ความหมายภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
เป็นภาวะที่ร่างกายมีความผิดปกติของระบบหายใจ ทำให้มีการคั่งของกรดคาร์บอนิกเนื่องจากการขับ CO2 ออกไม่ทัน หรือการระบายอากาศในถุงลมลดลง เลือดจึงมีฤทธิ์เป็นกรด
ตรวจปอด วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 290 บาท ลดสูงสุด 64%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
สาเหตุภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
เกิดจากความผิดปกติของทางเดินหายใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic obstructive pulmonary disease) โรคหอบหืดเฉียบพลัน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง (Chronic bronchitis) กลุ่มอาการหายใจลำบากในผู้ใหญ่ (Adult respiratory distress syndrome) โรคปอดบวม ภาวะที่มีการระบายอากาศน้อย มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ มีการบาดเจ็บของทรวงอก โรคโปลิโอ กลุ่มอาการกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre’ syndrome) โรคมายแอสทีเนียเกรวิส (Myasthenia gravis) เป็นต้น เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทส่วนกลางถูกกดจากยาแก้ปวด มอร์ฟีน ยาสลบ ยาสงบประสามบาร์บิทูเรต เป็นต้น
พยาธิสรีรภาพภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
เมื่อมีการคั่งของ CO2 ในร่างกาย CO2 จะรวมกับน้ำได้เป็นกรดคาร์บอนิก กรดคาร์บอนิกจะแตกตัวให้ H+ กับ HCO3- หากกรดคาร์บอนิกมีจำนวนมากจะทำให้ pH ของเลือดต่ำลง เมื่อ PaCO2 เพิ่มขึ้น CO2 จะเข้าไปยังเนื้อเยื่อและของเหลวต่างๆ ในร่างกาย รวมทั้งในน้ำไขสันหลัง และศูนย์ควบคุมการหายใจที่เมดัลลา CO2 จะไปรวมกับน้ำให้กรดคาร์บอนิกเช่นกัน และต่อไปจะแตกตัวให้ H+ ซึ่งจะกระตุ้นศูนย์ควบคุมการหายใจ ทำให้หายใจเร็วขึ้นเพื่อเพิ่มการขับ CO2 ออกจากปอด นอกจากนี้ภาวะที่เลือดมี H+ สูงจะมีผลให้หลอดเลือดที่สมองขยายตัวเพิ่มเลือดไปคั่งที่สมองบวมและกดการทำงานของระบบประสาท เมื่อกลไกในระบบการหายใจล้มเหลว PaCO2 จะเพิ่มขึ้นและกระตุ้นให้ไตดูดซึม HCO3- และ Na+ กลับเพิ่มขึ้น และบัพเฟอร์ของไตจะขับ H+ ออกไปในรูปของแอมโมเนียมและทำให้ NaHCO3 เพิ่มขึ้นในพลาสมา pH ของเลือดเพิ่มขึ้นได้เล็กน้อย แม้กลไกควบคุมภาวะกรด-ด่างในร่างกายจะช่วยชดเชยแต่ยังไม่เพียงพอ H+ ที่เกินจะเคลื่อนเข้าเซลล์แลกเปลี่ยนกับ K+ ให้ออกมานอกเซลล์ และเนื่องจากมีภาวะขาดออกซิเจนจะทำให้เกิดการเผาผลาญโดยไม่ใช้ออกซิเจน เป็นเหตุให้เกิดความไม่สมดุลของกรดด่างเพิ่มขึ้น และมีผลกดการทำงานของระบบประสาทและหัวใจ ผู้ป่วยที่มีภาวะกรดจากการหายใจ
ชนิดเฉียบพลันจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรดหรือไม่ ขึ้นกับความรุนแรงของสาเหตุและอัตราการคั่งของ CO2 ส่วนผู้ป่วยที่มีภาวะนี้เรื้อรัง pH จะมีค่าปกติเพราะไตจะช่วยกำจัด H+ และเพิ่ม HCO3- ในพลาสมา และเมื่อ PaCO2 สูงขึ้นจะกระตุ้นเซลล์ของหลอดไตฝอยให้ขับ H+ มากขึ้น และดูดซึม HCO3- กลับมากขึ้น ความเข้มข้นของ HCO3- ในพลาสมาอาจมีค่าสูงถึง 35-40 mEq/L จึงทำให้ pH ของเลือดไม่เปลี่ยนแปลงจากปกติมากเหมือนกับภาวะกรดจากการหายใจชนิดเฉียบพลัน
อาการของภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
หากมี CO2 คั่งในเลือด (PaCO2 สูง) ชนิดเฉียบพลันจะพบชีพจรแรงและเร็ว หายใจเร็ว ความดันเลือดสูง มึนศีรษะ รู้สึกหนักศีรษะ กระสับกระส่าย หากมีภาวะ CO2 คั่งจะทำให้หลอดเลือดของสมองขยายตัวเพื่อเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมอง หากอหารรุนแรงจะพบปมประสาทตาบวม (Papilledema) ปวดศีรษะ ตาพร่า พฤติกรรมเปลี่ยน เช่น ซึมลง หวาดระแวง ประสาทหลอนกล้ามเนื้อกระตุก เหงื่อออกมาในระยะนี้ PaCO2 มักสูงกว่าปกติประมาณ 15 มม.ปรอท ในรายที่รุนแรงผิวหนังจะอุ่น และหัวใจเต้นเร็ว หัวใจห้องล่างสั่นพลิ้ว ในระยะสุดท้ายซึ่ง PaCO2 มักสูงกว่าปกติประมาณ 30 มม.ปรอท ทำให้ Tendon reflex ลดลง มี Extensor plantar response กล้ามเนื้ออ่อนแรง อัมพาต ไม่ค่อยรู้สึกตัวและหมดสติในรายที่เป็นเรื้อรังมักมีอาการหอบเหนื่อย กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศีรษะ ซึมอ่อนเพลีย ปมประสาทตาบวม และหมดสติในที่สุด
การวินิจฉัยโรคภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
มีประวัติเป็นโรคปอดเสียหน้าที่หรือมีภาวะเสียงต่อการเกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากระบบหายใจ ตรวจร่างกายพบ อาการกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย บวม หายใจเร็วฟังปอดได้เสียงปอดปกติ ไอ มีเสมหะเหนียวข้น มีอาการเหนื่อยหอบ นอนราบไม่ได้ ใจสั่น หัวใจเต้นผิดปกติ ความดันเลือดสูง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก มีอาการชัก กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปมประสาทตาบวม ตรวจ Barbinski’s sign ให้ผลบวก, DTR ลดลง ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ pH < 7.35 (pH น้อยกว่า 7.35) PaCO2 > 45 มม.ปรอท, (PaCO2 มากกว่า 45 มม.ปรอท) PaO2 < 75 มม.ปรอท (PaO2 น้อยกว่า 75 มม.ปรอท), HCO3 > 26 mEq/L (HCO3 มากกว่า 26 มม.ปรอท), Serum K+ สูง
การรักษาภาวะเลือดเป็นกรดจากการหายใจ
หาก PaO2 < 40 มม.ปรอท ควรรีบช่วยเปิดทางเดินหายใจให้โล่ง เช่น การเจาะหลอดลม ใส่ท่อช่วยหายใจ ดูดเสมหะ ให้ออกซิเจน และให้เครื่องช่วยหายใจ แล้ว
แก้ไขสาเหตุการเกิด เช่น ให้ยาขยายหลอดเลือด หยุดยาที่กดการหายใจ เช่น Narcotics, Benzodiazepines เป็นต้น หากมีปอดอักเสบ ให้ยาปฏิชีวนะ หากเป็นโรคหัวใจล้มเหลว ให้ยาขับปัสสาวะ ดูแลให้ได้รับน้ำให้เพียงพอเพื่อช่วยให้เสมหะอ่อนตัว และขับออกจากหลอดลมได้ง่าย หากมีภาวะเลือดเป็นกรดอย่างรุนแรงให้โซเดียมไบคาร์บอเนตรับประทานหรือผสมในสารน้ำให้ทางหลอดเลือดดำหรือให้ Lactate Ringer’s solution เพื่อเพิ่มไบคาร์บอเนต รักษาสมดุลของอิเล็กโทรไลต์โดยให้โปแตสเซียมทดแทน ในรายที่มีการสูญเสียโปแตสเซียม
การพยาบาล
ให้การพยาบาลเพื่อให้ผู้ป่วยคงภาวะสมดุลกรด-ด่าง และป้องกันภาวะพร่องออกซิเจน โดยให้ออกซิเจนตามแผนการรักษา ให้ยาขยายหลอดลม ยาปฏิชีวนะหมั่นดูดเสมหะ จัดท่าเพื่อการระบายอากาศ สอนวิธีการไอและบริหารการหายใจในรายที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ ดูแลให้ผู้ป่วยหายใจด้วยเครื่องช่วยหายใจอย่างมีประสิทธิภาพ ติดตามผลการตรวจการวิเคราะห์หาค่าความดันของก๊าซในเลือดแดง (Arterial blood gas; ABG) อิเล็กโทรไลต์ในเลือด โดยเฉพาะค่าโปแตสเซียมบันทึกสัญญาณชีพตามความรุนแรงของผู้ป่วย สังเกตลักษณะการหายใจ ประเมินการเปลี่ยนแปลงในระบบประสาท ดูแลให้ได้รับสารน้ำอย่างเพียงพอ ทางปาก หรือทางหลอดเลือดดำ บันทึกปริมาณน้ำเข้า-และน้ำออกทุก 8 ชั่วโมง สังเกตจังหวะและอัตราการเต้นของหัวใจ
ทำอย่างไรให้ร่างกายปลอดสารตกค้าง