คนส่วนมากจะมีฟันกรามซี่ที่สามทั้งหมด 4 ซี่ แต่ละซี่จะอยู่เป็นฟันซี่สุดท้ายของแต่ละข้าง เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวไม่มีช่องว่างเพียงพอ ทำให้บางครั้งฟันกรามซี่ในสุดสามารถโผล่พ้นออกมาได้แค่บางส่วน หรือไม่สามารถโผล่พ้นออกมาได้เลย
กรณีเช่นนี้จะเรียกกันว่า "ฟันคุด" หนึ่งในสาเหตุการปวดฟันและเหงือกอย่างรุนแรง บางรายถึงขั้นนอนไม่ได้ก็มี
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ควรไปพบทันตแพทย์เมื่อไร?
โดยทั่วไปแล้วทันตแพทย์จะแนะนำให้พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน แต่หากมีอาการเจ็บปวดเหงือกและฟันอย่างรุนแรง คุณควรไปพบทันตแพทย์โดยเร็ว ทันตแพทย์จะตรวจฟันและให้คำแนะนำว่า ควรจัดการกับฟันเจ้าปัญหาเหล่านี้อย่างไร
เมื่อพิจารณาแล้วว่า คุณมีปัญหาฟันคุดและควรถอนออกจึงจะมีการถ่ายภาพเอกซเรย์ช่องปากเพื่อให้ทันตแพทย์เห็นภาพตำแหน่งของฟันดังกล่าวได้ชัดเจนขึ้น
เหตุใดจึงควรถอน หรือผ่าฟันคุดออก?
กรณีฟันกรามซี่สุดท้ายเกิดอาการคุด หรือไม่โผล่พ้นจากเหงือกโดยสมบูรณ์ซึ่งทำให้เกิดปัญหาช่องปากตามมาได้ เพราะเกิดการหมักหมมของเศษอาหารและเชื้อโรคที่อยู่บนตัวฟันส่วนที่โผล่ออกมาจนเกิดคราบจุลินทรีย์ขึ้นส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ดังนี้
- ฟันผุ มีสาเหตุมาจากจุลินทรีย์ย่อยอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรตได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นกรด ทำลายชั้นเคลือบฟัน และเข้าไปทำลายชั้นเนื้อฟันด้วย หากปล่อยไว้จนรอยผุลึกเข้าไปถึงโพรงประสาทจะทำให้เกิดอาการปวดฟันรุนแรงได้ ยิ่งไปกว่านั้นฟันผุยังสามารถแพร่กระจายไปยังฟันใกล้เคียงได้ด้วย
- โรคเหงือก (หรือโรคปริทันต์อักเสบ) โรคนี้เกิดขึ้นเมื่อคราบจุลินทรีย์ปล่อยสารพิษที่ก่อความระคายเคืองต่อเหงือกออกมาจนทำให้เหงือกแดง บวม และสร้างความเจ็บปวด โรคเหงือกยังส่งผลต่อฟันและกระดูกรอบฟันกรามซี่สุดท้ายและซี่ข้างเคียงได้เช่นกัน
- เหงือกคลุมฟันอักเสบ ภาวะที่เกิดขึ้นเมื่อคราบจุลินทรีย์ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนรอบฟันเกิดการติดเชื้อ
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ ภาวะติดเชื้อ บวม หรือเป็นหนองใต้เหงือกที่กระพุ้งแก้ม ใต้ลิ้น หรือลำคอ
- ฝีที่ฟัน การสะสมของหนองภายในฟันกราม หรือเนื้อเยื่อโดยรอบ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
- ซีสท์ เนื้องอก และมะเร็ง ภาวะนี้พบได้ แต่ก็พบได้ในกรณีที่มีฟันคุดแล้วไม่ได้รับการผ่าตัดออกตั้งแต่เนิ่นๆ ทันตแพทย์จึงแนะนำให้คุณถอน หรือผ่าฟันคุดออกเสมอ
วิธีถอนฟันคุด
ทันตแพทย์เป็นผู้ดำเนินการถอนฟัน หรือหากจำเป็นจริงๆ ในบางกรณีทันตแพทย์อาจส่งให้ทันตแพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมเป็นผู้รักษาให้
ก่อนเริ่มกระบวนการ ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่เพื่อให้พื้นที่โดยรอบฟันชาเสียก่อน ระหว่างการถอนฟัน คุณจะรู้สึกเพียงแรงดันจากการที่ทันตแพทย์พยายามดันฟันไปมาเพื่อทำให้กระดูกรอบฟันคลายตัว
ในบางกรณีอาจมีการผ่าเหงือกและอาจมีการตัดฟันออกเป็นเศษเล็กๆ ก่อนการถอนออกเรียกขั้นตอนนี้ว่า "การผ่าฟันคุด" นั่นเอง ระยะเวลาของการถอนฟันนั้นไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของตำแหน่งที่ัฟันคุดฝังตัว รวมทั้งความพร้อมของแต่ละบุคคล
ถอนหรือผ่าฟันคุดวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 594 บาท ลดสูงสุด 67%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
บางกรณีอาจใช้เวลาไม่กี่นาที ขณะที่บางคนอาจต้องใช้เวลามากกว่า 20 นาทีก็ได้
สำหรับผู้ที่มีฟัดคุดมากกว่า 1 ซี่ ทันตแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่า สามารถผ่าฟันคุดออกทั้งหมดภายในวันเดียวได้หรือไม่ หรือต้องทยอยผ่าไป แล้วแต่ความเหมาะสมของลักษณะฟัน
หลังจากที่ทันตแพทย์ถอนฟันกรามออก คุณจะมีอาการบวมและรู้สึกไม่สบายทั้งภายในและภายนอกช่องปากในช่วง 1-3 วันแรก และบางรายอาจยาวนานเป็นสัปดาห์ก็ได้
อ่านเพิ่มเติม: การถอนฟันคุด
อ่านเพิ่มเติม: ผ่าฟันคุดเจ็บไหม
ภาวะข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น
เช่นเดียวกับกระบวนการผ่าตัดอื่นๆ การถอนฟันกรามซี่สุดท้ายมีความเสี่ยงมากมายรวมถึงการติดเชื้อ หรือการฟื้นตัวที่ล่าช้า ทั้งสองภาวะนี้มักจะเกิดขึ้นหากคุณสูบบุหรี่ระหว่างอยู่ในช่วงพักฟื้น
ภาวะแทรกซ้อนอีกประการที่เป็นไปได้คือ “กระดูกเบ้าฟันแห้ง” ซึ่งก่อให้เกิดความรู้สึกปวดบริเวณแผลถอนฟัน บางกรณีก็อาจมีกลิ่น หรือรสแปลกๆ ออกมาจากเบ้าฟันนั้น
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ภาวะกระดูกเบ้าฟันแห้งมักจะเกิดขึ้นหากคุณไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำหลังการถอนฟันที่ทันตแพทย์ชี้แจงไว้
อีกทั้งยังมีความเสี่ยงเล็กน้อยที่จะส่งผลให้เส้นประสาทเสียหาย ซึ่งก่อให้เกิดความเจ็บปวด คัน หรือชาที่ลิ้น ริมฝีปากล่าง คาง และฟันกับเหงือกชั่วขณะ แต่ในบางกรณีภาวะนี้ก็สามารถเกิดขึ้นถาวรได้
ค่าบริการทันตกรรม
ค่ารักษาจะขึ้นอยู่กับกระบวนการรักษาที่เกิดขึ้น
อ่านเพิ่มเติม: ผ่าฟันคุดราคาซี่ละเท่าไหร่ ผ่าฟันคุดใช้สิทธิประกันสังคมได้หรือไม่
การผ่าฟันคุด
หลังจากที่ทันตแพทย์ชี้แจงว่า ต้องผ่าฟันคุดออก ทันตแพทย์จะแจ้งค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้ทราบก่อนที่จะเริ่มกระบวนการทั้งหมด จากนั้นจึงเอกซเรย์ช่องปากเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการรักษา
ทันตแพทย์จะฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณฟันที่ต้องผ่าออกเพื่อทำให้ช่องปากชา หากรู้สึกกังวลมาก อาจปรึกษาทันตแพทย์ว่า สามารถใช้ยากล่อมประสาทให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี วิธีนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากวิสัญญีแพทย์ ซึ่งมักจะต้องทำในโรงพยาบาล
สำหรับการใช้ยาสลบเป็นวิธีการที่ไม่ค่อยใช้กันนัก หากจำเป็นต้องใช้ คนไข้ต้องนอนพักฟื้นร่างกายที่โรงพยาบาล ในบางกรณีคนไข้ก็สามารถกลับบ้านได้หลังเสร็จสิ้นกระบวนการทั้งหมดแล้ว
หากฟันกรามไม่โผล่ออกมาจากเหงือก ทันตแพทย์จะทำการกรีดช่องเหงือกให้เปิดออกและอาจตัดกระดูกที่คลุมตัวฟันบางส่วนออก จากนั้นทันตแพทย์อาจตัดฟันกรามเป็นเศษเล็กๆ เพื่อให้ง่ายต่อการถอนออกจากช่องกรีด
ทั้งนี้กระบวนการดังกล่าวอาจไม่จำเป็นหากตัวฟันได้โผล่ขึ้นมาจากเหงือกแล้ว
ในขณะถอนฟัน คุณจะรู้สึกถึงแรงดันขณะที่ฟันกำลังถูกถอน เนื่องจากทันตแพทย์ต้องพยายามขยายกระดูกรอบฟันด้วยการขยับฟันซี่นั้นไปมา
ขั้นตอนการผ่าฟันคุดออกจะไม่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ เนื่องจากใช้ยาชา แต่หากคุณรู้สึกเจ็บต้องรีบแจ้งทันตแพทย์ทันทีเพื่อใส่ยาชาเพิ่มตามความเหมาะสม
สำหรับระยะเวลาการผ่าฟันคุดค่อนข้างผันแปรไปตามความยากง่าย การผ่าตัดแบบง่ายๆ อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที แต่หากกรณีที่มีความซับซ้อนมากอาจใช้เวลามากกว่า 20 นาที
หญิงตั้งครรภ์สามารถผ่าฟันคุดได้หรือไม่
โดยปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์สามารถเข้ารับการผ่าฟันคุดได้หากมีความจำเป็น เช่น ปวด บวม เป็นต้น แต่หากไม่มีอาการใดๆ แนะนำให้เข้ารับการรักษาหลังคลอดแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบว่าตั้งครรภ์แล้ว แนะนำให้ควรรีบฝากครรภ์กับสถานพยาบาลใกล้บ้าน หรือสถานพยาบาลที่ไว้วางใจให้เร็วที่สุด เพื่อที่ว่า คุณแม่และทารกในครรภ์จะได้รับการดูแลจากแพทย์อย่างครบถ้วน
เป็นโรคพุ่มพวงผ่าฟันคุดได้หรือไม่
หากเป็นโรคพุ่มพวง (SLE) ซึ่งมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้การผ่าฝันคุดอาจติดเชื้อได้ง่าย ควรปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลก่อนผ่าฟันคุด หากแพทย์อนุญาตให้ทำการถอนฟันคุด หรือทำการรักษาทันตกรรมอื่นๆ ได้ จึงจะให้แพทย์ออกใบส่งตัวให้
โดยปกติแพทย์จะแนะนำให้รับประทานยาปฏิชีวนะทั้งก่อนและหลังจากการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์เจ้าของไข้
ภายหลังการผ่าฟันคุด
หลังการถอน หรือผ่าฟันคุด ทันตแพทย์จะแนะนำให้กัดผ้าก๊อซแน่นๆ ประมาณ 1-2 ชั่วโมง เพื่อให้เลือดหยุดไหลและแนะนำให้ประคบเย็นในช่วง 24 ชั่วโมงแรก
หลังจากนั้นจึงประคบอุ่นเพื่อลดอาการบวมซึ่งจะมีมากในช่วง 3 วันแรกหลังจากผ่าตัด เริ่มทำได้ในวันที่สามหลังการผ่าตัด
ส่วนการแปรงฟัน สามารถแปรงได้ตามปกติเลย เพียงแต่ต้องระมัดระวังการแปรงฟันบริเวณแผลผ่าตัดเพราะอาจทำให้แผลได้รับการบาดเจ็บมากยิ่งขึ้น
หลังถอน หรือผ่าฟันคุดเสร็จ ทันตแพทย์จะจ่ายยาแก้ปวดให้ และแนะนำให้รับประทานตามคำแนะนำของทันตแพทย์ นอกจากนี้ทันตแพทย์ยังอาจจ่ายยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัด ซึ่งต้องรับประทานยาปฏิชีวนะให้ครบตามที่ทันตแพทย์สั่ง
หลังการผ่าฟันคุดประมาณหนึ่งสัปดาห์จะมีการนัดติดตามผลอีกครั้ง หากมีการกรีดเหงือก เย็บแผล ทันตแพทย์จะตัดไหมเย็บแผลออกในช่วงเวลาพบแพทย์ดังกล่าว
นอกจากนี้ภายหลังการถอน หรือผ่าฟันคุด ควรหลีกเลี่ยงการกระทำต่อไปนี้
- การบ้วนปากด้วยของเหลว
- การสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์
- ดื่มของเหลวที่มีความร้อน เช่น ชา กาแฟ ซุป
- กิจกรรมที่ต้องออกแรงมาก เช่น การแช่งขันกีฬา การออกกำลังกาย
การพักฟื้นหลังผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุดใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์กว่าจะหายเป็นปกติ
ระหว่างพักฟื้น คุณอาจเกิดอาการ ดังต่อไปนี้
- บวมที่ปากและแก้ม จะมีอาการบวมมากในช่วงแรก แต่จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ การกดผ้าเย็นบนใบหน้าด้านที่เกิดอาการจะช่วยลดการบวมได้
- ตึงและปวดกราม อาจใช้เวลาฟื้นฟูภายใน 7 ถึง 10 วัน โดยผิวรอบๆ กรามอาจมีรอยฟกช้ำยาวนานถึง 2 สัปดาห์
- เจ็บปวด หากกระบวนการถอนฟันมีความซับซ้อน อาการเจ็บปวดจะยิ่งมากขึ้นตามด้วย
- รู้สึกไม่สบายช่องปาก
- มีอาการชา หรือคันยุกยิกบนใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น (พบได้ไม่บ่อยนัก) สามารถบรรเทาอาการได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีวิตามินบีสูง ทั้งนี้หากมีอาการดังกล่าว ควรแจ้งทันแพทย์ให้ทราบเพื่อตรวจประเมิน และติดตามผล
คุณควรแจ้งทันตแพทย์ทันทีหากมีอาการเลือดออกไม่หยุด มีความเจ็บปวดรุนแรง หรือมีอาการที่ผิดปรกติจากที่กล่าวไปข้างต้น
แนวทางการดูแลตนเองหลังผ่าฟันคุด
เพื่อลดอาการเจ็บปวดและช่วยในการฟื้นฟูช่องปากจากการผ่าฟันคุด ควรปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้
- ใช้ยาแก้ปวด เช่น พาราเซตามอล หรือไอบูโพรเฟน (ก่อนใช้ยา ต้องอ่านแ ละปฏิบัติคำเตือนของผู้ผลิตยาดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และอย่าลืมแจ้งโรคประจำตัวและการแพ้ยาให้ทันตแพทย์ หรือเภสัชกรทราบทุกครั้ง )
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องใช้แรง หรืองดออกกำลังกาย
- ใช้หมอนหนุนศีรษะเพิ่มขณะนอนหลับ
- ระหว่าง 24 ชั่วโมงหลังการผ่าตัด งดบ้วนปาก ไม่บ้วนน้ำลาย ไม่ดื่มน้ำร้อน หรืออื่นๆ ที่อาจไปชะล้างลิ่มเลือดออกจากเบ้าฟันได้ เนื่องจากลิ่มเลือดเป็นส่วนช่วยในกระบวนการฟื้นฟูตัวเองตามธรรมชาติ
- ลดการสูบบุหรี่และดื่มแอลกอฮอล์ (ควรงดทั้งหมดใน 24 ชั่วโมงแรก)
- รับประทานอาหารอ่อน หรือเหลวในช่วงที่มีการอักเสบ หรือยังมีอาการเจ็บปวดอยู่ ใช้ฟันอีกข้างเคี้ยวอาหารแทน
- ค่อยๆ บ้วนปากด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อหลังจากผ่านการผ่าตัดไปแล้ว 24 ชั่วโมง จะช่วยลดอาการปวดและการอักเสบลงให้บ้วนปากด้วยยาชนิดนี้เป็นประจำทุกวัน โดยคุณสามารถใช้น้ำอุ่นที่ผสมเกลือหนึ่งช้อนชาเป็นน้ำล้างปากแทนได้
การทำงาน หรือขับรถหลังผ่าฟันคุด
หลังการผ่าฟันคุด ไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน หรือหยุดงาน ยกเว้นแต่เป็นงานที่ต้องใช้การพูด คุณอาจไม่สามารถพูดได้เหมือนปกติในช่วง 1-3 วันแรก
สำหรับการขับรถ คุณสามารถขับรถได้ทันทีหลังเสร็จสิ้นกระบวนการที่มีการใช้ยาชาทั่วๆ ไป แต่หากได้รับยาระงับประสาท หรือยาสลบมาด้วย ควรงดการขับขี่ทุกประเภทเป็นเวลา 24 ชั่วโมง หรือตามที่วิสัญญีแพทย์แนะนำ
ภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าฟันคุด
การผ่าฟันคุดฟันมีภาวะข้างเคียงเช่นเดียวกับกระบวนการผ่าตัดอื่นๆ ดังนี้
- เบ้ากระดูกแห้ง เกิดจากลิ่มเลือดไม่สามารถคงอยู่ในเบ้าฟันได้ หรือมีการชะล้างลิ่มเลือดออกไป
- มีการบาดเจ็บที่ปลายประสาท อาจทำให้เกิดความเจ็บปวดและอาการชาได้ชั่วคราว หรือถาวร
- การติดเชื้อ สัญญาณของการติดเชื้อคือ มีไข้สูง มีหนองสีขาว หรือเหลืองออกมาจากตำแหน่งที่ถอนฟัน และมีอาการปวดและเจ็บยืดเยื้อ
- มีเลือดออก
คุณต้องไปพบทันตแพทย์โดยด่วนหากมีสัญญาณของการติดเชื้อหลังการผ่าฟันคุด หรือหากมีเลือดออกจากจุดที่ผ่าฟันคุดมากผิดสังเกต
เบ้ากระดูกแห้ง
ภาวะเบ้ากระดูกแห้งเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้บ่อยที่สุดหลังการถอน หรือผ่าฟันคุด โดยมักจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มีลิ่มเลือดเข้าไปสะสมในเบ้าฟัน หรือเมื่อลิ่มเลือดที่ควรจะมีหายไป ภาวะนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในช่วง 3 ถึง 5 วันหลังการผ่าตัด
เบ้าฟันที่ว่างเปล่าจะทำให้คนไข้รู้สึกเจ็บเหงือก หรือกราม ซึ่งอาจมีความรุนแรงมากได้ อีกทั้งยังมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ออกจากเบ้านั้นด้วย หากคุณมองลงไปยังเบ้า อาจจะเห็นกระดูกโผล่ออกมาอย่างชัดเจน (ไม่มีลิ่มเลือดบัง)
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะเบ้ากระดูกแห้ง ดังนี้
- ไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์หลังทำการรักษา
- สูบบุหรี่
- หลังการถอน หรือผ่าฟันคุดเคยมีภาวะนี้มาก่อน
- กระบวนการผ่าฟันคุดมีความซับซ้อน
- การบ้วนน้ำ หรือเลือดออกภายหลังการผ่าฟันคุด
ให้รีบติดต่อทันตแพทย์ หรือทันตแพทย์ศัลยศาสตร์ช่องปากทันที หากสงสัยว่า ตนเองจะเป็นภาวะเบ้ากระดูกแห้ง แพทย์จะสามารถชะล้างของเสียออกจากเบ้ากระดูก หรือปิดแผลไว้พร้อมกับใส่ยาฆ่าเชื้อผสมยาแก้ปวดลงในเบ้าฟัน ซึ่งต้องเปลี่ยนยาบ่อยๆ จนกว่าแผลจะหาย
การบาดเจ็บที่ประสาท
เป็นภาวะแทรกซ้อนที่สร้างความเจ็บปวด หรือชาที่ลิ้น ริมฝีปากล่าง คาง ฟัน และเหงือก ซึ่งส่งผลให้เกิดความรำคาญต่อการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะการรับประทานอาหารและดื่มน้ำ
ส่วนมากความเสียหายดังกล่าวจะอยู่แค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งอาจยาวนานตั้งแต่ไม่กี่สัปดาห์จนไปถึงเดือน แต่หากเส้นประสาทถูกทำลายรุนแรงอาจทำให้ภาวะนี้อยู่ถาวรได้
การบาดเจ็บที่ประสาทเป็นอาการแทรกซ้อนซึ่งพบได้ไม่บ่อยเท่ากับภาวะเบ้ากระดูกแห้ง แต่ความเสี่ยงนี้อาจจะเกิดขึ้นมาได้ในบางกรณีที่ฟันคุดอยู่ใกล้ หรือเบียดกับเส้นประสาทมาก แม้ว่าทางทันตแพทย์จะพยายามผ่าฟันคุด หรือถอนฟันคุดให้ส่งผลต่อเส้นประสาทน้อยที่สุดแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ทันตแพทย์จะชี้แจงถึงความเสี่ยงข้อนี้ก่อนเข้ารับการถอน หรือผ่าฟันคุด
ถ้ามีปัญหาปวดฟัน ปวดเหงือกจนถึงขั้นทรมาน รบกวนชีวิตประจำวัน รับประทานอาหารลำบาก นอนไม่หลับ หรือมีอาการอักเสบจนบวม อย่านิ่งนอนใจควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจเอกซเรย์ วินิจฉัย และเตรียมการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป
เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจผ่าฟันคุดและถอนฟันคุด จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android