กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
พญ. วรรณวนัช เสถียนธรรมมณี แพทย์ทั่วไป

Pericarditis (เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ)

เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 17 ธ.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที

ความหมายของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) คือ การอักเสบของเยื่อหุ้มหัวใจ หรือถุงเยื่อบุที่ล้อมรอบหัวใจซึ่งคอยทำหน้าที่ยึดหัวใจให้อยู่ในตำแหน่งคงที่ (Pericardium) ภาวะนี้อาจเกิดในลักษณะแบบเฉียบพลัน (ระยะสั้น) หรือเป็นเรื้อรัง (ระยะยาว) ก็ได้ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

อาการที่พบบ่อยที่สุดของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก็คือ อาการเจ็บหน้าอก ซึ่งผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บหน้าอกมากถึงระดับเหมือนโดนมีดแทง และเป็นอาการปวดที่คล้ายกับอาการปวดจากภาวะหัวใจวาย (Heart Attack) ภาวะนี้ถือว่ามีความอันตรายอย่างสูงมาก และมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ สามารถเกิดได้ทั้งผู้ป่วยเพศชายและเพศหญิง แต่ส่วนมากมักเกิดในผู้ป่วยเพศชายช่วงอายุประมาณ 20-50 ปี และ 15-30% ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแล้ว อาจมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้อีกครั้งในหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือนต่อมา

สาเหตุของการเกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ยังไม่มีการค้นพบสาเหตุที่แน่ชัดว่า ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบนั้นเกิดจากอะไร แต่ก็ยังมีโรค เชื้อไวรัส และภาวะแทรกซ้อนบางอย่างที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ เช่น

  • ไวรัสคอกซ์แซคกี้ (Coxsackie Viruses)
  • โรคไข้หวัดใหญ่ (Influenza)
  • เชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)
  • เชื้อแบคทีเรีย (Bacteria)
  • เห็ดรา(Fungi)
  • ปรสิต (Parasites)
  • เชื้อวัณโรค (Tuberculosis
  • เป็นโรคเกี่ยวกับความผิดปกติของภูมิต้านทาน เช่น โรคแพ้ภูมิคุ้มกันตนเอง หรือโรคลูปัส (Lupus) ภาวะผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
  • โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia)
  • ภาวะไตวาย (Kidney failure)
  • การบาดเจ็บจากบาดแผลและการฉายรังสี (Traumatic and radiation)
  • การบาดเจ็บจากการรักษา (Therapy-based injuries)
  • การรักษาด้วยยาชนิดต่างๆ เช่น ยารักษาอาการชัก (Anti-seizure) ยาทำให้เลือดเจือจาง (Blood thinning) ยาควบคุมการเต้นที่ผิดปกติของหัวใจ (Anti arrhythmia medications)

ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงอย่างใดอย่างหนึ่งได้ เช่น

1. ภาวะบีบรัดหัวใจ

ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade) ถือเป็นกรณีฉุกเฉินทางการแพทย์และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว 

พัฒนาการของโรคนี้จะเกิดขึ้นเมื่อมีของเหลว เช่น น้ำหรือเลือด ถูกสร้างขึ้นมากเกินไปในพื้นที่ระหว่างกล้ามเนื้อหัวใจ (Myocardium) และเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardium) ทำให้เกิดความดันในหัวใจ และทำให้หัวใจไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ

นอกจากนี้ ภาวะบีบรัดหัวใจยังทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นๆ ตามมา เช่น 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

  • อาการวิตกกังวล
  • ปัญหาเกี่ยวกับการหายใจและมีอาการเจ็บหน้าอก
  • วิงเวียนศีรษะและเป็นลม
  • อาการบวมที่ท้อง
  • ง่วงซึม
  • ชีพจรอ่อน

2. ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัวเรื้อรัง 

ผู้ป่วยที่เป็นภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัวเรื้อรัง (Chronic constrictive pericarditis) อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษา เพราะภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอาจทำให้เกิดเนื้อเยื่อแข็งคล้ายแผลเป็น (Scar-like) ทำให้ถุงหุ้มหัวใจมีลักษณะหนาและแข็งขึ้น จนทำให้การคลายตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ การเคลื่อนที่ของหัวใจ และการสูบฉีดเลือดมีปัญหา ทั้งยังทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง หายใจลำบาก และมีอาการบวมที่ท้องรวมถึงแขนขาส่วนปลาย

อาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

อาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบสามารถเกิดได้ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การแสดงแบบเฉียบพลัน และอาการแสดงแบบเรื้อรัง

1. อาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบเฉียบพลัน

อาการแสดงลักษณะนี้ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บปวดมากที่หน้าอกเหมือนถูกมีดแทง ซึ่งอาจเป็นผลกระทบมาจากเนื้อเยื่อหัวใจเสียดสีกับเยื่อหุ้มหัวใจที่อักเสบ (Pericardial rub) นอกจากนี้ ยังมีลักษณะอาการอื่นๆ เกิดขึ้นด้วย เช่น

  • ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บในช่วงตรงกลางหรือข้างซ้ายของทรวงอก โดยอาการจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วมาก แต่อาจปวดร้าวไปยังบริเวณคอ ไหล่ หลังหรือช่องท้องด้วย
  • ผู้ป่วยจะรู้สึกดีขึ้นเมื่อนั่งเอนตัวไปข้างหน้า และจะรู้สึกแย่ลงเมื่อนอนราบและหายใจลึกๆ
  • มีอาการคล้ายกับอาการเจ็บหน้าอกจากภาวะหัวใจวาย
  • มีไข้ อ่อนเพลีย 
  • หายใจลำบาก
  • มีอาการไอ
  • อาจพบอาการหัวใจเต้นผิดปกติด้วย

2. อาการแสดงของภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบแบบเรื้อรัง

อาการแสดงลักษณะนี้จะแบ่งได้ 2 แบบ 

  • แบบที่ 1: คือ ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัวเรื้อรัง ซึ่งได้อธิบายไปแล้วในข้างต้น
  • แบบที่ 2: คือ ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบเรื้อรังแบบโครนิค เอฟฟูซีฟ (Chronic effusive pericarditis) จะเกิดขึ้นเมื่อมีของเหลวส่วนเกินเข้าไปสะสมอยู่ในพื้นที่ระหว่างหัวใจและเยื่อหุ้มหัวใจ ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอก และมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น อาการเหนื่อยล้า ไอ หายใจถี่ และอาจรุนแรงถึงขั้นเกิดภาวะความดันเลือดต่ำ บวมน้ำ และเกิดอาการบวมในช่องท้อง หรือเรียกอีกชื่อว่า "ภาวะท้องมาน"

การวินิจฉัยเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

  • ขั้นตอนแรก: แพทย์จะเริ่มจากการซักประวัติเกี่ยวกับอาการทั่วไปที่เกิดขึ้น รวมถึงอาการซึ่งอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ ภาวะหัวใจวาย การได้รับบาดเจ็บหรือเคยประสบอุบัติเหตุ และอาการป่วยอื่นๆ ที่ผู้ป่วยเป็น 
  • ขั้นตอนที่ 2: แพทย์จะตรวจหาสัญญาณของของเหลวส่วนเกินในทรวงอก และการเสียดสีของถุงเยื่อบุหุ้มหัวใจ ซึ่งโดยปกติแล้วจะตรวจโดยการฟังเสียงโดยใช้หูฟัง (Stethoscope) ในขณะที่ผู้ป่วยเอนตัวไปข้างหน้า และหายใจเข้าออก ซึ่งในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเจ็บรุนแรงมากๆ แพทย์อาจได้ยินสากๆ เกิดขึ้นในปอดของผู้ป่วย หรือได้ยินเสียงของเหลวอยู่บริเวณพื้นที่ระหว่างเยื่อบุหัวใจและหัวใจ นอกจากนี้ แพทย์อาจพบสัญญาณของเหลวในพื้นที่รอบๆ ปอดของผู้ป่วยด้วย และหากผลการวินิจฉัยยังไม่ชัดเจน แพทย์อาจมีการสั่งตรวจวินิจฉัยด้วยภาพและการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม ได้แก่
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Elektrokardiogram หรือ Electrocardiogram: EKG หรือ ECG)
    • เอกซเรย์ทรวงอก (Chest X-ray: CXR) เพื่อแสดงให้เห็นว่าหัวใจมีการขยายใหญ่ขึ้น หรือมีของเหลวรอบนอกมากเกินไปหรือไม่
    • การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรือ CT Scan (Computerised Tomography) 
    • การถ่ายภาพด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ MRI Scan (Magnetic Resonance Imaging)
    • การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (Echocardiography) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "การตรวจเอคโค่"
    • ตรวจเลือด เพื่อหาความเสี่ยงของภาวะหัวใจวาย ประเมินความสามารถในการทำงานของหัวใจ และสาเหตุการอักเสบของถุงหุ้มหัวใจ

การรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ

การรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบจะขึ้นอยู่กับลักษณะอาการ และสาเหตุที่ทำให้เกิดโรค โดยการรักษาจะแบ่งออกเป็น 3 วิธีและจะรักษาโดยยึดหลักอาการ หรือภาวะแทรกซ้อนของโรค ได้แก่

1. การรักษาโดยใช้ยา

ยาที่ใช้รักษาภาวะนี้ มีจุดมุ่งหมายหลักคือ เพื่อรักษาอาการเจ็บหน้าอกซึ่งเป็นอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วยภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ โดยกลุ่มยาที่ใช้ในการรักษาคือ กลุ่มยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-inflammatory drug: NSAIDs) เช่น ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ยาแอสไพริน (Aspirin) เพื่อลดอาการปวดอักเสบและมีไข้ 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

แต่หากผู้ป่วยมีอาการเจ็บหน้าอกรุนแรง หรือมีอาการเจ็บเรื้อรังนานกว่า 2 สัปดาห์ไปจนถึงหลายเดือน ก็จะมีการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น กลุ่มยา โคลชิซิน (Colchicine) และ กลุ่มยาสเตียรอยด์ (Steroids) เช่น เพรดนิโซน (Prednisone

นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มยาชนิดอื่นๆ อีกที่ช่วยรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบได้ ได้แก่

  • ยาปฏิชีวนะ หากสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย
  • ยาต้านเชื้อรา หากสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อรา
  • ยาขับปัสสาวะหรือยาน้ำ (Water pills) เพื่อขจัดของเหลวส่วนเกิน 

ผู้ป่วยอาจต้องใช้กลุ่ม NSAIDs และ Colchicine เป็นเวลาหลายปีถึงแม้ภาวะเรื้อรังนี้จะดีขึ้นแล้วก็ตาม ซึ่งโดยทั่วไป การรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบก็มักจะใช้ยาเป็นหลักในการรักษาอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ผู้ป่วยมีภาวะแทรกซ้อน และอาการลุกลามรุนแรงมากขึ้น เมื่อนั้นแพทย์อาจเปลี่ยนการรักษาไปเป็นการผ่าตัดแทน

2. การรักษาโดยการผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจ 

ภาวะแทรกซ้อนที่จะต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardiectomy) คือ ภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและหดตัวเรื้อรัง ซึ่งเป็นผลมาจากเนื้อเยื่อแผลเป็นได้ไปขัดขวางการขยายตัว และการเติมเลือดของหัวใจ ดังนั้น วิธีเดียวในการรักษาภาวะเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบและการหดตัวเรื้อรังก็คือ การกำจัดเนื้อเยื่อแผลเป็นที่แข็งตัวแล้วออกไป โดยแพทย์จะทำการผ่าตัดเอาเยื่อหุ้มที่แข็งตัวออกผ่านกระดูกหน้าอกตรงกลาง ซึ่งอยู่บริเวณส่วนหน้าของซี่โครง และจะมีการดมยาสลบระงับอาการปวดเพื่อช่วยไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บ

เมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด แพทย์จะเอาลวดมัดกระดูกหน้าอกและซี่โครงของผู้ป่วยให้กลับมารวมกัน จากนั้นจะทำการเย็บแผลให้เหมือนเดิม

3. การรักษาโดยการเจาะถุงหุ้มหัวใจ

การเจาะถุงหุ้มหัวใจ (Pericardiocentesis) จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อผู้ป่วยมีอาการฉุกเฉินที่เรียกว่า "ภาวะบีบรัดหัวใจ (Cardiac Tamponade)" ซึ่งเป็นภาวะที่มีของเหลวในปริมาณมากเกินไปอยู่ในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ ทำให้มีการเพิ่มขึ้นของแรงดันในถุงเยื่อหุ้มหัวใจ และไปกดเบียดหัวใจ ส่งผลให้เลือดดำไม่สามารถไหลกลับเข้าสู่ห้องหัวใจด้านขวาได้ในระหว่างที่หัวใจคลายตัว (Ventricular diastolic filling) และส่งผลให้มีการลดลงของปริมาณเลือดที่ออกจากห้องหัวใจข้างซ้าย (Cardiac output) จนเป็นผลให้ผู้ป่วยเกิดภาวะความดันเลือดต่ำจนมีอาการช็อกตามมา 

การระบายของเหลวออกไปจะกระทำโดยการเจาะถุงหุ้มหัวใจ ซึ่งมีขั้นตอนต่อไปนี้ 

  1. แพทย์จะให้ยาชาผู้ป่วยบริเวณด้านล่างกระดูกด้านบน หรือหัวนมด้านซ้าย 
  2. แพทย์จะใช้เข็มฉีดยาสอดแทรกเข้าไปในเนื้อเยื่อชั้นเยื่อหุ้มหัวใจ 
  3. แพทย์จะแทนที่เข็มฉีดยาด้วยสายสวนกับท่อเล็กๆ เพื่อระบายของเหลวออกมา ซึ่งในการเจาะระบายของเหลวออก แพทย์จะใช้เครื่องตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจในการนำทางไปพร้อมกัน เพื่อหาตำแหน่งที่มีของเหลวอยู่มากที่สุดและอยู่ใกล้ผนังทรวงอกมากที่สุด 

หากแพทย์ไม่สามารถระบายของเหลวส่วนเกินออกได้ด้วยวิธีนี้ แพทย์เปลี่ยนไปใช้วิธีเจาะรูเล็กๆ ที่เยื่อหุ้มหัวใจ (Pericardial window) เพื่อให้ของเหลวถูกระบายลงในช่องอกแทน


36 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Pericarditis. (2017, August 15) (https://www.nhs.uk/conditions/pericarditis/)
Pericarditis: Symptoms, Treatment, Causes, Diagnosis, and More. Healthline. (https://www.healthline.com/health/pericarditis)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

ดูคำถามและคำตอบอื่นๆ ที่เกี่ยวกับอาการนี้
หากพบว่า มีน้ำในเหยื่อหุ้มหัวใจมาก ในผู้ป่วยลูคีเมีย จะมีวิธีรักษาอย่างไรค่ะ
คำถามนี้ได้การตอบจากแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา)