บทความเรียนรู้การจำแนกอาการปวดหลังส่วนล่างออกเป็นแต่ละกลุ่มอย่างคร่าวๆ เพื่อให้คุณสามารถหาสาเหตุที่อาจเป็นไปได้ และพิจารณาเข้าพบแพทย์เพื่อทำการรักษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม
เพื่อให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น บทความนี้จะกล่าวถึงแต่ละส่วน ตั้งแต่สาเหตุ ลักษณะอาการต่างๆ การแบ่งชนิดของอาการปวดหลัง การวินิจฉัย และการรักษาที่เหมาะสม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
หลังส่วนล่างประกอบด้วยอะไรบ้าง?
กระดูกสันหลังเอว หรือหลังส่วนล่างนั้น ถือเป็นโครงสร้างที่มีความซับซ้อน และมีการทำงานร่วมกันของเนื้อเยื่อหลายชนิดทั้งกระดูก ข้อต่อ เส้นประสาท เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อเพื่อเป็นโครงสร้างพยุงร่างกาย ให้ทั้งความแข็งแรง และยืดหยุ่นเมื่อเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ความซับซ้อนของโครงสร้างนี้ก็ทำให้หลังส่วนล่างเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเจ็บปวดได้ง่ายเช่นกัน
หน้าที่ของหลังส่วนล่าง
หลังส่วนล่าง ทำหน้าที่รองรับน้ำหนักของลำตัวช่วงบนทั้งหมด และพยุงการเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น การโน้มตัว บิดตัว หรือเอี้ยวตัว เป็นต้น
กล้ามเนื้อในบริเวณหลังส่วนล่างทำให้เราสามารถก้มตัว และหมุนสะโพกได้ระหว่างการเดิน พร้อมๆ กับการพยุงโครงสร้างกระดูกสันหลัง โดยส่วนเส้นประสาทที่อยู่ในบริเวณนั้น ทำหน้าที่รับความรู้สึก และสั่งการกล้ามเนื้อจากบริเวณเชิงกราน น่อง ขา และเท้า
หลังอักเสบ หรืออาการปวดหลังส่วนล่างเกิดจากอะไร ?
อาการปวดหลังส่วนล่างแบบฉับพลัน ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อ หรือหมอนรองกระดูกสันหลัง ร่างกายจะตอบสนองต่อการบาดเจ็บเหล่านั้นโดยทำให้เกิดการอักเสบซึ่งทำให้เกิดการซ่อมแซม และหายของแผลต่อไป ขณะที่การอักเสบนั้นจะไม่ได้รุนแรงมาก แต่ก็สามารถทำให้เกิดอาการปวดอย่างมากได้
นอกจากนี้ อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจเกิดจากตัวกระดูกเอง หรือจากหมอนรองกระดูกก็ได้ โดยความผิดปกติที่เกิดขึ้น อาจไปกดทับเส้นประสาทที่ออกมาจากไขสันหลังบริเวณนั้น ทำให้เกิดอาการปวดหลังขึ้นมาได้ แต่จะมีอาการชา อ่อนแรงร่วมด้วย
รูปแบบและลักษณะของอาการปวดหลังส่วนล่าง
อาการปวดหลังส่วนล่าง สามารถเกิดได้ตั้งแต่มีอาการปวดเพียงเล็กน้อยแค่รู้สึกรำคาญเท่านั้น หรือรุนแรงจนไม่สามารถทนได้ โดยอาการปวดหลังส่วนล่างอาจเริ่มขึ้นอย่างกะทันหัน หรือค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป หรือเป็นๆ หายๆ แล้วอาการค่อยๆ แย่ลงเมื่อเวลาผ่านไป
กายภาพบำบัดและนวดเพื่อการรักษาวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 198 บาท ลดสูงสุด 92%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อาการปวดหลังส่วนล่างนั้นมีได้หลายรูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะนั้นๆ ตัวอย่างเช่น
- อาการปวดตื้อๆ หรือปวดเมื่อยที่หลังส่วนล่าง อาจมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อ
- อาการปวดแสบปวดร้อนที่หลังส่วนล่าง ก้น ต้นขาด้านหลัง ซึ่งอาจลากยาวไปทั้งขาถึงฝ่าเท้า และมีอาการชาร่วมด้วย (โรคปวดร้าวลงขา: Sciatica)
- กล้ามเนื้อหดเกร็ง และแน่นแข็งในบริเวณหลังส่วนล่าง เชิงกราน และสะโพก
- อาการปวดที่แย่ลงหลังจากการนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- เมื่อนั่งพักหรือก้มตัวแล้ว อาการมักจะดีขึ้น
นอกจากนั้น อาการปวดหลังส่วนล่าง อาจแบ่งตามระยะเวลาที่ปวดได้
- การปวดเฉียบพลัน (acute pain)
อาการปวดที่เกิดขึ้นทันทีทันใด และปวดอยู่ไม่กี่วัน หรือไม่กี่สัปดาห์ และถือว่าเป็นกลไกตอบสนองปกติของร่างกายต่อการบาดเจ็บ หรือการทำลายเนื้อเยื่อ ซึ่งอาการปวดจะค่อยๆ ทุเลาลงเมื่อเนื้อเยื่อส่วนนั้นถูกซ่อมแซมไปเรื่อยๆ - อาการปวดหลังส่วนล่างกึ่งเฉียบพลัน (subacute low back pain)
อาการปวดเช่นนี้ จะคงอยู่นานประมาณ 6 สัปดาห์ถึง 3 เดือน ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทางกายภาพ เช่น กล้ามเนื้อฉีกขาด หรืออาการปวดข้อ แนะนำให้เข้าพบแพทย์เพื่อรักษาอาการ หากมีอาการปวดที่รุนแรงและมีข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น การเดิน การทำงาน หรือแม้แต่การนอน - อาการปวดหลังเรื้อรัง (chronic back pain)
หมายถึง อาการปวดที่ยาวนานเกิน 3 เดือนขึ้นไป ซึ่งการปวดชนิดนี้มักจะรุนแรง และไม่ตอบสนองต่อการรักษาพื้นฐานทั่วไป จำเป็นต้องได้รับการตรวจและวินิจฉัยจากแพทย์และทีมสุขภาพ เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดนั้นและทำการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
ชนิดของอาการปวดหลังส่วนล่าง
มีหลายวิธีที่จะจำแนกชนิดของอาการปวดหลังส่วนล่าง แต่โดยทั่วไปมักแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- การปวดเชิงกล (Mechanical pain) เป็นการปวดของหลังส่วนล่างที่พบได้มากที่สุด เมื่อมีการขยับร่างกาย
การปวดเชิงกล เกิดจากส่วนของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ข้อต่อทั้งข้อต่อกระดูกสันหลังและข้อต่อกระดูกเชิงกราน หรือกระดูกภายใน และรอบๆ ไขสันหลัง ซึ่งการปวดชนิดนี้มักจะจำกัดอยู่ที่บริเวณหลังส่วนล่าง ก้น และอาจลามไปได้ถึงแค่ขาส่วนบนเท่านั้น และมักจะมีอาการรุนแรงขึ้นหากลงน้ำหนักที่กระดูกสันหลัง และอาจจะรู้สึกปวดแตกต่างกันตามอิริยาบถ (โน้มตัวไปข้างหน้า เอนไปด้านหลัง หรือบิดตัว) กิจกรรม การยืน การนั่ง หรือแม้แต่การนอนพักก็ตาม - การปวดร้าวเนื่องจากเส้นประสาท (Radicular pain) อาการปวดนี้เกิดขึ้นได้หากว่ารากเส้นประสาทจากไขสันหลังถูกกดทับ หรือเกิดการอักเสบ
การปวดร้าว จะปวดไปตามแนวเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงกลุ่มกล้ามเนื้อและอวัยวะที่เส้นประสาทนั้นรับความรู้สึกอยู่ โดยจะมีความรู้สึกเฉพาะตัวของการปวดรูปแบบนี้ คือ ปวดแปล๊บ ปวดเหมือนโดนช็อต ปวดแสบปวดร้อน และสามารถเกิดร่วมกับอาการชาหรืออ่อนแรงได้ และโดยทั่วไปแล้ว การปวดร้าวเนื่องจากเส้นประสาทจะรู้สึกปวดเพียงด้านใดด้านหนึ่งของร่างกายเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการปวดได้ เช่น
- อาการปวดรุนแรงจากหลอดเลือดตีบ (claudication pain from stenosis)
- อาการเจ็บปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ(myelopathic pain)
- อาการเจ็บปวดจากเส้นประสาท (neuropathic pain)
- ความพิการผิดรูป (deformity)
- เนื้องอก
- การติดเชื้อ
- อาการปวดจากภาวะอักเสบ เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (rheumatoid arthritis) หรือ โรคกระดูกสันหลังอักเสบยึดติด (ankylosing spondylitis)
- ความเจ็บปวดที่เกิดจากอวัยวะอื่นๆ ที่อยู่ใกล้หลังส่วนล่าง เช่น นิ่วในไต (kidney stones) หรือ โรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (ulcerative colitis)
การวินิจฉัยอาการปวดหลัง
แพทย์จะสอบถามอาการ ตรวจร่างกายที่สอดคล้องกับอาการปวดหลัง ซึ่งหากแพทย์สงสัยว่าอาการปวดหลังเกิดจากกระดูก หมอนรองกระดูก หรืออวัยวะภายในที่ใกล้เคียงบริเวณนั้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกายเพิ่มเติม เช่น x-ray, CT scan, MRI หรืออื่นๆ ที่ช่วยการวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องได้
การรักษาอาการปวดหลัง
จุดมุ่งหมายการรักษา คือ การช่วยบรรเทาอาการ ช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนไข้ดีขึ้น โดยการรักษาจะขึ้นอยู่กับสาเหตุของอาการและระยะเวลาที่เป็น ซึ่งปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษามากมาย ทั้งแผนปัจจุบันและแพทย์แผนทางเลือก
การรักษาแบ่งเป็น 2 วิธี
- รักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยแบ่งเป็น
- การรักษาแบบประคับประคอง ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การนวดรักษา การนอนพัก ส่วนใหญ่มักเป็นการรักษาเริ่มต้น ยกเว้นในกรณีที่แพทย์เห็นว่าควรรักษาด้วยวิธีอื่นๆ
- การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าโพรงกระดูกสันหลัง การรักษาวิธีนี้ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาแบบประคับประคองแล้ว แต่อาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการปวดจากการที่เส้นประสาทโดนรบกวน
- รักษาด้วยการผ่าตัด การรักษาด้วยวิธีนี้ จะทำก็เมื่อผู้ป่วยมีข้อบ่งชี้ที่ชัดเจน เช่น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ ขาอ่อนแรง เดินไม่ได้ หรือรักษาวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัด ก็มีอีกหลายวิธี ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ของอาการและภาวะของผู้ป่วย
จะเห็นได้ว่า อาการปวดหลัง หลังอักเสบสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ หากคุณไม่มั่นใจว่าอาการปวดหลังที่คุณเป็นอยู่เกิดจากสาเหตุอะไร ก็สามารถเข้าปรึกษาแพทย์ได้ เพื่อได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสมต่อไป