ไขมันเป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายของมนุษย์ ช่วยให้ดูดซึมวิตามินต่างๆ ห่อหุ้มกระดูก ผิวพรรณเปล่งปลั่งและชุ่มชื้น อีกทั้งยังทำให้ร่างกายอบอุ่น แต่ถ้าหากร่างกายมีการสะสมไขมันมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะต่างๆ ในร่างกายหรือมีไขมันในเส้นเลือดสูง ก็ย่อมส่งผลกระทบจนเกิดโรคร้ายตามมาได้เช่นกัน ส่วนใหญ่มักจะเกิดจากการรับประทานอาหาร เราจะมาดูกันว่าผู้ป่วยที่มีภาวะไขมันในเลือดสูงนั้นควรกินอะไรและไม่ควรกินอะไร
ไขมันในเส้นเลือดควรมีเท่าไร
ไขมันในเส้นเลือดควรมีค่าความเหมาะสมดังนี้ คอเลสเตอรอลรวมแล้วน้อยกว่า 200 มก./ดล. โดยจะต้องมีค่าไตรกลีเซอไรด์น้อยกว่า 170 มก./ดล. ค่าไขมันดี (HDL) มากกว่า 60 มก./ดล. และไขมันเลว (LDL) น้อยกว่า 130 มก./ดล. ซึ่งมักจะแฝงมาในรูปของอาหารที่รับประทานเข้าไป จากนั้นไขมันเลวจะเข้ามารวมกันแน่นอยู่ในหลอดเลือดแดง หากละเลยเป็นเวลานานๆ จะส่งผลให้เกิดอาการหลอดเลือดแดงแข็งตัว แล้วมีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดตีบที่หัวใจหรือสมองได้
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน
ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงควรกินอะไร
การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารที่มีคอเลสเตอรอลน้อย ได้แก่
- เนื้อปลา เราสามารถรับประทานได้ทั้งปลาทะเลและปลาน้ำจืด เช่น ปลาซาร์ดีน ปลาทูน่า ปลาแซลมอน ปลานิล เพราะในเนื้อปลามีโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นผลดีกับหัวใจและช่วยลดความดันโลหิต โดยควรรับประทานอย่างน้อย 2 – 3 มื้อ/สัปดาห์
- อาหารประเภทต้ม นึ่ง ย่าง อบ และควรหลีกเลี่ยงการทอดให้น้อยที่สุด
- ผักและผลไม้ ผักใบเขียวต่างๆ หรือผลไม้ที่ไม่หวาน เช่น ฝรั่ง ส้ม แอปเปิล ชมพู่ กล้วย และผลไม้ที่อุดมไปด้วยกรดไขมันโอเลอิกอย่างเช่นอาโวคาโด ซึ่งจะช่วยลดระดับไขมันเลวได้
- ธัญพืชและถั่วต่างๆ เช่น วอลนัท อัลมอนด์ ถั่วเมล็ดแห้ง และข้าวไม่ขัดสี เป็นต้น โดยหลีกเลี่ยงการใส่น้ำตาลและเกลือ
- ใช้น้ำมันที่ปราศจากไขมันทรานส์ น้ำมันที่ใช้ประกอบอาหาร เช่น น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว ซึ่งไม่ทำให้ไขมันเพิ่มแล้วยังมีคุณสมบัติช่วยลดไขมันเลวอีกด้วย
ผู้ป่วยภาวะไขมันในเลือดสูงไม่ควรกินอะไร
- ไขมันสัตว์หรือหนังสัตว์ เช่น หนังไก่ หนังเป็ด สมองสัตว์ และเครื่องในสัตว์ จะทำให้ไขมันโดยรวมหรือคอเลสเตอรอลสูงขึ้นได้
- อาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันสัตว์หรือไขมันพืชอิ่มตัว เช่น มะพร้าว กะทิ น้ำมันหมู แกงกะทิ อาหารที่ใช้การหลนด้วยกะทิทุกอย่าง แกงคั่ว แกงเขียวหวาน ขนมหวานที่ทำด้วยกะทิ จึงไม่ควรรับประทานบ่อยเกินไป
- อาหารที่ประกอบไปด้วยไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์
- เนยเทียม (Margarine) ทำมาจากไขมันทรานส์ที่เป็นไขมันชนิดไม่อิ่มตัว
- เบเกอรี่ มีส่วนประกอบจากนม เนย ไข่ เกลือ และน้ำตาล
- ของขบเคี้ยว อุดมไปด้วยไขมันทรานส์ เกลือ และน้ำตาล
- พิซซ่า เค้ก พาย คุกกี้ ครัวซอง โดนัท เฟรนช์ฟรายด์
- แฮมเบอร์เกอร์ ไม่ว่าจะทำด้วยเนื้อสัตว์ชนิดใดก็ตาม เพราะต้องนำไปทอดและใส่ชีสเพิ่ม
- มักกะโรนี มีส่วนประกอบจากนม เนย และชีส
- อาหารทะเล ได้แก่ หมึก กุ้ง และหอยต่างๆ
- อาหารทอด เช่น ไก่ทอด หมูทอด ไข่ทอด กล้วยทอด ข้าวเม่า มันฝรั่งทอด หรือปาท่องโก๋ เป็นต้น
- เครื่องดื่มที่ไม่ระบุว่าไขมันต่ำ รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทชาและกาแฟที่ใส่ครีม เครื่องดื่มชูกำลัง หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นเครื่องดื่มที่ทำให้มีไขมันในเลือดสูงได้ทั้งสิ้น
อาหารที่ไม่ควรกินยังคงสามารถรับประทานได้บ้างในปริมาณเหมาะสม เพื่อช่วยไม่ให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นอย่างอื่น แต่ไม่ควรรับประทานบ่อยมากจนเกินไป เพราะนอกจากจะทำให้ไขมันในเลือดสูงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนหรือโรคเบาหวานตามมาอีกด้วย ดังนั้นหากต้องการให้ไขมันในเลือดสูงลดลงนั้น ควรต้องมีการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย และถ้าพบว่าการควบคุมอาหารและการออกกำลังกายยังไม่สามารถช่วยให้ไขมันในเลือดสูงลดลงได้ ต้องรีบปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาการใช้ยาลดไขมันร่วมด้วยต่อไป