ระดับน้ำตาลสะสมเกี่ยวข้องอย่างไรกับโรคเบาหวาน
ระดับน้ำตาลสะสม คือระดับน้ำตาลเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน สามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน และติดตามการควบคุมโรคเบาหวานได้
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมคืออะไร
การตรวจระดับน้ำตาลสะสม (A1C) หรือ ฮีโมโกลบิน เอวันซี (Hemoglobin A1C: HbA1C) คือการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด เฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือน เป็นวิธีการตรวจหลักในการดูแลรักษาโรคเบาหวาน และเครื่องมือในงานวิจัยเกี่ยวกับโรคเบาหวาน
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
หลักการตรวจค่าระดับน้ำตาลสะสม
ค่าระดับน้ำตาลสะสม เป็นค่าที่บ่งบอกถึงน้ำตาลกลูโคสที่จับอยู่กับฮีโมโกลบิน
ฮีโมโกลบิน คือโปรตีนที่อยู่ในเซลล์เม็ดเลือดแดง ทำหน้าที่ขนส่งออกซิเจนไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยเซลล์เม็ดเลือดแดงจะมีการสร้างและการตายคงที่ ปกติจะมีอายุ 3 เดือน ดังนั้น ค่าระดับน้ำตาลสะสม จึงสะท้อนให้เห็นถึงปริมาณน้ำตาลกลูโคสเฉลี่ยในช่วงเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา
ระดับน้ำตาลสะสมสามารถใช้วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
- ในอดีตการตรวจระดับน้ำตาลสะสมไม่แนะนำให้ใช้สำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพราะวิธีในการตรวจระดับน้ำตาลสะสมมีหลายวิธี ซึ่งแต่ละวิธีจะทำให้ผลการตรวจแตกต่างกัน และไม่สามารถนำผลการตรวจของแต่ละวิธีมาเปรียบเทียบกันได้
- ปัจจุบันจึงมีการปรับปรุงเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีความแม่นยำโดยโปรแกรม National Glycohemoglobin Standardization Program (NGSP) ทำให้มีการพัฒนามาตรฐานของการตรวจระดับน้ำตาลสะสมขึ้น
- ในปี 2009 กลุ่มคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญนานาชาติ แนะนำการตรวจระดับน้ำตาลสะสมเป็นหนึ่งในการตรวจเพื่อช่วยวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพราะการตรวจระดับน้ำตาลสะสมไม่จำเป็นต้องอดอาหาร และสามารถเจาะเลือดไปตรวจที่เวลาใดก็ได้
ผู้เชี่ยวชาญหวังว่า การตรวจนี้จะเพิ่มความสะดวก ทำให้คนทั่วไปเข้าถึงการตรวจได้มากยิ่งขึ้น และช่วยลดจำนวนคนที่ไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวานลง - องค์กรทางการแพทย์บางองค์กรยังคงแนะนำให้ใช้การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดแบบเดิมสำหรับการวินิจฉัย
ทำไมถึงต้องตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
การตรวจคัดกรองมีความสำคัญมาก เพราะในช่วงระยะแรกของการเป็นโรคเบาหวานจะไม่มีอาการใดๆ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการตรวจใดที่สมบูรณ์แบบ การตรวจระดับน้ำตาลสะสมควบคู่กับการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด คือการตรวจที่ดีที่สุดในปัจจุบันสำหรับการวินิจฉัยโรคเบาหวาน
การตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน จะช่วยให้แพทย์ และทีมบุคลากรทางการแพทย์ สามารถวางแผนในการรักษาโรคเบาหวานก่อนที่จะเกิดโรคแทรกซ้อน เช่น ตาบอด โรคหลอดเลือดขนาดเล็ก นอกจากนั้น ยังช่วยคัดกรองภาวะก่อนเป็นเบาหวาน เพื่อชะลอหรือป้องกันการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคต
ระดับน้ำตาลสะสมใช้วินิจฉัยโรคเบาหวานและภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้อย่างไร
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมสามารถใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้ โดยอาจใช้เฉพาะการตรวจนี้ หรือใช้ร่วมกับการตรวจอื่นๆ ก็ได้
หากต้องการใช้ค่าระดับน้ำตาลสะสมในการวินิจฉัยโรคเบาหวาน เลือดที่ถูกเจาะแล้วจะถูกส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการทดสอบตาม NGSP เพื่อให้มั่นใจว่า ผลการตรวจนั้นมีมาตรฐาน และได้ค่าแม่นยำถูกต้อง
ตรวจเบาหวานวันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 78 บาท ลดสูงสุด 83%
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!
ตารางแสดงค่าร้อยละของระดับน้ำตาลสะสมและการแปลผล
การแปลผลค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C)
- ต่ำกว่า 5.7% ปกติ
- ตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป เป็นโรคเบาหวาน
- ตั้งแต่ 5.7-6.4 % เป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน
*ในการทดสอบเพื่อยืนยันว่าเป็นโรคเบาหวาน จำเป็นต้องมีการทดสอบซ้ำครั้งที่ 2 ยกเว้นว่าผู้ตรวจมีอาการของโรคเบาหวานที่ชัดเจน
หากพบว่าเป็นภาวะก่อนเป็นเบาหวาน จะถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต้องได้รับการตรวจซ้ำทุก 1 ปี ยิ่งมีค่าระดับน้ำตาลสะสมสูงเท่าไร ยิ่งมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานมากเท่านั้น โดยจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ภายใน 10 ปี ปัจจุบันมีวิธีในการป้องกันและชะลอการเกิดโรคเบาหวานแล้ว
ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดใช้วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวานได้
การตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดมาตรฐานเพื่อใช้วินิจฉัยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 และภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ได้แก่ การตรวจค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (FPG) และการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (OGTT) สำหรับการตรวจค่าระดับน้ำตาลที่เวลาใดๆ อาจถูกใช้ในการวินิจฉัยโรคเบาหวานเมื่อมีอาการของโรคเบาหวานอย่างชัดเจน ในบางกรณีอาจมีการตรวจระดับน้ำตาลสะสม เพื่อยืนยันผลที่ได้จากการตรวจระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
ระดับน้ำตาลสะสมอาจให้ผลการวินิจฉัยต่างจากระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด
ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอาจเป็นตัวชี้วัดในการวินิจฉัยโรคเบาหวานแทนระดับน้ำตาลสะสม หรือระดับน้ำตาลสะสมอาจเป็นตัวชี้วัดในการวินิจฉัยแทนระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดก็ได้ เพราะในการตรวจอาจมีความแตกต่างของผลการตรวจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นแพทย์จะพิจารณาตรวจซ้ำก่อนที่จะตัดสินใจวินิจฉัยโรค
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
คนที่มีผลการตรวจแตกต่างกันอาจเนื่องมาจากเพิ่งเป็นโรคในระยะเริ่มต้น จึงทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดยังไม่สูงพอที่จะแสดงผลให้ทราบในทุกวิธีการตรวจ บางครั้งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต เช่น การคุมอาหาร การลดน้ำหนักและการเพิ่มการออกกำลังกาย สามารถช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานในระยะเริ่มต้นกลับมาเป็นปกติ หรือชะลอการดำเนินของโรคได้
ผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดมีความแม่นยำทุกครั้งหรือไม่
ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการสามารถแตกต่างกันในแต่ละวัน แต่ละวิธีการตรวจได้ ซึ่งผลการตรวจสามารถแตกต่างกันได้ ดังนี้
- ความแตกต่างภายในคนคนเดียวกัน ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสามารถเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ขึ้นอยู่กับอาหารที่รับประทาน การออกกำลังกาย อาการเจ็บป่วย และความเครียด
- ความแตกต่างระหว่างวิธีการตรวจ วิธีการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดแต่ละวิธีมีหลักการในการตรวจที่แตกต่างกัน
- การตรวจระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (FPG) จะเป็นการตรวจวัดระดับกลูโคสที่ละลายอยู่ในเลือดหลังจากอดอาหารแล้ว และเป็นการแสดงค่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดเฉพาะเวลาที่เจาะเลือดเท่านั้น
- การตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดซ้ำ เช่น การตรวจด้วยตนเองที่บ้านด้วยเครื่องตรวจน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองวันละหลายครั้ง สามารถแสดงให้เห็นความแตกต่างของระดับน้ำตาลในเลือดที่เกิดขึ้นระหว่างวันของตัวคุณเอง
- การตรวจค่าระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) จะเป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสที่จับกับฮีโมโกลบิน ค่าจะที่ได้จะเป็นการวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยในช่วงระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้นหากมีการตรวจในวันถัดไป หรือวันใกล้ๆ กัน ผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสมจะไม่เปลี่ยนแปลงไป
- ความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในการตรวจเดียวกัน เลือดที่ถูกเจาะครั้งเดียวกัน และนำเลือดนั้นไปตรวจซ้ำที่ห้องปฏิบัติการเดียวกัน ก็อาจมีผลการตรวจแตกต่างกันได้ อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อย เครื่องมือที่ใช้ตรวจ หรือวิธีการจัดการเกี่ยวกับเลือดที่นำมาตรวจ
- แพทย์ทราบดีอยู่แล้วว่า ในการตรวจเลือดจะมีความแตกต่างของผลการตรวจเกิดขึ้นได้ ดังนั้น หากแพทย์มีความสงสัยในผลการตรวจ จะสั่งตรวจซ้ำเพื่อยืนยันผล โรคเบาหวานมีการดำเนินไปของโรคตลอดเวลา ดังนั้น แม้ผลการตรวจเลือดจะมีความแตกต่างกัน แต่แพทย์สามารถแจ้งให้คุณทราบ เมื่อผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดโดยรวมของคุณสูงกว่าเกณฑ์ปกติ
- การเปรียบเทียบผลการตรวจจากห้องปฏิบัติการที่แตกต่างกันอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ดังนั้น เมื่อมีการเปลี่ยนสถานพยาบาลที่ทำการรักษา หรือสถานพยาบาลมีการเปลี่ยนเครื่องมือ หรือเทคนิคที่ใช้ในการตรวจ กรณีนี้จะต้องมีการตรวจเลือดซ้ำเพื่อยืนยันผลเสมอ
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมมีความแม่นยำหรือไม่
ผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสม สามารถแตกต่างจากความเป็นจริงอยู่ 0.5% โดยอาจสูงหรือต่ำกว่าความเป็นจริงก็ได้ หากผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสมของคุณอยู่ที่ 7.0% นั่นหมายถึงระดับน้ำตาลสะสมในเลือดจริงๆ จะอยู่ในช่วงประมาณ 6.5-7.5%
หากใช้หลักการเดียวกันนี้กับค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร (FPG) พบว่า ค่าระดับน้ำตาลสามารถแตกต่างจากความเป็นจริงได้เช่นกัน
หากผลการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหารอยู่ที่ 126 mg/dL ค่าระดับน้ำตาลหลังอดอาหารจริงๆ ในร่างกายจะอยู่ในช่วงประมาณ 110-142 mg/dL โดยความแตกต่างของผลการตรวจนี้อาจมีมากขึ้นหากเลือดที่เจาะแล้วไม่ได้รับการตรวจทันที หรือไม่ได้ถูกใส่ไว้ในน้ำแข็ง ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดตัวอย่างที่เจาะออกมานั้นลดต่ำลงได้
ผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสมสามารถแสดงผลลวง (แสดงผลไม่ถูกต้อง) ได้หรือไม่
ผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสมลวง (แสดงผลไม่ถูกต้อง) อาจเกิดขึ้นได้กับคนที่มีปัญหาส่งผลต่อเลือด หรือมีฮีโมโกลบินแตกต่างจากคนทั่วไป ส่งผลให้ผลการตรวจถูกรบกวนได้ ดังนี้
- โลหิตจาง
- มีเลือดออกจากร่างกายในปริมาณมาก
- มีปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายต่ำกว่าปกติมากๆ
- เป็นไตวาย
- เป็นโรคตับ
- กลุ่มคนเชื้อสายแอฟริกัน เมดิเตอร์เรเนียน หรือเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- คนในครอบครัวเป็นโรคโลหิตจางชนิดซิกเกิลเซลล์ หรือธาลัสซีเมีย
ค่าระดับน้ำตาลสะสมใช้ในกรณีใดได้อีกนอกจากการวินิจฉัยโรคเบาหวาน
แพทย์สามารถใช้ค่าระดับน้ำตาลสะสมในการติดตามระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 1 หรือชนิดที่ 2 แต่จะไม่ใช้ในการติดตามผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหรัฐอเมริกา แนะนำให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงเป้าหมายได้แล้ว และมีระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ เข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลสะสมปีละ 2 ครั้ง แต่หากยังควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ แพทย์อาจสั่งตรวจระดับน้ำตาลสะสมเป็น 4 ครั้งต่อปี จนกว่าระดับน้ำตาลในเลือดจะอยู่ในช่วงเป้าหมายที่กำหนด
การตรวจระดับน้ำตาลสะสมจะช่วยให้แพทย์ปรับยาที่ใช้ในการรักษา เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน ข้อมูลการจากการศึกษาวิจัยพบว่า การเกิดโรคแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานจะลดลงตามปริมาณระดับน้ำตาลสะสมที่ลดลง
ระดับน้ำตาลสะสมสัมพันธ์กับการประมาณค่าเฉลี่ยกลูโคสอย่างไร
ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (Estimated average glucose: eAG) จะคำนวณจากค่าระดับน้ำตาลสะสมที่ตรวจได้ บางห้องปฏิบัติการจะรายงานค่า eAG ไปพร้อมกับผลการตรวจระดับน้ำตาลสะสม ค่า eAG จะเป็นการคำนวณเปลี่ยนจากค่าระดับน้ำตาลสะสมในหน่วย % เป็นหน่วยเดียวกับการตรวจวัดระดับน้ำตาลกลูโคสที่บ้าน คือหน่วย มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
ข้อมูลแสดงความสัมพันธ์ระหว่างค่าระดับน้ำตาลสะสม และค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 6% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 126 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 7% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 154 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 8% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 183 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 9% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 212 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 10% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 240 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 11% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 269 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
- ค่าระดับน้ำตาลสะสม (A1C) 12% สัมพันธ์กับ ค่าเฉลี่ยกลูโคสโดยประมาณ (eAG) 298 หน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (mg/dL)
เป้าหมายค่าระดับน้ำตาลสะสมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน
ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีค่าเป้าหมายของระดับน้ำตาลสะสมแตกต่างกัน ขึ้นกับประวัติการเป็นโรคเบาหวานและสุขภาพของแต่ละบุคคล แพทย์จะเป็นผู้แจ้งค่าระดับเป้าหมายที่เหมาะสมกับคุณ
การควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือด จะมีประโยชน์อย่างมากโดยเฉพาะในคนที่เพิ่งเป็นโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดโรคแทรกซ้อนขึ้น
อย่างไรก็ตาม เป้าหมายระดับน้ำตาลสะสมจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ระดับค่าที่เหมาะสมของคนหนึ่ง อาจไม่เหมาะสมกับอีกคนได้ เช่น การควบคุมระดับน้ำตาลสะสมให้ต่ำกว่า 7% อาจไม่ปลอดภัยในคนที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (Hypoglycemia) ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง และปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด