อาการกดเจ็บที่ท้อง หมายถึงการได้รับแรงกด หรือออกแรงกดที่บริเวณหน้าท้องแล้วเกิดอาการปวด เจ็บหรือตึง แต่ในกรณีที่ปล่อยแรงกดแล้วเกิดอาการปวด หรือเจ็บตอนปล่อยมือ จะมีชื่อเรียกว่า อาการปล่อยเจ็บ (Rebound Tenderness/ Blumberg Sign)
อาการกดเจ็บที่ท้อง มักเป็นสัญญาณของร่างกายที่แสดงว่า มีอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลายอวัยวะในบริเวณนั้น เกิดความผิดปกติขึ้น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อาการที่เกี่ยวข้องกับอาการกดเจ็บที่ท้อง
เมื่อมีอาการกดเจ็บที่ท้อง มักจะเจออาการเหล่านี้ร่วมอยู่ด้วย
- เบื่ออาหาร
- ท้องอืด
- คลื่นไส้
- อาเจียน
- ปวดท้อง
- ท้องผูก
- ท้องร่วง
- อุจจาระมีสีซีด
- ภาวะดีซ่าน
- เป็นลม
- ประจำเดือนมาไม่ปกติ
- เป็นไข้
สาเหตุที่พบได้บ่อยของอาการกดเจ็บที่ท้อง
โดยทั่วไปแล้ว อาการนี้จะถือเป็นสัญญาณที่แสดงถึงการอักเสบหรือกระบวนการชนิดเฉียบพลันต่างๆ ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่ง หรือหลายอวัยวะร่วมกันในบริเวณนั้น
กระบวนการชนิดเฉียบพลัน หมายถึงการเกิดแรงกดดันอย่างฉับพลันด้วยสาเหตุบางอย่าง เช่น การบิดตัวของอวัยวะ หรือการอุดกั้นต่างๆ ที่อาจทำให้เกิดแรงกดดันจนทำให้เกิดอาการกดเจ็บที่ท้องตามมา
สาเหตุโดยทั่วไปที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) : เป็นภาวะที่ไส้ติ่งเกิดการบวมขึ้น ส่วนมากมักมีสาเหตุจากอุจจาระที่เดินทางผ่านลำไส้ใหญ่เข้ามาอุดตันบริเวณปากถุง
- ฝีในช่องท้อง (Abnominal Abscess) : การเกิดตุ่มบวมกลัดหนองขึ้นมาในช่องท้อง โดยทั่วไปเกิดจากภาวะไส้ติ่งแตก ลำไส้ฉีกขาด รังไข่ฉีกขาด โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) หรือการติดเชื้ออื่นๆ
- ถุงยื่นเม็คเคล (Meckel Diverticulum) : ภาวะที่สายสะดือส่วนที่เหลือกลายเป็นกระเปาะเล็กๆ ภายในลำไส้เล็ก ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเลือดออกหรือลำไส้อุดตันในภายหลังได้
- โรคถุงผนังลำไส้อักเสบ (Diverticulitis) : ภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อบุด้านในลำไส้
นอกจากนี้ ยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่พบในเพศหญิง ได้แก่
- โรคไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบ (Inguinal Hernia) : ภาวะที่ส่วนหนึ่งของเยื่อบุบริเวณช่องท้องหรือลำไส้ดันตัวยื่นผ่านกล้ามเนื้อหน้าท้องออกมา
- โรคท่อนำไข่บิดตัว : ภาวะที่ท่อนำไข่หนึ่งข้าง หรือทั้งสองข้างบิดตัวรัดเนื้อเยื่อที่ล้อมรอบ ภาวะนี้เป็นภาวะที่พบได้ยาก
- ถุงน้ำรังไข่ฉีกขาด (Ruptured Ovarian Cyst) : บางครั้งถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่ อาจเกิดการฉีกขาดออกมาสู่ท่อนำไข่หรือช่องท้องได้
- ถุงตัวอ่อนนอกมดลูกฉีกขาด (Ruptured ectopic pregnancy) : เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนเริ่มเจริญเติบโตภายนอกมดลูก และถุงของเหลวที่ล้อมรอบตัวอ่อนเกิดการฉีกขาดหรือระเบิดขึ้น ภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ร้ายแรงถึงชีวิต
- โรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (PID) : เป็นภาวะที่อวัยวะสืบพันธุ์ของผู้หญิงเกิดการติดเชื้อ มักเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ชนิดอื่น เช่น หนองในเทียม (Chlamydia) และโรคหนองใน (Gonorrhea)
ภาวะเหล่านี้ล้วนเชื่อมโยงกับการอักเสบ ทำให้เกิดอาการบวมซึ่งสร้างแรงดันภายในช่องท้องและส่งผลให้เกิดอาการเจ็บปวดตามมา
ควรเข้าพบแพทย์เมื่อใดหากเกิดอาการกดเจ็บที่ท้อง
โรคและความผิดปกติที่ก่อให้เกิดอาการกดเจ็บที่ท้อง ถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ทั้งสิ้น เมื่อพบอาการดังกล่าวร่วมกับอาการมีไข้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที เนื่องจากบางภาวะหากไม่ได้รับการรักษาอาจลุกลามจนเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่นภาวะต่อไปนี้
- ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) : ที่อาจลุกลามจนทำให้เกิดภาวะไส้ติ่งแตก (Ruptured Appendix) และภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบได้
- การตั้งครรภ์นอกมดลูก (Ectopic Pregnancy) : ที่อาจนำไปสู่ภาวะเสียเลือดอย่างรุนแรงจนอาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
- ภาวะท่อนำไข่บิดตัว (Twisted Fallopian Tube) หรือโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ (Pelvic Inflammatory Disease: PID) : อาจทำให้เกิดแผลเป็นบริเวณเชิงกราน และเกิดภาวะมีบุตรยาก
- การติดเชื้อในทางเดินอาหาร (Diverticulitis) : ที่อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต
การวินิจฉัยโรคจากอาการกดเจ็บที่ท้อง
การแบ่งส่วนของช่องท้อง
แพทย์จะตรวจโดยการสัมผัสท้องของคุณ เพื่อหาบริเวณที่มีอาการปวด ที่อาจแสดงปัญหาของอวัยวะในบริเวณนั้น เช่น
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- กดเจ็บที่ท้องด้านบนขวา มักบ่งบอกถึงตับและถุงน้ำดี
- กดเจ็บที่ท้องด้านซ้ายบน มักบ่งบอกถึงกระเพาะอาหารและลำไส้เล็กส่วนต้น
- กดเจ็บที่ท้องด้านล่างขวา มักบ่งบอกถึงไส้ติ่ง
- กดเจ็บที่ท้องด้านซ้ายล่าง มักบ่งบอกถึงส่วนสุดท้ายของลำไส้ใหญ่หรือทางเดินอาหาร
ประเภทของอาการกดเจ็บเฉพาะจุดที่เป็นที่รู้จักกันดีที่สุด คือ จุดแมคเบอร์เนย์ (McBurney Point) ซึ่งจะอยู่ในท้องส่วนขวาล่างใกล้กับไส้ติ่ง หากกดที่จุดแมคเบอร์เนย์แล้วเกิดอาการเจ็บปวด แสดงว่าไส้ติ่งของคุณอักเสบมากและมีความเสี่ยงที่จะแตก ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา
สำหรับผู้หญิง ความผิดปกติของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอื่นๆ เช่น รังไข่และท่อนำไข่ ก็สามารถทำให้เกิดอาการกดเจ็บในท้องด้านซ้ายหรือด้านขวาล่างได้เช่นกัน
การตรวจอาการกดเจ็บที่ท้อง
แพทย์อาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการต่อไปนี้เพื่อหาสาเหตุได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- เอ็กซเรย์ช่องท้อง (Abdominal X-Ray) : แพทย์จะใช้รังสีเอกซ์ตรวจสอบอวัยวะในช่องท้อง เพื่อหาความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น
- เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ช่องท้อง (Abdominal CT Scan) : แพทย์จะใช้รังสีเอกซ์สร้างภาพความละเอียดสูงของอวัยวะในช่องท้องของคุณ เพื่อค้นหาความผิดปกติของโครงสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
- การเจาะตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count) : การตรวจเลือดเพื่อประเมินสุขภาพทั่วไปของคุณ หากมีจำนวนเม็ดเลือดขาวเพิ่มขึ้น แพทย์จะทราบทันทีว่ามีการอักเสบเกิดขึ้นภายใน
- การตรวจโปรตีนซีในเลือด (C-Reactive Protein Test) : การตรวจเลือดรูปแบบหนึ่งที่แสดงผลเป็นบวกเมื่อมีการอักเสบ
- การตรวจหาฮอร์โมนเพศหญิงในเลือด (Serum Progesterone Test) : การตรวจเลือดรูปแบบหนึ่งเพื่อดูว่ามีการตั้งครรภ์หรือไม่
- อัลตราซาวด์ช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน : แพทย์จะใช้คลื่นเสียงในการสร้างภาพของอวัยวะภายในช่องท้องหรืออุ้งเชิงกราน มักใช้เพื่อตรวจโรคไส้เลื่อน ถุงน้ำ หรือการตั้งครรภ์นอกมดลูก
การรักษาอาการกดเจ็บที่ท้อง
การรักษาอาการกดเจ็บที่ท้อง จะขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวด ดังนี้
การผ่าตัด
หากเกิดภาวะไส้ติ่งอักเสบ คุณอาจจำเป็นต้องได้รับยาหรือสารเหลวต่างๆ ผ่านสายน้ำเกลือที่เจาะเข้าเส้นเลือดบริเวณมือหรือแขนของคุณ และอาจต้องได้รับการผ่าตัดไส้ติ่ง (Appendectomy) หากอาการรุนแรงมาก
นอกจากนี้ คุณอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดเพื่อนำลำไส้ใหญ่บางส่วนออก หากมีการอุดตันร่วมด้วย ส่วนภาวะอื่นๆ เช่น โรคไส้เลื่อน ภาวะท่อนำไข่บิดตัว รวมถึงการตั้งครรภ์นอกมดลูก ก็อาจต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเช่นกัน
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
การรักษาอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับอาการกดเจ็บที่ท้อง
หากคุณมีอาการกดเจ็บที่ท้อง ร่วมกับอาการอาเจียนและท้องร่วง คุณอาจต้องได้รับของเหลวและแร่ธาตุทางสายน้ำเกลือเข้าสู่หลอดเลือดดำ เพื่อช่วยรักษาความดันโลหิตและสมดุลกรดด่างในเลือดของคุณ เพราะการขาดน้ำอย่างรุนแรง อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำจนเกิดภาวะช็อกขึ้น ภาวะนี้จะทำให้ร่างกายลดการไหลเวียนของเลือดไปยังอวัยวะที่สำคัญทุกชนิด จึงอาจทำให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ควรใช้ยาแอสไพริน ยาไอบูโพรเฟน หรือยานาพร็อกเซนด้วยตัวเอง เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และทำให้เกิดภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นสาเหตุให้อาการปวดท้องของคุณแย่ลงกว่าเดิม
การดูแลตนเองหลังจากได้รับการวินิจฉัย
คุณสามารถบรรเทาอาการปวด และลดการอักเสบด้วยตัวเองได้ ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ใช้ถุงน้ำร้อนหรือขวดน้ำอุ่นประคบไปยังบริเวณที่มีปัญหา เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดท้อง
- รับประทานยาแก้ปวดที่เภสัชกรแนะนำ เช่น ยาพาราเซตามอล
- ทำโยคะ ฝึกสมาธิ และสูดหายใจลึกๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดความเครียดที่ทำให้การอักเสบและความเจ็บปวดแย่ลง
การป้องกันอาการกดเจ็บที่ท้อง
การไปพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายสม่ำเสมอเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันภาวะดังกล่าว ถึงแม้ว่าสาเหตุบางอย่างไม่สามารถป้องกันได้ แต่คุณสามารถดูแลตัวเองให้แข็งแรง และป้องกันการติดเชื้อได้ ดังนี้
- รับประทานอาหารที่เหมาะสมและมีประโยชน์
- แบ่งรับประทานอาหารเป็นมื้อเล็กๆ
- นอนหลับให้เพียงพอ อย่างน้อย 7-8 ชั่วโมง/วัน
- ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาที/วัน
- ดื่มน้ำบ่อยๆ
- มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอุ้งเชิงกรานอักเสบ
ที่มาของข้อมูล
Verneda Lights and Erica Cirino, What Causes Abdominal Tenderness? (https://www.healthline.com/symptom/abdominal-tenderness), January 17, 2017.