กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประจำเดือนมาแบบไหน ถึงเรียกว่าไม่ปกติ

ประจำเดือนมาน้อย มามาก สีของประจำเดือน รอบประจำเดือนที่เปลี่ยนไป บอกสัญญาณอะไรของร่างกายคุณได้บ้าง
เผยแพร่ครั้งแรก 1 พ.ย. 2017 อัปเดตล่าสุด 23 ธ.ค. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 10 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ประจำเดือนมาแบบไหน ถึงเรียกว่าไม่ปกติ

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ประจำเดือนเกิดจากการหลุดลอกของผนังโพรงเยื่อบุมดลูก ซึ่งหนาตัวขึ้นในช่วงตกไข่
  • ผู้หญิงแต่ละคนจะมีลักษณะ ปริมาณ จำนวนวันที่มา รอบประจำเดือน และสีของประจำเดือนที่แตกต่างกันไป แล้วแต่เงื่อนไขสุขภาพของแต่ละคน
  • ปริมาณเลือดประจำเดือนจะต้องไม่เกิน 80 ซีซีต่อ 1 รอบ
  • อาการปวดท้อง ปริมาณ สี จำนวนวัน และรอบของประจำเดือน สามารถบอกความผิดปกติหรือโรคร้ายบางอย่างได้ เช่น ซีสต์ในรังไข่ เนื้องอกในมดลูก เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ โรคโลหิตจาง
  • การตรวจสุขภาพอย่างเป็นประจำ จะทำให้คุณรู้เท่าทันโรคต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อประจำเดือนได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหญิงได้ที่นี่)

ประจำเดือน เป็นสิ่งที่ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ทุกคนจะต้องเผชิญทุกๆ เดือน ซึ่งลักษณะอาการ ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะมีประจำเดือนของผู้หญิงทุกคนก็จะมีความแตกต่างกันไป

ผู้หญิงบางคนอาจไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร และสามารถผ่านช่วงเวลามีประจำเดือนไปได้ด้วยดี ในขณะที่อีกหลายๆ คนต้องเผชิญกับอาการเจ็บป่วย ความรู้สึกอ่อนเพลียที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ หลายคนถึงกับต้องลาหยุดงานหรือเรียนเพื่อให้ร่างกายพักผ่อน

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

ดังนั้นเรื่องของประจำเดือนจึงเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรจะรู้ เพื่อจะได้สังเกตได้ว่า ประจำเดือนของตนเองนั้นผิดปกติหรือไม่ แล้วสาเหตุอะไรที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ประจำเดือนมาไม่ปกติได้บ้าง

ที่มาของประจำเดือน

ประจำเดือน (Menstruation หรือ Period) เกิดจากการหลุดลอกของผนังเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งก่อนหน้านี้หนาตัวขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ โดยผนังเยื่อบุโพรงมดลูกจะหนาตัวขึ้นทุกครั้งที่ร่างกายของผู้หญิงมีการตกไข่

แต่เมื่อไข่ที่ตกไม่ได้รับการปฏิสนธิกับสเปิร์มของเพศชาย ผนังเยื่อบุโพรงมดลูกจึงหลุดลอกออกมาในรูปของเลือด ซึ่งก็คือประจำเดือนนั่นเอง

โดยปกติ ประจำเดือนจะเกิดขึ้นทุกๆ 21-35 วัน และจะมีระยะเวลาประมาณรอบละ 3-7 วัน

ความเปลี่ยนแปลงของร่างกายขณะมีประจำเดือน

ในช่วงที่มีประจำเดือน ร่างกายของผู้หญิงหลายคนจะมีความเปลี่ยนแปลงไปชั่วคราว และยังรวมไปถึงสภาพจิตใจด้วย เช่น

นอกจากนี้ ในผู้หญิงแต่ละคนจะมีลักษณะประจำเดือนที่แตกต่างกันไปด้วย บางคนปริมาณประจำเดือนจะมามากในช่วงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็จะเหลือเพียงกะปริบกะปรอยและหมดรอบไป

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แต่ผู้หญิงบางคนจะมีปริมาณประจำเดือนแบบกระปริบกระปรอยเป็นเวลานาน บางคนประจำเดือนอาจขาดหายไปเลย

แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้หญิงทุกคนควรรู้ และหลายคนอาจเข้าใจผิดอยู่ก็คือ หากประจำเดือนของคุณขาดหายไป นั่นไม่ได้หมายความว่า “คุณกำลังตั้งครรภ์” เสมอไป แต่นั่นอาจหมายถึงสัญญาณของอาการป่วย หรือความผิดปกติภายในร่างกาย

วิธีตรวจสอบความปกติของประจำเดือน

ให้คุณลองถามตัวคุณเองว่า

  • ประจำเดือนมาเป็นประจำหรือไม่
  • ปริมาณของประจำเดือนต่อรอบมีมากน้อยแค่ไหน แล้วมากี่วัน
  • ในแต่ละวันคุณใช้ผ้าอนามัยกี่ชิ้น
  • ทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าอนามัย ปริมาณเลือดบนผ้าอนามัยมีมากขนาดไหน
  • ประจำเดือนครั้งสุดท้ายมากี่วัน
  • ในเลือดประจำเดือนมีเลือดก้อนปนด้วยหรือไม่
  • ประจำเดือนมีกลิ่น หรือระหว่างมีประจำเดือน คุณมีไข้ร่วมด้วยหรือไม่
  • สีของประจำเดือนเป็นอย่างไร มีสีที่แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่

ความเกี่ยวข้องระหว่างประจำเดือนกับสุขภาพและร่างกาย

1. อาการปวดท้องประจำเดือน

70% ของผู้หญิงทุกคนต้องทุกข์ทนทรมานกับอาการปวดท้องน้อย และมีอาการท้องอืดระหว่างมีประจำเดือน ซึ่งอาการปวดดังกล่าวจะมีแบบทั้งปวดแบบบีบ และปวดเกร็ง ผู้หญิงบางคนอาจปวดแรงถึงขั้นไม่สามารถลุกขึ้นยืนหรือเดินได้

สำหรับสาเหตุของอาการปวดท้องประจำเดือนนั้น เกิดจากเมื่อเยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา จะทำให้สารคล้ายฮอร์โมนชื่อว่า “โพรสตาแกลนดิน (Prostaglandins)” หลั่งออกมาด้วย และทำให้เกิดการหดรัด หรือการเกร็งของกล้ามเนื้อมดลูกรอบๆ เยื่อบุมดลูก อีกทั้งยังทำให้เกิดการอักเสบตามมาได้

ซึ่งยิ่งสารโพรสตาแกลนดินหลั่งออกมามากเท่าไร การบีบรัดของกล้ามเนื้อมดลูกก็จะยิ่งแรงมากขึ้น และทำให้ผู้หญิงปวดท้องประจำเดือนมากกว่าเดิมนั่นเอง

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

อาการปวดท้องประจำเดือนจัดอยู่ในอาการทั่วไปที่ผู้หญิงส่วนมากจะต้องเผชิญ แต่หากคุณมีอาการปวดท้องประจำเดือนอย่างรุนแรงมากๆ หรือปวดทุกเดือนระหว่างมีประจำเดือนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แนะนำให้คุณไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อวินิจฉัยอาการอีกครั้ง

เพราะอาการปวดท้องนี้ อาจบ่งบอกถึงความผิดปกติบางประการ เช่น

  • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่
  • มีเนื้องอกในมดลูก
  • ช่องคลอด หรือปากมดลูกมีความผิดปกติแต่กำเนิด
  • มีแผลที่ช่องคลอดหรือเกิดการติดเชื้อ

2. ปริมาณของประจำเดือน

โดยทั่วไปประจำเดือนจะมามากในช่วงวันแรกๆ แล้วจะค่อยๆ น้อยลงจนหยุดในที่สุด ซึ่งปริมาณประจำเดือนของผู้หญิงแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป แต่ต้องไม่เกิน 80 ซีซีต่อ 1 รอบ

หลายคนคงสงสัยว่า แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าประจำเดือนแบบไหนถือว่ามามาก หรือมาปกติ ให้คุณลองดูข้อสงสัยต่อไปนี้

  • หากคุณเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 2-3 ชั่วโมง โดยที่ผ้าอนามัยเปียกชุ่มทุกครั้ง หรือปริมาณเลือดประจำเดือนต่อ 1 รอบมากกว่า 80 ซีซี จัดว่าประจำเดือนคุณมา “มาก”
  • หากคุณต้องเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1 ชั่วโมง และยังคงเป็นแบบนี้ไปอีกถึง 7-8 วัน จัดว่าคุณมีประจำเดือนมา “ผิดปกติ” ซึ่งอาจเกิดจากการฉีกขาดหรือบาดเจ็บบริเวณปากมดลูก หรือช่องคลอด หรือปริมาณที่มากเกินไปของฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) และโปรเจสเตอโรน (Progesterone)
  • หากคุณเปลี่ยนผ้าอนามัย 2-3 ชิ้นต่อวัน หรือเปลี่ยนผ้าอนามัยทุกๆ 1-2 ชั่วโมงเพื่อความสะอาด และปริมาณเลือดประจำเดือนไม่ได้มากหรือน้อยผิดปกติไปจากทุกครั้ง จัดว่าคุณมีประจำเดือน “ปกติ”
  • หากประจำเดือนของคุณมีน้อยกว่า 5 ซีซีต่อรอบ โดยไม่ได้ใช้ยาคุมฉุกเฉิน หรือฮอร์โมน จัดว่าคุณมีประจำเดือน “ปกติ”
  • หากประจำเดือนมากะปริดกะปรอย หรือมาๆ หยุดๆ ตลอดทั้งเดือน จัดว่าคุณมีประจำเดือน “ผิดปกติ”

สำหรับความผิดปกติของประจำเดือนนั้น อาจเกิดได้จากสาเหตุดังต่อไปนี้

  • การติดเชื้อ
  • โรคฮีโมฟิเลีย (Hemophilia)
  • โรคโลหิตจาง
  • ฮอร์โมนไม่สมดุล
  • มีเนื้องอกหรือก้อนเนื้องอกในสมอง

ดังนั้น หากคุณสังเกตว่าตนเองมีการเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติของปริมาณเลือดประจำเดือน ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการทันที

3. สีของประจำเดือน

สีของประจำเดือนจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามความเก่าใหม่ของเลือดข้างในมดลูก โดยเลือดที่ออกมาในช่วงแรกๆ จะมีสีแดงคล้ำเล็กน้อย ต่อมาก็จะเปลี่ยนเป็นสีแดงสด

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีผู้หญิงบางคนเริ่มต้นรอบด้วยประจำเดือนสีแดงสดก่อน ก่อนที่ในช่วงท้ายของประจำเดือน เลือดจะกลายเป็นสีแดงเข้มขึ้นคล้ายกับสีน้ำตาล

ความผิดปกติของสีประจำเดือน สามารถบอกถึงความผิดปกติจากโรคได้เช่นกัน เช่น ประจำเดือนเป็นสีจางซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับโรคโลหิตจาง ประจำเดือนสีเหมือนน้ำเหลืองซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับเนื้องอก และโรคมะเร็ง

4. รอบประจำเดือน

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า รอบของประจำเดือนจะเกิดขึ้นทุกๆ 21-35 วัน หรือเดือนละ 1 ครั้ง โดยเริ่มนับจากวันแรกที่มีประจำเดือน ซึ่งหากประจำเดือนของคุณมาซ้ำในช่วงเวลาเดียวกัน จะถือว่ารอบประจำเดือนปกติดี

แต่หากรอบประจำเดือนของคุณมาถี่ หรือนานกว่านั้น หรือรอบประจำเดือนครั้งต่อไปห่างจากวันที่ประจำเดือนควรจะมามากกว่า 7-9 วัน คุณควรต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยความผิดปกติ

ส่วนในกรณีที่คุณประจำเดือนขาดหายไปบ่อยครั้งแต่ไม่ได้ตั้งครรภ์ นั่นอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า คุณมีโรคเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ หรือระดับฮอร์โมนในร่างกายไม่สมดุลนั่นเอง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดก้อนซีสต์ในรังไข่ได้

แต่บางครั้ง รอบประจำเดือนที่ไม่ตรงเวลาหรือขาดหายไป อาจเป็นผลมาจากความเครียด หรือความวิตกกังวลก็ได้ ดังนั้นหากประจำเดือนของคุณขาดหายไปบ่อยๆ จนผิดสังเกต ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจเช็กอาการต่อไป

5. จำนวนวันที่มีประจำเดือน

โดยทั่วไป ผู้หญิงจะมีประจำเดือนนานประมาณ 3-7 วัน โดยในช่วงวันที่ 2-4 จะมีปริมาณประจำเดือนมาค่อนข้างมาก แต่หากเลยวันที่ 4 ไปแล้วเลือดประจำเดือนยังคงมากอยู่ หรือประจำเดือนมาเกิน 8 วัน ก็ควรไปปรึกษาแพทย์ว่ามีความผิดปกติหรือไม่

ประจำเดือนมาไม่ปกติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกคน โดยอาจเกิดขึ้นได้บ้างเป็นบางครั้งบางคราว แต่หากคุณรู้สึกว่าประจำเดือนของตนเองมีความผิดปกติไปโดยสังเกตเห็นได้ชัด ก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ หรือใช้ความเชื่อ และความเคยชินมาตัดสิน แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยเร็วที่สุด

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพหญิง เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัพเดทแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Reed BG, Carr BR. The normal menstrual cycle and the control of ovulation. MDText.com, Inc. 2018. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK279054/)
Office on Women's Health. What happens during the typical 28-day menstrual cycle?. Updated March 16, 2018. (https://www.womenshealth.gov/menstrual-cycle/your-menstrual-cycle)
Thiyagarajan DK, Basit H, Jeanmonod R. Physiology, menstrual cycle. StatPearls Publishing. 2019. (https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK500020/)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป