม้ วิธีการรับประทานนั้น สามารถรับประทานน้ำสมุนไพรได้ทุกวันในปริมาณครึ่งแก้วก่อนอาหาร 3 มื้อ ติดต่อกัน 3-5 วัน เพียงเท่านี้ก็จะช่วยปรับธาตุ เลือดลมภายในร่างกาย ช่วยลดอาการความดันโลหิตต่ำได้แล้ว ยิ่งถ้าหากปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร รวมทั้งเพิ่มการออกกำลังกาย ยิ่งจะช่วยทำให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น