ยารักษาโรคเกาต์

เกาต์คืออะไร มียาอะไรรักษาได้บ้าง และยาแต่ละตัวมีข้อควรระวังในการใช้อย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 4 ก.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ยารักษาโรคเกาต์

โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างเฉียบพลัน ข้อมีอาการแข็งและบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาการของโรคเกาต์จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น บางรายที่มีอาการเกาต์เฉียบพลันโดนไม่ทันตั้งตัวอาจเดินไม่ได้ และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อรอบๆ ได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

สาเหตุของการเกิดโรคเกาต์

โรคเกาต์เกิดจากการมีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป (Hyperuricemia) เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกยูริกตามข้อต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันก่อให้เกิดการอักเสบ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรง

กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purines) ในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตและขับออกทางปัสสาวะ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นทั้งจากการสร้างที่ผิดปกติของร่างกาย หรือจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงต่อเนื่อง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีนก็จะทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย การเกิดเกาต์มักต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องโดย ทั่วไปมักมากกว่า 20 ปีโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว โรคเกาต์พบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า

อาการของโรคเกาต์

อาการของโรคเกาต์ คือ ข้อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน โดยในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ โดยจากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่อาจใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุด และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า มักพบอาการเป็นที่ข้อโคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า บ่อยครั้งที่เป็นในเวลากลางคืนขณะหลับ ระยะแรกข้ออักเสบมักมีอาการเพียง 2-5 วัน โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย หลังจากข้ออักเสบหายแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดอาการข้ออักเสบซ้ำอีกใน 6 เดือนถึง 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที

นอกจากนี้ หากไม่รักษาจะกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง ซึ่งจะพบปุ่มก้อนของผลึกกรดยูริกตามเนื้อเยื่อต่างๆ โรคนิ่วในไตจากการตกผลึกของกรดยูริก และโรคไตวาย เนื่องจากผลึกกรดยูริกอุดกั้นการกรองปัสสาวะ

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเกาต์กำเริบ

ปัจจัยต่อไปนี้กระตุ้นให้อาการเกาต์แย่ลงได้

  • แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้ความหวาน รวมถึงขนมหวานต่างๆ
  • อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ เช่น เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ปีก (โดยเฉพาะตับ ไต) อาหารไขมันสูง ยอดผัก ชะอม กระถิน สะเดา ปลาดุก และอาหารทุกชนิดที่มีสารพิวรีนสูง
  • การมีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน ผู้ที่อ้วนหรือน้ำหนักตัวมากมักจะมีระดับกรดยูริคในกระแสเลือดที่สูงกว่า การลดน้ำหนักจึงอาจช่วยลดระดับกรดยูริคในกระแสเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบในอนาคตได้
  • การขาดวิตามินซี
  • ยาบางชนิดที่มีผลเพิ่มระดับของกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ขนาดยา 75-325 มิลลิกรัม ไนอาซิน (Niacin) หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นต้น

ยาที่ช่วยบรรเทาและรักษาโรคเกาต์

โรคเกาต์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลักควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เป้าหมายของการรักษาจะช่วยบรรเทาให้อาการปวดและอาการอักเสบลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเกาต์ในบริเวณข้ออื่นๆ ในอนาคต หรือที่เรียกว่าอาการเกาต์กำเริบ รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ เป็นต้น

  1. ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs)

    ยากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบในร่างกายได้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาและต้องจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น เช่น
    • ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไดโคลฟีเน็ก (Diclofenac) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้มีอาการปวดท้องจากการที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ แพทย์จึงมักสั่งจ่ายยาลดกรดร่วมด้วย หรือแพทย์อาจพิจารณาจ่ายแทนยาในกลุ่มเอ็นเสดตัวอื่นๆ แทน
    • ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) และยาอีโทริโคซิบ (Etoricoxib) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสดที่ไม่มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้วสามารถใช้ยาในกลุ่มนี้ได้
    โดยหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงแพทย์อาจสั่งจ่ายยาในปริมาณที่สูงขึ้น หรือสั่งจ่ายยากลุ่มอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันการกำเริบของอาการของโรคในอนาคต
  2. กลูโคคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Glucocorticosteroids) หรือเรียกย่อๆ ว่า สเตียรอยด์ (Steroids)
    ยากลุ่มนี้มีใช้ทั้งในรูปแบบรับประทานและฉีดเข้าข้อ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อยในโรคเกาต์ ได้แก่ เพรดนิโซโลน (Prednisone) และเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) ยาในกลุ่มนี้จะใช้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs แล้วผลการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควร หรือแพทย์ต้องการชะลอการเปลี่ยนแปลงหรือการถูกทำลายของข้อ ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น กัดกระเพาะอาหารอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ เกิดภาวะที่เรียกว่าคุชชิงซินโดรม (Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้มีอาการอ้วนลงพุง หน้าบวม และมีหนอกหลังคอ เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงนิยมจ่ายในระยะสั้น ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ในระยะยาวแพทย์จะนัดติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
  3. ยาที่ออกฤทธิ์ลดระดับกรดยูริก
    ยารักษาโรคเกาต์บางตัวสามารถลดระดับกรดยูริคในกระแสเลือดได้ เช่น แอลโลพูรินอล (Allopurinol หรือชื่อทางการค้าว่า Zyloric®) และฟีบูโซสแทต (Febuxostat) อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้จะไม่ใช้เป็นยาตัวแรกที่เริ่มใช้รักษา เนื่องจากผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ท้องเสีย (มักทำให้ผู้ป่วยทนการใช้ยาไม่ได้) คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยาในกลุ่มดังกล่าว ห้ามใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ไต หรือมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยจะให้ใช้ยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) หรือสเตียรอยด์แทน
  4. ยาที่ออกฤทธิ์ขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
    ยารักษาโรคเกาต์บางตัวขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ เช่น ยาโพรเบเนซิส (Probenecid หรือชื่อทางการค้าว่า Bencid®) ซัลพินไพราโซน (Sulfinpyrazone หรือชื่อทางการค้าว่า Sulfin®) เบนโบรมาโรน (Benzbromarone หรือชื่อทางการค้าว่า Benarone®) เป็นต้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ระยะยาวเพื่อควบคุมไม้ให้อาการของโรคเกาต์กำเริบในระยะยาว โดยยาในกลุ่มนี้จะยังไม่ให้ใช้ในช่วงที่ผู้ป่วยมีโรคเกาต์กำเริบ แต่จะให้เริ่มใช้เมื่ออาการของโรคสงบแล้วเท่านั้น อาการข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย

ข้อควรระวัง

การใช้ยาโพรเบเนซิสอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ โดยสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้โดยแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ และปรับ pH ของปัสสาวะให้เป็นด่างเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการละลายของกรดยูริกในปัสสาวะ และมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
NHS, Gout (https://www.nhs.uk/conditions/gout/), 24 August 2017.
MedicalNewsToday, Everything you need to know about gout (https://www.medicalnewstoday.com/articles/144827.php), 28 November 2017.
WebMD Medical Reference, Gout Pictures Slideshow: Causes, Symptoms, and Treatments of Gout (https://www.webmd.com/arthritis/ss/slideshow-gout), 14 May 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป