ไตเสื่อม เป็นภาวะที่เกิดได้กับทุกคน แต่ในคนทั่วไปและผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะไตเสื่อม หากมีความรู้เกี่ยวกับภาวะไตเสื่อม ปัจจัยส่งผล และการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันและชะลอภาวะไตเสื่อม ก็จะช่วยให้สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ค่อนข้างดี
ทราบได้อย่างไรว่าไตเสื่อม?
ไตเสื่อม หมายถึง ภาวะที่ประสิทธิภาพการทำงานของไตลดลง วินิจฉัยได้จากการตรวจพบโปรตีนหรืออัลบูมิน (Albumin) ในปัสสาวะ ความรุนแรงของภาวะไตเสื่อมนั้น นอกจากใช้ค่าปริมาณโปรตีนในปัสสาวะเป็นตัวบ่งชี้แล้ว อาจบอกได้ด้วยประสิทธิภาพการกรองของไต โดยใช้ค่าคำนวณอัตราการกรองของไต (estimated Glomerular Filtration Rate) หรือ เรียกชื่อย่อว่า ค่าอีจีเอฟอาร์ (eGFR) หรือ จีเอฟอาร์ (GFR) แต่เพื่อง่ายต่อความเข้าใจของคนทั่วไป บางครั้งอาจใช้คำว่า “ค่าไต” ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน
ตรวจไต ฟอกไต รักษาโรคไต วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 50 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ในคนปกติมีค่าอัตราการกรองของไตเท่ากับ 90-125 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร หากค่าอัตรากรองของไตต่ำกว่าค่าปกตินี้ หมายความว่าบุคคลนั้นมีภาวะไตเสื่อม โดยสาเหตุของไตเสื่อมอาจเกิดได้ทั้งเป็นการเสื่อมตามธรรมชาติ และการเสื่อมอย่างผิดปกติ
โดยปกติไตจะทำหน้าที่คงที่ ตั้งแต่วัยทารกจนกระทั่งถึงวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย เมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไป อัตราการกรองของไตจะลดลง 1 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร และเมื่ออายุ 70 ปี อัตราการกรองของไตจะลดลง 50 % หรือมากกว่านั้น เนื่องจากเมื่ออายุมากขึ้น ไตก็มีแนวโน้มทำงานลดลง เนื่องจากขนาดและจำนวนหน่วยไต (Nephron) ที่ทำงานได้ลดลง ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตลดลงจากการเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น เช่น เพศชายมีโอกาสไตเสื่อมเร็วกว่าเพศหญิง การดื่มแอลกอฮอล์ที่ส่งผลให้ไตทำงานเพิ่มขึ้น การสูบบุหรี่ซึ่งนิโคตินในบุหรี่จะส่งผลให้หลอดเลือดหดตัว ปริมาณเลือดไปเลี้ยงไตลดลง การรับประทานยาสมุนไพรและยาแก้ปวดบางชนิดส่งผลต่อการทำงานของไต นอกจากนี้ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ก็เป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญทำให้เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงไตเสื่อมสภาพทำให้ไตเสื่อมเร็วขึ้น และเข้าสู่การเป็นโรคไตเรื้อรังได้
จะมีอาการอย่างไรหากไตเสื่อม?
ในช่วงไตเสื่อมระยะแรก ผู้ป่วยมักจะไม่พบอาการผิดปกติ ผู้ที่ทราบว่ามีภาวะไตเสื่อมส่วนใหญ่จะตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเมื่อตรวจเพื่อรักษาอาการผิดปกติจากโรคอื่น หรือในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะไตเสื่อม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง มักจะตรวจพบจากการตรวจเพื่อประเมินภาวะแทรกซ้อนจากโรคซึ่งทำเป็นประจำทุกปี จนกระทั่งค่าอัตรากรองของไตเหลือประมาณ 60 มิลลิลิตร/นาที/1.73 ตารางเมตร ผู้ป่วยจึงเริ่มปรากฏอาการที่ผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อย ความดันโลหิตสูง ซีด เป็นต้น
หลักปฏิบัติเพื่อควบคุมปัจจัยที่ส่งผลให้ไตเสื่อม
ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ทุกสาขาที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ พยาบาล โภชนากร และเภสัชกร เข้ามามีบทบาทร่วมกันในการรักษาและดูแลเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยประสบความสำเร็จในการชะลอไตเสื่อม โดยการลดปัจจัยเสี่ยง ค้นหาผู้ป่วยให้ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่เป็นไตเสื่อมระยะเริ่มแรก และดูแลให้ได้รับการรักษาในระยะแรก ซึ่งการรักษาในระยะแรกส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาเพื่อควบคุมและจัดการปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไตเสื่อม เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด การควบคุมความดันโลหิตสูง การควบคุมการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ เป็นต้น
นอกจากเข้ารับการรักษาเพื่อควบคุมปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไตเสื่อมแล้ว ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมในระยะแรกที่มีแนวโน้มว่าหากควบคุมปัจจัยที่ส่งผลให้ไตเสื่อมได้ ค่าอัตราการกรองของไตแม้จะไม่สามารถกลับคืนสู่ปกติได้ แต่ก็อาจเพิ่มสูงขึ้นได้กว่าที่ตรวจพบความผิดปกติในครั้งแรก การชะลอไตเสื่อมในคนทั่วไปมุ่งเน้นไปที่การควบคุมหรือหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งผลเสียต่อการทำงานของไต แต่สำหรับผู้ที่มีภาวะไตเสื่อมแล้ว การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อชะลอความเสื่อมของไต นอกจากควบคุมปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดภาวะไตเสื่อม เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูงแล้ว การรับประทานอาหารก็มีส่วนสำคัญที่ผู้ป่วยสามารถปฏิบัติได้ด้วยตนเองและส่งให้ชะลอไตเสื่อมได้ โดยผู้ป่วยควรเลือกรับประทานอาหาร ดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารโปรตีนคุณภาพสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งโปรตีนจากไข่ขาวและเนื้อปลา เนื่องจากมีกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกายและมีปริมาณของเสียจากการเผาผลาญโปรตีนน้อย จึงลดปริมาณการคั่งของของเสียในเลือด คือ ยูเรีย (Urea) หากมีปริมาณยูเรียในเลือดมาก ไตจะทำงานหนักเพื่อขับของเสียออกจากร่างกาย ปริมาณโปรตีนที่ควรรับประทานต่อวัน ประมาณ 0.6-0.8 กรัม ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม เช่น ผู้ที่มีน้ำหนัก 60 กิโลกรัม ควรบริโภคโปรตีน 36-48 กรัมต่อวัน หรือเท่ากับเนื้อสัตว์ 6-8 ช้อนโต๊ะต่อวัน เป็นต้น
- ลดปริมาณการรับประทานอาหารที่มีโซเดียมสูง เนื่องจากโซเดียมจะส่งผลให้เกิดภาวะน้ำเกินและความดันโลหิตสูง กระตุ้นให้ไตทำงานเพิ่มขึ้น ปริมาณโซเดียมที่รับประทานต่อวันไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัม เท่ากับ เกลือแกงปริมาณ 1 ช้อนชาหรือน้ำปลา 4 ช้อนชา หรือผงปรุงรส 4 ช้อนชา เป็นต้น
- ลดปริมาณการรับประทานอาหารไขมัน เพื่อช่วยชะลอภาวะหลอดเลือดแดงเสื่อม โดยเฉพาะหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงที่ไต ไขมันที่ผู้ป่วยควรลดปริมาณการบริโภคลง ได้แก่ ไขมันชนิดอิ่มตัว ได้แก่ น้ำมันปาล์ม กะทิ เนย ครีม หมูสามชั้น หรือ เนื้อติดมันมากๆ อาหารทอด เช่น ปาท่องโก๋ ทอดมัน กล้วยทอด เป็นต้น หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูง เช่น เครื่องในสัตว์ สมองสัตว์ ไข่แดง กุ้ง หอยนางรม ปลาหมึก ควรเลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันข้าวโพด น้ำมันมะกอก ในการปรุงอาหาร นอกจากนี้การรับประทานผักผลไม้ที่ไม่หวานเพื่อเพิ่มใยอาหารดูดซับโคเลสเตอรอลได้
- ควบคุมปริมาณน้ำดื่มให้เหมาะสม หากดื่มน้ำน้อยเกินไปจะส่งผลต่อปริมาณเลือดที่มาเลี้ยงไต ทำให้ไตเสื่อมเร็ว แต่ถ้าดื่มน้ำมากเกินไป ก็จะเกิดอาการแสดงของภาวะน้ำเกิน หรือน้ำท่วมปอด ได้แก่ บวม หอบเหนื่อย เป็นต้น ปริมาณน้ำดื่มที่เหมาะสมสำหรับผู้ที่มีภาวะไตเสื่อม ให้พิจารณาตามปริมาณปัสสาวะที่ออก ผู้ป่วยสามารถกำหนดปริมาณน้ำดื่มต่อวันโดยการนำปริมาณปัสสาวะ บวกเพิ่มด้วยปริมาณจากการสูญเสียทางเหงื่อและลมหายใจ ประมาณ 500 มิลลิลิตร เช่น ผู้ที่ปัสสาวะ 1,000 มิลลิลิตร ต่อวัน สามารถดื่มน้ำได้ 1,500 มิลลิลิตร ต่อวัน เป็นต้น