การรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

เผยแพร่ครั้งแรก 13 มิ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 10 นาที
การรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งให้หายขาด แต่มียาและการรักษาหลายรูปแบบสำหรับอาการแต่ละอาการของโรค

คุณควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือแพทย์ประจำตัวของคุณหากคุณคิดว่าคุณมีอาการของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำเริบขึ้นมา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ในบางครั้ง อาการเหล่านั้นอาจเกิดขึ้นจากภาวะอื่นนอกเหนือจากโรคดังกล่าวได้ เช่น การติดเชื้อ ดังนั้นแพทย์ประจำตัวของคุณจำเป็นต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุที่เป็นไปได้อื่น ๆ ไปด้วย

การรักษาช่วงอาการกำเริบ (Relapse) มักได้แก่:

  • การทานยาสเตียรอยด์ติดต่อกัน 5 วัน หรือ
  • การฉีดยาสเตียรอยด์ในโรงพยาบาลเป็นเวลา 3 – 5 วัน

ยาสเตียรอยด์สามารถช่วยให้คุณฟื้นตัวจากช่วงอาการกำเริบของโรคได้ง่ายและไวขึ้น แต่ตัวยาไม่ได้ป้องกันไม่ให้เกิดอาการกำเริบขึ้นอีกในภายหลัง

ยาดังกล่าวจะถูกใช้เฉพาะในช่วงเวลาสั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่เป็นไปได้ของสเตียรอยด์ เช่น โรคกระดูกพรุน (osteoporosis) การเพิ่มน้ำหนักร่างกาย และโรคเบาหวานแม้ว่าผู้ป่วยบางคนจะยังคงเกิดผลข้างเคียงแม้จะใช้ระยะเวลารักษาไม่นานก็ตาม

หากเป็นไปได้ ไม่ควรใช้ยาสเตียรอยด์มากกว่าสามครั้งต่อปีซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงดังกล่าวลงได้

การรักษาอาการต่าง ๆ โดยเฉพาะของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งสามารถทำให้เกิดอาการต่าง ๆ มากมายซึ่งสามารถทำการรักษาแยกแต่ละอาการได้ การรักษาอาการหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้

การรักษาอาการเมื่อยล้าในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งส่วนใหญ่จะเกิดอาการเมื่อยล้า

สำหรับความเหนื่อยล้าที่เกิดจากโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง คุณอาจได้รับสั่งยา Amantadine จากแพทย์แม้ว่ายานี้อาจมีประสิทธิภาพค่อนข้างน้อยก็ตาม นอกจากนี้ คุณควรได้รับคำแนะนำทั่วไปเกี่ยวกับวิธีการจัดการความเมื่อยล้า เช่น การออกกำลังกาย การนอนหลับให้เพียงพอและดีต่อสุขภาพ เทคนิคการรักษาพลังงานร่างกาย และการหลีกเลี่ยงยาที่สามารถทำให้ความรู้สึกเมื่อยล้าได้มากขึ้น ได้แก่ ยาแก้ปวดบางตัว

หลักสูตรการจัดการความเมื่อยล้าหรือการบำบัดอื่น เช่น การบําบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy: CBT) ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยบางคนสามารถรับมือกับความเมื่อยล้าดังกล่าวได้

การรักษาปัญหาสายตาในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ปัญหาสายตาหรือการมองเห็นที่สัมพันธ์กับโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งมักจะดีขึ้นได้เองโดยไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาใด ๆ ภายในเวลาไม่กี่สัปดาห์ แต่หากอาการของคุณรุนแรงมาก คุณอาจได้รับยาสเตียรอยด์เพื่อช่วยให้สามารถฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการขยับหรือกระตุกของดวงตาที่ควบคุมไม่ได้ แพทย์สามารถสั่งยาเช่น ยา gabapentin เพื่อช่วยอาการดังกล่าว ผู้ป่วยบางคนที่มองเห็นภาพซ้อนนั้นควรเข้าปรึกษาจักษุแพทย์

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

การรักษาอาการกล้ามเนื้อกระตุกเกร็งในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

กล้ามเนื้อกระตุกเกร็งและการแข็งเกร็ง (spasticity) สามารถรักษาดูแลได้ด้วยการทำกายภาพบำบัด เทคนิคต่าง ๆ เช่น การออกกำลังกายยืดตัว สามารถช่วยได้หากการเคลื่อนไหวของคุณนั้นจำกัดลง

หากกล้ามเนื้อของคุณกระตุกรุนแรงขึ้น คุณอาจได้รับยาที่สามารถช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อของคุณได้ โดยปกติจะเป็นตัวยา baclofen หรือยา gabapentin และจะมียาทางเลือกอื่น ๆ เช่น tizanidine, diazepam, clonazepam และ dantrolene เป็นต้น

ยาเหล่านี้ทั้งหมดมีอาการข้างเคียงตามมาเสมอ เช่น อาการวิงเวียนศีรษะ รู้สึกอ่อนเพลีย คลื่นไส้ และท้องร่วง ดังนั้นควรปรึกษาว่าควรใช้ยาอะไรที่เหมาะกับคุณกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญของคุณ

ปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวมักเป็นผลมาจากกล้ามเนื้อกระตุกเกร็งและอาการแข็งเกร็ง แต่ก็อาจเกิดจากความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ หรือปัญหาเกี่ยวกับการทรงตัวหรือเวียนศีรษะร่วมด้วยก็เป็นได้

หากคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวคุณอาจได้รับประโยชน์จากสิ่งต่าง ๆ ดังนี้:

  • โปรแกรมการออกกำลังกายที่ดูแลโดยนักกายภาพบำบัด
  • การออกกำลังพิเศษที่เรียกว่าการฟื้นฟูระบบทรงตัว (vestibular rehabilitation) ถ้าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับความสมดุลของร่างกาย และการทรงตัว
  • ยาสำหรับอาการเวียนศีรษะหรือแขนขาสั่น
  • อุปกรณ์ช่วยในการเคลื่อนที่ เช่น ไม้เท้าหรือรถเข็น
  • การปรับแต่งบ้าน เช่น บันไดเลื่อนหรือรางเลื่อนขึ้นบันได

นักกิจกรรมบำบัดสามารถประเมินบ้านของคุณและแนะนำการปรับแต่งต่าง ๆ ที่อาจช่วยได้

การรักษาอาการปวดเหตุประสาทในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

อาการปวดเหตุประสาทเกิดจากความเสียหายต่อเส้นประสาทของคุณโดยตรง และโดยปกติจะรู้สึกคล้ายของมีคมแทง ปวดจี๊ด หรือคล้ายโดนเข็มทิ่ม นอกจากนี้ยังสามารถเกิดขึ้นได้ในรูปแบบของผิวหนังแพ้งาย หรือความรู้สึกปวดแสบปวดร้อน

อาการปวดชนิดนี้สามารถรักษาได้โดยใช้ยา gabapentin หรือยา carbamazepine หรือใช้ยาที่เรียกว่า amitriptyline ซึ่งเป็นยาสำหรับอาการซึมเศร้ารุ่นเดิมแต่วันนี้มันถูกใช้ในการควบคุมอาการปวดเป็นหลัก

การรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อและกระดูกในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ความผิดปกติของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งสามารถทำให้กล้ามเนื้อและข้อต่อในร่างกายเครียดและตึง

นักกายภาพบำบัดอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้โดยการแนะนำเทคนิคการออกกำลังกายหรือปรับท่าทางให้เป็นตำแหน่งที่ดีกว่า

ถ้าความเจ็บปวดของคุณรุนแรงมากขึ้นคุณอาจได้รับยาแก้ปวดจากแพทย์ หรือคุณอาจใช้อุปกรณ์ที่กระตุ้นเส้นประสาทของคุณที่เรียกว่า เครื่องกระตุ้นประสาทด้วยไฟฟ้าผ่านผิวหนัง (TENS)

การรักษาปัญหาเกี่ยวกับการคิด การเรียนรู้ และความจำในปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

หากคุณประสบปัญหาเกี่ยวกับความคิดและความจำ การรักษาใด ๆ ที่คุณจะได้รับนั้นจะถูกอธิบายและบันทึกอย่างละเอียดเพื่อให้คุณสามารถทำความเข้าใจได้ในภายหลัง

คุณควรเข้าพบจิตแพทย์สายคลินิก ผู้ที่จะประเมินปัญหาของคุณและแนะนำวิธีการจัดการปัญหาดังกล่าว

การรักษาปัญหาทางอารมณ์ในปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

หากคุณประสบกับอาการอารมณ์แปรปรวนอย่างหนัก เช่น หัวเราะหรือร้องไห้โดยไม่มีเหตุผลชัดเจน คุณควรได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเช่นนักจิตวิทยาคลินิก หรือจิตแพทย์ โดยแพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยยากล่อมประสาทชนิดต่าง ๆ

ผู้ที่เป็นปลอกประสาทเสื่อมแข็งซึ่งมีภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย ก็สามารถรักษาได้ด้วยยาซึมเศร้าหรือการรักษาอื่นร่วมด้วย เช่น การบำบัดความคิดและพฤติกรรม

ถ้าคุณมักรู้สึกกังวลหรือกังวลบ่อยครั้งคุณอาจได้รับยาสำหรับโรคซึมเศร้าหรือยากลุ่มเบนโซซึ่งเป็นหนึ่งในประเภทของยาคลายเครียดที่ทำให้อารมณ์สงบลง

การรักษาปัญหาทางเพศในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งเพศชายมักพบว่ายากที่ตนเองจะเกิดการแข็งตัว หรือไม่สามารถคงการแข็งตัวของอวัยวะเพศไว้ได้นานเช่นเดิม ซึ่งเรียกว่า ภาวะเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ (erective dysfunction) โดยอาจรักษาด้วยยาที่ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะเพศ เช่น ยา sildenafil หรือที่มักคุ้นหูกันในชื่อว่า ไวอากร้า (Viagra)

การเข้ารับคำปรึกษาเรื่องความสัมพันธ์หรือการเข้าพบนักบำบัดโรคทางเพศ (Sex therapist) อาจช่วยทั้งผู้ป่วยเพศชายและหญิงซึ่งกำลังมีปัญหาเรื่องความสนใจ หรือการตื่นตัวทางเพศลดลง หรือเรื่องความลำบากในการถึงจุดสุดยอดทางเพศ (orgasm)

การรักษาปัญหาทางเดินปัสสาวะในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

มียาหลายชนิดที่พอช่วยได้หากคุณมีปัญหาปัสสาวะเล็ดหรือต้องลุกขึ้นปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน

หากคุณรู้สึกการปัสสาวะของคุณติดขัดหรือยากลำบากมากขึ้น  คุณควรเข้ารับคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวหรือนักกายภาพบำบัด เครื่องมือช่วยกระตุ้นปัสสาวะชนิดพกพา (Hand-held external stimulator) ยังสามารถช่วยให้ผู้ป่วยบางคนเริ่มการปัสสาวะได้ง่าย หรือบีบให้ปัสสาวะออกได้หมดเกลี้ยงยิ่งขึ้น

บางครั้งอาจมีการใช้สายยางสวนปัสสาวะเมื่อจำเป็น ในบางกรณีผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง อาจต้องใช้สายยางดังกล่าวเป็นเวลานานเพื่อให้สามารถกำจัดปัสสาวะออกจากร่างกายได้อย่างปลอดภัย

คุณอาจได้รับการส่งต่อให้กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญระบบทางเดินปัสสาวะ ซึ่งสามารถให้การรักษาและคำแนะนำพิเศษอื่น ๆ เช่นการฉีดสารโบทอกซ์ (Botulinum toxin)  การฝึกออกแรงกระเพาะปัสสาวะ หรือการรักษาด้วยไฟฟ้าสำหรับกล้ามเนื้อรอบกระเพาะปัสสาวะ

การรักษาปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

เป็นไปได้ที่จะรักษาอาการท้องผูกเล็กน้อยหรือปานกลางโดยการเปลี่ยนแปลงชนิดอาหารหรือการใช้ยาระบายชนิดต่าง ๆ

แต่สำหรับอาการท้องผูกที่รุนแรงขึ้นคุณอาจต้องได้รับการรักษาด้วยยาสอดทวารหนัก (suppositories) ซึ่งยาที่เตรียมแล้วนั้นจะถูกแทรกลงในบริเวณทวารของคุณ จากนั้นตัวยาที่เป็นของเหลวจะผ่านจากรูทวารย้อนเข้าไปล้างส่วนไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ของคุณซึ่งจะทำให้อุจจาระของคุณนุ่มและลื่นขึ้น และสามารถขับออกมาได้ง่าย

ปัญหาอุจจาระเล็ดอาจได้รับการรักษาด้วยยาแก้อาการท้องร่วง หรือโดยการออกกำลังกายฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานเพื่อเสริมสร้างแรงของกล้ามเนื้อรอบทวารหนักของคุณ

การรักษาอาการพูดและกลืนลำบากในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

นักอรรถบำบัด หรือนักบำบัดการพูดและการใช้ภาษาจะช่วยให้คุณสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการพูดและการกลืนได้ดียิ่งขึ้น

ตัวอย่างเช่น พวกเขาสามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารที่ง่ายต่อการกลืนและพวกเขาสามารถแนะนำการออกกำลังกายเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่ใช้ในการพูดและการกลืนได้

หากปัญหาการกลืนลำบากรุนแรงขึ้น ผู้ป่วยบางคนต้องได้รับอาหารผ่านท่อสายยางซึ่งติดตั้งให้ลงไปสู่กระเพาะอาหารผ่านทางผิวหนัง

การรักษาเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผนของโรค (Disease-modifying therapies)

แม้ว่าปัจจุบันโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ก็มียาหลายตัวที่ช่วยลดจำนวนและความรุนแรงของอาการกำเริบของคนไข้ได้ เหล่านี้เรียกว่า "การปรับเปลี่ยนแบบแผนของโรค"

วัตถุประสงค์ของการรักษานี้คือเพื่อลดความเสียหายและการเกิดแผลเป็นที่ชั้นเยื่อไมอีลินรอบ ๆ เส้นประสาทที่เกี่ยวข้องกับอาการกำเริบของโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

การรักษาเหล่านี้อาจช่วยชะลอความบกพร่องหรือความพิการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง แม้ว่างานวิจัยเกี่ยวกับผลประโยชน์ในระยะยาวที่ชัดเจนของพวกเขาจะมีอยู่อย่างจำกัดก็ตาม

การรักษาเพื่อปรับเปลี่ยนแบบแผนของโรคไม่ได้เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งทุกคน มีข้อกำหนดบางอย่างซึ่งสามารถใช้ได้ในเฉพาะผู้ที่เป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ (Relapsing-remitting multiple sclerosis) และชนิดลุกลามช่วงหลัง (Secondary progressive MS) ซึ่งตรงตามเกณฑ์บางข้อ เช่น จำนวนช่วงอาการกำเริบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา

ผู้ป่วยที่ไม่มีช่วงอาการกำเริบก็ไม่น่าจะได้รับประโยชน์จากการรักษาดังกล่าว และอาจยังคงได้รับผลข้างเคียงจากยาที่ใช้อีกด้วย ดังนั้นจึงต้องทำการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไป

ยากลุ่ม Beta interferon

ชนิดของกลุ่มยานี้ที่มีใช้ ได้แก่ interferon beta-1a (Avonex, Rebif, Plegridy) และ interferon beta-1b (Betaferon, Extavia) ชื่อยาทั้งหมดเหล่านี้ได้รับเข้าสู่ร่างกายโดยการฉีด

คุณอาจได้รับการรักษาด้วยยาดังกล่าวหากมีอาการดังนี้:

คุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และคุณเคยมีช่วงอาการกำเริบของอาการเมื่อเร็ว ๆ นี้หรือการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำลังลุกลามอยู่

คุณมีโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดลุกลามช่วงหลังและยังมีช่วงอาการกำเริบอย่างรุนแรง

กลุ่มยา Beta interferon ทุกตัวสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่รุนแรงได้ โดยเฉพาะอาการคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ ได้แก่ อาการปวดหัว หนาวสั่นและไข้อ่อนๆ เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงหลังจากที่ได้รับการฉีดและอาจเกิดอาการปวดชั่วคราวหรือรอยจ้ำแดงที่บริเวณที่ฉีดยา

ยา Glatiramer acetate

ยากลุ่มนี้ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Copaxone จะถูกฉีดใต้ผิวหนังทุกวันหรือใช้ในปริมาณที่สูงขึ้นแต่ฉีดจำนวนสามครั้งต่อสัปดาห์

คุณอาจได้รับการรักษาด้วยยากลุ่มดังกล่าวถ้าหาก คุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และคุณเคยมีช่วงอาการกำเริบของอาการเมื่อเร็ว ๆ นี้หรือการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำลังลุกลามอยู่

ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของยากลุ่ม glatiramer acetate ได้แก่ รอยแดงหรือการแข็งตัวของผิวหนังที่บริเวณที่ฉีด และบางครั้งมีอาการจับชีพจรเต้นแรงได้ในบริเวณนั้นหลังจากการฉีด

ยา Teriflunomide

ยา Teriflunomide ที่มีชื่อการค้าว่า Aubagio เป็นยาชนิดเม็ดสำหรับทานวันละครั้ง

คุณอาจได้รับการรักษาด้วย teriflunomide ถ้าคุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และคุณเคยมีช่วงอาการกำเริบของอาการเมื่อเร็ว ๆ นี้หรือการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำลังลุกลามอยู่

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ teriflunomide ได้แก่ อาการปวดหัว รู้สึกไม่สบาย อาการท้องร่วง และผมบางลงหรือผมร่วง นอกจากนี้ คุณยังจะต้องทำการตรวจเลือดเป็นประจำในช่วงต้น ๆ ของการรักษาเพื่อตรวจหาปัญหาเกี่ยวกับการทำงานของตับร่วมด้วย

ยา Natalizumab

Natalizumab ที่มีชื่อการค้าว่า Tysabri จะถูกฉีดเข้าไปในหลอดเลือดดำทุกๆ 28 วัน

คุณอาจได้รับการรักษาด้วย natalizumab หากคุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และคุณเคยมีช่วงอาการกำเริบอย่างรุนแรงเมื่อเร็ว ๆ นี้ ตัวอย่างเช่น หากคุณมีช่วงอาการกำเริบอย่างรุนแรงตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปภายในหนึ่งปีที่ผ่านมา และการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้านั้นแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งของคุณกำลังแย่ลงอย่างชัดเจน

ผลข้างเคียงของยา natalizumab นั้นเกิดได้ยากมาก โดยอาจได้แก่ ความเสี่ยงต่ออาการคันหรือผื่นคันที่เพิ่มขึ้น อาการปวดศีรษะ วิงเวียนศีรษะ อาการปวดข้อ และความรู้สึกเจ็บป่วยระหว่างการได้รับยา

ความกังวลในผลข้างเคียงสำคัญของการรักษาด้วยยา natalizumab คือ ความเสี่ยงที่จะเกิดการติดเชื้อภายในสมองที่เรียกว่า ความเสียหายในสมองและประสาทส่วนกลางจากการติดเชื้อ (progressive multifocal leukoencephalopathy: PML) โรคนี้เป็นเรื่องที่พบได้ยาก แต่อาจกลายเป็นปัญหาสำคัญในการรักษาระยะยาวของยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยบางคน

ยา Fingolimod

ยา Fingolimod ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Gilenya เป็นยาชนิดแคปซูลสำหรับทานวันละครั้ง

คุณอาจได้รับการรักษาด้วย fingolimod หากคุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และยังมีช่วงอาการกำเริบเช่นเดิม หรือมีความถี่ของช่วงดังกล่าวเท่าเดิมแม้จะได้รับการรักษาด้วยยาอื่น ๆ แล้วเช่น ยา Beta interferons

ยานี้ไม่ได้ก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงใด ๆ แต่บางคนอาจมีความเสี่ยงในติดเชื้อมากขึ้นเล็กน้อย เกิดอาการปวดศีรษะ ท้องร่วง ปัญหาเกี่ยวกับตับ และปัญหาเกี่ยวกับการมองเห็นได้

ยา Alemtuzumab

Alemtuzumab ซึ่งมีชื่อการค้าว่า Lemtrada หรือ Genzyme จะได้รับเข้าสู่ร่างกายผ่านการฉีดเข้าหลอดเลือดดำโดยเริ่มต้นด้วยความถี่วันละครั้งเป็นเวลา 5 วันติดต่อกัน ตามด้วยการรักษาที่สองในปีต่อมาเป็นการฉีดวันละครั้งระยะเวลาสามวันติดต่อกัน

คุณอาจได้รับการรักษาด้วย alemtuzumab หากคุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็น ๆ หาย ๆ และคุณมีช่วงอาการกำเริบในปีที่ผ่านมาหรือการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำลังลุกลามอยู่

ผลข้างเคียงที่พบบ่อยของ alemtuzumab ได้แก่ ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มขึ้น อาการปวดหัว เกิดผื่น และมีไข้ การตรวจเลือดและปัสสาวะเป็นประจำจะถูกแนะนำให้ทำเสมอเพื่อติดตามผลการรักษา

Dimethyl fumarate

Dimethyl fumarate ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Tecfidera เป็นยาเม็ดที่ทานวันละสองครั้ง

คุณอาจได้รับการรักษาด้วย dimethyl fumarate หากคุณเป็นโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งชนิดเป็นๆ หาย ๆ และคุณมีช่วงอาการกำเริบในปีที่ผ่านมาหรือการสแกนเอกซ์เรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าแสดงให้เห็นว่าโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งกำลังลุกลามอยู่

ผลข้างเคียงที่พบโดยทั่วไปของ dimethyl fumarate ได้แก่ อาการร้อนผ่าว ท้องร่วง คลื่นไส้ ปวดท้อง และปวดศีรษะ ความระคายเคืองในทางเดินอาหารนั้นอาจดีขึ้นได้หลังจากช่วงเวลาหนึ่งเดือนหรือใกล้เคียง แต่อาการวูบวาบ ร้อนผ่าวสามารถเกิดต่อได้ แต่โดยปกติแล้วปัญหานี้ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่หรือรุนแรงอะไร

การบำบัดเสริมและการแพทย์ทางเลือกสำหรับผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง

ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งบางคนพบว่าการแพทย์ทางเลือกช่วยให้พวกเขารู้สึกดีขึ้น การรักษาด้วยแพทย์ทางเลือกและการบำบัดเสริมหลายอย่างอ้างว่าช่วยบรรเทาอาการของโรคได้แม้ว่าหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มักไม่ค่อยกระจ่างชัดว่าการรักษาดังกล่าวนั้นมีประสิทธิผลมากแค่ไหน

หลายคนคิดว่าการแพทย์ทางเลือกไม่ก่อให้เกิดผลเสียใด ๆ  อย่างไรก็ตาม บางครั้งอาจมีผู้ประสบปัญหาหรือผลข้างเคียงได้เช่นกันและไม่ควรใช้เป็นทางเลือกแทนที่สำหรับยาที่แพทย์ของคุณสั่ง หากคุณกำลังพิจารณาที่จะใช้การแพทย์ทางเลือกควบคู่ไปกับยาที่คุณได้รับ สิ่งสำคัญคือต้องแจ้งให้แพทย์ประจำตัวทราบถึงแผนการของคุณด้วยว่าเหมาะสมหรือเป็นไปได้หรือไม่

https://www.nhsinform.scot/illnesses-and-conditions/brain-nerves-and-spinal-cord/multiple-sclerosis-ms#treatment


29 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Alzheimer's disease: Symptoms, stages, causes, and treatment. Medical News Today. (https://www.medicalnewstoday.com/articles/159442)
How Is Alzheimer's Disease Treated?. National Institute on Aging. (https://www.nia.nih.gov/health/how-alzheimers-disease-treated)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป