การถอนฟันอาจสร้างความกังวลใจแก่ใครหลายๆ คน โดยเฉพาะหากฟันซี่นั้นเป็นฟันแท้ หากถอนออกไปเมื่อไหร่ก็จะกลายเป็นฟันหลอทันที อย่างไรก็ตาม การรักษาทางทันตกรรมบางอย่าง เช่น การจัดฟัน ก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการถอนฟันไปไม่ได้
บทความนี้จะช่วยให้คุณทราบทุกขั้นตอนของการถอนฟัน ไม่ว่าจะถอนฟันเพราะฟันผุ หรือถอนฟันเพื่อจัดฟัน เพื่อจะได้เตรียมตัวเตรียมใจ วิธีปฏิบัติตัวหลังถอนฟันเพื่อให้แผลหายดี ไม่มีอาการแทรกซ้อน รวมถึงแนะนำการใช้สิทธิ์ประกันสังคมให้ทราบ
ถอนฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 396 บาท ลดสูงสุด 67%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
การถอนฟันเพราะฟันผุกับจัดฟัน เหมือนกันหรือไม่
การถอนฟันเพราะฟันผุกับถอนฟันเพื่อจัดฟัน มีสาเหตุและแนวทางการรักษาต่างกัน ดังนี้
ถอนฟันเพราะฟันผุ
โดยปกติแนวทางการรักษาสำหรับฟันผุที่ยังไม่ทะลุโพรงประสาทฟันคือ การอุดฟัน แต่การรักษาสำหรับฟันผุที่ทะลุโพรงประสาทฟันแล้วมี 2 ทางเลือก
ทางเลือกแรกคือ การรักษารากฟันร่วมกับการใส่เดือยฟัน หรือครอบฟัน ส่วนอีกทางเลือกคือ การถอนฟันซี่ดังกล่าวออกไป
ถอนฟันเพราะจัดฟัน
ทันตแพทย์จะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่น ลักษณะการซ้อนเกของฟัน ลักษณะการสบฟัน การเลือกฟันให้เป็นหลักยึดสำหรับการเคลื่อนฟันซี่อื่นๆ ความสมมาตรของฟันและกระดูกขากรรไกรซ้าย-ขวา ความอูมนูน-ความยุบของใบหน้าเมื่อมองจากด้านข้าง
นอกจากนี้ยังพิจารณาลักษณะโครงสร้างใบหน้าของผู้จัดฟันประกอบ ได้แก่ จมูก คาง โหนกแก้ม หน้าผาก ระนาบความเอียงของระดับสายตา
ดังนั้นการเลือกซี่ฟันและจำนวนที่จะถอนจึงแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย แม้แต่ในผู้ป่วยรายเดียวกัน การถอนฟันอาจไม่ใช่ตำแหน่งที่สมมาตรกันระหว่างซ้ายขวา หรือบนล่าง
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
นอกจากในผู้ป่วยรายที่ต้องการจัดฟัน ซึ่งมีทั้งซี่ฟันผุและฟันซี่ที่ทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่า ต้องถอนเพื่อการจัดฟัน ฟันทั้ง 2 ซี่นั้นอาจเป็นคนละซี่กัน การรักษาของแต่ละซี่ก็จะไม่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกัน แต่หากบังเอิญเป็นซี่เดียวกันก็สามารถถอนซี่ดังกล่าวโดยไม่ต้องพิจารณาอุด หรือรักษารากฟัน
สำหรับผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง จำเป็นต้องมีใบส่งตัวจากแพทย์เจ้าของไข้มาด้วย ทันตแพทย์ถึงจะสามารถถอนฟันให้ได้เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย
ตำแหน่งที่จะถอนฟันทำให้มีวิธีถอนแตกต่างกัน หรือไม่
การถอนฟันแต่ละซี่มีหลักการเหมือนกัน ดังนี้
- ทันตแพทย์จะซักประวัติด้านสุขภาพและการแพ้ยาก่อน
- ถ่ายภาพรังสี (x-ray) ประกอบการวินิจฉัยสรุปสาเหตุที่ต้องถอนฟันและให้เห็นถึงความยาว รูปร่าง และตำแหน่งของฟันและกระดูกบริเวณรอบๆ ฟัน
- ทันตแพทย์จะเตรียมบริเวณที่ถอนฟัน ได้แก่ ฉีดยาชา ทำความสะอาดเหงือกและฟันข้างเคียง
- เมื่อบริเวณที่จะถอนฟันเกิดอาการชาแล้ว ทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือที่ทำให้ฟันหลวมจากเหงือก จากนั้นจะถอนฟันออกมาด้วยคีมถอนฟัน ในบางรายทันตแพทย์อาจต้องปรับสภาพกระดูกที่อยู่ด้านล่างให้มีความเรียบเนียนขึ้น
- เมื่อถอนฟันเสร็จสิ้นแล้ว ทันตแพทย์จะปิดแผลด้วยผ้าก๊อซ บางกรณีถ้าแผลกว้าง หรือแผลลึกมาก เช่น การถอนฟันคุด ทันตแพทย์อาจต้องเย็บแผลเพื่อให้เลือดหยุดไหลและแผลปิดสนิท สมานตัวกันเร็วยิ่งขึ้น
- ทันตแพทย์ให้คำแนะนำเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและการดูแลแผลที่เกิดจากการถอนฟัน รวมทั้งการดูแลทำความสะอาด
อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งฟันที่จะถอนแต่ละตำแหน่งที่แตกต่างกันจะทำให้มีรายละเอียดของขั้นตอนการถอนต่างกัน เช่น การถอนฟันหน้า ฟันเขี้ยว หรือฟันกรามน้อยที่มีรากเดียวจะใช้การโยกและหมุนซี่ฟัน
ส่วนการถอนฟันกรามน้อยที่มีหลายราก ฟันกรามใหญ่ หรือฟันคุด จะใช้การโยก การดันฟันไปยังช่องว่างด้านหลังของขากรรไกร หรือการตัดฟันเป็นชิ้นๆ ก่อนถอนออกจากขากรรไกร
นอกจากนี้การฉีดยาชาและลักษณะการชายังแตกต่างกันระหว่างขากรรไกรบนและล่าง รวมถึงต่างกันในระหว่างเด็กและผู้ใหญ่อีกด้วย
ถอนฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 396 บาท ลดสูงสุด 67%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
อ่านเพิ่มเติม: ฟันคุดคืออะไร จะรู้อย่างไรว่ามีฟันคุด
การดูแลตัวเองหลังถอนฟัน
หลังการถอนฟัน สิ่งสำคัญที่สุดคือ การกัดผ้าก๊อซให้แน่นเพื่อหยุดเลือด ห้ามบ้วนเลือด หรือบ้วนน้ำลายหลังถอนฟัน ควรพักผ่อนมากๆ รับประทานอาหาร อ่อนๆ งดอาหารรสจัด และรักษาความสะอาดในช่องปากให้ดี มีรายละเอียด ดังนี้
- กัดผ้าก๊อซให้แน่นบนบริเวณที่ถอน ห้ามเคี้ยว หรือพูดถ้าไม่จำเป็น โดยปกติเลือดที่ไหลออกจากแผลจะหยุดไหลภายใน 1 ชั่วโมง แต่อาจมีลิ่มเลือดที่ละลายปนกับน้ำลายซึมออกมาได้ตลอด 24 ชั่วโมงแรก
- เมื่อกัดครบ 2 ชั่วโมง ให้เอาผ้าก๊อซออก หากยังมีเลือดสดๆ ไหลออกมาอีก ให้กัดผ้าก๊อซชิ้นใหม่ที่ทันตแพทย์ให้อีก 1 ชั่วโมง โดยต้องล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบผ้าก๊อซมาวางที่แผล
- ต้องรับประทานยาตามที่ทันตแพทย์จ่ายอย่างเคร่งครัด เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาแก้ปวด ยาแก้อักเสบ
- หากเลือดไหลไม่หยุด ห้ามอมน้ำแข็ง ให้ใช้เจลแช่เย็น หรือน้ำแข็งในถุงพลาสติกห่อด้วยผ้า หรือกระดาษ ประคบนอกปากบริเวณผิวหนังที่ตรงกับฟันที่ถอนภายใน 48 ชั่วโมงแรก
- ห้ามบ้วนน้ำ ห้ามบ้วนน้ำลาย ห้ามบ้วนเลือด ตลอดวันที่ถอนฟัน
- ห้ามแคะแผล ดูดแผลเล่น และห้ามใช้ลิ้นดุนเล่นที่แผล
- ห้ามออกกำลังกายหนัก แต่สามารถทำงานและใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- ห้ามสูบบุหรี่ ดื่มสุรา หรือรับประทานของมึนเมาอย่างน้อย 1 สัปดาห์
- การรับประทานอาหารในวันแรกควรเป็นอาหารเหลว แต่ไม่ควรร้อนเกินไป เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม
การถอนฟันก่อให้เกิดการบาดเจ็บ ความชอกช้ำแก่กระดูกและเหงือก หลังจากยาชาหมดฤทธิ์ไปผู้ที่ถอนฟันออกไปจึงมักมีอาการปวดตามมา และจะมีอาการปวดสูงสุดในช่วง 3-5 ชั่วโมงหลังผ่าตัด
อย่างไรก็ตาม อาการเหล่านี้จะบรรเทาได้โดยการรับประทานยา การประคบ และปฏิบัติตามข้อปฏิบัติที่ทันตแพทย์แจ้งไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกัดผ้าก็อซให้แน่น ไม่บ้วนเลือด หรือน้ำลาย อาการปวดจะค่อยๆ บรรเทาลงหลังวันที่ 2 หรืออาจไม่มีอาการเจ็บปวดเลยในบางราย
หากหลังวันที่ 3 เป็นต้นไป อาการเจ็บปวดยังไม่ทุเลา หรือปวดมากขึ้น อาจเกิดเป็นปัญหาแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น กระดูกเบ้าฟันอักเสบ ตามมาได้ ควรรีบไปพบทันตแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษา
สำหรับแผลจะเริ่มปิดหลังถอนฟันประมาณ 5 วันแรกหลังการถอน ส่วนใหญ่จะปิดภายใน 2 สัปดาห์ และจะปิดสนิทใช้เวลาประมาณ 1 เดือน
- แผลในฟันบนจะหายเร็วกว่าฟันล่าง
- ฟันซี่ใหญ่ หรือฟันที่มีหลายรากจะหายช้ากว่าฟันซี่เล็ก
- หากเป็นการผ่าฟันคุดล่าง อาจใช้เวลานานถึง 2 เดือน แผลจึงหายสนิท
อ่านเพิ่มเติม: การผ่าฟันคุดและการถอนฟันคุด
ราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟัน
สำหรับราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟันนั้น ขึ้นอยู่กับความยากง่ายในแต่ละเคส มีการเพิ่มปริมาณยาชา หรือไม่อย่างไร มีการเย็บแผล จ่ายยา เวชภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมหรือไม่ รวมทั้งค่าบริการอื่นๆ ของแต่ละคลินิกทันตกรรม หรือสถานพยาบาล
โดยทั่วไปราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟันมีดังนี้
- การถอนฟันทั่วไปจะอยู่ที่ซี่ละ 600-800 บาท
- การถอนฟันในเคสยากอยู่ที่ซี่ละ 900 -1,200 บาท
- กสนถอนฟันโดยวิธีผ่าตัดและเย็บแผลจะอยู่ที่ซี่ละ 1,000- 1,500 บาท
อย่างไรก็ตาม อาจติดต่อสอบถามราคา หรืออัตราค่าบริการการถอนฟัน จากคลินิกทันตกรรม หรือสถานพยาบาล ก่อนเข้ารับบริการ รวมทั้งวิธีการชำระเงินและการใช้สิทธิ์ประกันสังคม (ถ้ามี)
การใช้สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับถอนฟัน
ผู้ที่จะสามารถรับสิทธิ์ทำฟันประกันสังคมต้องจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 เดือนภายใน 15 เดือน เมื่อครบสิทธิสามารถใช้บริการทำฟันเดือนไหนของปีก็ได้
ทั้งนี้หากผู้ประกันตนส่งเงินสมทบครบ 3 เดือนแล้ว แต่ลาออกจากงานแล้วก็ยังสามารถรับบริการทันตกรรมได้ เพราะสิทธิ์ประกันสังคมยังคงคุ้มครองต่อให้อีก 6 เดือน นับจากวันที่ลาออก
การถอนฟันสามารถใช้สิทธิ์ประกันสังคมได้ทั้งการถอนฟันเพราะฟันผุ ถอนเพราะจัดฟัน ถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด รวมไปถึงการขูดหินปูน ผู้ประกันตนมีสิทธิ์ได้รับค่าบริการทางการแพทย์เท่าที่จ่ายจริง 900 บาท/ปี โดยอัตราค่าบริการที่สามารถเบิกได้แตกต่างไปตามประเภทของทันตกรรม
การใช้สิทธิ์ประกันสังคมสามารถเลือกปฏิบัติได้ 2 วิธี ได้แก่
- รับบริการที่คลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วไป และผู้ใช้สิทธิ์ต้องชำระเงินกับทางคลินิกไปล่วงหน้าก่อน (ต้องสำรองจ่าย) จากนั้นนำหลักฐานที่ต้องใช้ในการยื่นคำขอรับประโยชน์กรณีทันตกรรม ได้แก่
- แบบคำขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีทันตกรรม (สปส.2-16) (ออกให้โดยคลินิกทันตกรรม)
- ใบรับรองแพทย์
- ใบเสร็จรับเงิน
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรอื่นที่ทางราชการออกให้
ยื่นเอกสารทั้งหมดได้ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดและสาขาที่สะดวก เพื่อรอรับเงินคืนจากสำนักงานประกันสังคมภายในวงเงิน 900 บาท/ปี
- รับบริการที่คลินิกทันตกรรมทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีป้ายระบุว่า “สถานพยาบาลแห่งนี้ให้บริการผู้ประกันตนกรณีทันตกรรม ไม่ต้องสำรองจ่าย” ผู้ใช้สิทธิ์สามารถใช้บัตรประชาชนเป็นหลักฐานเข้ารับบริการได้ โดยไม่ต้องสำรองจ่ายภายในวงเงิน 900 บาท/ปี
หากมีข้อสงสัย หรือต้องการสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ตามช่องทางต่อไปนี้
- www.sso.go.th
- สายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สำนักประกันสังคมสอบถามสิทธิประกันสังคมพื้นที่/ จังหวัด/ สาขาทั่วประเทศ
- ดาวน์โหลดโมบายแอพพลิเคชั่น ชื่อ SSO Connect Mobile เพื่อให้สามารถตรวจสอบข้อมูล สอบถามสิทธิได้ด้วยตนเองอย่างง่ายดาย
อย่าลืมว่า สิทธิ์ประกันสังคมสำหรับทำฟันมีให้ปีต่อปี หากคุณเป็นผู้ประกันตนอย่าลืมไปใช้สิทธิ์ทำฟันประจำปีกัน จะได้มีสุขภาพช่องปากและฟันที่สะอาดแข็งแรง
ดูแพ็กเกจถอนฟัน เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android