"เกล็ดเลือด" เป็นเซลล์ที่สร้างจากไขกระดูก และไหลเวียนอยู่ในกระแสเลือด มีหน้าที่สำคัญในการห้ามเลือดเมื่อเนื้อเยื่อในร่างกายเกิดบาดแผล
การที่ร่างกายเกิด "ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)" ไม่ว่าจะด้วยจากสาเหตุใดก็ตาม ผลที่ตามมาคือ เมื่อร่างกายเกิดบาดผล จะทำให้มีเลือดออกได้ง่าย และหยุดไหลช้า รวมถึงอาจมีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะ หรือเลือดออกในสมอง ทำให้ร่างกายเสียเลือดมาก และอันตรายถึงชีวิตได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ระดับเกล็ดเลือดที่เหมาะสมในคนทั่วไป
ปกติแล้ว คนเราจะมีเกล็ดเลือดประมาณ 150,000–450,000 เซลล์ต่อไมโครลิตร
ลักษณะอาการของคนที่มีภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
คนที่มีเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย อาจไม่แสดงอาการใดๆ แต่หากเกล็ดเลือดต่ำลงมาก ร่างกายจะเริ่มจะแสดงอาการให้เห็น ได้แก่
- มีจุดเลือดเล็กๆ สีแดง กระจายอยู่ใต้ผิวหนัง
- เกิดรอยฟกช้ำได้ง่ายตามร่างกาย
- เมื่อเกิดบาดแผล เลือดจะหยุดไหลช้า และมีเลือดออกมาก แม้บาดแผลจะมีขนาดเล็ก
- มีเลือดออกที่จมูก และในปาก
- ในผู้หญิงอาจมีประจำเดือนมากผิดปกติ
- หากเกล็ดเลือดต่ำมาก อาจมีเลือดออกที่อวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้ สมอง และทำให้ความดันโลหิตต่ำลงมาก จนอาจช็อกและหมดสติ และอาจเสียชีวิตได้
สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
สาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ แบ่งออกเป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ เกล็ดเลือดในร่างกายถูกใช้หรือทำลายมากกว่าปกติ และร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ต่ำลง โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. เกล็ดเลือดถูกใช้ หรือถูกทำลายมากกว่าปกติ
- มีความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย หรือที่เรียกว่า “โรคภูมิแพ้ตัวเอง” ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันที่ควรจะตอบสนองต่อสิ่งแปลกปลอม กลับมาทำลายเซลล์ในร่างกายตนเอง ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายไปด้วย
- เป็นผลจากการใช้ยาบางชนิด เช่น
- ยาเฮพาริน (Heparin) มีฤทธิ์ต่อต้านการแข็งตัวของเลือด และมักใช้รักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ยาควินิน (Quinine) เป็นยารักษาโรคมาลาเรีย
- ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ใช้สำหรับรักษาวัณโรค
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไซโตเมกะโลไวรัส (Cytomegalovirus) หรือเรียกสั้นๆ ว่า "ไวรัส CMV" รวมถึงการติดเชื้อแบคทีเรียบางตัวด้วย
- การตั้งครรภ์ โดยผู้หญิงประมาณร้อยละ 5 จะพบภาวะเกล็ดเลือดต่ำในช่วงตั้งครรภ์ ซึ่งยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด
- ได้รับการผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดทำบายพาสหัวใจ ทำให้เกล็ดเลือดปริมาณมากถูกใช้ไปในการสมานแผล
- เกิดภาวะ Thrombotic Thrombocytopenic Purpura หรือเรียกสั้นๆ ว่า "โรค TTP" ซึ่งทำให้มีลิ่มเลือดอุดตันทั่วร่างกาย ร่วมกับมีอาการเกล็ดเลือดต่ำ และอาจมีอาการทางไต และทางสมองร่วมด้วยได้
2. ร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้ต่ำลง
- เป็นโรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ทำให้ไขกระดูกไม่สามารถสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้มากพอ รวมทั้งเกล็ดเลือดด้วย
- การฉายรังสี และการทำเคมีบำบัดเพื่อรักษาโรคมะเร็ง
- การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน และสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งมีผลต่อการสร้างเม็ดเลือดและเกล็ดเลือดในไขกระดูก
- เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำให้ไขกระดูกและสเต็มเซลล์ (Stem cell) ของเกล็ดเลือดถูกทำลาย
- การติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอ็บสไตบาร์ (Epstein Barr Virus: EBV) และพาโวไวรัส (Parvovirus)
- การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคลอแรมเฟนิคอล (Chloramphenicol) ซึ่งมีผลต่อการสร้างเกล็ดเลือด และยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ทำให้เกล็ดเลือดทำงานได้ลดลง
- ขาดวิตามินและแร่ธาตุบางชนิด เช่น วิตามินบี12 โฟเลต และธาตุเหล็ก
การรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
หากภาวะเกล็ดเลือดต่ำไม่ได้รุนแรงมากนัก และเกิดจากสาเหตุชั่วคราวที่สามารถหายได้เอง อาจไม่จำเป็นต้องรักษา เพียงแค่ดูแลร่างกายให้แข็งแรง ปริมาณเกล็ดเลือดก็จะกลับมาเป็นปกติ แต่หากมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำอย่างรุนแรง จะต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ซึ่งแนวทางการรักษา ได้แก่
- รักษาโดยการใช้ยา เช่น
- ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ชนิดรับประทานและฉีด เพื่อป้องกันการทำลายเกล็ดเลือด
- ผู้ป่วยบางรายที่เป็นภูมิแพ้ตัวเอง อาจต้องฉีดอิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) และริทูซิแมบ (Rituximab) เพื่อยับยั้งการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันด้วย
- ยาเอลทรอมโบแพค (Eltrombopag) สำหรับฉีดเพื่อกระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาเสตียรอยด์ อิมมูโนโกลบูลิน และ/หรือการตัดม้าม
- หากมีเกล็ดเลือดต่ำมาก หรือมีภาวะเกล็ดเลือดต่ำเรื้อรัง จะต้องรักษาโดยการให้เกล็ดเลือด
- หากมีความผิดปกติของร่างกาย ทำให้เกิดการทำลายเกล็ดเลือดมาก อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดม้าม เพื่อยับยั้งการทำลายเกล็ดเลือด ซึ่งหลังผ่าตัดอาจมีภาวะแทรกซ้อน คือ ร่างกายอ่อนแอ ติดได้เชื้อง่ายขึ้น จึงต้องดูแลสุขภาพร่างกายเป็นพิเศษ
การป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานยาที่มีผลต่อเกล็ดเลือดโดยไม่จำเป็น และควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา
- ระมัดระวังไม่ให้เกิดโรคติดเชื้อ ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกล็ดเลือดต่ำได้ เช่น โรคไข้เลือดออก
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีเป็นเวลานาน