การคำนวณอาหาร หมายถึง การคิดปริมาณแคลอรี และสารอาหารที่ผู้ป่วยควรได้รับตามวิธีการเลขคณิต ปกติแล้วปริมาณแคลอรีแพทย์จะกำหนดให้โดยที่นักกำหนดอาหารไม่จำเป็นต้องคำนวณหา แต่ถ้าไม่กำหนดให้มา นักกำหนดอาหารอาจคำนวณได้จากน้ำหนักตัวของผู้ป่วยว่าต้องได้รับสารอาหารจำนวนเท่าใดในหนึ่งวัน สำหรับสารอาหารนั้น แพทย์มักกำหนดปริมาณเป็นร้อยละของจำนวนแคลอรีที่ผู้ป่วยควรได้รับทั้งวัน นักกำหนดอาหารจึงต้องคำนวณให้เป็นกรัมเพื่อให้สามารถกำหนดปริมาณอาหารแต่ละประเภทได้ว่า ควรให้ผู้ป่วยรับประทานวันละเท่าไร และมื้อละมากน้อยเพียงใด (รัศมี, 2549)
ขั้นตอนการคำนวณอาหารแลกเปลี่ยน
การคำนวณกำหนดอาหาร เป็นการคำนวณหาปริมาณพลังงานที่มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรีและคำนวณหาปริมาณของสารอาหารซึ่งหน่วยเป็นกรัม ตามวิธีเลขคณิต เมื่อทราบปริมาณของสารอาหารที่ต้องการต่อวันแล้ว จึงนำไปกำหนดชนิดและปริมาณของอาหารเพื่อบริโภคต่อไป จากที่กล่าวมาแล้วอาหารที่เราจะกำหนดให้บุคคลต่าง ๆ ควรเป็นอาหารที่สมดุลได้สัดส่วน คือ อาหารแต่ละมื้อแต่ละวันที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ในปริมาณที่ได้สัดส่วน และเพียงพอตามความต้องการของบุคคลนั้น ๆ ดังนั้นการคำนวณอาหารแลกเปลี่ยนเพื่อให้มีความสมดุลของอาหาร มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- กระจายสัดส่วนของพลังงานที่ควรได้รับ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารที่ร่างกายต้องการเป็นจำนวนมาก (macronutrients) และเป็นแหล่งอาหารที่ให้พลังงาน ประกอบด้วยสารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยสารอาหารดังกล่าวมีความสัมพันธ์ที่อาจทำให้เกิดโรคติดเชื้อไม่เรื้อรังได้เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง ดังนั้นจึงได้มีการกำหนดตารางกระจายสัดส่วนของแหล่งอาหารที่ให้พลังงาน (acceptable macronutrient distribution ranges; AMDRs) ของสารอาหารทั้งสามชนิดดังแสดงในตารางที่ 4.16
- คำนวณหาปริมาณของคาร์โบไฮเดรต ไขมันและโปรตีน ตามสัดส่วนในข้อ 1)
- กำหนดส่วนอาหารตามสัดส่วนของสารอาหารและพลังงาน ที่คำนวณไว้โดยใช้รายการแลกเปลี่ยนเป็นคู่มือ
- แบ่งส่วนอาหารออกเป็นมื้อ ๆ โดยกระจายตามสัดส่วนของพลังงานที่ควรได้รับต่อมื้อ
- กำหนดรายการอาหาร โดยการจัดรายการอาหารแบ่งตามมื้ออาหารให้สอดคล้องกับข้อ 4)
หลักการกำหนดส่วนอาหาร
การกำหนดปริมาณหรือส่วนของอาหารแลกเปลี่ยนหมู่ต่าง ๆ เพื่อให้ได้คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และพลังงานตามที่กำหนด ควรมีหลักในการกำหนดส่วนอาหารในหมวดต่าง ๆ ดังนี้
1. การกำหนดสัดส่วนของน้ำนม
น้ำนมเป็นแหล่งของสารอาหารทั้ง คาร์โบไฮเดรต โปรตีนและไขมัน การบริโภคน้ำนมของบุคคลขั้นอยู่กับความชอบและฐานะทางเศรษฐกิจ จะจัดให้บริโภคหรือไม่ก็ได้ แต่น้ำนมเป็นแหล่งโปรตีนที่มีคุณภาพสูงรวมทั้งยังมีแคลเซียมและฟอสฟอรัสที่ร่างกายดูดซึมได้ดี ถ้าเป็นบุคคลที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตและบุคคลที่อยู่ในภาวะต้องการสารอาหารดังกล่าวมาก เช่น วัยเด็ก หญิงมีครรภ์ หญิงให้นมบุตร และวัยสูงอายุ หรือผู้ใหญ่วัยทำงาน ควรบริโภคน้ำนมถ้าทำได้ โดยถ้าวันหนึ่งสารอาหารโปรตีนเกิน 70 กรัม ควรกำหนดน้ำนม 1-2 ส่วน เพื่อหลีกเลี่ยงการกำหนดเนื้อสัตว์มากเกินไปจนบริโภคไม่หมด ซึ่งการบริโภคน้ำนมสามารถบริโภคได้ง่ายกว่า
ในกรณีที่กำหนดให้ผู้ป่วยได้รับโปรตีนสูง แต่จำกัดไขมัน ควรพิจารณาใช้น้ำนมพร่องมันเนย ที่สามารถลดไขมัน ลงได้ 3 กรัม และพลังงานลดลง 30 กิโลแคลอรี หรือนมขาดมันเนย สามารถลดไขมันลงได้ 5-8 กรัม และพลังงานลดลง 60 กิโลแคลอรี
2. กำหนดสัดส่วนของผัก
กำหนดสัดส่วนจะกำหนดเฉพาะผักประเภท ข. และคำนวณหาปริมาณคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และพลังงานที่รับจากผัก ข. สำหรับผักประเภท ก. เป็นผักที่มีสารอาหารและพลังงานต่ำ ดังนั้นสามารถให้รับประทานผักได้มากตามที่ต้องการแต่ถ้ามีการจัดผักประเภท ก. ในปริมาณ 100 กรัมในน้ำหนักผักดิบ ในมื้ออาหารนั้น จะต้องคำนวณคุณค่าทางอาหารเท่ากับผักประเภท ข. 1ส่วน โดยปกติอาหารที่สมดุลควรมีผักอย่างน้อยวันละ 3 ส่วน เพราะผักให้ทั้งวิตามิน เกลือแร่ และเป็นแหล่งใยอาหารที่สำคัญสำหรับเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปีอาจกำหนดน้อยกว่านี้
3. กำหนดส่วนของผลไม้
สามารถกำหนดได้ตามความต้องการของผู้บริโภค โดยอาหารที่บริโภคควรมีผลไม้อย่างน้อยวันละ 3 ส่วน ถ้าอาหารที่กำหนดมีปริมาณคาร์โบไฮเดรตตลอดวันมากกว่า 300 กรัม ควรกำหนดผลไม้วันละหลายส่วน เพราะจัดเตรียมง่าย บริโภคง่าย หรืออาจนำมาแลกเป็นน้ำผลไม้ได้
4. กำหนดส่วนของน้ำตาล
การที่บริโภคน้ำตาลมากจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ ดังนั้นควรลดปริมาณการบริโภคลง ควรบริโภคเพียงแต่เล็กน้อยเท่าที่จำเป็น ควรมีน้ำตาลประมาณ 3-6 ส่วนต่อวัน โดยเป็นน้ำตาลที่ใช้ปรุงอาหารคาวประมาณ 1-2 ส่วน และถ้ารับประมาณขนมหวานควรมีน้ำตาลประมาณถ้วยละ 3-5ส่วน ถ้าวันหนึ่งต้องการคาร์โบไฮเดรตสูงเกิน 300 กรัม ควรกำหนดน้ำตาลไว้ประมาณ 6-8 ส่วน เพื่อใช้ทำขนม ควรหลีกเลี่ยงการจัดน้ำตาลจำนวนมาก เพราะการบริโภคน้ำตาลในปริมาณมาก เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
5. กำหนดส่วนข้าวหรือธัญพืช
เป็นอาหารหมวดสุดท้ายในการกำหนดเพื่อให้ได้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตตามต้องการดังนั้นก่อนที่จะกำหนดส่วนของข้าวหรือธัญพืช ให้รวมสารอาหารที่บันทึกไว้จากการกำหนดน้ำนมผลไม้ และผัก ข. ว่าได้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตเท่าไร นำผลรวมที่ได้ไปลบออกจากคาร์โบไฮเดรตที่ต้องการทั้งหมด เพื่อให้ทราบว่า เหลืออีกเท่าไร แล้วนำคุณค่าของคาร์โบไฮเดรตในข้าว 1 ส่วน คือ 15 กรัม ไปหารจำนวนคาร์โบไฮเดรตที่ยังขาดอยู่ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ ส่วนของข้าวหรือธัญพืชที่ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดส่วนของคาร์โบไฮเดรตที่เหลือเพื่อให้ได้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตครบตามที่คำนวณไว้ตามที่ร่างกายต้องการ
6. กำหนดส่วนของเนื้อสัตว์
เนื้อสัตว์เป็นแหล่งของโปรตีนและไขมัน การกำหนดเนื้อสัตว์มุ่งที่จะให้ได้โปรตีนตามที่ร่างกายต้องการ การคำนวณปริมาณโปรตีนได้จากการรวมสารอาหารโปรตีนที่บันทึกไว้จากการกำหนดน้ำนม ผัก ข. และข้าวหรือธัญพืช แล้วนำมาคำนวณต่อเพื่อให้ได้โปรตีนส่วนที่ยังไม่ครบ โดยนำไปลบออกจากโปรตีนที่กำหนดไว้ทั้งหมด นำไปหารด้วย 7 (เนื้อสัตว์ 1 ส่วนให้โปรตีน 7 กรัม) ผลลัพธ์ที่ได้คือ ส่วนของเนื้อสัตว์ที่ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดส่วนของเนื้อสัตว์ เพื่อให้ได้สารอาหารโปรตีนครบตามที่คำนวณไว้ ในการกำหนดชนิดของเนื้อสัตว์ให้ผู้ป่วยบริโภคสามารถเลือกใช้เนื้อสัตว์ได้หลากหลายชนิด เช่น เนื้อสัตว์ไขมันสูง (ก) เนื้อสัตว์ไขมันปานกลาง (ข) เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ (ค) และเนื้อสัตว์ไขมันต่ำมาก (ง) ทั้งนี้ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับโรคที่ผู้ป่วยเป็น
7. กำหนดส่วนของไขมัน
ไขมันได้จากการรวมสารอาหารประเภทไขมันจากการกำหนดน้ำนม และเนื้อสัตว์ นำผลรวมที่ได้มาลบกับปริมาณไขมันที่ต้องการทั้งหมด และนำมาหารด้วย 5 (ไขมัน 1 ส่วนให้ไขมัน 5 กรัม) ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ส่วนของไขมันที่ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดส่วนของไขมัน เพื่อให้ได้สารอาหารไขมันครบตามที่คำนวณได้
เมื่อกำหนดอาหารหมวดต่าง ๆ ครบ ให้รวมพลังงานในช่องสุดท้าย โดยผลลัพธ์ที่ได้ควรใกล้เคียงกับพลังงานที่กำหนดไว้ อาจคลาดเคลื่อนบ้างเล็กน้อยจากการปัดเศษในการกำหนดส่วนอาหาร ดังนั้นการคำนวณอาหารแต่ละครั้งจะไม่สามารถคิดสารอาหารได้ลงตัวได้ทุกครั้งหรือทุกชนิด แต่ควรคำนวณให้ได้จำนวนใกล้เคียงให้มากที่สุด โดยระวังไม่ให้พลังงานมีค่าคลาดเคลื่อนมากกว่าหรือน้อยกว่า +30 กิโลแคลอรี และสารอาหารไม่ควรคลาดเคลื่อน +3 กรัม ซึ่งในการคำนวณส่วนที่ได้จากการหารของข้าว เนื้อสัตว์ และน้ำมัน มักจะเหลือเศษ ให้ปัดเศษเป็นตัวเลขเต็ม หรือปัดให้เป็นครึ่งหนึ่ง (0.5) ไม่ควรใช้ตัวเลขที่เป็นจุดทศนิยมที่ได้จากการคำนวณนั้นตรง ๆ เช่น คำนวณได้ 3.3 ส่วน ควรปัดเป็น 3 หรือ 3.5 ส่วน เพราะในความเป็นจริงการจัดอาหารโดยการชั่ง 3.3 ส่วน เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเกินไป และเพื่อไม่ให้เกิดจากการคลาดเคลื่อนจากการปัดเศษในการกำหนดส่วนอาหาร นอกจากนี้ควรคำนึงถึงความสมดุลการปัดเศษด้วย โดยไม่ควรปัดขึ้นหรือปัดลงทั้งคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมันพร้อมกัน ถ้าปัดเศษของคาร์โบไฮเดรตขึ้น ควรปัดเศษของไขมันหรือโปรตีนลง เพื่อไม่ให้เกิดความคลาดเคลื่อนมากนัก
8. การแบ่งมื้ออาหาร
การจัดรายการอาหารแต่ละมื้อ ควรยึดหลักให้มีอาหารครบหมวดหมู่ และมีความหลากหลายโดย
- มื้อเช้า ควรรับประทานอาหารให้ได้รับพลังงานมากที่สุด เนื่องจากมีกิจกรรมตลอดทั้งวัน ดังนั้นควรได้รับพลังงานจากมื้อเช้าประมาณ 30-35% ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน (ประมาณ 500-600 กิโลแคลอรี) ถ้าต้องการความสะดวกรวดเร็ว อาจจัดเป็นอาหารประเภทแซนด์วิซ นม ผลไม้ หรือถ้ามีเวลาอาจทำเป็นโจ๊ก ข้าวต้มเครื่อง และผลไม้ หรืออาจเป็นข้าวสวยกับกับข้าวโดยให้มีคุณค่าทางอาหารครบถ้วน
- มื้อกลางวัน ควรได้รับพลังงานประมาณ 35-40% ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน (ประมาณ 600-700 กิโลแคลอรี) อาหารที่จัดอาจเป็นรายการอาหารจานเดียวที่รับประทานได้ง่ายหรือข้าวราดกับอาหาร 2-3 อย่าง ควรระวังไม่ให้ข้าวหรือเส้นก๋วยเตี๋ยวมากเกินไปเน้นให้มีผักมากขึ้น ตลอดจนผลไม้สดหรือน้ำผลไม้
- มื้อเย็น การรับประทานอาหารมื้อเย็นต้องระวังอย่าให้มีพลังงานมากเกิน 30-35% ของพลังงานที่ได้รับทั้งวัน (ประมาณ 500-600 กิโลแคลอรี) ในหลายคนมื้อเย็นเป็นมื้อที่รับประทานร่วมกับสมาชิกในครอบครัวมักจะมีเวลาในการรับประทานนานกว่ามื้ออื่น ๆ จึงต้องระวังปริมาณอาหารที่รับประทานไม่ให้มากเกินไป ควรเลือกกับข้าวที่มีหลากหลายรสชาติ 2-4 อย่าง ประเภทของอาหารหรือวิธีการปรุงอาหารควรมีความหลากหลาย เช่น แกงหรือต้ม ยำหรือพล่า ทอดหรือผัด เครื่องจิ้มและของแนม เป็นต้น
ตัวอย่างการคำนวณและกำหนดส่วนของอาหารแลกเปลี่ยน
แพทย์กำหนดให้นายสุชาติ สายสืบ ได้รับอาหารธรรมดา พลังงานวันละ 2,100 กิโลแคลอรี คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันร้อยละ 60 : 15 : 25 ของพลังงานทั้งหมด ให้คำนวณหาปริมาณสารอาหารที่นายสุชาติ สายสืบ ควรได้รับใน 1 วัน และกำหนดสัดส่วนอาหารที่ควรได้รับโดยใช้ตารางรายการอาหารแลกเปลี่ยน
ขั้นตอนที่ 1 การกระจายสัดส่วนพลังงานที่ควรได้รับ
เมื่อทราบจำนวนพลังงานที่ต้องการต่อวันแล้ว คือ 2,100 กิโลแคลอรี จากนั้นต้องนำมาคำนวณเพื่อกระจายสัดส่วนพลังงานที่ควรได้รับจากสารอาหารที่ให้พลังงานแต่ละประเภท เพื่อให้สัดส่วนที่สมดุลเหมาะสมกับการใช้ประโยชน์ของร่างกาย ซึ่งโจทย์ให้กำหนดให้ โปรตีน 15% ไขมัน 25% และคาร์โบไฮเดรต 60% ของจำนวนแคลอรีทั้งหมดต่อวัน โดยใช้สูตร
ขั้นตอนที่ 2 คำนวณปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการต่อวัน
ตามสัดส่วนของพลังงานที่คำนวณไว้ในขั้นตอนที่ 1 มีหน่วยเป็นกิโลแคลอรี ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนหน่วยเป็นกรัม เพื่อให้ง่ายต่อการกำหนดส่วนของอาหาร ดังนี้
ตาราง
ขั้นตอนที่ 3 การกำหนดปริมาณอาหาร
เมื่อคำนวณหาปริมาณสารอาหารที่ร่างกายต้องการหน่วยเป็นกรัมแล้ว นำปริมาณสารอาหาร และพลังงานเหล่านั้นมาเทียบหาสัดส่วนของอาหารแต่ละหมวดหมู่ โดยใช้รายการอาหารแลกเปลี่ยน (Food Exchange Lists) เป็นคู่มือในการคำนวณ โดยดำเนินการสร้างแบบฟอร์มตารางเพื่อคำนวณที่มีการเรียงลำดับหมวดอาหารแลกเปลี่ยนในแนวตั้งและสารอาหารที่ให้แนวนอนเริ่มจากคาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน และพลังงาน ตามลำดับจากซ้ายไปขวา และแนวตั้งเริ่มจากอาหารหมวดน้ำนม หมวดผัก หมวดผลไม้ น้ำตาล หมวดข้าวหรือธัญพืช หมวดเนื้อสัตว์ และหมวดไขมันตามลำดับจากบนลงล่าง การเรียงลำดับดังกล่าวข้างต้นนี้ เป็นการทำเพื่อป้องกันการสับสนในการคำนวณกำหนดปริมาณอาหารเป็นส่วน ๆ (serving)
การกำหนดปริมาณของอาหารแลกเปลี่ยนหมวดต่าง ๆ สามารถทำได้โดยการคำนวณเพื่อกำหนดอาหารให้ได้คุณค่าของสารอาหารทีละประเภท คือ
1) กำหนดส่วนของคาร์โบไฮเดรต ในขั้นแรกคำนวณกำหนดอาหารเพื่อให้ได้คาร์โบไฮเดรตครบ จึงเริ่มด้วยการเรียงลำดับหมวดอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตก่อน ซึ่งได้แก่ หมวดน้ำนม หมวดผัก หมวดผลไม้ น้ำตาล และหมวดข้าวหรือธัญพืช โดยให้หมวดข้าวหรือธัญพืชอยู่อันดับสุดท้ายเพราะข้าวเป็นอาหารที่บริโภคเป็นปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนนม ผัก ผลไม้และน้ำตาล มักบริโภคในปริมาณจำกัด หลังจากคำนวณหมวดน้ำนม หมวดผัก หมวดผลไม้ น้ำตาล นำผลรวมที่ได้ มาเข้าสูตรคำนวณคือ
1) กำหนดส่วนของโปรตีน เมื่อกำหนดหมวดคาร์โบไฮเดรตได้อยู่ในช่วงที่กำหนดแล้วลำดับต่อไปเป็นการกำหนดอาหารเพื่อให้ได้โปรตีน โดยรวมคุณค่าโปรตีนที่คำนวณได้จากช่องหมวดน้ำนม ผัก และข้าวหรือธัญพืชว่าได้เท่าไรดังแสดงในตารางที่ 4.17 ซึ่งมีผลรวมเท่ากับ 52 กรัม นำเข้าสูตรคำนวณคือ
ขั้นตอนที่ 4 การแบ่งส่วนอาหารที่คำนวณไว้ทั้งวันเป็นมื้อ
หลังจากที่กำหนดสัดส่วนอาหารแต่ละหมวดลงในฟอร์มตารางที่ 4.17 เรียบร้อยแล้ว ให้กำหนดมื้ออาหารตามสัดส่วนที่ได้คำนวณไว้ทั้งวัน อาจแบ่งเป็น 3 มื้อ คือ มื้อเช้า มื้อกลางวัน และมื้อเย็น โดยพยายามกระจายสัดส่วนของพลังงานที่ใกล้เคียงกันในแต่ละมื้อ ดังนี้
มื้อเช้า ร้อยละ 30-35 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อกลางวัน ร้อยละ 35-40 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อเย็น ร้อยละ 30-35 ของพลังงานทั้งหมด
ในกรณีที่พลังงานที่คำนวณได้มีจำนวนมาก สามารถแบ่งการบริโภค เป็นวันละ 5 มื้อ คือ อาหารมื้อหลัก 3 มื้อ และอาหารว่าง 2 มื้อ อาจแบ่งดังนี้
มื้อเช้า ร้อยละ 25 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อว่างเช้า ร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อเที่ยง ร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อว่างบ่าย ร้อยละ 10 ของพลังงานทั้งหมด
มื้อเย็น ร้อยละ 25 ของพลังงานทั้งหมด
จากตัวอย่างการคำนวณได้สามารถนำมาแบ่งส่วนของอาหารเป็นมื้อ ๆ ได้ดังแสดงในตารางที่ 4.18
ขั้นตอนที่ 5 กำหนดรายการอาหาร (menu planning)
การกำหนดรายการอาหารมื้อต่าง ๆ ต้องกำหนดตามส่วนของอาหารที่ได้จัดแบ่งตามมื้อต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น (ตาราง 4.18) เช่น ในมื้อเช้า กำหนดว่ามี นม ผัก ข. ผลไม้ น้ำตาล เนื้อสัตว์ ไขมันอย่างละ 1 ส่วน และธัญพืชหรือข้าว 2 ส่วน โดยใช้อาหารในหมวดต่าง ๆ ในรายการอาหารแลกเปลี่ยนมาใช้ในการกำหนดรายการอาหารมื้อต่าง ๆ สลับหมุนเวียนกันไปนอกจากนี้ในการกำหนดรายการอาหารควรสอดคล้องกับเป้าหมาย 3 ประการ คือ
ประการที่ 1 เป็นรายการอาหารที่สมดุลได้สัดส่วนถูกหลักโภชนาการ
ประการที่ 2 เป็นรายการอาหารที่สมาชิกในครอบครัวหรือผู้บริโภคพอใจ ทั้งในด้านสี กลิ่น รสชาติ และเนื้อสัมผัส ตลอดจนนิสัยการบริโภค ขนบธรรมเนียม และศาสนา
ประการที่ 3 เป็นรายการอาหารที่สามารถจัดได้ในวงเงิน เวลา แรงงาน ตลอดจนแหล่งวัตถุดิบทางอาหารที่มีอยู่ จากข้อมูลข้างต้นสามารถนำมากำหนดเป็นรายการอาหารได้ดังแสดงในตารางที่ 4.19 และแบ่งส่วนในแต่ละมื้ออาหารได้ดังแสดงในตารางที่ 4.20