โรคไข้ซิก้า เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้า ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะนำโรคเช่นเดียวกับ โรคไข้เลือดออก (Dengue fever) โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya) และโรคไข้เหลือง (Yellow Fever)
รู้จักโรคไข้ซิก้า
โรคไข้ซิก้าถูกค้นพบเมื่อค.ศ. 1947 ในลิงรีซัส (Rhesus Monkeys) จากป่าซิก้า (Zika forest) ในประเทศอูกันดา มีรายงานว่า มนุษย์ติดเชื้อซิก้าครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1952
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
โดยโรคไข้ซิก้ามีการระบาดในบริเวณทวีปอเมริกา แอฟริกา เอเชีย และบริเวณแถบแปซิฟิก เช่น บราซิล โคลอมเบีย กัวเตมาลา เฮติ ปารากวัย เวเนซุเอลา รวมทั้งหลายจังหวัดในประเทศไทย
โรคไข้ซิก้าโดยทั่วไปสามารถหายป่วยเองได้ภายใน 2-7 วัน แต่อันตรายร้ายแรงของโรคนี้คือ สามารถทำให้เกิดความผิดปกติของทารกในครรภ์ได้ หรือมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ได้
สาเหตุของโรคไข้ซิก้า
โรคไข้ซิก้าเกิดจากการติดเชื้อไวรัสซิก้าซึ่งอยู่ในตระกูลฟลาวิไวรัส (Flavivirus) โดยมียุงตระกูลเอดีส์ (ยุงลาย) (Aedes mosquitoes) เป็นพาหะนำโรค
ยุงลายมักจะออกหากินช่วงเวลากลางวัน เย็น และพลบค่ำ เมื่อยุงกัดและดูดเลือดจากผู้ที่ติดเชื้อไวรัส เชื้อไวรัสจะติดไปกับตัวยุง และจะแพร่กระจายต่อผ่านการกัดคนต่อๆ ไปนั่นเอง
รายงานจากกรมควบคุมโรค (CDC) มีการระบุว่า ไวรัสซิก้ายังสามารถติดต่อผ่านการให้เลือด และผ่านจากแม่สู่ลูกได้ในระหว่างตั้งครรภ์ (แต่ยังไม่มีรายงานระบุว่ามีการติดต่อผ่านทางการให้นมบุตร)
นอกจากนี้การวิจัยทางการแพทย์ยังพบว่า สามารถติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก หรือทางช่องคลอดได้อีกด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการของโรคไข้ซิก้า
หลังจากเกิดการติดเชื้อจะมีระยะฟักตัวประมาณ 3-14 วันขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้าส่วนใหญ่มักไม่แสดงอาการ มีเพียงประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อจะแสดงอาการเท่านั้น
ทั้งนี้อาการที่คล้ายคลึงกับอาการของไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออก ได้แก่
- มีไข้ขึ้นสูง
- ผื่นผิวหนังแดง
- เยื่อบุตาอักเสบ
- ปวดข้อต่อ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- รู้สึกไม่สบายเนื้อไม่สบายตัว
โดยปกติแล้วอาการเหล่านี้มักจะไม่รุนแรงนักและจะทุเลาลงภายใน 2-7 วัน แต่บางรายก็อาจมีอาการรุนแรงถึงขั้นทำให้ระบบการทำงานของสมองผิดปกติได้ ดังนั้นหากสงสัยว่า อาจป่วยเป็นโรคไข้ซิก้าควรรีบพบแพทย์โดยเร็วที่สุด
การตั้งครรภ์และการติดเชื้อไวรัสซิก้า
แม้ว่า เชื้อไวรัสซิก้าจะไม่รุนแรง แต่หากผู้ป่วยกำลังตั้งครรภ์อาจส่งผลร้ายแรงตามมาได้ เพราะอาจทำให้เกิดความภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ แท้ง คลอดก่อนกำหนด
รวมทั้งทำให้เมื่อคลอดออกมา ทารกอาจมีภาวะศีรษะเล็กกว่าปกติ (Microcephaly) มีสมองเล็ก มีความผิดปกติของสมองแต่กำเนิดอย่างรุนแรง รวมไปถึงความผิดปกติแต่กำเนิดอย่างอื่น
กรมควบคุมโรคให้คำแนะนำว่า หญิงตั้งครรภ์ควรงดเว้นการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด หรือสงสัยว่า มีการระบาดของเชื้อไวรัสซิก้า หากมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางเข้าสู่พื้นที่เหล่านั้นจริงๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนป้องกันอย่างรัดกุม
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
นอกจากนี้หากหญิงตั้งครรภ์มีอาการไข้ ผื่นแดง ต้องสงสัยว่าอาจติดเชื้อไวรัสซิก้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย
ภาวะไมโครเซฟาลี (Microcephaly) / ภาวะศีรษะเล็กแต่กำเนิด คืออะไร ?
ไมโครเซฟาลี (Microcephaly) เป็นความผิดปกติที่ทารกมีศีรษะขนาดเล็กตั้งแต่แรกเกิด ร่วมกับการที่สมองมีการเจริญเติบโตช้ากว่าทารกทั่วไป ภาวะนี้อาจทำให้ทารกเสียชีวิตตั้งแต่ยังเล็กได้
ไมโครเซฟาลีนับว่า เกี่ยวข้องกับมารดาที่ติดเชื้อไวรัสซิก้าระหว่างตั้งครรภ์ โดยใน ค.ศ. 2015 มีรายงานจากประเทศบราซิลถึงเรื่องภาวะไมโครเซฟาลีที่เพิ่มขึ้นควบคู่ไปกับการระบาดของไวรัสซิก้า
นั่นทำให้บราซิลกลายเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายแนะนำให้ผู้หญิงบราซิลเว้นช่วงการตั้งครรภ์ไประยะหนึ่ง
โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง “กิลแลง-บาร์เร” (Guillain-Barre Syndrome)
โรคกิลแลง-บาร์เร (Guillain-Barre Syndrome) เป็นความผิดปกติที่หาได้ยากชนิดหนึ่ง เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันมีการทำลายเซลล์ประสาทของตนเอง ทำให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง และอาจเป็นอัมพาต (Paralysis) ได้
ผู้เชี่ยวชาญบางคนเชื่อว่า โรคนี้มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัสซิก้าด้วยเช่นกัน กระทรวงสาธารณสุขของบราซิล (The Brazilian Ministry of Health) มีรายงานเกี่ยวกับอัตราการเพิ่มขึ้นของโรคกิลแลง-บาร์เร
กรมควบคุมโรคได้ประกาศยืนยันว่า การติดเชื้อไวรัสซิก้ามีความเกี่ยวข้องอย่างมากเกี่ยวกับโรคกิลแลง-บาร์เร แต่รายละเอียด หรือสาเหตุการเกิดนั้นยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม
การวินิจฉัยอาการของโรคไข้ซิก้า
หากมีอาการที่คล้ายกับอาการของโรคซิก้า ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเพิ่งเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสซิก้า
แพทย์จะสั่งตรวจเพิ่มเติมโดยการเจาะเลือด หรือตรวจปัสสาวะ เพื่อหาเชื้อไวรัสซิก้า หรือแยกเชื้อไข้หวัดใหญ่และไข้เลือดออกด้วย
การรักษาโรคไข้ซิก้า
ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัส หรือยารักษาไวรัสซิก้าได้ แพทย์จะใช้วิธีรักษาตามอาการ โดยแนะนำให้ปฏิบัติตัวดังต่อไปนี้
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ ป้องกันไม่ให้เกิดภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- รับประทานยาลดไข้ บรรเทาปวดตามอาการ (พาราเซตามอล)
- ไม่ควรรับประทานยาแก้อักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ / NSAIDs (Non-steroidal anti-inflammatory drugs) โดยไม่ได้ปรึกษาแพทย์ก่อน ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ได้แก่ แอสไพริน (Aspirin) ไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) เพราะอาจรบกวนการทำงานของเกล็ดเลือด และเสี่ยงต่อการมีเลือดออกง่าย
- ควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่รับประทานอยู่เป็นประจำด้วย
ถ้าหากติดเชื้อไวรัสซิก้าแล้วจะหายได้ไหม ?
ประมาณ 80% ของผู้ติดเชื้อไวรัสซิก้ามักไม่อาการแสดงใดๆ ส่วนผู้ที่แสดงอาการโดยมากมักคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ (Flu-like symptoms) แต่จะหายได้เองภายในไม่เกิน 1 สัปดาห์
เนื่องจากเชื้อไวรัสซิก้าจะคงอยู่ในกระแสเลือดได้เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ แต่บางกรณีก็อาจอยู่ได้นานมากกว่านั้น
การป้องกันโรคไข้ซิก้า
ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนใดที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัสซิก้าได้ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือ ป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัดเช่นเดียวกับไข้เลือดออกและโรคชิคุนกุนยา กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายตามที่พักอาศัย รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีแหล่งน้ำขังเพื่อป้องกันการขยายพันธุ์ของยุง
หากคุณกำลังจะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสซิก้า กรมควบคุมโรคแนะนำดังต่อไปนี้
- ใช้ยากันแมลง (ที่ได้รับการตรวจสอบว่าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม/ EPA-registered) โดยไม่ควรใช้ยากันแมลงกับเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน
- ใส่เสื้อแขนยาวและกางเกงขายาว
- พักอาศัยในที่ที่มีหน้าต่างปิดมิดชิด
- หากจำเป็นต้องนอนนอกอาคาร ให้ใช้มุ้งกันยุง
- คลุมเปล / รถเข็นเด็กทารกด้วยตาข่ายกันยุง
- หากมีอาการต้องสงสัยว่า อาจเป็นโรคไข้ซิก้า โดยเฉพาะผู้หญิงที่อยู่ระหว่างตั้งครรภ์ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยทันที
หากคุณได้รับการวินิจฉัยว่า ติดเชื้อไวรัสซิก้า ต้องหลีกเลี่ยงการถูกยุงกัดซ้ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งภายในสัปดาห์แรกที่ป่วย เนื่องจากยังมีปริมาณเชื้อไวรัสซิก้าในกระแสเลือดจำนวนมาก
หากถูกยุงกัดในช่วงนี้ เชื้อไวรัสจะติดไปที่ยุงและมีโอกาสแพร่ต่อไปยังผู้อื่นที่ถูกยุงกัดได้มาก
นอกจากนี้สำหรับผู้ชายควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน ส่วนผู้หญิงควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน หรือควรใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธีทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์
สถานการณ์ของโรคไข้ซิก้า และการประกาศภาวะฉุกเฉิน
1 ก.พ. 2559 WHO - องค์การอนามัยโลกประกาศให้โรคซิกาเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ทุกๆ ประเทศร่วมมือกันตรวจหาผู้ติดเชื้อและเร่งมือพัฒนาวัคซีนเพื่อวิจัยโรคให้เร็วขึ้น
การประกาศภาวะฉุกเฉินในครั้งนี้ จะประกาศเฉพาะใน 23 พื้นที่ที่มีการติดเชื้อไวรัสในวงกว้าง ได้แก่
- บราซิล
- โคลอมเบีย
- โดมินิกัน
- นิการากัว
- เอลซัลวาดอร์
- เฟรนช์เกียนา
- กัวเตมาลา
- เฮติ
- ฮอนดูรัส
- มาร์ตีนิก
- เม็กซิโก
- ปานามา
- ปารากวัย
- ซูรินาม
- เวเนซุเอลา
- เปอร์โตริโก
- บาร์เบโดส
- โบลิเวีย
- เอกวาดอร์
- กัวเดอลุป
- กายอานา
- หมู่เกาะเวอร์จินของสหรัฐอเมริกา
- เกาะเซนต์มาร์ติน
Update: 30 สิงหาคม 2559 ในประเทศไทย พบผู้ติดเชื้อไวรัสซิกา ที่ จ.เชียงใหม่จำนวน 7 คนในชุมชนบ้านแม่โจ้ และสามารถควบคุมพื้นที่แพร่กระจายได้แล้ว หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
สำหรับประเทศไทยแม้จะพบผู้ติดเชื้อ แต่สถานการณ์ยังไม่ถึงขั้นระบาด โดยกระทรวงสาธารณสุขประเทศไทยได้ออกมาประกาศว่า ไวรัสซิกา สามารถพบได้ในทั่วประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมียุงลายและเป็นเขตร้อนชื้น
แม้ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกจนทำให้ทารกเกิดความพิการ แต่เพื่อความไม่ประมาท กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้ โรคติดต่อไข้ซิก้าเป็นโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ
ความหมายคือ เป็นโรคที่รุนแรงและอันตราย สามารถติดต่อกันได้ง่าย รวมทั้งหากเกิดการติดต่ออาจทำให้เสียชีวิตได้ ดังนั้นจึงควรแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้เพื่อเฝ้าระวัง
โรคไข้ซิก้าแม้จะยังไม่มียาต้านไวรัสโดยเฉพาะนอกจากการรักษาตามอาการ แต่สามารถป้องกันตนเองได้คือ ป้องกันไม่ให้ยุงกัด งดมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยโรคไข้ซิก้า หรือเมื่อตนเองป่วยด้วยโรคนี้
รวมทั้งหมั่นรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ และไข้เลือดออก
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android