กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

9 วิธีดูแลสุขภาพในฤดูฝน เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

เพราะโรคที่มากับฤดูฝนมีมากมาย ควรดูแลสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคในฤดูฝน
เผยแพร่ครั้งแรก 28 มี.ค. 2017 อัปเดตล่าสุด 24 ต.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
9 วิธีดูแลสุขภาพในฤดูฝน เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย

ฤดูฝนมาพร้อมกับชุ่มชื่นและความชื้นแฉะ แม้จะดีต่อใจเพราะช่วยคลายความร้อน (ทางกาย) ลงได้มาก แต่ความชื้นที่เพิ่มมากขึ้นนี้เองที่กลับเปิดโอกาสให้เชื้อโรคหลายๆ ชนิด เติบโตและแพร่กระจายได้มากขึ้นไปด้วย  อีกทั้งในฤดูฝนอากาศยังค่อนข้างเปลี่ยนแปลงได้ง่าย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวฝน เดี๋ยวหนาว ร่างกายจึงอาจปรับสภาพไม่ทันและเกิดอาการเจ็บป่วยในที่สุด  ดังนั้นการดูแลสุขภาพให้ดีเพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ป่วย หรือตกเป็นเหยื่อของเชื้อโรคต่างๆ จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุด บทความนี้จะพาไปรู้จัก 9  วิธีดูแลสุขภาพในฤดูฝนที่คุณควรอ่านก่อนป่วย 

5 กลุ่มโรคติดต่อยอดฮิตในฤดูฝน 

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเตือน 5 กลุ่มโรคติดต่อที่มักเกิดขึ้นในหน้าฝน ได้แก่ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  1. กลุ่มโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน  อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ บิด  เชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอ และบี
  2. กลุ่มโรคติดต่อขอบระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคไข้หวัดใหญ่ หวัด หลอดลมอักเสบ  ปอดอักเสบ  
  3. กลุ่มโรคติดต่อที่เกิดจากยุง ได้แก่ ไข้เลือดออก  ไข้สมองอักเสบเจอี  โรคมาลาเรีย
  4. กลุ่มโรคติดเชื้อผ่านทางบาดแผล หรือเยื่อบุผิวหนัง ได้แก่ โรคไข้ฉี่หนู หรือแลปโตสไปโรซิส 
  5. กลุ่มโรคเยื่อบุตาอักเสบ หรือโรคตาแดง 

9 วิธีดูแลสุขภาพในฤดูฝน

1. ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร 

ในแต่ละวันเราควรดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 1.5 ลิตร ควรเป็นน้ำอุณหภูมิห้อง หรือน้ำอุ่น เพื่อให้รักษาสมดุลของร่างกายให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี  ควบคุมระดับอุณหภูมิของร่างกายให้ปกติ  น้ำช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายไม่ขาดน้ำ และสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้ผิวหนังเพื่อลดโอกาสที่เชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกาย อีกทั้งการดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ไม่เป็นหวัดได้ง่ายอีกด้วย

2. นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง 

สำหรับวัยผู้ใหญ่ควรนอนหลับให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ ฟื้นฟูสุขภาพร่างกายให้ดีขึ้น  อย่านอนดึก เพราะยิ่งนอนดึกยิ่งลดโอกาสการหลั่งของโกร๊ธฮอร์โมน (ฮอร์โมนแห่งความอ่อนเยาว์) ลงมากเท่านั้น อีกทั้งการนอนดึกยังทำให้อวัยวะที่ทำหน้าที่กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย เช่น ตับ ไต ทำงานได้มีประสิทธิภาพน้อยลง ส่งผลให้มีสารพิษคั่งค้างในร่างกายมาก  แต่หากเป็นคนนอนหลับยากแนะนำให้รับประทานกล้วยเพราะมีสาร ทริปโตเฟน ทำให้นอนหลับง่ายขึ้น

3. ออกกำลังกายเป็นประจำ

ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยวันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 3-4ครั้ง  เพื่อส่งเสริมและฟื้นฟูให้ระบบต่างๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะระบบภูมิคุ้มกันโรค   ร่างกายที่แข็งแรงย่อมห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ  

4. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และอาหารที่ปรุงสุกใหม่ 

ควรเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์โดยเฉพาะผักและผลไม้สดที่อุดมไปด้วยวิตามินและเกลือแร่  สารแอนตี้ออกซิแดนท์ ทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายแข็งแรง และยับยั้งการเกิดโรคได้  อาหารที่มีฤทธิ์ร้อนเพื่อเพิ่มความอบุ่นให้ร่างกาย เช่น ขิง  ข่า  กระเทียม  พริกไทย ดอกดีปลี  ตะไคร้  นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ๆ ถูกสุขลักษณะ  เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อจุลชีพที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินอาหารที่ลำไส้  ทำให้มีอาการท้องเสีย  มีไข้ ปวดบิดในท้อง  รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบชนิดเอและบี ซึ่งสามารถติดต่อได้จากอาหารที่มีการปนเปื้อนเชื้อไวรัสด้วยเช่นกัน  เวลารับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นควรใช้ช้อนกลางทุกครั้งเพื่อป้องกันการติดต่อของโรค

5. ดื่มเครื่องดื่มอุ่นๆ เป็นประจำ

ในวันที่ฝนตก อากาศเย็น ความชื้นสูง ควรเลือกดื่มชาสมุนไพรอุ่นๆ เป็นประจำเพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ต้านการอักเสบ แก้หวัด  แก้เจ็บคอ  ป้องกันการติดเชื้อโรคได้  เช่น  ชาดอกคาโมมายล์ ชาเขียว  ชาตะไคร้หอม  ชาน้ำขิงมะนาว  

6. พกหมวก ร่ม เสื้อกันฝน และรักษาร่างกายให้แห้งเสมอ 

อย่าลืมพกพาร่มและเสื้อกันฝนเพื่อไม่ให้ร่างกายเปียกฝน จะสามารถลดการอับชื้นและการสะสมเชื้อราอันเป็นสาเหตุของการไม่สบายตัวและนำไปสู่การเป็นหวัด หรือไข้หวัดใหญ่ได้   นอกจากนี้แนะนำให้เลือกสวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา สามารถระบายอากาศได้ดี เนื้อผ้าไม่หนาจนเกินไปและไม่บางมากจนเกินไปเพราะหากเปียกฝนจะทำให้แห้งง่าย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ มีภูมิต้านทานได้ดี ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคต่างๆ เช่น โรคปอดบวม โรคทางผิวหนัง  อย่างไรก็ดี หลังจากเปียกฝนมาใหม่ๆ ควรรีบเปลี่ยนเสื้อผ้าที่เปียกชื้นออกทันที เช็ดผมให้แห้งเพื่อให้ร่างกายเกิดความอบอุ่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

7. ไม่ควรเข้าไปในพื้นที่ชื้นแฉะและมีน้ำท่วมขัง 

ในพื้นที่ที่ชื้นแฉะมีน้ำท่วมขังนับว่าเป็นจุดก่อตัวของปรสิตและเชื้อโรคนานาชนิด  ปรสิตที่น่ากลัว เช่น พยาธิปากขอ ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปอยู่ในลำไส้เล็กเพราะดูดกินเลือด และเป็นหนึ่งในสาเหตุของโรคโลหิตจาง  พยาธิใบไม้เลือด ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปอยู่ในช่องท้อง  ทำให้ปวดท้อง อจจาระเป็นมูกเลือด  ตับม้ามโต พยาธิสตรองจีลอยด์ ซึ่งหากเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปอยู่ในปอด ลำไส้เล็ก ที่น่ากลัวคือสามารถอยู่ในร่างกายได้นานเป็นสิบๆ ปี แพร่พันธุ์ได้ง่าย  มีผลต่อร่างกายทำให้อ่อนแอลง ติดเชื้อในกระแสเลือด และเสียชีวิตในที่สุด  ดังนั้นควรสวมใส่รองเท้าทุกครั้งเพื่อป้องกันปรสิตเหล่านี้ชอนไชเข้าสู่ร่างกาย

ส่วนเชื้อโรคที่พบมาก เช่น เชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู ซึ่งอาจมีอันตรายถึงชีวิตได้  เชื้อแบคทีเรียวิบริโอ (Vibrio) และแอโรโมเนส (Aeromonas) ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อที่เป็นตุ่มน้ำบวมแดง  ทั้งนี้หากผิวหนังมีบาดแผลเปิด  แผลถลอก หรือมีรอยขีดข่วน ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสพื้นที่น้ำท่วมขังอย่างเด็ดขาด หรือหากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมอุปกรณ์ป้องกัน เช่น รองเท้าบู๊ทยาง  ถุงมือยาง  

8. ป้องกันไม่ให้ยุงกัด 

เพราะในช่วงฤดูฝนมีหลายโรคที่ยุงเป็นพาหะออกระบาด  เช่น ไข้เลือดออกมียุงลายเป็นพาหะนำโรค  ไข้สมองอักเสบเจอี (Japanese Encephalitis) ซึ่งมียุงรำคาญเป็นพาหะนำโรค  โรคมาลาเรียที่มียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค  โรคเหล่านี้อาจรุนแรงเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นจึงทางที่ดีที่สุดควรป้องกันไม่ให้ยุงกัดได้วยการทายา หรือโลชั่นกันยุง  นอนกางมุ้ง   หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่อับชื้น มืด เพราะยุงชอบ  กำจัดแหล่งน้ำขังในบ้านให้หมดเพราะเป็นที่ฟักตัวชั้นดีของยุงชนิดต่างๆ ได้นั่นเอง 

9. ใช้น้ำมันยูคาลิปตัส 

เมื่อคัดจมูก หรือหายใจไม่สะดวก ควรใช้น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus essential oil) เพราะในน้ำมันยูคาลิปตัสมีคุณสมบัติช่วยระบบทางเดินหายใจดีขึ้น  ลดเสมหะ  ลดสารพิษและจุลินทรีย์อันเป็นสาเหตุการก่อให้เกิดโรคในร่างกายได้  จึงมีฤทธิ์ทั้งในการรักษาและการป้องกันโรคนั่นเอง  วิธีใช้สำหรับแก้อาการหวัดให้หยดน้ำมันยูคาลิปตัสลงก้านไม้หอมปรับอากาศเพื่อสูดดมในห้องนอน    

แค่หมั่นดูแลสุขภาพเป็นประจำและสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะฤดูฝน หรือฤดูไหนๆ รับรองว่า คุณจะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บมากวนใจแล้ว  อีกอย่างหนึ่งหากจะเพิ่มทางเลือกดูแลสุขภาพด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคไว้ก่อนก็จะดีไม่น้อยโดยเฉพาะวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดสี่สายพันธุ์ซึ่งจะระบาดมากขึ้นในช่วงฤดูฝน  


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Winter fitness: Safety tips for exercising outdoors. Mayo Clinic. (https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/fitness/in-depth/fitness/art-20045626)
Cold Weather Safety for Older Adults. National Institute on Aging. (https://www.nia.nih.gov/health/cold-weather-safety-older-adults)
9 Ways to Avoid Fibromyalgia Pain and Fatigue. WebMD. (https://www.webmd.com/fibromyalgia/ss/slideshow-pain-fatigue)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป