คำนวณค่า BMI ดัชนีมวลกาย
ค่า BMI คือค่าดัชนีที่ใช้ชี้วัดความสมดุลของน้ำหนักตัว (กิโลกรัม) และส่วนสูง (เซนติเมตร) ซึ่งสามารถระบุได้ว่า ตอนนี้รูปร่างของคนคนนั้นอยู่ในระดับใด ตั้งแต่อ้วนมากไปจนถึงผอมเกินไป
Body Mass Index (BMI) มีสูตรการคำนวณ = น้ำหนักตัว[Kg] / (ส่วนสูง[m] ยกกำลังสอง) สูตรคำนวณเหมาะสำหรับใช้ประเมินผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ประโยชน์ของการวัดค่า BMI เพื่อดูอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตรวจสอบภาวะไขมันและความอ้วน ดังนั้นการทำให้ร่างกายอยู่ในเกณฑ์ปกติจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งกับผู้ที่ต้องการรักษาสุขภาพในระยะยาว
อ้วนมาก (30.0 ขึ้นไป)
ค่อนข้างอันตราย เพราะเข้าเกณฑ์อ้วนมาก เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงที่แฝงมากับความอ้วน หากค่า BMI อยู่ในระดับนี้ จะต้องระวังการรับประทานไขมัน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหากเลขยิ่งสูงกว่า 40.0 ยิ่งแสดงถึงความอ้วนที่มากขึ้น
อ้วน (25.0 - 29.9)
คุณอ้วนในระดับหนึ่ง ถึงแม้จะไม่ถึงเกณฑ์ที่ถือว่าอ้วนมาก ๆ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่มากับความอ้วนได้เช่นกัน ทั้งโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง
น้ำหนักเกิน (23.0 - 24.9)
พยายามอีกนิดเพื่อลดน้ำหนักให้เข้าสู่ค่ามาตรฐาน เพราะค่า BMI ในช่วงนี้ยังถือว่าเป็นกลุ่มผู้ที่มีความอ้วนอยู่บ้าง แม้จะไม่ถือว่าอ้วน แต่หากประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ก็ถือว่ายังมีความเสี่ยงมากกว่าคนปกติ
น้ำหนักปกติ เหมาะสม (18.6 - 22.9)
น้ำหนักที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือค่า BMI ระหว่าง 18.5-22.9 จัดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ห่างไกลโรคที่เกิดจากความอ้วน และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ น้อยที่สุด ควรพยายามรักษาระดับค่า BMI ให้อยู่ในระดับนี้ให้นานที่สุด
ผอมเกินไป (น้อยกว่า 18.5)
น้ำหนักน้อยกว่าปกติก็ไม่ค่อยดี หากคุณสูงมากแต่น้ำหนักน้อยเกินไป อาจเสี่ยงต่อการได้รับสารอาหารไม่เพียงพอหรือได้รับพลังงานไม่เพียงพอ ส่งผลให้ร่างกายอ่อนเพลียง่าย การรับประทานอาหารให้เพียงพอและออกกำลังกายแบบเวทเทรนนิ่งเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อ สามารถช่วยเพิ่มค่า BMI ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติได้
วิธีและสูตรคำนวณ BMI
สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบเมตริกซ์ (Metric BMI Formula): น้ำหนัก (กิโลกรัม) / [ส่วนสูง (เมตร)]2
ตัวอย่าง: น้ำหนัก = 68 กิโลกรัม, ส่วนสูง = 165 เซนติเมตร (เท่ากับ 1.65 เมตร) วิธีคิด: 68 / (1.65)2 = 24.98
สูตรคำนวณดัชนีมวลกายแบบอังกฤษ (English BMI Formula): น้ำหนัก (ปอนด์) / [ส่วนสูง (นิ้ว)]2 x 703
ตัวอย่าง: ถ้าคุณมีน้ำหนัก 150 ปอนด์ และสูง 5 ฟุต 5 นิ้ว(เท่ากับ 65 นิ้ว) วิธีคิด: [150 / (65)2] x 703 = 24.96
BMI (ค่าดัชนีมวลกาย) คืออะไร
ดัชนีมวลกาย หรือ BMI มาจากคำเต็มว่า Body Mass Index เป็นค่าสากลที่ใช้เพื่อคำนวณเพื่อหาน้ำหนักตัวที่ควรจะเป็น และประมาณระดับไขมันในร่างกายโดยใช้น้ำหนักและส่วนสูง การคำนวณดัชนีมวลกายไม่ใช่การวัดโดยตรงแต่ก็เป็นตัวชี้วัดไขมันในร่างกายที่ค่อนข้างเชื่อถือได้สำหรับคนส่วนใหญ่
ค่า BMI สามารถใช้บ่งบอกความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือด ระบบหัวใจ รวมไปถึงมะเร็งบางชนิด ในปัจจุบันการวัดค่า BMI โดยรวมของประชาชนในประเทศเป็นตัวบ่งบอกสุขภาพทางโภชนาการที่ประชาชนได้รับตั้งแต่เด็กจนถึงโต
อย่างไรก็ตาม ค่า BMI ไม่สามารถบอกน้ำหนักตัวตามเกณฑ์หรือปริมาณไขมันหรือได้อย่างแม่นยำ เนื่องจากคุณจำเป็นต้องนำปัจจัยอื่นๆ มาประกอบด้วย ทั้งเรื่องของพันธุกรรม พฤติกรรมการกิน การใช้ชีวิต การออกกำลังกาย และอื่นๆ แต่งานวิจัยพบว่าการหาดัชนีมวลกายนี้มีความสัมพันธ์อย่างมากกับวิธีการวัดปริมาณไขมันในร่างกายโดยตรงวิธีอื่นที่ซับซ้อนกว่า เช่น การหาน้ำหนักใต้น้ำ (underwater weighing) เนื่องจากดัชนีมวลกายมีวิธีคำนวณที่ง่าย ทำให้ใครๆ ก็สามารถประเมินความเสี่ยงจากการมีปริมาณไขมันในร่างกายเกินได้
ข้อจำกัดของการใช้ดัชนีมวลกายในการวัดปริมาณไขมันในร่างกาย
แม้ว่าดัชนีมวลกายจะสัมพันธ์กับการวัดไขมันในร่างกายค่อนข้างมาก แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง โดยขึ้นอยู่กับเพศ อายุ และความสามารถทางกีฬา ข้อจำกัดเหล่านี้ได้แก่
- ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าผู้ชาย
- คนที่อายุมากกว่ามีแนวโน้มที่จะมีปริมาณไขมันในร่างกายมากกว่าคนที่อายุน้อยกว่า
- นักกีฬาที่ฝึกฝนมาอย่างดีจะมีดัชนีมวลกายสูงเนื่องจากมีมวลกล้ามเนื้อมากกว่า ทำให้น้ำหนักตัวที่มากนั้นมาจากมวลกล้ามเนื้อ ไม่ใช่ไขมัน องค์ประกอบของร่างกาย ไขมันในร่างกาย และดัชนีมวลกาย
นักกีฬาที่มีมวลกล้ามเนื้อมากจำเป็นจะต้องปรับวิธีการคำนวณดัชนีมวลกาย เพราะว่าค่าดัชนีมวลกายไม่สามารถแยกแยะสัดส่วนองค์ประกอบต่างๆ ของร่างกายที่รวมกันเป็นน้ำหนักตัวทั้งหมดได้ ดังนั้นนักกีฬาจึงใช้วิธีการวัดองค์ประกอบของร่างกายและปริมาณไขมันในร่างกายโดยตรงจะแม่นยำกว่า
ความเสี่ยงของสุขภาพจากการมีดัชนีมวลกายสูง
เหตุผลที่ใช้ดัชนีมวลกายในการคัดกรองสุขภาพของประชากรทั่วไปเนื่องจากการมีน้ำหนักเกินหรืออ้วนนั้นมีความสัมพันธ์อย่างมากกับปัญหาสุขภาพ การเกิดโรคเรื้อรัง และการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ผู้ที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนจะเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่อไปนี้เพิ่มขึ้น
- ความดันโลหิตสูง
- เบาหวานชนิดที่ 2
- โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรือตัน
- โรคหลอดเลือดสมอง
- ข้อเสื่อม
- มะเร็งบางชนิด
- หยุดหายใจขณะหลับหรือมีปัญหาทางเดินหายใจ
วิธีการเพิ่มหรือลดค่า BMI
ค่า BMI จะแปรผันตามน้ำหนักตัว หากน้ำหนักตัวเพิ่มก็จะทำให้ค่า BMI เพิ่มขึ้น ถ้าน้ำหนักตัวลดก็จะทำให้ค่า BMI ลดลงเช่นเดียวกัน
หากได้ค่า BMI น้อยกว่า 18.5 นั่นหมายถึงมีน้ำหนักน้อยจนเกินไป ต้องเพิ่มน้ำหนักด้วยการรับประทานอาหารให้มากขึ้น โดยเน้นให้มีสารอาหารและปริมาณให้มากเกินพอ รวมทั้งรับประทานอาหารประเภทไขมันและน้ำตาลให้มากขึ้น
หากได้ค่า BMI มากกว่า 35 ขึ้นไป นั่นหมายถึงมีน้ำหนักมากเกินไปสำหรับส่วนสูง การลดน้ำหนักสำหรับคนอ้วน คือต้องออกกำลังกายเพื่อเผาผลาญไขมันอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งต้องจำกัดอาหารให้มีแคลอรีต่ำควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้การคัดเลือกเข้ารับการเกณฑ์ทหารยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายอย่าง อาจขึ้นอยู่กับดุลพินิจและความต้องการในพื้นที่ที่คัดเลือกด้วย อย่างเช่น ถ้าในเขตนั้นมีคนสมัครเต็ม ความต้องการทหารเกณฑ์ก็จะน้อยลง ผู้ที่มีค่า BMI เกิน 35 ก็จะถูกคัดออก แต่หากความต้องการทหารในพื้นที่นั้นมีมากและโรคอ้วนไม่เป็นอุปสรรคในขณะฝึก ก็อาจได้รับการเข้าคัดเลือกเพื่อเสี่ยงจับใบดำใบแดงอีกด้วย
BMI บ่งชี้โรคได้จริงหรือ ?
- โรคอ้วน ภาวะที่ร่างกายสะสมไขมันมากเกินไป ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ บางคนกล่าวว่าภาวะน้ำหนักเกิน มีความรุนแรงน้อยกว่า แต่ในทางการแพทย์ทั้งสองสภาวะถือว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคด้วยกันทั้งคู่ ซึ่งนอกจากเราจะดูว่าร่างกายของเรานั้นก้าวเขาสู่ภาวะ “อ้วน” จากการสังเกตเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ได้แล้ว BMI ก็เป็นอีกตัวบ่งชี้หนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน จัดเป็นเครื่องมือวัดปริมาณไขมันในร่างกายชิ้นหนึ่งที่น่าเชื่อถือทีเดียว
- โรคหัวใจและหลอดเลือด สืบเนื่องจากการเป็นโรคอ้วน ภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนล้วนเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งสิ้น เนื่องจากไขมันที่สะสมในร่างกายในปริมาณที่มากเกินไปนั้นอุดตันในเส้นเลือด หรือหากจะกล่าวให้เห็นภาพก็คือไขมันที่สะสมนั้นไปเกาะอยู่บนผนังของหลอดเลือดนั่นเอง หลอดเลือดแดงจึงตีบและมีขนาดแคบลง ส่งผลให้เลือดเดินทางผ่านได้น้อยจนเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และกล้ามเนื้อหัวใจอาจตายได้ในที่สุด
- โรคเบาหวาน ระดับไขมันในเลือดที่สูงนั้น จะทำให้ผนังหลอดเลือดหนาขึ้น หลอดเลือดแดงตีบแคบลงและเลือดไหลเวียนน้อยลงไปด้วย มีลักษณะคล้ายคลึงกันกับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั่นเอง
- โรคกระดูกพรุน BMI อาจไม่ได้บ่งชัดถึงโรคกระดูกพรุนโดยตรง แต่น้ำหนักและส่วนสูงของคุณสามารถบอกถึงความเสี่ยงได้ กล่าวคือคุณอาจมีน้ำหนักตัวมากเกินจนทำให้กระดูกหักในอนาคตได้
ข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโรคเท่านั้น และค่า BMI นี้ก็เป็นเพียงเครื่องมือวัดแบบคร่าว ๆ เบื้องต้นเช่นกัน เพราะบางคนมีค่า BMI อยู่ในเกณฑ์ตามปกติ แต่เขาอาจมีปริมาณไขมันสะสมซึ่งนำไปสู่แนวโน้มโรคอ้วนก็ได้เหมือนกัน ดังนั้น การวัดค่าแบบ BMI อาจไม่สามารถวินิจฉัยโรคของคนไข้ได้เพียงอย่างเดียว เราอาจต้องดูปัจจัยเรื่องอายุ เพศ เชื้อชาติ และพันธุกรรมควบคู่ไปพร้อมๆ กับการปรึกษาแพทย์ด้วย ทั้งนี้ทั้งนั้น อย่าลืมว่า BMI เป็นค่าวัดที่ช่วยบ่งชี้ว่าร่างกายและน้ำหนักของคุณอยู่ในเกณฑ์ไหน
สิ่งสำคัญคือ เมื่อคุณรู้ว่าตนอยู่ในเกณฑ์ใดแล้ว คุณควรเรียนรู้ที่จะควบคุมวินัยการรับประทานอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคุณ ลองหันมารักษาสุขภาพด้วยการออกกำลังกายสัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง ควบคุมปริมาณอาหารอย่างเหมาะสม จำกัดอาหารหวานและปริมาณแป้งที่บริโภคเข้าไป และจงอย่าหลงผิดหาทางลัดในการลดน้ำหนักโดยใช้สารเคมีหรือกินยา เนื่องจากอาจส่งผลเสียในระยะยาวได้
BMI คนไทย
คนไทยมากกว่า 30% น้ำหนักเกินมาตรฐาน และมีจำนวนมากถึง 10% ที่ค่า BMI ระบุว่าอ้วน ที่น่ากังวลคือแนวโน้มว่ามีเด็กอนุบาลและเด็กปฐมวัยที่มีภาวะอ้วนมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ดี น้ำหวานและไขมันที่มากเกินไป ดังนั้นหากจะทำให้คนไทยมีค่า BMI ในเกณฑ์มาตรฐาน จึงต้องใช้ความร่วมมือจากหลายฝ่าย
การคำนวนค่าดัชนีมวลกายในเด็ก
ค่าดัชนีมวลกายหรือค่า BMI ในเด็กจะขึ้นอยู่กับอายุและเพศด้วย จึงมักเรียกว่า ค่าดัชนีมวลกายต่ออายุ (BMI-for-age) โดยจะแสดงว่าลูกของคุณมีการเจริญเติบโตอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆ ที่มีอายุเท่ากัน
หลังจากคิดค่า BMI ของเด็กแล้ว จะเปรียบเทียบควบคู่ไปกับตารางการเจริญเติบโต (growth chart) ซึ่งเป็นกราฟที่รวบรวมค่า BMI ของเด็กในแต่ละปีตามอายุและเพศ
- หากลูกของคุณน้ำหนักมากกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 95 หรือมากกว่าแปลว่าลูกของคุณอยู่ในภาวะอ้วน
- หากลูกของคุณน้ำหนักอยู่ระหว่างเปอร์เซนไทล์ที่ 85 และ 95 แปลว่าน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์
- หากลูกของคุณน้ำหนักอยู่ระหว่างเปอร์เซนไทล์ที่ 5 และ 85 แปลว่าน้ำหนักที่เหมาะสม
- หากลูกของคุณน้ำหนักน้อยกว่าเปอร์เซนไทล์ที่ 5 หรือมากกว่าแปลว่าน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์
ทำไมการวัดค่า BMI ในเด็กจึงต่างกับผู้ใหญ่?
- เด็กยังอยู่ในช่วงที่มีการเจริญเติบโต ซึ่งเด็กชายและเด็กหญิงมีอัตราการเจริญเติบโตที่แตกต่างกัน
- เด็กมีการเปลี่ยนแปลงปริมาณของไขมันในร่างกายตามช่วงอายุ ดังนั้นช่วงน้ำหนักที่เหมาะสมจึงมีการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเดือน ซึ่งจะเปลี่ยนแปลงเมื่อมีความสูงเพิ่มขึ้น แต่ผู้ใหญ่มักจะไม่ได้มีความสูงเพิ่มขึ้น ฉะนั้นหากน้ำหนักของเด็กเข้าข่ายมากกว่าเกณฑ์ แต่ปีต่อมาสูงขึ้นมากและมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ค่าดัชนีมวลกายก็อาจอยู่ในเกณฑ์น้ำหนักปกติได้
ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคและวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาแนะนำให้ใช้ค่าดัชนีมวลกายในการคัดกรองภาวะน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์และอ้วนในเด็กและวัยรุ่นอายุตั้งแต่ 2-20 ปี ซึ่งจะทำให้พ่อแม่ติดตามความเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักและให้คำแนะนำในเรื่องการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายตามต้องการได้
วิธีอื่นๆ ในการวัดระดับไขมัน
มีหลากหลายวิธีในการประเมินเปอร์เซ็นต์ของไขมันและกล้ามเนื้อในร่างกาย นอกเหนือจากการคำนวณดัชนีมวลกาย อย่างไรก็ตามแต่ละวิธีจำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษและการฝึกอบรม ซึ่งวิธีคำนวณเหล่านี้เป็นการวิเคราะห์องค์ประกอบของร่างกาย (Body Composition Analysis) เช่น
- การวัดความหนาของชั้นผิวหนัง (skinfold thickness) ด้วยเครื่องวัดเส้นผ่านศูนย์กลาง (Calipers) ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมใช้กันมาก
- การชั่งน้ำหนักใต้น้ำ (underwater weighing) หรือไฮโดรเดนซิโตเมตทรี (hydrodensitometry) ซึ่งยุ่งยากและซับซ้อน จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมนัก
- การวัดองค์ประกอบของร่างกายด้วยกระแสไฟฟ้า (bioelectrical impedance) หรือ (Bioelectrical Impedance Analysis: BIA) เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้บ่อยเพื่อประเมินปริมาณไขมันในร่างกาย วิธีนี้จะบอกน้ำหนักทั้งหมด สัดส่วนและปริมาณไขมัน มวลกล้ามเนื้อ ปริมาณน้ำ และมวลกระดูก โดยการประมวลผลอาจคลาดเคลื่อนได้จากปริมาณน้ำในร่างกายและปัจจัยอื่นๆ แต่จะแม่นยำมากขึ้นเมื่อวัดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง และเครื่องวัดไขมันในร่างกายที่ใช้กันตามบ้านก็ใช้วิธีนี้ในการวัด ซึ่งเป็นวิธีการวัดองค์ประกอบของร่างกายจากความต้านทานไฟฟ้า โดยใช้กระแสไฟฟ้าระดับต่ำ (น้อยกว่า 1 มิลลิแอมแปร์) ผ่านร่างกาย ด้วยความเร็วที่เหมาะสมและปลอดภัย สัญญาณไฟฟ้าจะไหลผ่านกล้ามเนื้อ ไขมัน และของเหลวในร่างกาย โดยที่ส่วนของกระดูก ไขมัน จะนำไฟฟ้าได้ไม่ดีและมีแรงต้านทานต่อการไหลของกระแสไฟฟ้าสูง ในขณะที่เลือด อวัยวะภายใน และกล้ามเนื้อจะนำไฟฟ้าได้ดีและมีแรงต้านทานต่ำ และใช้ข้อมูลอายุ เพศ น้ำหนัก ส่วนสูง ร่วมกับค่าความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ตรวจได้มาประเมินผลเป็นองค์ประกอบของร่างกาย
- Dual Energy X-ray Absorption (DEXA) คือการ X-Ray กระดูกโดยใช้เครื่องมือวัดความหนาแน่นกระดูกที่มีรังสี X-Ray ต่างกันสองระดับโดยมีซอฟต์แวร์ในการคำนวณความหนาแน่นของกระดูก
- การลดลงของไอโซโทป (Isotope dilution)
ค่า BMI กับการเกณฑ์ทหาร
จากกฎกระทรวงฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 41 และมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 2 โรคหรือสภาพร่างกายหรือสภาพจิตใจ ซึ่งไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามมาตรา 41 คือข้อ 8 (จ) ภาวะอ้วน (Obesity) ซึ่งมีดัชนีความหมายของร่างกาย (Body Mass Index) ตั้งแต่ 35 กิโลกรัมต่อตารางเมตรขึ้นไป
นั่นหมายความว่านอกจากเกณฑ์ที่ไม่สามารถเข้ารับราชการทหาร ซึ่งเจ็บป่วยด้วยโรคที่กำหนดโดยกฎของกระทรวงแล้ว โรคอ้วนยังถูกกำหนดให้ยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการทหาร หากคนนั้นมีค่า BMI มากกว่า 35 ขึ้นไปนั่นเอง โดยจะต้องได้รับการบริการจากโรงพยาบาลของทหาร และการนำหลักฐานใบรับรองแพทย์มายืนยันเพียงเท่านั้น
อ่านเพิ่มเติม
การเลือกกินอาหารดี ๆ ไม่ยากอีกต่อไป หากคุณอยากหาไอเดียเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหาร แนะนำให้อ่านเพิ่มเติมได้ที่
หากคุณอยากเริ่มที่การออกกำลังกาย เราแนะนำ
- รีวิว 11 สถานที่วิ่งใน กทม. ที่คนรักสุขภาพห้ามพลาด
- วิธีเผาผลาญแคลอรี่ให้มากขึ้นขณะวิ่ง
- วิธีการวัดและพัฒนาสมรรถภาพของหัวใจและปอด
ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพทั้งผู้หญิง และผู้ชายทุกวัย เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android