กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

หนานเฉาเหว่ย ป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง สมุนไพรดี ที่ควรกินอย่างระวัง

รับประทานหนานเฉาเหว่ยอย่างไรให้ปลอดภัย และมีประโยชน์ต่อร่างกายอย่างแท้จริง
เผยแพร่ครั้งแรก 14 พ.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 23 ก.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
หนานเฉาเหว่ย ป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง สมุนไพรดี ที่ควรกินอย่างระวัง

ในปัจจุบันการแพทย์แผนโบราณที่ใช้พืชสมุนไพรในการรักษาโรคกำลังกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง เนื่องจากเข้าใจว่า การใช้ธรรมชาติบำบัดจะช่วยบำรุงสุขภาพ ส่งเสริมฤทธิ์ของยา และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้การรักษาโรคได้ แต่อย่างไรก็ตาม สมุนไพรหลายชนิดก็ยังไม่มีการวิจัยที่รับรองสรรพคุณอย่างแน่ชัดรวมถึงการรับประทานแบบสุ่มสี่สุ่มห้าก็อาจเกิดผลข้างเคียงที่อันตรายได้เช่นกัน ตัวอย่างเช่น สมุนไพร หนานเฉาเหว่ย ซึ่งเป็นสมุนไพรตระกูลเดียวกับ ป่าช้าเหงา ป่าช้าหมอง ของไทย ซึ่งว่ากันว่า มีสรรพคุณสารพัด แต่หากรับประทานอย่างไม่ระวังก็อาจเป็นโทษต่อสุขภาพได้

รู้จักกับหนานเฉาเหว่ย

หนานเฉาเหว่ย หรือ หนานเฝยเฉ่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Gymnanthemum extensum เป็นพืชตระกูลเดียวกันกับป่าช้าเหงา หรือชื่ออื่นๆ คือ ป่าช้าหมอง ป่าเฮ่วหมอง เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศจีน พบได้ตามป่าดงดิบและป่าเบญจพรรณ ปัจจุบันปลูกกันแพร่หลายมากขึ้นทางภาคเหนือของประเทศไทย 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

หนานเฉาเหว่ยเป็นไม้ยืนต้น สูงประมาณ 6 – 8 เมตร มีใบรูปรี ปลายแหลม โคนป้านมน ใบอ่อนและแก่มีรสขมจัด ออกดอกสีขาว หรือเหลืองอ่อนตามซอกใบและปลายยอดในช่วงต้นฤดูฝน ดอกมีกลิ่นหอม ผลมีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเกลี้ยง ภายในผลแบ่งเป็นพู 3 พู ในแต่ละพูจะมีเมล็ดอยู่ 1 เมล็ด ส่วนที่นำมาใช้เป็นยา ได้แก่ ใบ ซึ่งสามารถรับประทานสด หรือต้มกับน้ำดื่มก็ได้ แพทย์พื้นบ้านมักจะใช้เป็นยาลดไข้ ยาระบาย ยารักษาไข้มาลาเรียและรักษาโรคผิวหนัง

สรรพคุณของหนานเฉาเหว่ย

งานวิจัยที่รับรองสรรพคุณของหนานเฉาเหว่ยยังอยู่ในระดับเซลล์เพาะเลี้ยงและสัตว์ทดลองเท่านั้น ยังไม่มีการวิจัยสรรพคุณในคนแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่า สมุนไพรหนานเฉาเหว่ย น่าจะมีฤทธิ์เป็นยาและมีสรรพคุณต่อร่างกาย ดังนี้

  • ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด มีงานวิจัยที่พบว่า ใบหนานเฉาเหว่ย หรือป่าช้าเหงา สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดในสัตว์ทดลองได้ ซึ่งน่าจะออกฤทธิ์ในคนแบบเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีน้ำตาลในเลือดสูง แต่ใบหนานเฉาเหว่ยนั้นมีฤทธิ์แรงมาก การรับประทานมากเกินไปอาจทำให้น้ำตาลตก จนหน้ามืด หมดแรง หมดสติ และช็อกได้
  • ช่วยลดความดันโลหิต หนานเฉาเหว่ยมีฤทธิ์ช่วยขยายหลอดเลือดและทำให้เลือดไหลเวียนได้ดีจึงช่วยลดความดันโลหิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และมีส่วนช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดหลอดเลือดสมองได้ แต่การรับประทานมากเกินก็อาจทำให้ความดันโลหิตตกจนเป็นอันตรายได้
  • ช่วยลดระดับไขมันในเลือด การทดลองในสัตว์พบว่า หนานเฉาเหว่ยสามารถลดระดับไขมันในเลือดได้จึงน่าจะมีส่วนช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง
  • มีฤทธิ์ต่อต้านเซลล์มะเร็ง การทดลองในเซลล์เพาะเลี้ยง พบว่า สารสกัดจากสมุนไพรหนานเฉาเหว่ย สามารถยับยั้งการเจริญของเซลล์มะเร็งเต้านม มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีผลวิจัยที่พิสูจน์ได้ว่า การรับประทานหนานเฉาเหว่ยจะเป็นผลดีต่อการรักษามะเร็งในคนหรือไม่ ดังนั้นจึงควรรับประทานอย่างระมัดระวัง

ข้อห้ามและข้อควรระวังในการบริโภคหนานเฉาเหว่ย

แม้หนานเฉาเหว่ยจะเป็นสมุนไพรมากสรรพคุณ แต่ก็อาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน และการรับประทานอย่างไม่ระมัดระวังก็อาจก่อให้เกิดโทษได้ จึงมีข้อแนะนำและข้อควรระวังสำหรับการรับประทานหนานเฉาเหว่ย ดังนี้

  • ผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดต่ำ ความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยโรคตับ โรคไต หญิงตั้งครรภ์ หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ และหญิงที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ย
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง ไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ยแทนยา หรือหยุดยาแผนปัจจุบันแล้วมารับประทานหนานเฉาเหว่ยอย่างเดียว โดยเฉพาะผู้ที่ควบคุมโรคได้ดีอยู่แล้ว เพราะจะทำให้น้ำตาลต่ำและความดันโลหิตตกจนเป็นอันตรายได้ แต่สามารถรับประทานหนานเฉาเหว่ยเพื่อบำรุงร่างกายเป็นครั้งคราวได้
  • หากรับประทานหนานเฉาเหว่ยแล้วมีอาการหน้ามืด ใจสั่น เหงื่อออกมาก หมดแรง ให้หยุดรับประทานแล้วไปพบแพทย์ทันที
  • หนานเฉาเหว่ยอาจมีพิษต่ออัณฑะ ชายวัยเจริญพันธุ์จึงไม่ควรรับประทานหนานเฉาเหว่ยติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดเพราะอาจจะเสริมฤทธิ์ของยาทำให้เลือดออกได้ง่ายขึ้น
  • ไม่แนะนำให้รับประทานทุกวัน หรือรับประทานต่อเนื่อง เพราะเป็นยารสเย็นซึ่งจะส่งผลต่อระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดง่าย มือเท้าเย็น อ่อนเพลีย ไม่มีแรง

วิธีบริโภคหนานเฉาเหว่ยให้ปลอดภัย

  • แนะนำให้รับประทานเป็นอาหาร เช่น ยำดอกขจรใส่ดอกป่าช้าเหงา ซึ่งคนท้องถิ่นนิยมรับประทานช่วงเปลี่ยนฤดู ปลายฝนต้นหนาว เพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน ไม่ให้เจ็บป่วย โดยจะนำใบป่าช้าเหงามาลวกน้ำร้อนก่อนรับประทานเพื่อลดความขมและลดฤทธิ์ยา
  • เลือกใบสดขนาดไม่ใหญ่นัก (ไม่ใหญ่เท่าฝ่ามือ) รับประทานไม่เกินวันละ 1–3 ใบ หากใบใหญ่เท่าฝ่ามือให้รับประทานเพียง 1 ใบ ไม่แนะนำให้รับประทานทุกวัน หรือรับประทานต่อเนื่อง โดยให้เว้น 2–3 วันแล้วรับประทานหนึ่งครั้ง
  • นำใบมาต้มกับน้ำดื่ม โดยเลือกใบขนาดเท่าฝ่ามือ 3 ใบ ต้มกับน้ำ 1 ลิตร ให้พอเดือด (ไม่ควรต้มนานเกิน 5 นาที) และดื่มเพียงวันละ 1 แก้ว หลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทุกวัน และไม่ควรดื่มแทนน้ำ
  • ไม่ควรบริโภคติดต่อกันเป็นเวลานาน แนะนำให้รับประทานวันละ 1-2 ใบ 2-3 วันต่อครั้ง ไม่แนะนำให้รับประทานทุกวัน หรือรับประทานต่อเนื่อง อาจรับประทานบ้างหยุดบ้างตามที่แนะนำติดต่อกัน 1 เดือน แล้วเว้น 1 เดือน และจึงเริ่มรับประทานใหม่

ภญ.อาสาฬา เชาวน์เจริญ เภสัชกรชำนาญการ ศูนย์หลักฐานเชิงประจักษ์ด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศรแนะนำว่า สำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างความดันโลหิต และเบาหวาน ควรใช้ยาตามแพทย์แผนปัจจุบันสั่งเป็นหลัก ผู้ป่วยควรศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนรับประทานสมุนไพร เนื่องจากปัจจัยในการรักษาของแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน แต่หากรับประทานหนานเฉาเหว่ยแล้วมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานทันที และหากใครมีโรคประจำตัวซึ่งไม่แน่ใจว่า รับประทานสมุนไพรได้หรือไม่ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Márcia do Rocio Duarte; Ariane Gonçalves Silva, Anatomical characters of the medicinal leaf and stem of Gymnanthemum amygdalinum (Delile) Sch.Bip. ex Walp. (Asteraceae), Laboratory of Pharmacognosy, Department of Pharmacy, Federal University of Paraná, Curitiba, Paraná, Brazil (http://www.scielo.br/scielo.php?script=sci_arttext&pid=S1984-82502013000400011), December 2013
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลไทยนครินทร์, เบาหวานกับหนานเฉาเหว่ยรับประทานต้องระวัง (https://www.thainakarin.co.th/news.php?p=knowledge_detail&id=31)
ภญ.ผศ.ดร.ศรีสมพร ปรีเปรม, การศึกษาด้านเภสัชเวทของหนานเฉาเหว่ย, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=article_detail&subpage=article_detail&id=544)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ควรรับประทานวิตามินเสริมถ้าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?
ควรรับประทานวิตามินเสริมถ้าเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?

การรับประทานวิตามินเสริมที่เหมาะสมอาจเป็นสิ่งที่แพทย์แนะนำ

อ่านเพิ่ม
Glycemic Index (GI) ดัชนีน้ำตาล
Glycemic Index (GI) ดัชนีน้ำตาล

สำรวจความหมาย และปริมาณดัชนีน้ำตาลในอาหารต่างๆ

อ่านเพิ่ม