ภาวะดื้อต่ออินซูลินเกิดขึ้นเมื่อร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อการแก้ปัญหานี้จะทำให้เกิดภาวะก่อนเป็นเบาหวานในที่สุด
ความหมายของอินซูลิน
อินซูลิน เป็นฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่สร้างจากตับอ่อน ทำหน้าที่กระตุ้นให้อวัยวะต่างๆ นำพลังงานที่ได้รับจากอาหารไปใช้ กระบวนการจะเริ่มจากเมื่อร่างกายได้รับอาหาร ระบบทางเดินอาหารจะย่อยคาร์โบไฮเดรต ได้แก่ น้ำตาลและแป้งที่อยู่ในอาหารให้เป็นน้ำตาลกลูโคส โดยกลูโคสคือน้ำตาลที่อยู่ในกระแสเลือด และอินซูลินจะทำให้เซลล์ต่างๆ ในร่างกายสามารถนำกลูโคสไปใช้เป็นพลังงานได้
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
หน้าที่ของอินซูลินในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
เมื่อร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหลังจากรับประทานอาหาร ตับอ่อนจะหลั่งอินซูลินเข้าสู่เลือด ทำให้น้ำตาลกลูโคสเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ทั่วร่างกาย นำไปสร้างพลังงานและช่วยระบบต่างๆ ในร่างกายต่อไปนี้
- อินซูลินช่วยให้เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน และเซลล์ตับ ดูดซึมน้ำตาลกลูโคสจากเลือดเข้าสู่เซลล์ ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดลดลง
- อินซูลินจะกระตุ้นตับและกล้ามเนื้อให้เก็บสะสมน้ำตาลกลูโคสส่วนเกินในรูปของไกลโคเจน (glycogen)
- อินซูลินยังลดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดด้วยการลดการสร้างกลูโคสจากตับด้วย
ในคนปกติ ด้วยการทำงานต่าง ๆ ข้างต้น จะทำให้มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด และระดับอินซูลินอยู่ในช่วงปกติ
เกิดอะไรขึ้นขณะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ขณะที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เซลล์กล้ามเนื้อ เซลล์ไขมัน และเซลล์ตับ จะไม่สามารถตอบสนองต่ออินซูลินได้อย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เซลล์เหล่านี้ไม่สามารถดูดซึมน้ำตาลกลูโคสในเลือดเข้าสู่เซลล์ได้ง่ายเหมือนปกติ ผลก็คือร่างกายต้องการอินซูลินเพิ่มขึ้น เพื่อให้กลูโคสเข้าสู่เซลล์ได้เหมือนเดิมที่เคยเป็น
เบต้าเซลล์ในตับอ่อนจะตอบสนองต่อความต้องการอินซูลินที่มากขึ้น โดยการผลิตให้มากขึ้นกว่าเดิม ถ้าเบต้าเซลล์ยังสามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอที่จะเอาชนะภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ ร่างกายก็จะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ในช่วงค่าปกติ
เมื่อเวลาผ่านไป ภาวะดื้อต่ออินซูลินจะทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพราะว่าเบต้าเซลล์ในตับอ่อนจะไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป เมื่อร่างกายมีปริมาณอินซูลินไม่เพียงพอ จะทำให้น้ำตาลกลูโคสสูงขึ้นในเลือด ทำให้เกิดโรคเบาหวาน, ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ
สาเหตุของภาวะดื้อต่ออินซูลิน
ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินที่แน่ชัด นักวิทยาศาสตร์คิดว่าสาเหตุหลักของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน คือการมีน้ำหนักเกิน และไม่ออกกำลังกาย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
น้ำหนักเกิน
ไขมันที่มากเกินไปโดยเฉพาะบริเวณเอวและหน้าท้อง คือสาเหตุหลักของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงอื่นๆ ได้ เช่น ความดันโลหิตสูง ระดับไขมันคอเลสเตอรอลผิดปกติ และโรคหัวใจหลอดเลือด ดังนั้นการลดน้ำหนักจะช่วยลดการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน และป้องกันหรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
การขาดการออกกำลังกาย
การไม่ออกกำลังกายสามารถสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ ซึ่งทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย เพราะโดยปกติแล้วเซลล์กล้ามเนื้อจะใช้น้ำตาลกลูโคสมากกว่าเนื้อเยื่ออื่นๆ ในร่างกาย ในภาวะปกติกล้ามเนื้อจะทำหน้าที่เผาผลาญกลูโคสที่สะสมไว้เพื่อเป็นแหล่งพลังงาน และทำการเก็บสะสมน้ำตาลกลูโคสในเลือดทดแทนไปเรื่อยๆ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในระดับสมดุล
ภายหลังการออกกำลังกาย กล้ามเนื้อจะมีความไวต่ออินซูลินมากขึ้น โดยการเพิ่มตัวนำน้ำตาลกลูโคสเข้าไปใช้ในเซลล์ ทำให้ต่อสู้กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้ และทำให้น้ำตาลกลูโคสในเลือดลดต่ำลง ดังนั้นการออกกำลังกายจะทำให้กล้ามเนื้อดูดซึมน้ำตาลกลูโคสได้มากขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องได้รับอินซูลิน และเมื่อมีเซลล์กล้ามเนื้อมาก ก็จะช่วยเพิ่มการเผาผลาญน้ำตาลกลูโคส เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้
สาเหตุอื่นๆ
สาเหตุอื่นๆ ของการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลิน ได้แก่
- เชื้อชาติ
- โรคร่วมบางชนิด
- ฮอร์โมน
- การใช้สเตอรอยด์
- ยาบางชนิด
- อายุมาก
- ปัญหาการนอนหลับ โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ
- การสูบบุหรี่
ปัญหาระหว่างการนอนหลับส่งผลต่อภาวะดื้อต่ออินซูลินด้วยหรือไม่
คำตอบคือ ใช่ มีการศึกษาพบว่าปัญหาที่พบระหว่างการนอนหลับที่ไม่ได้รับการรักษา โดยเฉพาะภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน ภาวะดื้อต่ออินซูลิน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 คนที่ทำงานกลางคืนมีโอกาสที่จะมีปัญหาเหล่านี้มากกว่าปกติ
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเป็นโรคที่พบในผู้ป่วยที่มีปัญหาการหายใจถูกขัดขวางขณะนอนหลับ ทำให้คุณภาพการนอนหลับอยู่ในระดับต่ำ ผู้ป่วยจะมีอาการง่วงนอนระหว่างวัน หรืออ่อนเพลียมากกว่าปกติ
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
คนจำนวนมากไม่ได้กังวลถึงภาวะนี้และไม่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ แนะนำว่าหากสงสัยว่าคุณมีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษา
ภาวะก่อนเป็นเบาหวานคืออะไร
ภาวะก่อนเป็นเบาหวาน คือภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด หรือระดับน้ำตาลสะสม (A1C) สูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน
คนที่เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวาน และโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคหัวใจล้มเหลวหรือโรคหลอดเลือดสมองได้
ภาวะดื้อต่ออินซูลินสัมพันธ์กับเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน อย่างไร
ภาวะดื้อต่ออินซูลินเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน โดยภาวะก่อนเป็นเบาหวานมักพบในผู้ที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินอยู่แล้ว
อย่างไรก็ตามการเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินเพียงอย่างเดียวจะไม่ทำให้เกิดเบาหวานชนิดที่ 2 ภาวะนี้จะมีการตอบสนองโดยมีการสร้างอินซูลินเพิ่มขึ้นจากเบต้าเซลล์ในตับอ่อน แต่เพราะในภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เบต้าเซลล์จะไม่สามารถสร้างอินซูลินที่เพียงพอในการต่อสู้กับภาวะดื้อต่ออินซูลินได้อีก ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงขึ้นกว่าค่าปกติ
เมื่อร่างกายมีภาวะก่อนเป็นเบาหวานร่วมกับการทำหน้าที่ของเบต้าเซลล์ที่ลดลงเรื่อยๆ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้ป่วยที่มีภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 จะมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไประดับน้ำตาลที่สูงนี้จะไปทำลายเส้นประสาท และเส้นเลือด ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ตามองภาพไม่ชัด ตาบอด ไตวาย และอาจร้ายแรงถึงขั้นตัดขา
ส่วนใหญ่คนที่เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน จะมีการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายในระยะเวลา 10 ปี ยกเว้นว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิต การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ได้แก่
- การลดน้ำหนัก 5-7% ของน้ำหนักเริ่มต้น
- การเปลี่ยนอาหารที่รับประทาน
- การออกกำลังกาย
อาการของภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ภาวะดื้อต่ออินซูลินและภาวะก่อนเป็นเบาหวานมักจะไม่มีอาการ ซึ่งอาจเป็นเพียง 1 ภาวะ หรือทั้ง 2 ภาวะร่วมกันโดยไม่มีอาการหลายๆ ปีเลยก็ได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการ แต่แพทย์สามารถบอกได้ว่าคนๆ นั้นเป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงได้ โดยการหาปัจจัยเสี่ยงที่คนๆ นั้นมี
คนที่มีอาการของภาวะดื้อต่ออินซูลินที่รุนแรงอาจมีผิวหนังลักษณะหนา สีดำคล้ำ โดยมักจะเจอที่ด้านหลังของลำคอ โดยผิวหนังสีดำคล้ำนี้จะปรากฏที่อื่นได้ด้วย ได้แก่ ข้อศอก เข่า ข้อนิ้วมือ รักแร้ ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า "acanthosis nigricans"
ใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจหาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
แนะนำให้ตรวจในผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน ร่วมกับมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานอย่างน้อย 1 ปัจจัย การจะระบุว่ามีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนนั้นจะพิจารณาค่าจากดัชนีมวลกาย หรือ Body Mass Index (BMI) อย่างไรตามคนที่มีน้ำหนักเกินไม่จำเป็นต้องเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ทุกราย สำหรับคนที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงจะเริ่มตรวจหาภาวะก่อนเป็นเบาหวานที่อายุ 45 ปี
ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน นอกเหนือจากน้ำหนักเกิน หรืออ้วน หรืออายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป มีดังนี้
- ไม่ค่อยออกกำลังกาย
- มีพ่อแม่ หรือพี่น้องเป็นโรคเบาหวาน
- คลอดลูกที่มีน้ำหนักเกินกว่า 9 ปอนด์ (ประมาณ 4.08 กิโลกรัม)
- เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (เบาหวานที่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงตั้งครรภ์)
- มีความดันโลหิตสูง ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอท (mmHg) ขึ้นไป หรือกำลังได้รับการรักษาโรคความดันโลหิตสูงอยู่
- มีค่าไขมันดี (HDL cholesterol) น้อยกว่า 35 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือมีไขมันไตรกลีเซอไรด์ สูงมากกว่า 250 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- มีโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (polycystic ovary syndrome (PCOS))
- การตรวจครั้งก่อนหน้าพบว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หรือตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแล้วพบว่าสูงผิดปกติ แต่ยังไม่ถึงขั้นเป็นโรคเบาหวาน
- มีภาวะอื่นๆ ที่สัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน เช่น อ้วน หรือ มีผิวหนังดำคล้ำ (acanthosis nigricans)
- มีโรคระบบหัวใจหลอดเลือด
หากผลการตรวจคัดกรองนี้เป็นปกติ แนะนำให้ตรวจซ้ำอย่างน้อยทุกๆ 3 ปี เพื่อให้เกิดการวินิจฉัยที่รวดเร็ว หากรู้ว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวานตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้คนนั้นสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันการเป็นโรคเบาหวนชนิดที่ 2 หรือโรคหัวใจหลอดเลือดได้ แพทย์อาจพิจาณาให้คุณมาตรวจซ้ำที่บ่อยกว่าคนอื่นได้ ซึ่งขึ้นกับผลการตรวจในครั้งนี้และปัจจัยเสี่ยงที่คุณมี
นอกเหนือไปจากน้ำหนักตัวแล้ว บริเวณที่มีการสะสมไขมันส่วนเกินก็มีความสำคัญ โดยพบว่าผู้ชายที่มีรอบเอวตั้งแต่ 40 นิ้วขึ้นไป หรือผู้หญิงที่มีรอบเอว 35 นิ้วขึ้นไปมีความสัมพันธ์กับภาวะดื้อต่ออินซูลิน และเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ด้วย แม้ว่าค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ของคนๆ นั้นจะอยู่ในค่าปกติก็ตาม
วิธีในการวัดรอบเอว
ในการวัดรอบเอว จะต้องปฏิบัติดังนี้
- นำสายวัดทาบที่หน้าท้องบริเวณสะดือ (เหนือกระดูกสะโพก)
- เลือกสายวัดที่มีความยาวเพียงพอ ไม่รัดแน่น
- ผ่อนคลาย หายใจออก และทำการวัดรอบเอว
ค่าดัชดีมวลกาย (BMI)
สามารถคำนวณค่าดัชนีมวลกาย หรือ BMI สำหรับคนไทยได้จากเว็บไซต์นี้ https://hd.co.th/bmi-body-mass-index-calculator
ถ้าคุณคำนวณค่า BMI แล้วแปลผลได้ว่ามีน้ำหนักเกิน หรืออ้วน แนะนำให้ปฏิบัติตนดังนี้เพื่อให้มีรูปร่างที่ดี
- ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ จำกัดอาหารที่มีไขมัน และลดปริมาณอาหารจากเดิมที่เคยรับประทาน
- เพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 30 นาทีอย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์
- ตั้งเป้าหมายในการลดน้ำหนัก เช่น ลดครึ่งกิโลกรัมต่อ 1 สัปดาห์ สำหรับเป้าหมายระยะยาวของการลดน้ำหนัก คือลดให้ได้ 5-7% ของน้ำหนักตัวเริ่มต้น
กรณีที่ต้องการหาว่าเป้าหมายในการลดน้ำหนักที่ 5% คือเท่าไร ให้นำน้ำหนักปัจจุบันของคุณคูณด้วย 0.05 หรือถ้า 7% ให้คูณด้วย 0.07 ก็จะได้เป็นน้ำหนักที่ต้องลดลงให้ได้จากน้ำหนักเริ่มต้น
กลุ่มอาการเมตาบอลิก หรือ อ้วนลงพุง (metabolic syndrome) คืออะไร
กลุ่มอาการเมตาบอลิก หรือ กลุ่มอาการอ้วนลงพุง อาจเรียกอีกอย่างว่า "กลุ่มอาการดื้อต่ออินซูลิน" คือ กลุ่มอาการที่มีความสัมพันธ์กับภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน ซึ่งทำให้คนๆ นั้นมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคเบาหวานชนิดที่ 2
การจะวินิจฉัยว่าเป็นโรคกลุ่มอาการเมตาบอลิก หรืออ้วนลงพุงได้เมื่อมีอย่างน้อย 3 ข้อจากเกณฑ์ต่อไปนี้
- เส้นรอบเอวใหญ่: หมายถึงเมื่อวัดเส้นรอบเอวแล้วมีความยาวตั้งแต่ 40 นิ้วขึ้นไปในผู้ชาย และ 35 นิ้วขึ้นไปในผู้หญิง
- มีระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง: หมายถึง ระดับไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ที่สูงตั้งแต่ 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ขึ้นไป หรือกำลังได้รับยาลดระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่
- มีระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือดผิดปกติ: หมายถึง มีไขมันดี หรือเอชดีแอล คอเลสเตอรอล (HDL cholesterol) ต่ำกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย หรือต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง หรือกำลังได้รับยารักษาภาวะเอชดีแอลต่ำอยู่
- ความดันโลหิตสูง: หมายถึง มีความดันโลหิตสูงตั้งแต่ 130/85 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป หรือกำลังได้รับยารักษาความดันโลหิตสูงอยู่
- มีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ: เมื่อวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting blood glucose level) สูงตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป หรือกำลังได้รับยาสำหรับภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่
นอกเหนือไปจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แล้ว กลุ่มอาการเมตาบอลิกยังมีความสัมพันธ์กับโรคอื่นๆ ด้วย ได้แก่
- ภาวะอ้วน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- โรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (PCOS)
- โรคไขมันพอกตับที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มแอลกอฮอล์ (nonalcoholic fatty liver disease)
- โรคไตเรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่มีโรคต่างๆ เหล่านี้จะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน และบางคนอาจมีภาวะดื้อต่ออินซูลินโดยไม่มีโรคดังกล่าวนี้ก็ได้
คนที่อ้วน หรือมีกลุ่มอาการเมตาบอลิก มีภาวะดื้อต่ออินซูลิน เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หรือมีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน จะมีการอักเสบระดับต่ำเกิดขึ้นในร่างกาย และยังมีปัญหาเรื่องการแข็งตัวของเลือด ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดลิ่มเลือดอุดตันในเส้นเลือดด้วย ซึ่งกรณีนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
การวินิจฉัยภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
แพทย์จะสั่งเจาะเลือดเพื่อนำเลือดไปตรวจหาภาวะก่อนเป็นเบาหวาน แต่ว่าไม่มีการทดสอบใดที่เฉพาะเจาะจงกับภาวะดื้อต่ออินซูลิน ภาวะดื้อต่ออินซูลินสามารถประเมินได้จากการวัดระดับอินซูลินในเลือด
การเจาะเลือดที่โรงพยาบาล คลินิก หรือการตรวจสุขภาพนอกสถานที่ จะถูกนำไปตรวจในห้องปฏิบัติการเพื่อความแม่นยำของผลการตรวจ อุปกรณ์ในการวัดระดับน้ำตาลในเลือดที่ปลายนิ้วมือจะไม่แม่นยำพอที่จะวินิจฉัยโรคเบาหวาน แต่เป็นเครื่องมือในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดที่รวดเร็ว และช่วยบอกในเบื้องต้นเท่านั้นว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูงหรือไม่ ภาวะก่อนเป็นเบาหวานสามารถตรวจได้จากการตรวจเลือดดัง 3 วิธีต่อไปนี้
1. การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C test)
บางครั้งอาจเรียกว่าฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbA1C) ต่อจากนี้ขอเรียกง่ายๆ ว่าระดับน้ำตาลสะสม เพราะค่านี้ คือค่าระดับน้ำตาลที่สะสมในเลือดตลอดช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา การตรวจหาค่าระดับน้ำตาลสะสมนี้เป็นการตรวจที่น่าเชื่อถือสำหรับวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวาน และมีความไวในการตรวจต่ำเมื่อเทียบกับการตรวจอื่นๆ
การตรวจหาค่าระดับน้ำตาลสะสมอาจไม่มีความน่าเชื่อถือเพียงพอในการวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หากคนนั้นมีภาวะบางอย่างที่รบกวนผลการตรวจ หากผลการตรวจพบความผิดปกติ เช่น ค่าน้ำตาลสะสมมีความแตกต่างค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมากๆ กรณีเช่นนี้ต้องสงสัยว่าผลการตรวจนี้เชื่อถือไม่ได้ เพราะถูกรบกวนจากอะไรบางอย่าง เช่น คนที่มีโลหิตจางแบบซิกเคิลเซลล์ (sickle cell anemia) หรือโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพราะคนที่มีโรคเหล่านี้จะมีฮีโมโกลบินผิดปกติ ส่งผลรบกวนผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสม หรือ ฮีโมโกลบิน เอวันซี (HbA1C) ได้
ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) ตั้งแต่ 5.7-6.4% จะถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
2. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting plasma glucose test)
การตรวจนี้เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดในผู้ที่อดอาหารมาอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ซึ่งผลการตรวจจะแม่นยำมากเมื่อทำการทดสอบในตอนเช้าหลังอดอาหารมาตลอดคืน จะถูกวินิจฉัยว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวานเมื่อตรวจพบระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าค่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวาน
ระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร (fasting glucose) ตั้งแต่ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
3. การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส
คือการทดสอบในคนที่อดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง โดยจะให้ดื่มน้ำหวานที่แพทย์เตรียมไว้ให้เฉพาะสำหรับตรวจ หลังจากดื่มไปแล้ว 2 ชั่วโมง จะทำการวัดระดับน้ำตาลในเลือด เป็นวิธีการวินิจฉัยที่ทำให้ตรวจพบโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ดีกว่าการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร แต่จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า
ระดับน้ำตาลในเลือดที่วัดได้ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรจากการทดสอบนี้ จะถือว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลการตรวจ
ผลการตรวจเลือดที่บ่งชี้ว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หมายถึง ร่างกายมีภาวะดื้อต่ออินซูลินเป็นระยะเวลานานพอที่เบต้าเซลล์ของตับอ่อนไม่สามารถสร้างอินซูลินได้เพียงพอต่อความต้องการอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง และอาจพัฒนาเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้ ยิ่งผลการตรวจระดับน้ำตาลสูงเท่าใร ก็ยิ่งเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เท่านั้น ความเสี่ยงของการเกิดโรคจะขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงที่คนๆ นั้นมี
ผลการตรวจอธิบายอะไร
คนที่มีค่าน้ำตาลสะสมน้อยกว่า 5.7% แต่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคเบาหวานหรือมีน้ำหนักมาก เส้นรอบเอวใหญ่ อาจยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวาน แต่ถ้ามีระดับน้ำตาลสะสมมากกว่า 6.0% จะถือว่ามีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคเบาหวาน และถ้ามีค่าน้ำตาลสะสมตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป หมายถึงเป็นโรคเบาหวานแล้ว
การตรวจติดตาม
หากผลการตรวจพบว่ามีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน จะต้องมีการตรวจซ้ำในอีก 1 ปี และในระหว่างนี้จะต้องพิจารณาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
ผลการตรวจอาจแตกต่างกันตามวิธีทดสอบ
ถึงแม้ว่าการตรวจทั้งหมดที่กล่าวมาจะใช้สำหรับการวินิจฉัยภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หรือเบาหวาน แต่บางคนอาจพบว่ามีเพียงการทดสอบวิธีเดียวที่ให้ผลว่าเป็นโรคเบาหวาน หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ในขณะที่การทดสอบอื่นๆ ไม่ได้ให้ผลเช่นนั้นก็ได้ ซึ่งผลการตรวจที่แตกต่างกันนี้อาจมาจากการเป็นโรคในระยะเริ่มต้น จึงทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่สูงมากพอที่จะแสดงผลให้เห็นในทุกวิธีการทดสอบ
หากผลการตรวจสำหรับแต่ละวิธีไม่สอดคล้องกัน แพทย์จะพิจารณาให้คุณตรวจซ้ำเมื่อเวลาผ่านไปช่วงหนึ่ง และหากผลการทดสอบทุกวิธีแสดงผลว่ามีระดับน้ำตาลสูงเหมือนกัน แพทย์จึงจะยืนยันว่าคุณมีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน หรือโรคเบาหวานแล้ว
การช่วยให้หายจากภาวะดื้อต่ออินซูลิน หรือภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
เราสามารถเปลี่ยนภาวะดื้อต่ออินซูลิน และภาวะก่อนเป็นเบาหวานให้หายไปได้ โดยมีคำแนะนำในการลดความเสี่ยงมีดังนี้
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และควบคุมพลังงานจากอาหารที่รับประทาน
การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพจะช่วยลดน้ำหนัก และช่วยเปลี่ยนภาวะดื้อต่ออินซูลินให้หายเป็นปกติได้ แนะนำว่าควรค่อยๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหาร เพื่อให้สามารถปฏิบัติได้ในระยะยาว ดีกว่าการมุ่งเน้นการลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วเกินไป ในบางคนอาจจำเป็นต้องได้รับคำแนะนำเพิ่มเติมจากนักโภชนาการหรือเข้าโปรแกรมลดน้ำหนักเพื่อให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นไปได้ง่ายขึ้น
โดยทั่วไป ควรลดน้ำหนักโดยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคุมปริมาณอาหารที่รับประทาน จำกัดปริมาณไขมันที่รับประทาน และเพิ่มการเคลื่อนไหวร่างกาย การออกกำลังกาย ซึ่งการลดน้ำหนักจะได้ผลดีและทำได้อย่างต่อเนื่องถ้ามีการดัดแปลงอาหารที่ชอบเข้าไปสูตรอาหารเพื่อสุขภาพประจำวัน
อาหารแดช หรือ DASH ย่อมาจาก Dietary Approaches to Stop Hypertension เป็นอาหารเพื่อควบคุมความดันโลหิตสูงโดยส่วนประกอบของอาหารแดชคือ มีไขมันและเกลือโซเดียมต่ำ และเน้นโปรตีนสูง เช่น ข้าวซ้อมมือ ธัญพืชไม่ขัดสี นมไขมันต่ำ ผักใบเขียว และหลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูงและของหวาน
อาหารแดชมีประสิทธิภาพในการลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน เมื่อร่วมกับการลดน้ำหนักและการออกกำลังกาย นอกจากนี้ควรคำนวณพลังงานที่ได้จากอาหารต่อวันไม่ให้เกินพลังงานที่ร่างกายต้องการ (โดยปกติผู้ชายต้องการพลังงานเฉลี่ย 2,500 กิโลแคลอรี่ และผู้หญิงต้องการพลังงานเฉลี่ย 2,000 กิโลแคลอรี่)
การมีระดับวิตามินดีในร่างกายที่เพียงพอมีความสัมพันธ์กับการระดับน้ำตาลในเลือดที่เป็นปกติ แต่่ยังไม่มีคำแนะนำที่จำเพาะสำหรับการรับประทานวิตามินดีในผู้ที่เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีคำแนะนำเกี่ยวกับการรับประทานวิตามินดีตามข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ
- ผู้ที่มีอายุ 1-70 ปี อาจต้องการวิตามินดี 600 ยูนิตต่อวัน
- ผู้ที่มีอายุ 71 ปีขึ้นไป อาจต้องการวิตามินดีมากขึ้นเป็น 800 ยูนิตต่อวัน
ไม่แนะนำปริมาณวิตามินดีที่มากเกิน 4,000 ยูนิตต่อวัน
เพื่อให้มั่นใจว่าการดูแลสุขภาพของคุณจะมีความปลอดภัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารเสริม หรือการรักษาทางเลือกใดๆ ก็ตาม
2. การออกกำลังกาย
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะช่วยลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของการเกิดโรค และช่วยให้ร่างกายสามารถนำอินซูลินไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอมีประโยชน์ดังนี้
- ช่วยลดน้ำหนัก
- ควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
- ควบคุมความดันโลหิต
- ควบคุมระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอนาน 30 นาทีต่อวัน อย่างน้อย 5 วันต่อสัปดาห์ เช่น การเดินเร็ว จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2
คนส่วนมากควรออกกำลังกายให้ได้ตามเป้าหมายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน ให้มีจำนวนวันมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยแนะนำให้ออกกำลังกายทั้งแอโรบิกซึ่งมีประโยชน์ในการทำให้หัวใจมีความแข็งแรงมากขึ้น และการออกกำลังแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ
การออกกำลังกายแบบแอโรบิก เช่น การเดินเร็ว ว่ายน้ำ การเต้น และกิจกรรมอื่นๆ ที่เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ
การออกกำลังกายแบบเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เช่น ยกน้ำหนัก เล่นเวท ซิทอัพ เป็นต้น
หากคุณไม่เคยออกกำลังกายมาก่อนเลย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อแนะนำว่าโปรแกรมการออกกำลังกายแบบใดที่เหมาะสมกับคุณ และควรมีการตรวจร่างกายก่อนเริ่มการออกกำลังกายด้วย เพื่อความปลอดภัยที่สุด
3. ไม่สูบบุหรี่
หากคุณเป็นผู้ที่สูบบุหรี่อยู่ และนำให้เลิกสูบ แพทย์และเภสัชกรสามารถให้คำแนะนำในการเลิกบุหรี่ได้ ซึ่งจะช่วยให้การเลิกบุหรี่ประสบความสำเร็จมากกว่าการเลิกด้วยตนเอง
การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ไม่เพียงแต่ช่วยผู้ป่วยในกลุ่มของโรคเบาหวานเท่านั้น แต่เป็นการดูแลรักษาสุขภาพของคนทุกเพศและทุกวัยให้แข็งแรง ชะลอการเกิดโรคภัยและทำให้ร่างกายมีภูมิต้านทาน รวมถึงระบบการทำงานส่วนต่างๆ จะได้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ดังนั้นไม่ว่าคุณจะเป็นโรคเบาหวานหรือไม่ หรือเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดอาการร้ายแรงอะไร การออกกำลังกาย และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพยังคงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณควรปฏิบัติอย่างเป็นประจำในชีวิตประจำวัน