ริดสีดวงจมูก มีลักษณะเป็นก้อนเนื้องอกในโพรงจมูกชนิดที่พบได้บ่อยที่สุด สามารถเกิดไซนัสอักเสบร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยบางรายแม้ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดหลายครั้ง ก็ยังสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ในประเทศไทยยังไม่มีการสำรวจความชุกของโรคริดสีดวงจมูกที่ชัดเจน แต่อุบัติการณ์ของโรคพบมากในช่วงอายุ 20-40 ปี ที่น่าสนใจคือ มีสมุนไพรไทยบางชนิดสามารถบรรเทาอาการเบื้องต้นและรักษาโรคริดสีดวงจมูกได้
ริดสีดวงจมูกคืออะไร?
ริดสีดวงจมูก หรือ เนื้องอกในจมูกชนิดไม่ร้ายแรง (Nasal polyps) คือ การเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเยื่อบุโพรงจมูกหรือโพรงไซนัส ทำให้เยื่อบุจมูกอักเสบ เมื่อมีการอักเสบนานๆ ทำให้เยื่อบุจมูกบวมมากขึ้นและมีน้ำคั่ง จนกลายเป็นก้อนเนื้อนิ่ม ลักษณะหยดน้ำ คล้ายริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมา แต่เกิดในจมูก อาจมีหลายก้อนหรือก้อนเดียว มักเป็นทั้งสองข้าง ขนาดเนื้องอกมีตั้งแต่เล็กจนไปถึงขนาดใหญ่จนปิดบังทางเดินหายใจ มีผลให้หายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะตอนนอน มักจะมีอาการ น้ำมูกไหล คัดจมูก บางคนมีอาการนอนกรน และสูญเสียความรู้สึกในการรับรู้กลิ่นหรือรสชาติ สามารถพบได้ในทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยเป็นพิเศษในผู้ที่เป็นโรคหอบหืด หวัดภูมิแพ้ ไซนัสอักเสบเรื้อรัง ช่วงอายุ 20-40 ปี และอัตราส่วนของเพศชายจะมีการเกิดโรคได้มากกว่าเพศหญิง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ริดสีดวงจมูกเกิดจากอะไร?
การอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริดสีดวงจมูก โดยการอักเสบดังกล่าวมี 2 ประเภท ได้แก่ เยื่อบุอักเสบจากภูมิแพ้ และเยื้อบุอักเสบชนิดไม่แพ้ (ไซนัสอักเสบเรื้อรัง) ทำให้เยื่อบุโพรงจมูกบวม นอกจากนี้ยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้เกิดริดสีดวงจมูกได้เช่นกัน คือ โรคหอบหืด ลักษณะทางกายวิภาคในโพรงจมูก กล่าวคือทางเดินอากาศในโพรงจมูกตีบแคบ ทำให้การกไหลเวียนอากาศผิดปกติ ระบบประสาทและหลอดเลือด มีการติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ เช่น เชื้อรา และปัจจัยทางพันธุกรรม เป็นต้น
อาการของริดสีดวงจมูกเป็นอย่างไร?
- ความรู้สึกในการรับกลิ่นหรือรสชาติน้อยลง
- มีอาการจามหรือมีน้ำมูก ซึ่งอาจมีลักษณะใส ขุ่นข้น เหนียว หรือมีสีเหลืองเขียว และมีกลิ่นเหม็น
- รู้สึกปวด แน่น บริเวณหัวคิ้วหรือโหนกแก้ม มึนศีรษะ บางรายอาจมีไข้หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดหู หูอื้อ
- ในผู้ที่มีอาการไซนัสอักเสบแทรกซ้อนร่วมด้วย มักปวดใบหน้าบริเวณไซนัสที่อักเสบ เช่น โหนกแก้มหรือสันจมูก
- ถ้าติ่งเนื้อมีขนาดโตขึ้น ผู้ป่วยจะมีอาการคัดจมูก หายใจไม่สะดวก พูดเสียงขึ้นจมูก และทำให้เกิดการกรนเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพการนอน อาจทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea)
การรักษาริดสีดวงจมูกด้วยสมุนไพร
การรักษาริดสีดวงจมูกด้วยสมุนไพร มีหลายตำรับ ทั้งแบบใช้สมุนไพรหลายอย่างรวมกัน และสมุนไพรเดี่ยว ดังนี้
- ตำรับยาสมุนไพรพื้นบ้าน มีหลายตำรับ ได้แก่
- ใช้ใบของต้นกรวยป่า (Casearia grewiifolia Vent.) ผสมกับใบยาสูบ มวนสูบแก้ริดสีดวงจมูก
- ดอกหรือเปลือกต้นของต้นปีบหรือต้นกาสะลอง (Millingtonia hortensis L.f.) โดยนำดอกมาตากแห้ง สุมไฟและสูดดม หรือนำเปลือกมามวนสูบคล้ายบุหรี่
- ใช้ทั้งต้นของผักขมหนาม (Amaranthus spinosus L.) ต้มดื่ม
- ใช้รากหรือเถาส้มกุ้งแดง เถาพาหมี รากลังข่าย เถาสะบ้า ต่อยออกแล้วสับ รากโคน รากกลอย รากเจตมูลเพลิงแดง รากชุมเห็ดเทศ รากลำโพงดอก 2 ชั้นสีม่วง มะเขือขื่น เถาบอระเพ็ด เอาทั้งหมดมาบดให้ละเอียด บีบน้ำมะนาวลงไปในส่วนผสม นำไปตากแดดให้แห้ง ห่อด้วยใบชุมเห็ดเทศ โดยให้สูบครั้ง 1 มวน ตอนเช้าหลังจากตื่นนอน หลังอาหารเช้า และก่อนเข้า เวลาสูบต้องให้ควันค่อยๆ ออกมาทางปากและจมูก
- ตำรับยาสมุนไพรจากบัญชียาหลักแห่งชาติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภูมิแพ้อากาศเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคริดสีดวงจมูกได้
- ใช้ยาปราบชมพูทวีป รับประทานครั้งละ 500 มก. ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 4 ครั้งก่อนอาหารและก่อนนอน รักษาอาการภูมิแพ้ได้
- ใช้ยาเบญจกูล รับประทานวันละ 300 มิลลิกรัม ก่อนอาหาร 3 เวลา เช้า กลางวัน และเย็น จากการศึกษาพบว่ามีฤทธิ์ต้านการแพ้ได้ดีกว่ายาแผนปัจจุบันคลอเฟนิรามีน (Chlorpheniramine) ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของอาการทางจมูก (Rhinitis Symptoms) คือ น้ำมูกไหล คันจมูก และแน่นจมูกลงได้
- สมุนไพรเดี่ยว สมุนไพรเดี่ยวที่ใช้ป้องกันและบรรเทาอาการริดสีดวงจมูกได้ มีดังนี้
- ขลู่ ใช้เปลือกต้นขูดเอาขนอ่อนออกให้หมด ล้างน้ำให้สะอาด ต้มน้ำ เอาไอระเหยสูดรมควัน หรือนำเปลือกต้นมาสับเป็นชื้นทำเป็นเส้นตากแห้งคล้ายเส้นยาสูบหรือบุหรี่ แก้ริดสีดวงจมูก
- บวบขม ใช้รังหรือใยบวบขมแบบแห้ง หั่นเป็นฝอยผสมยาเส้นมวนด้วยใบตองแห้งจุดสูบ เป็นยาฆ่าเชื้อริดสีดวงจมูก แก้น้ำมูกมีกลิ่นเหม็นได้ดีมาก
- ปีบ ใช้ใบหรือดอกแห้งประมาณ 10 ดอก มามวนใบตองแห้งคล้ายบุหรี่สูบดมให้ควันผ่านโพรงจมูกหรือ แก้ริดสีดวงจมูก ขยายหลอดลม ช่วยให้ระบบการหายใจดีขึ้น รักษาโรคหอบหืด ไซนัสอักเสบ สารสำคัญในดอกปีบและใบนั้นมีสารฮีสไปดูลิน (Hispidulin) ที่มีฤทธิ์ขยายหลอดลมได้ดีกว่าอะมิโนฟิลลีน (Aminophylline) ซึ่งเป็นยาแผนปัจจุบันที่ช่วยรักษาโรคหอบหืด สามารถยับยั้งเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียในโพรงไซนัสที่เป็นพิษต่อเซลล์ ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่า สารระเหยที่สำคัญในดอกปีบไม่พบความเป็นพิษเลย
- บัวหลวง ใช้กลีบดอกแกะเป็นกลีบๆ คลี่เกสรกระจายตากแดดให้แห้ง เอากลีบดอกส่วนหนึ่งหั่นเป็นฝอยมวนกับกลีบดอกที่ไม่ได้หั่นจุดไฟสูบแบบสูบบุหรี่ จะทำให้โพรงจมูกแห้งและหายเหม็น หรือใช้ก้านบัวหลวงมาตากแดดให้แห้งสนิท แล้วนำมาจุดไฟสูบเหมือนบุหรี่ พยายามพ่นควันออกทางจมูกให้มากเท่าที่จะทำได้
- หอมแดง ทุบหอมเล็กประมาณ 10-15 หัวพอแตก ใส่ลงในน้ำประมาณ 3-5 ลิตรใส่หม้อใหญ่ ต้มให้เดือด ใช้ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่คลุมศีรษะและปากหม้อ สูดดมไอระเหยจากน้ำต้มหอมแดงประมาณ 10-15 นาที
- หนุมานประสานกาย มีสรรพคุณหลักในการแก้แพ้อากาศ แก้หอบหืด หลอดลมอักเสบ ขยายหลอดลม หวัด เจ็บคอ ใช้ใบแห้งหนุมานประสานกาย 1-3 ใบชงน้ำดื่มแทนชา หรือถ้าต้มใช้ประมาณ 7-8 ใบต้มกับน้ำ 3 แก้ว ต้มจนน้ำงวด รับประทานวันละ 2 ครั้ง ก่อนอาหารเช้า-เย็น
- ขมิ้นชัน โดยรับประทาน 500 มก./วัน ติดต่อกัน 2 เดือน ช่วยบรรเทาอาการโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ได้ ช่วยบรรเทาอาการจาม น้ำมูกไหล ลดการอุดตันในโพรงจมูกและคัดจมูกได้
ผลข้างเคียงและข้อควรระวังของการใช้สมุนไพรรักษาริดสีดวงจมูก
- ในบางคน การใช้สมุนไพรอาจทำให้เกิดอาการแพ้ มีอาการใจสั่น แน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่สะดวก เวียนศีรษะ คลื่นไส้ ต้องหยุดใช้ยาทันที
- ยาปราบชมพูทวีปและยาเบญจกูลเป็นยารสร้อน ดังนั้นห้ามใช้เมื่อพบภาวะแทรกซ้อนจากการแพ้อากาศ เช่น ไซนัสอักเสบ การติดเชื้อแบคทีเรียที่มีอาการเจ็บบริเวณไซนัส ไข้สูง น้ำมูกและเสมหะเขียว เป็นต้น และห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีไข้ เด็ก รวมถึงควรระวังการใช้กับผู้ป่วยโรคความดันเลือดสูง โรคหัวใจ และโรคกรดไหลย้อน เพราะอาจส่งผลข้างเคียงให้เกิดอาการแสบร้อนยอดอก
วิธีป้องกันและดูแลตนเองเมื่อเป็นริดสีดวงจมูก
- หลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ ฝุ่น ควัน สิ่งระคายเคืองทั้งหลาย นอกจากนี้ควรออกกาลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้แก่ตนเอง
- พยายามป้องกันตัวเองไม่ให้เป็นหวัด หากเป็นโรคหอบหืด หวัด ภูมิแพ้ หรือไซนัสอักเสบ ควรรับการรักษาอย่างจริงจัง เพื่อลดโอกาสเสี่ยงติดเชื้อที่ระบบทางเดินหายใจ
- ห้ามสั่งน้ำมูกแรงๆ เพราะจะทำให้เยื่อเมือกช้ำ หากน้ำมูกไหลให้ใช้ผ้าหรือกระดาษที่ซับน้ำได้ดีซับออกแทน
- ให้ล้างจมูกโดยใช้น้ำเกลือเพื่อล้างสารก่อภูมิแพ้ และลดการระคายเคืองของจมูก
- หากอาการไม่ดีขึ้นควรรีบพบแพทย์ทันที เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและได้รับการรักษาที่ถูกต้อง