โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

โรคผิวหนังเรื้อรังที่พบบ่อย ไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ แต่เกิดจากความผิดปกติในร่างกายที่ต้องระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 31 มี.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 28 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

โรคเซ็บเดิร์ม (Seborrheic Dermatitis) หรือโรคผื่นแพ้ต่อมไขมัน แพทย์บางท่านก็เรียกว่า โรครังแคบนใบหน้า โรคผื่นแพ้ต่อมน้ำมัน โรคผื่น ผิวหนังอักเสบบริเวณผิวมัน โรคนี้เป็นโรคผิวหนังเรื้อรังที่พบบ่อยในคนไทย แม้จะไม่ใช่โรคติดต่อ ไม่ใช่โรคติดเชื้อ อาการไม่รุนแรงมากนัก แต่ก็ทำลายความมั่นใจให้ผู้ป่วยโรคนี้ได้ไม่น้อย 

โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

เป็นภาวะที่ผิวหนังมีอาการอักเสบจากต่อมไขมันใต้ผิวหนัง เกิดเป็นผื่นแดง อาจมีขุย หรือสะเก็ดสีขาว ดูคล้ายรังแค สะเก็ดสีเหลือง การอักเสบจะกินบริเวณเป็นวงกว้างโดยเฉพาะบริเวณที่มีต่อมไขมันมาก เช่น ใบหน้า (โดยเฉพาะหัวคิ้ว ข้างจมูก และหลังหู ) หนังศีรษะ ช่วงบนของหน้าอก หลังส่วนบน พบบ้างบริเวณรักแร้ สะดือ และขาหนีบ รวมทั้งมีอาการคัน ทั้งนี้ความรุนแรงของแต่ละคนไม่เท่ากัน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์มสามารถเกิดได้กับคนทุกเพศทุกวัย มีรายงานว่า พบผื่นนี้ในทารกแรกเกิด - 2 เดือน ด้วย กล่าวคือ เมื่อเริ่มมีการสร้างต่อมไขมันขึ้นมา ผื่นก็จะกำเริบขึ้นนั่นเอง  อย่างไรก็ดี โรคนี้ไม่ใช่โรคติดเชื้อ หรือโรคติดต่อ การสัมผัส หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วยจึงปลอดภัย แต่ถึงอย่างไร ไม่แนะนำข้อหลัง เนื่องจากอาจติดโรคติดต่ออื่นๆ ได้

สาเหตุการเกิดโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

ยังไม่เป็นที่แน่ชัดของสาเหตุการเกิดโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม แต่มีทฤษฎีได้พยายามอธิบายสาเหตุการเกิดโรคว่า เกิดจากปัจจัยภายนอกและภายใน ดังนี้

ปัจจัยภายใน

  • เกิดจากเชื้อรา Pityrosporum ovale หรือเชื้อยีสต์ Malassezia furfur 
  • ฮอร์โมนในร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะฮอร์โมนแอนโดรเจน
  • ความผิดปกติของระบบประสาท ทำให้ต่อมไขมันผลิตไขมันออกมามากขึ้น
  • ความเครียด
  • พันธุกรรม
  • การตอบสนองต่อระบบภูมิคุ้มกันในแต่ละคน

ปัจจัยภายนอก

  • สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงของอากาศ เช่น อากาศร้อนจัด อากาศเย็นจัด
  • มีการสัมผัสกับสิ่งที่ระคายเคือง

โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์มมักเป็นๆ หายๆ ตามปัจจัยกระตุ้นในแต่ละบุคคล เช่น อากาศ จึงจัดเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ทำได้แค่ควบคุมอาการให้ทุเลาลง หรือป้องกันไม่ให้อาการรุนแรงจนรบกวนคุณภาพชีวิต

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม

ควรพบแพทย์เพื่อรักษาให้ถูกวิธี เนื่องจากการรักษาโรคนี้ไม่ได้ยุ่งยาก ขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค อาการร่วม และความรุนแรงของโรค รวมทั้งใช้รักษาเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อควบคุมอาการ

  • หากมีอาการของโรคที่หนังศีรษะร่วมกับการเกิดรังแคมักจะให้มีการใช้แชมพูที่มีส่วนผสมของ ซิงก์ พิริไทโอน ทาร์ เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Zinc pyrithione tar selenium sulfide) หรือ กรดซาลิไซลิก (Salicylic acid) 
  • หากหนังศีรษะในบริเวณที่เกิดอาการมีลักษณะหนามากอาจมีการแนะนำให้คนไข้ใช้มิเนรัลออยล์ (Mineral oil) ทาข้ามคืน และสระออกด้วยแชมพูในตอนเช้า 
  • หากมีอาการของโรคที่บริเวณหนังศีรษะ ร่วมกับบริเวณลำตัวและใบหน้า อาจมีการแนะนำให้คนไข้รักษาความสะอาดให้ดีและมีการใช้ไฮโดรคอร์ติโซน (Hydrocortisone) ร่วมด้วย

รู้จักยากลุ่มต่างๆ 

ยาในกลุ่ม Selenium sulfide

เซเลเนียม ซัลไฟด์ (Selenium sulfide) มีฤทธิ์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลส์บริเวณผิวหนังชั้นอิพิเดอมิส (Epidermis) และฟอลลิคูลาร์ อิพิเทอเลียม (Follicular epithelium) ดังนั้นจึงทำให้เซลส์ผิวหนังชั้นคอร์นีโอไซด์ (Corneocyte) มีการผลิตลดลงซึ่งจะทำให้มีการลอกของผิวหนังลดลงตามไปด้วย 

ข้อบ่งใช้:  ใช้ในการรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม รวมถึงรังแค โรคเกลื้อน โรคสะเก็ดเงิน โรคผิวหนังอักเสบเรื้อรัง ไขบนหนังศีรษะ อาการคันบนผิวมันอื่นๆและสภาวะผิวหนังชั้นนอกหลุดลอกทั้งตามลำตัวและบนหนังศีรษะ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ขนาดใช้: นวดแชมพูยาปริมาณ 5 – 10 มิลลิลิตรลงบนหนังศีรษะที่เปียก ปล่อยยาให้ซึมลงหนังศีรษะเป็นระยะเวลา 2 – 3 นาทีแล้วล้างออก ใช้แชมพูยาซ้ำอีกครั้งหนึ่งแล้วจึงล้างออกและล้างมือให้สะอาดหลังใช้ แนะนำให้ใช้แชมพูยา 2 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์เพื่อการควบคุมอาการของโรคที่ดี แล้วจึงค่อยๆ ลดจำนวนครั้งลงจากครั้งละสัปดาห์ เป็นสองสัปดาห์หนึ่งครั้ง สามสัปดาห์หนึ่งครั้ง หรือสี่สัปดาห์หนึ่งครั้งในบางกรณี ห้ามใช้แชมพูยามากกว่าจำนวนครั้งที่กำหนด

ข้อควรระวัง: ผู้ป่วยต้องทำความเข้าใจถึงอาการของโรคที่มีสภาวะเรื้อรังว่า เป้าหมายของการใช้ยาคือ การควบคุมอาการของโรคมากกว่าการรักษาให้หายขาด ดังนั้นจึงจำเป็นที่จะต้องใช้ยาอย่างต่อเนื่องและไม่ควรใช้ยาในบริเวณที่มีการอักเสบ เป็นแผลเปิด หรือติดเชื้อ หากมีการระคายเคือง หรืออาการของโรคแย่ลงให้หยุดใช้ทันที

ยาในกลุ่ม Ketoconazole

คีโตโคนาโซล (Ketoconazole) 2% เป็นแชมพูยาที่มีลักษณะเป็นของเหลวสีส้มแดง ใช้สำหรับภายนอก มีฤทธิ์เป็นสารต้านเชื้อราหลายชนิดยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราในกลุ่มเดอมาโตไฟต์ (Dermatophytes) และยีสต์โดยการเปลี่ยนแปลงการซึมผ่านของเซลล์เมนเบรน 

ข้อบ่งใช้:  Ketoconazole 2% ใช้ในการรักษาโรคเกลื้อน ที่เกิดจาก หรือคาดว่าจะเกิดจากเชื้อรา Pityrosporum orbiculare หรือเชื้อยีสต์ Malassezia furfur

ขนาดใช้: ให้นวดแชมพูบริเวณผิวที่เปียกหมาดๆ หรือบริเวณที่มีอาการโดยรอบและทิ้งไว้ 5 นาทีจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด การใช้แชมพูยา Ketoconazole 2% หนึ่งครั้งก็เพียงพอแล้วต่อการควบคุมอาการของโรค

ข้อควรระวัง: แชมพูยา Ketoconazole 2% อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองบริเวณเยื่อบุตาได้จึงควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสกับบริเวณดังกล่าว จากการรายงานพบว่า แชมพูยาอาจทำให้ผมเกิดการเปลี่ยนสีและมีสภาพพื้นผิวเส้นผมที่เปลี่ยนไปได้ ผู้ป่วยที่มีอาการแพ้เช่น อาการผื่นคัน ผิวมีปฏิกริยาต่อแชมพูยา มีอาการบวมอย่างรุนแรง มีอาการลมพิษ หรือหายใจไม่ออกควรหยุดใช้แชมพูยาและติดต่อแพทย์ทันที

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ยาในกลุ่ม Corticosteroids

กลไกการทำงานของยาในกลุ่มคอติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroid) คือ การลดการอักเสบที่ไม่เฉพาะเจาะจง เมื่อมีการใช้  Corticosteroids ในบริเวณที่มีการอักเสบ ตัวจะไปขัดขวางการเคลื่อนย้ายของ macrophages และ leukocytes สู่บริเวณดังกล่าวทำให้มีการลดลงของอาการบวม ผื่นแดงและคัน 

ข้อบ่งใช้: Corticosteroids ใช้สำหรับการลดการอักเสบ แดง และคันชั่วคราว หรือการมีอาการคันร่วมกับการระคายเคือง ติดเชื้อ และมีผื่นอันเป็นสาเหตุมาจากโรคเกลื้อน อาการแมลงกัด พิษจากต้นไม้ พิษจากสบู่ น้ำยาทำความสะอาด เครื่องสำอาง โรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์ม โรคสะเก็ดเงิน อาการคันบริเวณอวัยวะเพศและรูทวาร

ขนาดใช้: โดยทั่วไปให้ใช้เท่าที่จำเป็น 2 – 4 ครั้งต่อวัน ในการใช้ระยะสั้นอาจแนะนำให้ใช้ 3 – 4 วันติดต่อกันต่อสัปดาห์ หรือใช้ 1 วันต่อสัปดาห์ในปริมาณตามแพทย์สั่ง เพื่อให้เกิดผลสูงสุดและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น หากใช้ในเด็กควรใช้ในปริมาณต่ำในบริเวณกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณที่ตอบสนองต่อยาได้ง่าย เช่น ใบหน้า หรือข้อพับต่างๆ

ข้อควรระวัง: ยังไม่มีการศึกษาถึงการใช้ Corticosteroids ในสตรีตั้งครรภ์จึงควรใช้ต่อเมื่อมีความจำเป็นเท่านั้น ห้ามใช้ Corticosteroids ในบริเวณที่มีการติดเชื้อเนื่องจากอาจทำให้อาการติดเชื้อรุนแรงขึ้นได้ ยา Corticosteroids เป็นยาใช้สำหรับภายนอกเท่านั้น ควรหลีกเลี่ยงการสูดดม การรับประทานหรือสัมผัสกับตา เปลือกตาและเยื่อเมือกของร่างกาย

การใช้ยาในกลุ่มอื่นๆ

นอกจากการรักษาด้วยยาข้างต้น ยังมีการรักษาด้วยวิธีการอื่นๆอีก เช่น การใช้ แชมพูที่มีส่วนประกอบของทาร์ (Tar) หรือ ไคโคลพิรอกซ์ (Ciclopirox) 1% รวมถึงการใช้สารสกัดจากทรีทีออยล์ (Tea tree oil)

ยาทา tacrolimus ให้ผลการรักษาที่ดีแต่มีราคาแพง มีผลข้างเคียงสูงต้องได้รับคำแนะนำดูแลจากแพทย์

การรักษาโรคผิวหนังอักเสบเซ็บเดิร์มจำเป็นต้องใช้เวลาราว 1-2 ปี และการปฏิบัติตัวตามที่แพทย์สั่งร่วมด้วยจึงจะเห็นผลการรักษา

ข้อควรปฏิบัติ

  • ไม่ใช้เครื่องสำอางทุกชนิดบริเวณที่เป็นโรค โดยเฉพาะคอนซีลเลอร์ หรือรองพื้นหนาๆ เพื่อปกปิดรอยผื่น เพื่อป้องกันการอุดตันของชั้นผิวหนัง และป้องกันการแพ้ สิวที่อาจเกิดขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงความเครียด
  • ดื่มน้ำมากๆ 
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคืองผิว

9 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Vardy, D., et al. (1999). A double-blind, placebo-controlled trial of an Aloe vera (A. barbadensis) emulsion in the treatment of seborrheic dermatitis [Abstract]. (https://www.tandfonline.com/doi/abs/10.3109/09546639909055904)
Trüeb, R. M., et al. (2018). Scalp condition impacts hair growth and retention via oxidative stress. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6369642/)
Seborrheic dermatitis: Tips for managing. (n.d.). (https://www.aad.org/diseases/a-z/seborrheic-dermatitis-self-care)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป