ระบบทางเดินปัสสาวะมีหน้าที่สำคัญคือ ขับถ่ายของเสียและสารต่างๆ ที่เกินจากความต้องการออกไปจากร่างกาย เพื่อรักษาสมดุลของสารและกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ของร่างกายให้เป็นปกติ เปรียบเหมือนกับโรงบำบัดน้ำเสียของร่างกาย
ระบบทางเดินปัสสาวะประกอบด้วยอวัยวะสำคัญดังนี้
- ไต มีลักษณะเหมือนเม็ดถั่วแดง อยู่ 2 ข้างของเอว เป็นส่วนที่มีเส้นเลือดดำและเส้นเลือดแดงใหญ่ ไตจะนำเลือดของร่างกายทั้งหมดมาคัดกรองเอาส่วนที่ต้องใช้เก็บไว้ และเอาส่วนเกิน หรือส่วนที่ไม่ใช้ออกจากร่างกาย
- ท่อไต
- กระเพาะปัสสาวะ สามารถเก็บน้ำปัสสาวะได้ประมาณ 1 ลิตร
- ท่อปัสสาวะ เป็นทางผ่านของปัสสาวะที่จะถูกขับออกภายนอกร่างกาย
กระบวนการทำงานของระบบทางเดินปัสสาวะ
- เลือดทั้งหมดจะไหลผ่านเข้าสู่ไต แล้วไปที่เนื้อไต ซึ่งประกอบด้วยหน่วยกรองเล็กๆ มากมาย เรียกว่า “เนฟรอน” (Nephron)
- หน่วยกรองเนฟรอนจะทำหน้าที่แยกน้ำ เกลือแร่ และสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายกลับเข้าไปในร่างกายต่อไป ส่วนน้ำและสารที่เป็นของเสีย รวมถึงสารต่างๆ ที่เกินจากที่ร่างกายต้องการใช้ จะถูกขับออกมาในรูปของปัสสาวะ
- ปัสสาวะจากถูกรวบรวมเข้าสู่กรวยไตซึ่งอยู่ในเนื้อไตเช่นกัน ลักษณะของกรวยไตจะเป็นสามเหลี่ยม ภายในประกอบด้วยหน่วยกรองเนฟรอนข้างละประมาณ 1 ล้านหน่วย
- น้ำปัสสาวะที่ผ่านจากหน่วยกรองเนฟรอนมาที่กรวยไตนี้จะไหลลงสู่ท่อไตที่อยู่ 2 ข้างของเอว แล้วไปเก็บไว้ที่กระเพาะปัสสาวะซึ่งตั้งอยู่บริเวณท้องน้อย
- เมื่อน้ำปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะเต็มแล้ว กระเพาะปัสสาวะก็จะกระตุ้นให้เราถ่ายปัสสาวะออกมา โดยผ่านทางท่อปัสสาวะออกสู่ภายนอกร่างกาย
ความแตกต่างของระบบทางเดินปัสสาวะระหว่างผู้หญิง และผู้ชาย
ระบบทางเดินปัสสาวะของผู้หญิงและผู้ชายมีข้อแตกต่างกันอยู่ 2 จุด คือ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- บริเวณรอยต่อของกระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะของผู้ชาย จะมีต่อมลูกหมากโอบรอบท่อปัสสาวะ ในขณะที่ระบบทางเดินปัสสาวะของผู้หญิงจะไม่มีต่อมนี้ ต่อมลูกหมากเป็นอวัยวะที่สร้างน้ำเลี้ยงอสุจิและเป็นที่พักของอสุจิ
- ท่อปัสสาวะของผู้ชายจะมีความยาวมากกว่าท่อปัสสาวะของผู้หญิง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ชายอั้นปัสสาวะได้นานกว่าผู้หญิง และมีโอกาสเกิดกระเพาะปัสสาวะอักเสบติดเชื้อน้อยกว่าผู้หญิงด้วย
ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ
ความผิดปกติที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะส่วนใหญ่มาจากสาเหตุหลัก 2 ประการ คือ เกิดการอุดตันและการติดเชื้อ
สาเหตุทั้ง 2 ประการนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะ
อาการของความผิดปกติเป็นอย่างไร
ความผิดปกติที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ มักทำให้ผู้ป่วยมีอาการผิดปกติในการขับถ่ายปัสสาวะที่เรียกว่า “ขัดเบา” เช่น
- ถ่ายปัสสาวะลำบาก
- ปัสสาวะออกมาทีละน้อยแต่บ่อย
- บางครั้งถ่ายปัสสาวะไม่ออก
- ปวดบริเวณท่อปัสสาวะทั้งขณะถ่ายปัสสาวะ และปวดแม้ขณะไม่ได้ถ่ายปัสสาวะ
- ลักษณะการถ่ายปัสสาวะผิดปกติไปจากเดิม เช่น ในผู้ชายจะปัสสาวะออกมาเป็นหยด ลำปัสสาวะไม่พุ่ง ส่วนในผู้หญิง ปัสสาวะจะออกเป็นหยดทีละนิด ปริมาณปัสสาวะอาจมากหรือน้อยผิดปกติ
- มีความผิดปกติของน้ำปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะขุ่นขาวมีสีคล้ายน้ำนมที่เจือจาง
- มีความรู้สึกอ่อนเพลีย
- ปัสสาวะเป็นเลือด มีอาการปวดหลังและมีไข้ตามมา อาการเหล่านี้เป็นสัญญาณของการติดเชื้อที่บริเวณไต
ความผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะเกิดจากอะไร
ของความผิดปกติที่เกิดกับระบบทางเดินปัสสาวะ มีได้หลายประการ ที่พบบ่อยได้แก่
1. การอุดกั้นบริเวณทางเดินปัสสาวะ
ความผิดปกตินี้เกิดจากมีสิ่งกีดขวางการไหลของปัสสาวะ หรือน้ำปัสสาวะไหลออกสู่ภายนอกร่างกายไม่ได้ตามปกติ กรณีที่ทางเดินปัสสาวะถูกอุดกั้นเรื้อรังอย่างรุนแรง ปัสสาวะจะขังอยู่ในร่างกายนานแล้วนำไปสู่การติดเชื้อที่ไตในที่สุด
ทำให้การทำงานของไตเริ่มผิดปกติและเกิดภาวะไตเสีย ไม่สามารถคัดกรองของเสียออกจากร่างกายได้ จนส่งผลทำให้มีของเสียจำนวนมากค้างอยู่ในเลือดและนำไปสู่การสูญเสียในที่สุด โรคที่พบบ่อยได้แก่
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- ต่อมลูกหมากโต เป็นต่อมที่โอบรอบท่อปัสสาวะบริเวณที่ต่อกับกระเพาะปัสสาวะในผู้ชาย ไม่มีในผู้หญิง ซึ่งผู้ชายเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ต่อมนี้มักจะโตแล้วไปบีบท่อปัสสาวะให้แคบลงจนทำให้ปัสสาวะลำบาก มีอาการขัดเบา และทำให้เกิดการอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ รวมถึงมีการติดเชื้อร่วมด้วยเสมอ
- สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต สาเหตุยังไม่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่า อาจมาจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเพศชายแอนโดรเจน (Androgen) และฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (Estrogen) ในร่างกายของผู้ชาย
- อาการ ระยะแรก ผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะไม่ค่อยออก ถ่ายลำบาก ต้องใช้แรงเบ่งนาน ลำปัสสาวะจะพุ่งอ่อนแรง หรือไม่พุ่งเลย ระยะต่อมาผู้ป่วยจะถ่ายปัสสาวะบ่อยทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ปัสสาวะจะไหลออกมาเป็นหยดๆ และรู้สึกว่าถ่ายไม่หมด เมื่อปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานาน เชื้อโรคที่อยู่ในปัสสาวะจะทำให้กระเพาะปัสสาวะเกิดการอักเสบและบวม จากนั้นท่อปัสสาวะจะเริ่มอุดตันมากขึ้น ท่อไตและไตเริ่มบวม นำไปสู่ภาวะไตวาย และเกิดของเสียคั่งอยู่ในร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด
- การรักษา ร้านยาอาจจ่ายยากลุ่มคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เพื่อบรรเทาอาการปวดของผู้ป่วยเป็นการเฉพาะหน้า แนะนำผู้ป่วยให้ไปพบแพทย์เพื่อการรักษาชั้นถัดไป นอกจากนั้นผู้ป่วยควรพักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ควรทำงานหนัก หรือเดินทางไกลที่จะทำให้กระทบกระเทือนต่อมลูกหมาก ไม่ควรอั้นปัสสาวะ รวมทั้งดื่มน้ำไม่ต่ำกว่าวันละ 2–3 ลิตร และระวังไม่ให้ท้องผูก
2. นิ่วในทางเดินปัสสาวะ
นิ่ว เป็นก้อนของสารในร่างกายซึ่งมาจากการสะสมพอกพูนของสารบางอย่างในน้ำปัสสาวะ เช่น กรดยูริก (Uric acid) สารออกซาเลต (Oxalate) แคลเซียม
สารเหล่านี้เมื่อไปอุดตันอยู่ตามส่วนต่างๆ ของระบบทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะบริเวณกระเพาะปัสสาวะ เนื้อไต และท่อไต ทำให้เกิดการกีดขวางทางเดินของน้ำปัสสาวะ มักพบในผู้ชายมากกว่าในผู้หญิง
สาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
สาเหตุของการเกิดนิ่วยังไม่ทราบแน่ชัดว่า เกิดขึ้นได้อย่างไร แต่ก็มีปัจจัยหลายประการที่ทำให้เกิดนิ่วได้ เช่น
- มีการขับออกของเกลือหลายชนิดจากเลือดเข้าสู่น้ำปัสสาวะมากเกินไป เช่น แคลเซียม สารออกซาเลต ฟอสเฟต (Phosphate) และกรดยูริก
- ดื่มน้ำน้อย ทำให้ปัสสาวะข้นจนมีการตกผลึกรวมกันของสารแคลเซียม สารออกซาเลตและเปลี่ยนจากน้ำเป็นก้อนนิ่ว
- รับประทานอาหารประเภทผัก หรือผลไม้ที่มีสารออกซาเลตสูง เช่น ผักโขมน้อย ผักโขมใหญ่ ใบชะพลู ผักติ้ว ผักกระโดน ผักเม็ก เป็นประจำร่วมกับมีภาวะขาดโปรตีน ทำให้น้ำปัสสาวะเกิดการเปลี่ยนแปลงความเป็นกรดและด่างจนเกิดการตกผลึก และเกิดการรวมตัวกันของสารต่างๆ จนกลายเป็นก้อนนิ่ว
- ขาดสารยับยั้งการจับตัวของผลึกของสารต่างๆ ในน้ำปัสสาวะ ซึ่งในคนปกติจะมีสารนี้อยู่
- มีแกนในน้ำปัสสาวะ เช่น ลิ่มเลือด ตะกอนแคลเซียมจับตัวเป็นก้อนนิ่ว หรือการอักเสบของไตทำให้มีการรวมตัวของแบคทีเรีย จนเป็นแกนให้ผลึกเกาะรวมตัวเป็นก้อนนิ่วได้
อาการแสดงของผู้ที่เป็นนิ่ว
- อาการปวด ถ้ามีนิ่วอุดตันที่ระบบทางเดินปัสสาวะส่วนบน เช่น ไต ท่อไต จะมีอาการปวดบริเวณบั้นเอว ปวดหลังและสีข้างที่มีการอุดตันของนิ่วเกิดขึ้น แต่ถ้านิ่วอุดตันอยู่บริเวณระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่าง เช่น กระเพาะปัสสาวะและท่อปัสสาวะ จะทำให้มีอาการปวดร้าวมาถึงขาหนีบและหน้าขา และถ้านิ่วลงมาอุดตันที่ท่อปัสสาวะ อาการปวดอาจถึงร้าวไปถึงปลายท่อปัสสาวะ
- ปัสสาวะเป็นเลือด ผู้ป่วยอาจปัสสาวะออกมาเป็นเลือด หากก้อนนิ่วครูดกับเยื่อบุบริเวณทางเดินปัสสาวะ จนทำให้เกิดแผลที่บริเวณเยื่อบุนั้นและมีเลือดออก กรณีที่ผู้ป่วยมีการติดเชื้อแทรกซ้อนก็อาจทำให้ปัสสาวะขุ่นได้ด้วยเพราะมีหนองปนออกมาร่วมกับเม็ดเลือดขาว หรือขุ่นจากตะกอนของนิ่วขนาดเล็กๆ ที่ปะปนออกมา
- มีไข้สูง เป็นอาการที่เกิดขึ้น เนื่องจากนิ่วทำให้มีการปิดกั้นทางเดินปัสสาวะจนเกิดการอักเสบติดเชื้อร่วมด้วย
- คลื่นไส้ อาเจียน 2 อาการนี้มักเป็นอาการที่เกิดร่วมกับอาการปวดอย่างรุนแรง
การรักษาและคำแนะนำสำหรับผู้ป่วย
- กรณีที่สงสัยว่าเป็นนิ่ว คุณสามารถไปที่ร้านขายยาเพื่อขอให้เภสัชกรจ่ายยารักษาในเบื้องต้นก่อน ซึ่งอาจเป็นยาแก้ปวดกลุ่มคลายการบีบเกร็งของกล้ามเนื้อเรียบ เช่น ฟลาโวเซต (Flavoxate)
- ถ้ามีอาการที่แสดงว่า มีการติดเชื้อร่วมด้วย ก็อาจมีการจ่ายยาปฏิชีวนะเพิ่ม พร้อมกับแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำวันละ 2–3 ลิตร ถ้าก้อนนิ่วมีขนาดเล็กอาจหลุดออกมาพร้อมกับน้ำปัสสาวะได้
- ควรให้ผู้ป่วยงดอาหารที่มีกรดยูริกสูง เช่น ผักต่างๆ ที่รับประทานทั้งยอดอ่อน หรือเนื้อสัตว์ปีกต่างๆ โดยเฉพาะปีกไก่ หรือหนังไก่ เครื่องในสัตว์
- ถ้ารักษาเบื้องต้นแล้วอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาเพิ่ม
คำแนะนำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำ
- ดื่มน้ำมากๆ วันละประมาณ 2-3 ลิตรทุกวัน เพื่อช่วยให้ร่างกายมีการปัสสาวะ ซึ่งเป็นการขับเอาของเสียต่างๆ ในเลือดออกมา นอกจากนี้ยังเป็นการช่วยลดความเข้มข้นของเกลือในน้ำปัสสาวะให้เจือจางลงด้วย
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อยๆ จะทำให้ก้อนนิ่วเคลื่อนและหลุดออกมาได้ง่ายขึ้น
- รับประทานอาหารแต่พอดีอิ่ม ไม่มาก หรือน้อยเกินไป
- ไม่รับประทานอาหารรสเค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันและโปรตีนจากเนื้อสัตว์สูง หลีกเลี่ยงการรับประทานผักใบเขียวที่รับประทานทั้งยอด
- ถ้ามีนิ่วหลุดปนออกมากับน้ำปัสสาวะ ควรส่งให้แพทย์ตรวจวิเคราะห์
3. ภาวะไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้
อาจเกิดจากความอ่อนแอของกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกราน ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคอ้วน การตั้งครรภ์ ผู้ป่วยสูงอายุ การออกกำลังกล้ามเนื้อโดยวธึที่เรียกว่า Kegel จะช่วยทำให้อาการดีขึ้น
4. มะเร็งในระบบทางเดินปัสสาวะ
ระบบทางเดินปัสสาวะเปรียบเหมือนกับโรงบำบัดน้ำเสียของร่างกาย หากทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ หรือเกิดปัญหาใดๆ ขึ้น ย่อมทำให้มีโอกาสเกิดของเสียคั่งค้างในร่างกาย ส่งผลให้ร่างกายส่วนอื่นๆ พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
ดังนั้นการตูแลรักษาระบบทางเดินปัสสาวะด้วยตนเอง เช่น การดื่มน้ำสะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ การไม่กลั้นปัสสาวะ จึงเป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android