บัวบก (Gotu kola) คือพืชสมุนไพรที่มักใช้กันเป็นยาจีนและยาอายุรเวท โดยส่วนที่นำไปทำยาคือส่วนที่อยู่พ้นดินขึ้นไป เป็นพืชที่ใช้รักษาภาวะติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส หรือปรสิต อย่างภาวะติดเชื้อที่ท่อปัสสาวะ (Urethritis) โรคงูสวัด (Shingles) โรคเรื้อน (Leprosy) อหิวาตกโรค (Cholera) โรคบิด (Dysentery) ซิฟิลิส (Syphilis) ไข้หวัด (Common cold) โรคเท้าช้าง (Elephantiasis)
นอกจากนี้ยังสามารถนำไปทาบนผิวหนังเพื่อสมานบาดแผลและลดรอยแผลเป็นได้ ใช้ทาเพื่อลบรอยแตกลายที่หน้าท้องขณะตั้งครรภ์ รวมไปถึงรอยเย็บหลังผ่าตัดจากการตั้งครรภ์
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ประโยชน์ของบัวบก
บัวบกมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่ช่วยลดการอักเสบและลดความดันโลหิตของเส้นเลือดดำที่จะนำมาซึ่งภาวะหลอดเลือดดำขอด อีกทั้งยังช่วยผลิตคอลลาเจน (Collagen) ซึ่งเป็นสารสำคัญในการสมานบาดแผล
ภาวะที่ใช้บัวบกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลดภาวะผิดปกติของการไหลเวียดของเลือดจากขาและเท้ากลับไปสู่หัวใจ นำมาซึ่งภาวะหลอดเลือดดำบกพร่องเรื้อรัง (Venous insufficiency) การรับประทานหรือใช้สารสกัดจากบัวบก ที่เรียกว่า Centellase เป็นเวลา 4-8 สัปดาห์จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนเลือดและลดอาการบวมของผู้ที่มีการไหลเวียนเลือดที่ขาไม่ปกติ
ภาวะที่ยังคงขาดหลักฐานว่าบัวบกรักษาได้หรือไม่
- ภาวะหลอดเลือดแข็ง (Atherosclerosis) ผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดแข็งจะมีไขมันสะสมอยู่ตามผนังเยื่อบุของหลอดเลือด การรับประทานจะช่วยให้คราบที่เกาะตามหลอดเลือดคงที่ ทำให้ไม่ก่อให้เกิดลิ่มเลือด ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจวายหรือหลอดเลือดสมองอุดตัน อย่างไรก็ตาม การศึกษาในประเด็นดังกล่าวยังมีไม่มากพอที่จะยืนยันผลการรักษาดังกล่าว
- ป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่ขาขณะนั่งเครื่องบินเป็นเวลานาน บัวบกสามารถช่วยป้องกันการเกิดลิ่มเลือดที่เกิดในขาจากการนั่งเที่ยวบินระยะเวลานาน มีหลักฐานว่าบัวบกอาจลดของเหลวและเพิ่มการไหลเวียนโลหิตของผู้ที่ต้องใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมงบนเครื่องบิน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดว่าการลดลงของลิ่มเลือดเกิดขึ้นได้จริง
- ควบคุมปริมาณน้ำตาลในเลือด มีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า สารสกัดบัวบกสามารถคุมปริมาณน้ำตาลในเลือดได้ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการเก็บข้อมูลในมนุษย์
- ช่วยเรื่องความจำ มีการศึกษาบ่งชี้ว่า การรับประทานสารสกัดจากบัวบก 1,000 มิลลิกรัมต่อวันเป็นระยะเวลา 6 สัปดาห์ จะช่วยเรื่องความจำในผู้ป่วยที่เป็นเส้นเลือดในสมองตีบหรือแตก หากเทียบเท่าการรับประทานกรดโฟลิกวันละ 750 กรัม
- แผลเป็นชนิดที่โตมากเกินไป หรือคีลอยด์ (Keloid) มีบางหลักฐานกล่าวถึงการทาสารสกัดจากใบบัวบกที่เรียกว่า Madecassol อาจช่วยลดเนื้อเยื่อแผลเป็นส่วนเกิน
- ผิวหนังแดงแตกสะเก็ด (โรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)) มีบางหลักฐานกล่าวถึงการทาบัวบกที่ผิวหนังอาจช่วยลดอาการของโรคสะเก็ดเงิน
- รอยแผลเป็น งานวิจัยกล่าวว่าการทาครีมบัวบก (Alpha centella) บนผิวหนัง 2 ครั้งต่อวันนาน 6-8 สัปดาห์หลังนำไหมเย็บแผลออกอาจช่วยลดรอยแผลเป็น
- รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดคลอดบุตร งานวิจัยกล่าวว่าการทาครีมโตรโฟลาสติน (Trofolastin) ที่มีส่วนผสมของบัวบก วิตามินอี (Vitamin E) และคอลลาเจน ทุกวัน จะลดรอยแผลเป็นบนหน้าท้องได้ อีกทั้งมีหลักฐานว่ายาทาเฉพาะที่สำหรับรักษาการติดเชื้อแผลผ่าตัดที่มีส่วนผสมของบัวบก วิตามินอี กรดไขมันที่จำเป็น กรดไฮยาลูรอน (Hyaluronic acid) อีลาสติน (Elastin) และเมนทอล (Menthol) อาจช่วยป้องกันผิวแตกลาย (Stretch marks) จากการผ่าตัดคลอดบุตร
- สมานบาดแผล มีบางหลักฐานที่กล่าวว่าการทาบัวบกบนผิวหนังอาจช่วยเพิ่มกระบวนการสมานแผล
ผลข้างเคียงและความปลอดภัยของการใช้บัวบก
หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร บางคนที่ใช้ทาผิวอาจมีอาการแพ้ คัน แสบร้อนได้ ควรล้างออกและหลีกเลี่ยงการใช้ อย่างไรก็ตาม การทาบัวบกอาจจะปลอดภัยสำหรับหญิงตั้งครรภ์ แต่ไม่ควรรับประทานเนื่องจากอาจมีผลยุติการตั้งครรภ์ได้ ส่วนหญิงให้นมบุตรยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดถึงการส่งผ่านสารอาหารทางน้ำนม ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงการรับประทานขณะตั้งครรภ์และระหว่างให้นมบุตรเพื่อความปลอดภัย
นอกจากนี้บัวบกไม่ควรรับประทานติดต่อกันต่อเนื่องเกิน 6 สัปดาห์ หากต้องการรับประทานต่อ ควรหยุดรับประทานประมาณ 2 สัปดาห์แล้วจึงเริ่มรับประทานใหม่ เพราะถ้าบริโภคในปริมาณที่มากเกินไป อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ลำไส้แปรปรวน มึนงง และง่วงนอน
ข้อควรระวังเป็นพิเศษสำหรับการใช้บัวบก
โรคตับ มีข้อกังวลว่าบัวบกอาจสร้างความเสียหายแก่ตับได้ ผู้ที่เป็นโรคตับอยู่ก่อน (เช่น โรคตับอักเสบ) ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเพราะอาจทำให้อาการของโรคทรุดลงได้
การผ่าตัด หากรับประทานร่วมกับยาที่ใช้ระหว่างและหลังการผ่าตัดอาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนมากยิ่งขึ้น ดังนั้นควรหยุดรับประทานอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
การใช้บัวบกร่วมกับยาชนิดอื่น
ห้ามใช้บัวบกร่วมกับยาเหล่านี้
- ยากล่อมประสาท (CNS depressants)
การบริโภคบัวบกปริมาณมากอาจทำให้เกิดอาการง่วงนอน ดังนั้นไม่ควรรับประทานบัวบกร่วมกับยากล่อมประสาท ตัวอย่างยากล่อมประสาทมีทั้ง Clonazepam (Klonopin), Lorazepam (Ativan), Phenobarbital (Donnatal), Zolpidem (Ambien) และอื่นๆ
ควรใช้บัวบกร่วมกับยาเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง
- ยาที่ส่งผลเสียต่อตับ (Hepatotoxic drugs)
บัวบกอาจสร้างความเสียหายต่อตับ การรับประทานบัวบกร่วมกับยาที่ส่งผลเสียกับตับจะเพิ่มความเสี่ยงที่ตับจะเสียหายได้มากขึ้น ตัวอย่างยาที่ส่งผลเสียต่อตับมีทั้ง Acetaminophen (Tylenol และอื่น ๆ), Amiodarone (Cordarone), Carbamazepine (Tegretol), Isoniazid (INH), Methotrexate (Rheumatrex), Methyldopa (Aldomet), Fluconazole (Diflucan), Itraconazole (Sporanox), Erythromycin (Erythrocin, Ilosone อื่นๆ), Phenytoin (Dilantin), Lovastatin (Mevacor), Pravastatin (Pravachol), Simvastatin (Zocor) และอื่นๆ มากมาย
การใช้ยาที่สกัดจากบัวบก
สำหรับผู้มีปัญหาการไหลเวียนโลหิตที่ขาไม่ดี (Venous insufficiency) ให้รับประทานสารสกัดจากบัวบก 60-180 มิลลิกรัม ทุกวัน