กะหล่ำปลี เป็นพืชที่มากมายด้วยสรรพคุณ ส่วนประกอบที่เต็มไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีกากใยอาหารอยู่มาก นิยมนำมาใช้ทำอาหารหลากหลายเมนู ง่ายต่อการรับประทานสำหรับคนที่ไม่ชอบผักกลิ่นฉุน ใครที่อยากรู้ว่ากะหล่ำปลีมีประโยชน์อย่างไรบ้าง ลองมาดูข้อมูลต่อไปนี้ พร้อมไอเดียสร้างสรรค์เมนูสำหรับคนรักกะหล่ำกันได้เลย
รู้จักกะหล่ำปลี
กะหล่ำปลี (Cabbage) บางครั้งเรียกกันว่ากะหล่ำปลีเขียว หรือกะหล่่ำใบ คือผักชนิดหนึ่งที่มีวางจำหน่ายทั่วไปในท้องตลาด สามารถหาซื้อมาสำหรับปรุงอาหารได้ง่าย มีราคาไม่แพง ลักษณะของต้นกะหล่ำปลี เป็นพืชล้มลุก ต้นสูงราว 24-25 เซนติเมตร มีระบบรากแก้วผสมกับรากแขนง ส่วนของใบโดยทั่วไปจะไม่ใช่สีเขียวเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่มีสีอื่นๆ อีกขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เช่น กะหล่ำปลีสีแดง เป็นต้น โดยทั่วไปกะหล่ำปลีต้นหนึ่ง จะมีใบที่ห่อซ้อนกันอยู่ราว 20-40 ใบ โอบทับกันอย่างแน่นหนา มีความกลมแบน น้ำหนักแต่ละหัวอยู่ที่ 1-2 กิโลกรัม เป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้ต้นยังมีดอก ออกเป็นช่อ มีผลและเมล็ดในลักษณะฝักแบบปลายแหลม แต่ที่นิยมนำมาใช้ปรุงอาหารคือส่วนของใบ สามารถกินได้ทั้งแบบสดและนำมาผ่านความร้อนให้สุกก่อนก็ได้
คุณค่าทางอาหารที่ได้รับจากกะหล่ำปลี
ในกะหล่ำปลีหัวดิบสัดส่วน 100 กรัม จะให้พลังงาน 25 กิโลแคลอรี, น้ำตาล 3.2 กรัม, คาร์โบไฮเดรต 5.8 กรัม, เส้นใย 2.5 กรัม, ไขมัน 0.1 กรัม, โปรตีน 1.28 กรัม, วิตามินบี 1 0.061 มิลลิกรัม, วิตามินบี 2 0.040 มิลลิกรัม, วิตามินบี 3 0.234 มิลลิกรัม, วิตามินบี 6 0.124 มิลลิกรัม, วิตามินซี 36.6 มิลลิกรัม, วิตามินเอ 98 ยูนิต, โฟเลต 43 ไมโครกรัม, ไฟเบอร์ 2.5 กรัม, โพแทสเซียม 170 มิลลิกรัม, แมกนีเซียม 12 มิลลิกรัม, ธาตุเหล็ก 0.47 มิลลิกรัม และแคลเซียม 40 มิลลิกรัม
ประโยชน์ของกะหล่ำปลี
สายพันธุ์ของกะหล่ำปลี ไม่ว่าจะเป็นกะหล่ำที่พบเห็นได้ทั่วไป กะหล่ำปลีแดง หรือกะหล่ำปลีแบบใบย่น ก็จะมีคุณประโยชน์ที่ไม่แตกต่างกัน โดยหลักๆ จะมีคุณประโยชน์ที่น่าสนใจ ดังต่อไปนี้
1. ขัดขวางการเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นไขมัน
เนื่องจากในกะหล่ำปลีมีกรดที่ชื่อว่าทาร์ทาริก (Tartaric acid) ซึ่งมีประโยชน์ที่จะช่วยให้น้ำตาลที่ร่างกายรับเข้าไปแล้วกลายเป็นส่วนเกิน ไม่เปลี่ยนสภาพกลายเป็นไขมันในชั้นผิวหนัง ซึ่งข้อดีในส่วนนี้คือลดความอ้วน ลดไขมันและปริมาณคอเลสเตอรอลไม่ให้สูงจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย
2. บำรุงกระดูกและฟัน
คุณค่าทางโภชนาการของกะหล่ำปลี อุดมไปด้วยแคลเซียมและฟอสฟอรัส แร่ธาตุเหล่านี้ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน และยังช่วยสร้างเซลล์กระดูกชุดใหม่ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนเมื่ออายุมากขึ้น
3. ช่วยย่อยอาหาร
ปริมาณเส้นใยในกะหล่ำปลีมีปริมาณมาก จึงให้ประโยชน์ต่อกระบวนการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย ช่วยย่อยและล้างสารพิษไปในตัว โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ปริมาณของกากใยที่ได้รับเข้าไปจะทำหน้าที่กระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่ขับถ่ายเอาของเสียออกมาได้อย่างเต็มที่
4. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง
ปริมาณกากใยที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ช่วยให้ลำไส้ทำงานได้ดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ ต่อต้านการเกิดมะเร็งในอวัยวะอื่น และช่วยยับยั้งเซลล์มะเร็งเดิมไม่ให้กระจายตัว
5. กระตุ้นการสร้างเคราติน
กะหล่ำปลีช่วยกระตุ้นการสร้างโปรตีนเคราติน ซึ่งเป็นโปรตีนที่ช่วยทำให้เส้นผม เล็บ และเนื้อเยื่อมีความแข็งแรง บำรุงรากผม คงความอ่อนเยาว์ ลดการเกิดผมหงอก และทำให้รากผมแข็งแรง ลดการขาดหลุดร่วงก่อนเวลา
6. ช่วยให้นอนหลับสนิท
การรับประทานกะหล่ำปลีเป็นประจำ จะช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ลดความเครียด ทำให้นอนหลับพักผ่อนได้เต็มที่ เนื่องจากมีสารซัลเฟอร์ที่จะเข้าไปยับยั้งความเครียด ระงับประสาท เหมาะสำหรับคนที่ทำงานหนัก และคนที่มีปัญหาเรื่องการนอนหลับๆ ตื่นๆ
7. กระตุ้นการพัฒนาสมองของเด็กทารกในครรภ์
กะหล่ำปลีจะเหมาะสำหรับคุณแม่ที่อยู่ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีกรดโฟลิก ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางด้านสมองทารกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ทำให้สมองเติบโตอย่างรวดเร็ว เข้าไปกระตุ้นพัฒนาการทางด้านอื่นๆ ให้ดีขึ้นตามมา
8. ช่วยลดอาการเผ็ดร้อน
จะเห็นได้ว่าตามร้านขายส้มตำจะมีกะหล่ำปลีเป็นผักเครื่องเคียงอยู่เสมอ โดยใบสดจะมีประโยชน์ช่วยลดอาการเผ็ดร้อนได้เป็นอย่างดี ดังนั้นหากรับประทานอาหารที่มีความเผ็ด ให้รับประทานกะหล่ำปลีตามไปด้วย ก็จะบรรเทาความเผ็ดให้น้อยลงได้
9. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
เนื่องจากในกะหล่ำปลีมีซัลเฟอร์เป็นส่วนประกอบ เมื่อรับประทานเข้าไปแล้ว แร่ธาตุดังกล่าวจะเข้าไปช่วยเพิ่มความเปล่งปลั่งให้ผิวพรรณ ช่วยบำรุงเล็บ เส้นผม และผิวหนัง ลดความเหี่ยวย่นของผิว ทำให้ใบหน้าเรียบเนียน ลดการเกิดสิว รวมไปถึงความมันบนใบหน้า
ไอเดียสร้างสรรค์กับเมนูจากกะหล่ำปลีเพื่อสุขภาพ
ด้วยความกรอบอร่อย และความหวานจากใบกะหล่ำปลี จึงถูกนำมาประกอบในเมนูอาหารหลากหลาย และยังใช้เป็นเครื่องเคียง สามารถรับประทานได้ทั้งแบบดิบ และแบบที่ผ่านการปรุงสุกแล้ว ลองมาดูไอเดียต่อไปนี้ที่มีกะหล่ำปลีเป็นส่วนประกอบ เป็นเมนูแสนอร่อยที่ใครๆ ก็สามารถทำเองได้ แถมให้ประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างมากมายอีกด้วย
1. ต้มจืดกะหล่ำปลี
เมนูง่ายๆ สำหรับคนที่ไม่ชอบอะไรยุ่งยาก ซดน้ำซุปต้มผักร้อนๆ กับข้าวสวยแบบง่ายๆ รับประทานได้ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ อีกทั้งยังเหมาสำหรับเป็นเมนูของคนที่กำลังลดน้ำหนัก เพราะมีแคลอรี่ต่ำ สร้างสรรค์วัตถุดิบเพิ่มเติมลงไปได้หลากหลายตามความชอบ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดหอม วุ้นเส้น เนื้อหมู เนื้อไก่ หรือจะเป็นปลา หอมกลิ่นพริกไทยและเห็ดหอม อาจเพิ่มความอร่อยแบบไม่ซ้ำเดิมด้วยสาหร่ายเข้าไปด้วย รับรองว่านี่จะเป็นเมนูต้มจืด ที่ไม่ได้จืดตามชื่ออย่างแน่นอน
2. กะหล่ำปลีผัดน้ำปลา
เมนูสุดฮิตที่มีเพียงแค่กระเทียม น้ำปลา น้ำตาล และกะหล่ำ ก็อร่อยกับความหอมหวานแบบง่ายๆ กันได้แล้ว ด้วยการนำเอากะหล่ำปลีและกระเทียมลงผัดกับน้ำมันที่กำลังร้อน แล้วเหยาะน้ำปลารอบๆ กระทะให้ผ่านความร้อนไหลลงไปเคลือบกับใบกะหล่ำ ผัดคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วยน้ำตาลเพิ่มความหวานสักเล็กน้อย ก็ได้อร่อยฟินๆ ที่มาพร้อมความหอมของน้ำปลา และความกรอบของใบกะหล่ำ ที่ใช้เวลาการทำไม่กี่นาทีเท่านั้น
3. ไข่ตุ๋นกะหล่ำปลี
เมนูสร้างสรรค์เอาใจคนที่ไม่ชอบกินผัก ด้วยการเปลี่ยนจากไข่ตุ๋นในถ้วยแก้วธรรมดาให้กลายเป็นถ้วยที่มาจากหัวกะหล่ำปลี ด้านนอกห่อด้วยใบผักสีเขียว ส่วนด้านในคือเนื้อไข่ตุ๋นสีละเอียดน่ารับประทาน เอาใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่กับเมนูอิ่มสบายท้อง แคลอรี่ต่ำ แต่ให้โปรตีนสูง
4. กะหล่ำปลีผัดไข่
ความอร่อยคลุกเคล้ารสชาติที่เข้ากันได้อย่างไม่น่าเชื่อระหว่างไข่กับกะหล่ำปลีหั่นหยาบๆ การทำไม่ยุ่งยาก เพียงแค่มีกระเทียม น้ำมันพืช ไข่ไก่ เกลือป่น และน้ำตาล เป็นส่วนประกอบหลัก นำทั้งหมดมาผัดและปรุงรสเข้าด้วยกัน ใครอยากเพิ่มความหลากหลายทางโภชนาการเข้าไปอีก ก็สามารถเติมเนื้อสัตว์เข้าไปได้ตามชอบ
5. กะหล่ำปลีห่อหมู
เมนูเรียกน้ำย่อยสำหรับคนลดพุงกับกะหล่ำปลีห่อหมู นี่คืออาหารคาวที่ใช้ศิลปะสร้างสรรค์ความสวยงามลงบนจานอาหารด้วย วิธีทำคือ การนำเอาใบกะหล่ำที่มีขนาดใหญ่สักหน่อย ห่อด้วยหมูสับปรุงรส คลุกเคล้าด้วย น้ำปลา น้ำตาล และพริกไทย ห่อแล้วมัดด้วยต้นผักชี หรือต้นคื่นช่ายก็ได้ จัดเรียงลงบนจาน นึ่งให้สุก จะได้กะหล่ำปลีห่อหมูที่ฉ่ำน้ำหวานๆ ของผักนึ่งและรสชาติน้ำที่ออกมาจากเนื้อหมูเคล้ากันอย่างลงตัวทีเดียว
ไอเดียการนำกะหล่ำปลีไปใช้ประโยชน์ด้านสุขภาพ
กระหล่ำปลี เรายังสามารถนำมาใช้เป็นยาบำบัดอาการเจ็บป่วยในร่างกายได้อีกด้วย ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้
1. ลดอาการปวดตึงเต้านม
ช่วยลดอาการปวดตึงบริเวณเต้านม โดยการนำเอากะหล่ำปลีมาประคบที่เต้านมข้างละใบ แล้วใช้ผ้าพันเอาไว้ประมาณครึ่งชั่วโมง จะช่วยบรรเทาอาการปวดตึงให้ดีขึ้นได้
2. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร
การรับประทานกะหล่ำปลีจะช่วยลดการอักเสบของแผลภายในลำไส้และกระเพาะอาหาร อีกทั้งยังลดอาการจุกเสียดแน่นท้องอันเนื่องมาจากกรดเกินในกระเพาะอีกด้วย
3. ขับล้างสารพิษในตับ
กะหล่ำปลีมีส่วนช่วยบำรุงตับ กำจัดสารพิษตกค้างในร่างกาย ลดความเสื่อมสภาพ และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ตับสามารถกำจัดสารพิษได้ดีขึ้น เมื่อตับกำจัดสารพิษออกไปได้มาก ก็จะช่วยลดอนุมูลอิสระในร่างกาย ส่งผลดีต่อระบบการทำงานอื่นๆ ควบคู่ไปด้วย
ข้อควรระวัง
เนื่องจากกะหล่ำปลีมีปริมาณของใยอาหารสูง หากรับประทานแต่เพียงน้อย จะช่วยให้ระบบขับถ่ายทำงานได้ดี แต่หากรับประทานมากจนเกินไป เนื่องจากมีสายกอยโตรเจน ซึ่งจะเข้าไปขัดขวางไม่ให้ร่างกายดูดซึมไอโอดีน เสี่ยงต่อการเกิดโรคคอหอยพอก ซึ่งมาจากภาวะขาดสารไอโอดีนนั่นเอง
นอกจากนี้ กะหล่ำปลีดิบก็มีสารเคมีตกค้างอยู่มาก เนื่องจากใบที่ห่อซ้อนกันอย่างแน่นหนา สารเคมีที่อยู่ในใบสดจะล้างออกได้ไม่หมดเหมือนกับการนำไปผ่านความร้อน ส่งผลให้ร่างกายรับเอาสารเคมีเข้าไปสะสม และเกิดอาการเจ็บป่วยตามมาในระยะยาว ทางที่ดีควรแกะใบกะหล่ำออกมาล้างทำความสะอาดทีละใบ ผ่านน้ำยาล้างผัก หรือด่างทับทิม แช่เอาไว้สัก 5-10 นาที แล้วล้างทำความสะอาดด้วยน้ำเปล่าอีกครั้ง จะช่วยลดปริมาณสารเคมีตกค้างให้น้อยลงได้ และนี่ก็คือ ประโยชน์ของกะหล่ำปลีซึ่งมีด้วยกันหลากหลายด้านเลยทีเดียว แถมยังมีไฟเบอร์ที่เหมาะสำหรับกินลดความอ้วนได้อีกด้วย อย่างไรก็ตาม การทานกะหล่ำปลีแบบดิบๆ ก็มาพร้อมโทษได้ โดยเฉพาะสารพิษตกค้างและสารบางชนิดที่ทำให้เกิดโรคคอพอก ซึ่งนอกจากการล้างทำความสะอาดกะหล่ำปลีอย่างดีแล้ว การนำมาปรุงแต่งอาหารโดยผ่านความร้อนก่อนย่อมทำให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากกะหล่ำปลีอย่างคุ้มค่าสูงสุดแน่นอน