เป็นที่กล่าวถึงกันมานานแล้วว่ายาคุมกำเนิดสามารถช่วยรักษาสิวได้ ผู้หญิงบางคนถึงกับกินยาคุมเพื่อประโยชน์ด้านผิวพรรณ มาหาคำตอบกันว่าสำหรับทางการแพทย์ ยาคุมมีกระบวนการอะไรถึงช่วยให้สิวน้อยลงได้ และถ้าผู้ชายกินยาคุมเพื่อประโยชน์ด้านการรักษาสิวบ้าง ผลจะเป็นอย่างไร
ยาคุมกำเนิดสำหรับรักษาสิวมียาอะไรบ้าง?
กลไกการการเกิดสิวนั้น เกิดจากการที่ต่อมไขมันผิวหนัง (sebaceous gland) มีการหลั่งออกของสิ่งที่เรียกว่า Sebaceous Material อันได้แก่ เอ็นไซม์ย่อยน้ำมัน (ซีบัม) แบคทีเรีย และเคราติน ที่มากเกินไป เมื่อไปจับกับเซลล์ผิวที่ตายแล้ว ทำให้ต่อมไขมันผิวหนังเกิดการอุดตันขึ้น ส่งผลให้ผิวหนังบริเวณดังกล่าวนูนขึ้นกลายเป็นสิว บางจุดอาจเกิดการอักเสบจากการติดเชื้อจากแบคทีเรีย Propionibacterium acnes ก็กลายเป็นสิวอักเสบ หรือสิวหัวช้าง
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ปกติแล้ว ผู้ชายมักประสบปัญหาสิวมากกว่าในผู้หญิง เนื่องจากฮอร์โมนเพศชาย คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) มีอิทธิพลต่อการพัฒนาขนาดของต่อมไขมันให้ใหญ่ขึ้น ซึ่งช่วยส่งเสริมการเจริญของเชื้อ P. acne ที่นำไปสู่การเกิดสิว
เมื่อการทำงานของเทสโทสเตอโรน เป็นตัวเหนี่ยวนำที่ทำให้เกิดสิวขึ้น จึงมีการใช้ยาคุมกำเนิดที่มีฤทธิ์ยับยั้งไม่ให้เกิดการทำงานของเทสโทสเตอโรนมาเป็นยาสำหรับรักษาสิว โดยยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม 3 ชนิดที่ได้รับการรับรองโดยองค์การอาหารและยาสหรัฐ (FDA) ได้แก่
- Ethinyl Estradiol / Norgestimate เช่น Cilest
- Ethinyl Estradiol / Norethindrone Acetate เช่น Activelle
- Ethinyl Estradiol / Drospirenone เช่น Yasmin Yaz Justima แต่มีการศึกษาพบว่า drospirenone มีความเสี่ยงต่อหลอดเลือด เช่น การเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นในหลอดเลือดดำ (venous thrombo embolism; VTE) มากกว่ากลุ่มอื่น
นอกจากนี้ยังมียาฮอร์โมนรวมที่มี cyproterone acetate เป็นส่วนประกอบ ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดการเกิดสิวได้ เช่น PREME, Diane-35, Sucee B-Lady เป็นต้น
ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาคุมกำเนิดที่ใช้รักษาสิวเป็นอย่างไร?
การรักษาสิวด้วยยาคุมกำเนิดในเพศหญิง ก็มีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฮอร์โมนรวมหรือชนิดฮอร์โมนโพรเจสตินเดี่ยว หากรับประทานได้ถูกต้อง ยาจะมีประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดสูงสุดมากกว่า 99%
เมื่อนับรวมความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ใช้ยา (เช่น ลืมรับประทานยา รับประทานยาไม่ต่อเนื่อง) ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะอยู่ที่ประมาณ 91% ซึ่งก็ยังถือว่าเป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพสูง
สามารถใช้ยาคุมเพื่อรักษาสิวที่หลังได้หรือไม่?
สิวที่หลังมักเกิดจากสาเหตุเดียวกับที่ใบหน้า ดังนั้น จึงเป็นไปได้ว่ายาคุมกำเนิดอาจช่วยรักษาสิวที่หลังได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษารับรองข้อบ่งใช้นี้
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
หากเป็นสิวที่หลัง แนะนำใช้ยารักษาในรูปแบบยาทาเฉพาะที่ เช่น
- เบนโซอิลเพอร์ออกไซด์ (Benzoyl Peroxide)
- เรตินอยด์ (Retinoid)
- ยาปฏิชีวนะแบบยาทา เช่น คลินดาไมซิน (Clindamycin) : การใช้ยาปฏิชีวนะแบบยาทา ควรใช้ร่วมกับยาทาชนิดอื่นข้างต้นร่วมด้วย เพราะมีโอกาสที่เชื้อแบคทีเรียจะเกิดการดื้อยา
วิธีการรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิว
การรับประทานยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวนั้น ควรรับประทานแบบยาคุมกำเนิดปกติ คือ วันละ 1 เม็ดต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นผล
ในผู้หญิงที่ใช้ยาคุมกำเนิดเพื่อรักษาสิวเพียงอย่างเดียว อาจไม่ต้องเคร่งครัดเท่ากับการรับประทานเพื่อคุมกำเนิด เช่น หากลืมรับประทานยา ให้รับประทานทันทีที่นึกได้ แต่ถ้าหากข้ามวันไปแล้วก็ไม่เป็นไร สามารถกลับมารับประทานได้ตามปกติในวันถัดไป เป็นต้น
ต้องกินยาคุมนานเท่าไหร่จึงจะเห็นผล
ระยะเวลาที่จะเห็นผลนั้น เป็นไปได้ตั้งแต่หลายสัปดาห์ไปจนถึง 3 เดือนจึงจะเห็นว่าสิวเริ่มลดลง เนื่องจากร่างกายต้องใช้เวลาในการปรับสมดุลฮอร์โมน จึงจะเห็นผลต่อการสร้างซีบัมของผิวที่ลดลง
ผู้ชายสามารถกินยาคุมเพื่อรักษาสิวได้หรือไม่?
โดยกลไกแล้ว ยาคุมกำเนิดชนิดรับประทานสามารถรักษาสิวในผู้ชายได้เช่นเดียวกันกับผู้หญิง แต่ไม่แนะนำให้ใช้วิธีนี้เนื่องจากยาคุมกำเนิดในกลุ่มที่ใช้รักษาสิว มีกลไกยับยั้งการทำงานที่ตัวรับแอนโดรเจน ซึ่งส่งผลต่อการทำงานของฮอร์โมนที่ทำให้เกิดการแสดงลักษณะทางเพศของเพศชาย ดังนั้นผู้ชายที่ใช้ยาคุมกำเนิดนี้ในการรักษาสิวอาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น อารมณ์แปรปรวน ความต้องการทางเพศลดลง อวัยวะเพศไม่แข็งตัว เต้านมโตขึ้น เป็นหมัน กระดูกพรุน
ที่มาของข้อมูล
- Stephanie S. Gardner, Birth Control for Acne, November 28, 2017.
- Del Rosso JQ, Truncal acne vulgaris: the relative roles of topical and systemic antibiotic therapy, February 2017.
- Cheng-Wei Liu. et.al, Understanding Truncal Acne: A Practical Guide to Diagnosis and Management. 1 December 2017.
- American Academy of Dermatology, Guidelines of care for the management of acne vulgaris, 10 February 2016.