ใบบัวบก เครื่องดื่มสีเขียวเปี่ยมด้วยประโยชน์

ทานสดๆ ก็ได้ คั้นน้ำดื่มก็ดี หรือจะใช้ภายนอกก็เจ๋ง ไม่เบา
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 3 พ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ใบบัวบก เครื่องดื่มสีเขียวเปี่ยมด้วยประโยชน์

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • บัวบกเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเขตร้อนโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะ หรือริมน้ำ แม้จะเป็นพืชล้มลุกแต่บัวบกก็มีอายุนานหลายปี
  • บัวบกมีประโยชน์มากมายทั้งในเชิงการรักษา เช่น รับประทานเพื่อรักษาอาการช้ำใน โรคลมชัก ลดอาการร้อนใน หรือนำมาทารักษาแผลสด การรับประทานเพื่อบำรุงร่างกาย เช่น บำรุงประสาทและสมอง เสริมความจำ
  • การรับประทานใบบัวบกสดๆ จะทำให้ได้รับสารสำคัญหลายชนิด ที่พบมาก คือ สารต้านอนุมูลอิสระ  "สารไกลโคไซด์" ช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ และช่วยเร่งการสร้างคอลลาเจน 
  • หากมีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกคันตามผิวหนัง ท้องร่วง ภายหลังจากการรับประทานใบบัวบก ควรหยุดรับประทานและรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ก่อนรับประทานใบบัวบกเพื่อเป็นยา จำเป็นต้องพิจารณาด้วยว่า ตนเองมีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะสารบางชนิดในใบบัวบกอาจ ทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้นได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่

ใบบัวบก เป็นพืชสมุนไพรที่เรารู้จักกันดีในฐานะยาแก้ช้ำใน สีเขียวอื๋อ รสขื่นๆ ปนหวาน  ช้ำในที่ว่านี้คือ อาการอักเสบทางกาย แต่ความจริงแล้ว ใบบัวบกยังมีดีมากกว่านั้นคือ ช่วยดับกระหาย  บำรุงร่างกาย และรักษาโรคได้มากมาย  

นอกจากนิยมนำใบบัวบกมาคั้นดื่มแล้ว เรายังสามารถรับประทานใบบัวบกได้แบบสดๆ ทั้งต้น ปัจจุบันยังเริ่มมีการทำวิจัย สกัดสารสำคัญในใบบัวบกให้รับประทานง่ายขึ้นทั้งในรูปของยาแคปซูลและผงสำหรับชงดื่มอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ลักษณะของใบบัวบก

บัวบก มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Centella asiatica (L.) Urb. อยู่ในวงศ์เดียวกับผักชี บัวบกเป็นพืชที่พบได้ทั่วไปในเขตร้อนโดยเฉพาะบริเวณพื้นที่ชื้นแฉะหรือริมน้ำ แม้จะเป็นพืชล้มลุกแต่บัวบกก็มีอายุยืนยาวได้นานหลายปี 

บัวบกเป็นพืชล้มลุก มีกอติดอยู่กับพื้นดิน ลำต้นจะเลื้อยแผ่กิ่งก้านไปตามพื้นดินในแนวราบ ใบลักษณะคล้ายใบบัว ขอบใบเป็นแฉกเล็กๆ โดยรอบ มีดอกขนาดเล็กสีม่วงปนแดง ผลแบน ไม่มีเนื้อ 

ประโยชน์ของใบบัวบก

นอกจากช่วยรักษาอาการช้ำในได้แล้ว บัวบกยังช่วยรักษาโรคลมชัก  โรคผิวหนัง  ท้องเสีย  ท้องอืด โรคในกระเพาะอาหาร รวมทั้งเป็นยาบำรุงร่างกายชั้นดี เช่น บำรุงสมอง ช่วยเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ บำรุงประสาท  

การรับประทานใบบัวบกแบบสดๆ จะทำให้ได้รับสารสำคัญหลายชนิด ที่พบมาก คือ "สารไกลโคไซด์ (Glycosides)" ซึ่งเป็นสารที่เข้าไปขัดขวางการเกิดสารอนุมูลอิสระ ช่วยลดการเสื่อมสภาพของเซลล์และเนื้อเยื่อต่างๆ  มีส่วนช่วยเร่งการสร้างคอลลาเจน และช่วยทำให้แผลสมานตัวเข้าหากันได้เร็วขึ้นกว่าเดิม

เนื่องจากบัวบกมีฤทธิ์เป็นยาเย็นจึงช่วยลดการเกิดอาการร้อนใน ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ ได้ สำหรับผู้หญิงที่อยู่ในวัยใกล้หมดประจำเดือน คนที่ต้องใช้สมองในการทำงานมากๆ ใบบัวบกจะช่วยเพิ่มความจำได้ดี 

นอกจากนี้ยังช่วยลดความตึงเครียด ลดการอักเสบที่ผิวหนัง ยับยั้งเชื้อแบคทีเรียทำให้สามารถรักษาสิวได้ และลดอาการฟกช้ำได้  นอกจากนี้ผู้ที่รับประทานใบบัวบกหลังการผ่าตัดยังจะช่วยให้แผลสมานตัวได้เร็วขึ้นและลดการติดเชื้อได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

สรรพคุณของบัวบกกับผลการวิจัย

งานวิจัยได้กล่าวถึงบัวบกว่า เป็นพืชที่มีสรรพคุณโดดเด่นในด้านการบำรุงสมองเช่นเดียวกันกับแปะก๊วย ช่วยกระตุ้นสมองในการจดจำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น และช่วยพัฒนาการเรียนรู้ทางสมอง 

ด้วยคุณสมบัติพิเศษเหล่านี้ทำให้บัวบกเป็นพืชที่ได้รับการจดสิทธิบัตรในฐานะพืชที่ช่วยเพิ่มความจำ

  • มีงานวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดใบบัวบกมีฤทธิ์เพิ่มระดับสารสื่อประสาทในสมองได้ทำให้สามารถยับยั้งอาการชักได้ จากการทดลองในลูกหนู พบว่า มีความจำและการเรียนรู้ที่ดีขึ้น 
  • ในคน มีการทดลองในเด็กพิเศษด้วยการรับประทานบัวบกวันละ 500 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 3 เดือน แล้วเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม พบว่า กลุ่มที่รับประทานบัวบกมีความสามารถในการเรียนรู้ที่ดีกว่า 
  • ในผู้สูงอายุให้ทดลองกรับประทานสารสกัดบัวบก 750 มิลลิกรัม ติดต่อกัน 2 เดือน พบว่า ความจำและการเรียนรู้ดีขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดอารมณ์แปรปรวนทำให้ผู้สูงอายุมีอารมณ์ดีมากขึ้นด้วย  
  • ในวัยทำงานได้ทดลองกับผู้หญิงอายุประมาณ 33 ปี โดยให้รับประทานสารสกัดบัวบก 500 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง พบว่า ช่วยลดความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าลงได้

เมื่อเจาะลึกลงไปถึงระดับเซลล์ พบการทำงานของสารสกัดบัวบกที่ตรงเข้าออกฤทธิ์กับสมอง ช่วยทำให้การหายใจระดับเซลล์ภายในสมองทำงานได้ดีขึ้น มีสารต้านอนุมลอิสระ ช่วยสร้างสมดุลสารสื่อประสาท และต้านการเสื่อมสภาพของเซลล์สมองได้

จากการทดลองในหนูที่เป็นเบาหวาน พบว่า สารสกัดจากใบบัวบกช่วยกระตุ้นการทำงานของไกลโคไซม์ เอนไซม์ และกระบวนการไกลโคจีเนซิส ที่สามารถช่วยลดการสะสมกลูโคสในเลือดได้  

การนำใบบัวบกมาใช้บริโภคเพื่อเป็นยา

  • บัวบกสามารถนำมาใช้เป็นยาได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นส่วนของต้นสด เมล็ด หรือใบ ซึ่งเป็นส่วนที่นิยมนำมาใช้มากที่สุด การเลือกใบบัวบกที่ดีควรเลือกใบที่โตเต็มที่และสมบูรณ์ นำมาตากแห้งป่นเป็นผง บรรจุลงในแคปซูลประมาณ 500 มิลลิกรัม รับประทานเป็นยาบำรุงร่างกายได้
  • นำเอาใบบัวบกสด 1 กำมือ มาคั้นให้ได้น้ำ หรือตำให้ละเอียดแล้วผสมกับน้ำ 1 แก้ว คนให้เข้ากันจากนั้นกรองให้เหลือแต่น้ำ ผสมน้ำตาล  หรือเกลือก็ได้ตามชอบ ดื่มครั้งละ 1 แก้ว ก่อนอาหารทั้ง 3 มื้อ นานประมาณ 5-7 วัน จะช่วยลดอาการร้อนในและแก้ช้ำในได้
  • กรณีที่เป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงสามารถดื่มน้ำใบบัวบกทุกวัน ติดต่อกันประมาณ 7 วัน จะช่วยลดความดันโลหิตให้อยู่ในระดับปกติได้
  • เมล็ดของบัวบกที่มีรสขมและเย็น นิยมนำมาใช้แก้ไข้ ลดอาการปวดศีรษะ และแก้บิด

การนำบัวบกมาใช้เป็นยาภายนอก

รักษาแผล ทำความสะอาดแผลด้วยยาฆ่าเชื้อก่อนทาครีมที่มีสารสกัดจากบัวบกสด 7 % โดยน้ำหนัก ทาบริเวณที่เป็นแผลวันละ 1 – 3 ครั้ง หรือตามแพทย์สั่ง หากใช้แล้วไม่ดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ ให้หยุดใช้ 

สำหรับการเก็บรักษาครีมใบบัวบก ควรเก็บไว้ในที่เย็น อุณหภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส 

บำรุงผิวหน้า ปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากสารสกัดใบบัวบกหลายชนิด เช่น ครีมทาหน้า มาสก์พอกหน้า เป็นต้น จึงแนะนำให้ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีมาตรฐาน มากกว่าการเก็บ หรือซื้อใบบัวบกที่อาจมีสารปนเปื้อนมาใช้งานเอง

ข้อควรระวังในการใช้ใบบัวบก

  • ก่อนรับประทานใบบัวบกเพื่อเป็นยาต้องตรวจสอบสุขภาพของตนเองก่อนว่า มีโรคประจำตัวอะไรที่มีความเสี่ยงหรือไม่ เพราะสารบางชนิดในใบบัวบกอาจ ทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้นได้
  • เนื่องจากบัวบกเป็นยาที่มีฤทธิ์เย็น การรับประทานมากเกินไปจะทำให้สะสมในร่างกายจนรู้สึกหนาวมากขึ้นได้
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานใบบัวบกติดต่อกันทุกวัน หรือรับประทานครั้งละมากๆ เมื่อรับประทานติดต่อกันประมาณ 1 สัปดาห์แล้ว ก็ควรหยุดพัก 1 สัปดาห์ แล้วค่อยกลับมารับประทานใหม่
  • สำหรับผู้ที่รับประทานใบบัวบกสดๆ ติดต่อกันทุกวัน ควรรับประทานประมาณวันละ 3-6 ใบ ไม่ควรเกินไปกว่านี้
  • หากมีอาการอ่อนเพลีย เวียนหัว ใจสั่น หรือหัวใจเต้นผิดปกติ รู้สึกคันตามผิวหนัง ท้องร่วง ภายหลังจากการรับประทาน ควรหยุดรับประทานและรีบไปพบแพทย์ทันที
  • ในกลุ่มคนที่ต้องรับประทานยาแก้แพ้ ยานอนหลับ หรือยากันชัก ไม่ควรรับประทานใบบัวบก เนื่องจากจะยิ่งไปเพิ่มฤทธิ์ให้รู้สึกง่วงซึมมากขึ้น
  • การนำมาใช้ภายนอกบางคนอาจมีอาการแพ้ มีอาการแสบร้อนที่ผิวหนัง
  • อาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นหากรับประทานบัวบกในปริมาณที่มากเกินไป หรือมีอาการแพ้ ได้แก่ ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้เวียนศีรษะและอาการง่วงนอนอย่างรุนแรง

บัวบกเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่หาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาดแถมยังมีราคาถูกแต่มากด้วยสรรพคุณทางยา  บัวบกจึงเป็นอีกทางเลือกสำหรับการรักษาโรคต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ แต่ควรใช้อย่างระมัดระวังเพื่อให้ได้ประโยชน์สุงสุดและหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่อาจได้รับ 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Veerendra Kumar MH, Gupta YK. (2003). Effect of Centella asiatica on cognition and oxidative stress in an intracerebroventricular streptozotocin model of Alzheimer's disease in rats. Clin Exp Pharmacol Physiol. 2003 May-Jun; 30(5-6):336-42.
Kashmira J. Gohil,* Jagruti A. Patel, and Anuradha K. Gajjar. (2010) Pharmacological Review on Centella asiatica: A Potential Herbal Cure-all (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/), October 2010
Gupta YK, Veerendra Kumar MH, Srivastava AK. (2003). Effect of Centella asiatica on pentylenetetrazole-induced kindling, cognition and oxidative stress in rats. Pharmacol Biochem Behav. 2003 Feb; 74(3):579-85

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป