อาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain)

อาการปวดเรื้อรัง แตกต่างจากอาการปวดธรรมดาอย่างไร เกิดจากอะไร และมีวิธีการรักษาแบบใดบ้าง?
เผยแพร่ครั้งแรก 4 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
อาการปวดเรื้อรัง (Chronic Pain)

อาการปวดเรื้อรังเป็นอาการปวดที่แตกต่างจากอาการปวดทั่วไป เพราะร่างกายจะส่งสัญญาณความเจ็บปวดไปยังสมองอย่างต่อเนื่อง และสามารถปวดได้ทุกตำแหน่งของร่างกาย ซึ่งจะมีอาการนานหลายสัปดาห์จนถึงหลายปี แม้ว่าการบาดเจ็บนั้นจะหายเป็นปกตินานแล้ว

อาการปวดเรื้อรังจะจำกัดการเคลื่อนไหวของร่างกาย ความยืดหยุ่นของร่างกาย ความแข็งแรง และความทนทานของร่างกายจะลดลงด้วย ซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวัน หรือทำกิจกรรมต่างๆ ได้ตามปกติ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ชนิดของอาการปวดเรื้อรังที่พบบ่อย ได้แก่

  • ปวดศีรษะ
  • อาการปวดหลังผ่าตัด (Postsurgical Pain)
  • อาการปวดหลังได้รับบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ (Post-Trauma Pain)
  • อาการปวดหลังส่วนล่าง (Lower Back Pain)
  • อาการปวดจากโรคมะเร็ง (Cancer Pain)
  • อาการปวดข้ออักเสบ (Arthritis Pain)
  • อาการปวดเส้นประสาท (Neurogenic Pain) : อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาทได้รับความเสียหาย
  • อาการปวดที่เกิดจากจิตใจ (Psychogenic Pain) : อาการปวดที่ไม่ได้เกิดจากโรค การบาดเจ็บ หรือเส้นประสาทได้รับความเสียหาย

สาเหตุของอาการปวดเรื้อรัง

ส่วนมากแล้ว อาการปวดเรื้อรังมักเกิดขึ้นเมื่อมีการบาดเจ็บ เช่น กล้ามเนื้อหลังเคล็ด หรือกล้ามเนื้อฉีกขาด จนทำให้เส้นประสาทได้รับความเสียหาย เมื่อเส้นประสาทได้รับความเสียหาย อาการปวดจะรุนแรงมากขึ้นและมีอาการปวดเป็นเวลานาน

แต่ในบางกรณี ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดเรื้อรังโดยไม่มีการบาดเจ็บมาก่อน ซึ่งอาจเกิดจากโรคบางชนิดที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เช่น

  • กลุ่มอาการอ่อนเพลียเรื้อรัง (Chronic Fatigue Syndrome) : ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลียมากติดต่อกันเป็นเวลานาน และมักมีอาการปวดร่วมด้วย
  • โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) : โรคที่มีอาการปวดอันเนื่องมาจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญภายนอกมดลูก
  • โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดเป็นบริเวณกว้างที่กระดูกและกล้ามเนื้อ
  • โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง (Inflammatory Bowel Disease) : เป็นกลุ่มของอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดและอักเสบเรื้อรังในทางเดินอาหาร
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบชนิดไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด (Interstitial Cystitis) : อาการกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรังที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ และมีอาการปวดร่วมด้วย
  • ความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกร (Temporomandibular Joint Dysfunction (TMJ)) : ผู้ป่วยจะมีอาการปวด มีเสียงคลิกเวลาอ้าปากหรือหุบปาก ขากรรไกรค้าง
  • ภาวะปวดปากช่องคลอดเรื้อรัง (Vulvodynia) : ผู้ป่วยจะมีอาการปวดปากช่องคลอดเรื้อรังโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด

การรักษาอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดเรื้อรัง สามารถรักษาได้ด้วย 3 วิธีดังต่อไปนี้

  1. ยาสำหรับอาการปวดเรื้อรัง : มียาหลายชนิดสำหรับช่วยในการรักษาอาการปวดเรื้อรัง เช่น
    • ยาแก้ปวดสามัญประจำบ้าน หรือยาที่หาซื้อทั่วไปตามร้านขายยา ได้แก่ ยา Paracetamol (ยาสามัญประจำบ้าน) หรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Nonsteroidal Anti-Inflammatory Drugs (NSAIDs) เช่น ยา Aspirin หรือ Ibuprofen
    • ยาแก้ปวดในกลุ่ม Opioid ได้แก่ Morphine, Codeine และ Hydrocodone
    • ยาเสริมฤทธิ์แก้ปวด เช่น ยาต้านเศร้า (Antidepressants) และยากันชัก (Anticonvulsants)
  2. การใช้วิธีการทางการแพทย์สำหรับรักษาอาการปวดเรื้อรัง เช่น
    • การกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้า (Electrical Stimulation) : การส่งกระแสไฟฟ้าความถี่ต่ำเข้าไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวด
    • การสกัดกั้นเส้นประสาท (Nerve Block) : การฉีดยาเข้าไปเพื่อสกัดกั้นการทำงานของเส้นประสาท ไม่ให้ส่งสัญญาณความปวดไปยังสมอง
    • การฝังเข็ม (Acupuncture) : การใช้เข็มขนาดเล็กทิ่มลงบนผิวหนังเล็กน้อยเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด
    • การผ่าตัด
  3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสำหรับรักษาอาการปวดเรื้อรัง เช่น
    • การทำกายภาพบำบัด (Physical therapy)
    • การออกกำลังกายแบบไทชิ (Tai chi)
    • การออกกำลังกายแบบโยคะ (Yoga)
    • การบำบัด
    • ศิลปะและดนตรีบำบัด (Art and music therapy)
    • สัตว์เลี้ยงบำบัด (Pet therapy)
    • จิตบำบัด (Psychotherapy)
    • การนวด
    • การทำสมาธิ

ที่มาของข้อมูล

Erica Cirino, What Causes Chronic Pain? (https://www.healthline.com/health/chronic-pain), May 16, 2017.


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Chronic Pain. MedlinePlus. (https://medlineplus.gov/chronicpain.html)
Prevalence of Chronic Pain and High-Impact Chronic Pain Among Adults — United States, 2016. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). (https://www.cdc.gov/mmwr/volumes/67/wr/mm6736a2.htm)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป