โพแทสเซียม คลอไรด์ เป็นสารเคมีซึ่งประกอบไปด้วยโพแทสเซียมและคลอรีน โพแทสเซียม คลอไรด์มีการใช้เพื่อเป็นยาในการประหารชีวิตลำดับที่สาม จากยาที่ใช้เพื่อประหารนักโทษ 3 ชนิดที่ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ได้แก่ ชนิดแรก คือ โซเดียม ไธโอเพนธาล (sodium thiopenthal) ชนิดที่สอง คือ แพนคูโรเนียม โบรไมด์ (pancuronium bromide) และชนิดที่สาม คือ โพแทสเซียม คลอไรด์ (potassium chloride) ทำให้เกิดการหยุดเต้นของหัวใจ ยาในรูปแบบยาฉีดมีข้อบ่งใช้ในภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เนื่องจากโพแทสเซียมเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญต่อร่ายกาย ระดับโพแทสเซียมที่ไม่สมดุลย์ส่งผลต่อการทำงานของหัวใจและระบบประสาท มีวิธีการบริหารยาทั้งแบบรับประทานและฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ยาในรูปแบบรับประทานมีรสชาติขม จึงมักมีการผสมยากับน้ำหวานเพื่อปรับรสชาติของยาก่อนรับประทาน ยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำนี้ยังเป็นยาที่อยู่ในบัญชียาหลักขององค์การอนามัยโลก
ตัวอย่างยี่ห้อของยา Potassium Chloride ที่มีจำหน่ายในประเทศไทย
- Addi-K ยาเม็ด ขนาด 750 มิลลิกรัม ผู้ผลิตคือ LEO Pharma
- Enpott ยาน้ำ ความแรง 500 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร ผู้ผลิตคือ Ranbaxy
- Kaylyte ยาน้ำ ความแรง 500 มิลลิกรัมต่อ 5 มิลลิลิตร ผู้ผลิตคือ Pharma Innova
- KCl For injection Pharma Innova ยาฉีด ความแรง 1.5 กรัมต่อ 10 มิลลิลิตร ผู้ผลิตคือ Atlantic Lab
- Potassium Chloride Atlantic ยาฉีด ขนาด 1.5 กรัม และยาฉีด ขนาด 3 กรัม ผู้ผลิตคือ Atlantic Lab
- Potassium Chloride Ranbaxy ยาเม็ด ขนาด 500 มิลลิกรัม ผู้ผลิตคือ Ranbaxy
- Potassride ยาฉีด ความแรง 1.5 กรัมต่อ 10 มิลลิลิตร และยาฉีด ความแรง 3 กรัมต่อ 10 มิลลิลิตร ผู้ผลิตคือ General Drugs House
โรค และอาการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยานี้บรรเทา
- ข้อบ่งใช้สำหรับภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
กลไกการออกฤทธิ์ของยา Potassium Chloride
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคือ โพแทสเซียม คลอไรด์ เป็นอิเล็กโทรไลท์ใช้สำหรับทดแทนโพแทสเซียม ไอออน โพแทสเซียม คลอไรด์ ใช้เป็นแหล่งของโพแทสเซียม แคทไอออน ซึ่งแคทไอออนที่อยู่ภายในเซลล์เหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการรักษาระดับความเป็นกรด-ด่าง รวมไปถึงการรักษาสมดุลของเหลวและอิเล็กโทรไลท์ภายในเซลล์ นอกจากนี้แล้ว โพแทสเซียมยังมีบทบาทที่สำคัญต่อการมีชีวิต ได้แก่ เป็นตัวเหนี่ยวนำประสาท การหดตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ กล้ามเนื้อเรียบ และกล้ามเนื้อลาย การหลั่งกรดในกระเพาะอาหาร การทำงานของไตในสภาวะปกติ และกระบวนการแมทาบอลิซึมของคาร์โบไฮเดรต
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ข้อบ่งใช้ของยา Potassium Chloride
ข้อบ่งใช้สำหรับภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ยาในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดต่ำกว่า 10 mEq ต่อชั่วโมง โดยขนาดและอัตราการให้ยาขึ้นอยู่กับค่า ECG และระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือด ขนาดยาสูงสุด 20 mEq ต่อชั่วโมง หรือ 2-3 mEq ต่อกิโลกรัมต่อวัน ขนาดยามีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาภาวะระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดสำหรับเพื่อป้องกัน ใช้ขนาด 20 mEq ต่อวัน ขนาดสำหรับรักษา ขนาด 40 ถึง 100 mEq ต่อวัน โดยแบ่งให้สองถึงสี่ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 40 mEq ต่อครั้ง หรือ 150 mEq ต่อวัน ขนาดยามีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย ขนาดการใช้ยาในเด็ก ยาในรูปแบบผงสำหรับละลายน้ำ ขนาดสำหรับเพื่อป้องกัน ใช้ขนาด 1 mEq ต่อกิโลกรัมต่อวัน ถึง 3 mEq ต่อกิโลกรัมต่อวัน ขนาดสำหรับรักษา ขนาดเริ่มต้น 2-4 mEq ต่อกิโลกรัม ถึง 100 mEq ต่อวัน ขนาดยาสูงสุด 1 mEq ต่อกิโลกรัมต่อครั้ง หรือ 40 mEq ต่อครั้ง ขนาดยามีความแตกต่างกันในแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดของผู้ป่วย
ข้อปฏิบัติเมื่อลืมรับประทานยา Potassium Chloride
หากลืมรับประทานยาตามเวลาปกติที่รับประทาน ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ให้รับประทานยาทันทีที่นึกได้จำนวน 1 เม็ดโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ดแทนเม็ดที่ลืมรับประทาน ในกรณีลืมรับประทานยาใกล้กับเวลารับประทานถัดไป ให้รับประทานยาในมื้อถัดไปในขนาด 1 เม็ด โดยข้ามยาในมื้อที่ลืมไปและไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เม็ด
ข้อควรระวังของการใช้ยา Potassium Chloride
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวข้องกับภาวะดังต่อไปนี้ ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไตไม่เพียงพอ ภาวะขาดน้ำ ภาวะขาดน้ำเฉียบพลัน ภาวะตะคริวแดด เนื้อเยื่อถูกทำลายเฉียบพลันจากอุบัติเหตุหรือแผลไฟไฟม้
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีภาวะคลอรีนในเลือดสูง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่มีระดับโพแทสเซียมในกระแสเลือดสูงกว่า 5 มิลลิอิควิวาเลนท์ต่อลิตร
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ใช้ยาขับปัสสาวะในกลุ่ม potassium sparing เช่น อะมิโลไรด์ (amiloride) สไปโรโนแลกโทน (spironilactone) ไตรแอมเทอรีน (triamterene) - ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยภาวะสมดุลกรด-เบสผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ (เช่น โรคหัวใจวาย โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ)
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคตับแข็ง
- ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไตระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และในผู้ป่วยโรคตับ ระวังการใช้ยาในเด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร
ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา Potassium Chloride
ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการแพ้ยาแบบ anaphylaxis ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหาร อาการคลื่นไส้ อาเจียน แน่นท้อง ปวดท้องหรือรู้สึกไม่สบายท้อง ท้องเสีย เลือดออกในระบบทางเดินอาหาร แผลในกระเพาะอาหาร แผลในช่องปาก เกิดภาวะแทรกซ้อนในบริเวณที่ฉีดยา เช่น รู้สึกปวด หลอดเลือดดำอักเสบ อาการอันไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง ได้แก่ ภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูงรุนแรง ซึ่งอาจส่งผลถึงชีวิตได้
ข้อมูลการใช้ยา Potassium Chloride ในสตรีมีครรภ์และสตรีให้นมบุตร
สำหรับการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม category C คือ ควรระมัดระวังการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ สำหรับสตรีให้นมบุตร ควรระวังการใช้ยา และอยู่ใน category D ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ คือ ไม่แนะในการใช้ยาในสตรีมีครรภ์ เว้นแต่ในกรณีช่วยชีวิตหรือรักษาอาการรุนแรงที่ยาที่ปลอดภัยกว่ารักษาไม่ได้ผล
ประเภทของยาตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย
ยาจัดอยู่ในสองกลุ่ม คือ (1) ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป (NDD) (2) ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาอันตราย จำหน่ายเฉพาะในร้านขายยาแผนปัจจุบันที่มีเภสัชกรชั้นหนึ่งเป็นผู้จ่ายยาเท่านั้น
ข้อมูลการเก็บรักษายา Potassium Chloride
เก็บที่อุณหภูมิระหว่าง 20 ถึง 25 องศาเซลเซียส ป้องกันจากแสง และความชื้น
สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา
แพทย์และเภสัชกรสามารถให้ข้อมูลการใช้ยาอย่างปลอดภัย ผู้ป่วยควรแจ้งข้อมูลเหล่านี้แก่แพทย์หรือเภสัชกรเพื่อประโยชน์ต่อผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการเกิดอันตรายจากการใช้ยา
- แจ้งข้อมูลการใช้ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานก่อนหน้านี้ ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่รับประทาน (รวมถึงวิตามิน และสมุนไพร) ในกรณีมียาประจำตัวจำนวนมาก ให้พกยาเพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยตรวจสอบก่อนสั่งจ่ายยาใหม่ ไม่ให้เกิดอันตรกิริยาระหว่างยาที่จะได้รับใหม่และยาที่เดิมที่ผู้ป่วยใช้อยู่
- แจ้งประวัติการแพ้ยา หรืออาการแพ้ที่เกิดขึ้นเมื่อใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือแพ้อาหารชนิดใดอยู่ (เนื่องจากยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม ยีสต์) อาการที่เกิดขึ้น เช่น อาการบวม เกิดผื่น หายใจลำบาก หรือให้นำบัตรแพ้ยา พกติดตัวและแสดงบัตรนี้แก่แพทย์และเภสัชกรก่อนเข้าใช้บริการสุขภาพทุกครั้ง
- แจ้งข้อมูลในกรณีที่มีการตั้งครรภ์ หรือมีแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์ หรือสามารถขับออกทางน้ำนมได้
- แจ้งข้อมูลที่จะส่งผลต่อการรับประทานยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา วิธีการรับประทานยา เพื่อแพทย์หรือเภสัชกรจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง