บทความนี้เขียนโดยทีมเภสัชกร HonestDocs
โรคเกาต์ เป็นโรคข้ออักเสบชนิดหนึ่งที่พบได้ค่อนข้างบ่อย โดยผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่ข้ออย่างเฉียบพลัน ข้อมีอาการแข็งและบวม ซึ่งมักจะเป็นที่นิ้วหัวแม่เท้า ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาการของโรคเกาต์จะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น บางรายที่มีอาการเกาต์เฉียบพลันโดนไม่ทันตั้งตัวอาจเดินไม่ได้ และอาจเป็นอันตรายต่อข้อต่อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อรอบๆ ได้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
สาเหตุของการเกิดโรคเกาต์
โรคเกาต์เกิดจากการมีการสะสมของกรดยูริกในปริมาณที่มากเกินไป (Hyperuricemia) เป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการตกผลึกยูริกตามข้อต่างๆ ซึ่งจะกระตุ้นกระบวนการในระบบภูมิคุ้มกันก่อให้เกิดการอักเสบ จนเกิดอาการปวดบวมตามข้ออย่างรุนแรง
กรดยูริกเป็นสารเคมีชนิดหนึ่งในเลือดที่ได้มาจากการย่อยสลายสารพิวรีน (Purines) ในเนื้อเยื่อทั่วร่างกายและอาหารที่รับประทานเข้าไป โดยร่างกายจะมีการปรับสมดุลของกรดยูริกด้วยการกรองจากไตและขับออกทางปัสสาวะ เมื่อมีปริมาณกรดยูริกมากขึ้นทั้งจากการสร้างที่ผิดปกติของร่างกาย หรือจากการรับประทานอาหารที่มีสารพิวรีนสูงต่อเนื่อง หรือไตมีความผิดปกติในการกรองสารพิวรีนก็จะทำให้เกิดภาวะกรดยูริกในเลือดสูงได้ง่าย การเกิดเกาต์มักต้องมีระดับกรดยูริกในเลือดสูงเป็นระยะเวลานานต่อเนื่องโดย ทั่วไปมักมากกว่า 20 ปีโดยผู้ป่วยไม่รู้ตัว โรคเกาต์พบในเพศชายได้บ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 2 เท่า
อาการของโรคเกาต์
อาการของโรคเกาต์ คือ ข้อและเนื้อเยื่อรอบๆ ข้อมีการอักเสบรุนแรงเป็นเฉียบพลัน โดยในระยะแรกมักเป็นเพียง 1-2 ข้อ โดยจากระยะเริ่มปวดจนอักเสบเต็มที่อาจใช้ระยะเวลา 24 ชั่วโมง โดยในช่วงวันแรกจะเป็นช่วงที่ปวดมากที่สุด และไม่มีอาการเตือนล่วงหน้า มักพบอาการเป็นที่ข้อโคนนิ้วโป้งเท้า ข้อเท้า หรือข้อเข่า บ่อยครั้งที่เป็นในเวลากลางคืนขณะหลับ ระยะแรกข้ออักเสบมักมีอาการเพียง 2-5 วัน โดยผู้ป่วยบางรายอาจมีไข้ร่วมด้วย หลังจากข้ออักเสบหายแล้วผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเกิดอาการข้ออักเสบซ้ำอีกใน 6 เดือนถึง 2 ปี ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที
นอกจากนี้ หากไม่รักษาจะกลายเป็นโรคเกาต์เรื้อรัง ซึ่งจะพบปุ่มก้อนของผลึกกรดยูริกตามเนื้อเยื่อต่างๆ โรคนิ่วในไตจากการตกผลึกของกรดยูริก และโรคไตวาย เนื่องจากผลึกกรดยูริกอุดกั้นการกรองปัสสาวะ
ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการเกาต์กำเริบ
ปัจจัยต่อไปนี้กระตุ้นให้อาการเกาต์แย่ลงได้
- แอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลให้ความหวาน รวมถึงขนมหวานต่างๆ
- อาหารที่กระตุ้นให้เกิดอาการกำเริบ เช่น เนื้อแดง สัตว์ปีก เครื่องในสัตว์ปีก (โดยเฉพาะตับ ไต) อาหารไขมันสูง ยอดผัก ชะอม กระถิน สะเดา ปลาดุก และอาหารทุกชนิดที่มีสารพิวรีนสูง
- การมีน้ำหนักเกินหรือมีภาวะอ้วน ผู้ที่อ้วนหรือน้ำหนักตัวมากมักจะมีระดับกรดยูริคในกระแสเลือดที่สูงกว่า การลดน้ำหนักจึงอาจช่วยลดระดับกรดยูริคในกระแสเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดอาการกำเริบในอนาคตได้
- การขาดวิตามินซี
- ยาบางชนิดที่มีผลเพิ่มระดับของกรดยูริกในร่างกาย เช่น ยาแอสไพริน (Aspirin) ที่ขนาดยา 75-325 มิลลิกรัม ไนอาซิน (Niacin) หรือการใช้ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) เป็นต้น
ยาที่ช่วยบรรเทาและรักษาโรคเกาต์
โรคเกาต์สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาเป็นหลักควบคู่กับการปฏิบัติตนเพื่อเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงของโรค เป้าหมายของการรักษาจะช่วยบรรเทาให้อาการปวดและอาการอักเสบลดลงอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดของโรคเกาต์ในบริเวณข้ออื่นๆ ในอนาคต หรือที่เรียกว่าอาการเกาต์กำเริบ รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่อาจเกิดขึ้นตามมาได้ เช่น โครงสร้างข้อต่อผิดรูป ไตเกิดความผิดปกติ เป็นต้น
- ยาต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal Anti-inflammatory Drugs: NSAIDs)
ยากลุ่มนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อ กลุ่มยาเอ็นเสด (NSAIDs) เป็นตัวยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบในร่างกายได้ สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายยาและต้องจ่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น เช่น- ยาไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) ยานาพรอกเซน (Naproxen) ยาไดโคลฟีเน็ก (Diclofenac) ยาอินโดเมธาซิน (Indomethacin) ยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงทำให้มีอาการปวดท้องจากการที่ทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ แพทย์จึงมักสั่งจ่ายยาลดกรดร่วมด้วย หรือแพทย์อาจพิจารณาจ่ายแทนยาในกลุ่มเอ็นเสดตัวอื่นๆ แทน
- ยาเซเลโคซิบ (Celecoxib) และยาอีโทริโคซิบ (Etoricoxib) เป็นยาในกลุ่มเอ็นเสดที่ไม่มีผลทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหาร ผู้ที่มีโรคกระเพาะอาหารอยู่แล้วสามารถใช้ยาในกลุ่มนี้ได้
โดยหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงแพทย์อาจสั่งจ่ายยาในปริมาณที่สูงขึ้น หรือสั่งจ่ายยากลุ่มอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อช่วยป้องกันการกำเริบของอาการของโรคในอนาคต
- กลูโคคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Glucocorticosteroids) หรือเรียกย่อๆ ว่า สเตียรอยด์ (Steroids)
ยากลุ่มนี้มีใช้ทั้งในรูปแบบรับประทานและฉีดเข้าข้อ ตัวอย่างยาในกลุ่มนี้ที่ใช้บ่อยในโรคเกาต์ ได้แก่ เพรดนิโซโลน (Prednisone) และเมทิลเพรดนิโซโลน (Methylprednisolone) ยาในกลุ่มนี้จะใช้เมื่อผู้ป่วยใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs แล้วผลการรักษายังไม่ดีเท่าที่ควร หรือแพทย์ต้องการชะลอการเปลี่ยนแปลงหรือการถูกทำลายของข้อ ยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น กัดกระเพาะอาหารอาจทำให้ผู้ป่วยเกิดเลือดออกในกระเพาะอาหารได้ เกิดภาวะที่เรียกว่าคุชชิงซินโดรม (Cushing’s syndrome) ซึ่งเป็นความผิดปกติของระบบเมตาบอลิซึมในร่างกาย ทำให้มีอาการอ้วนลงพุง หน้าบวม และมีหนอกหลังคอ เป็นต้น ดังนั้น แพทย์จึงนิยมจ่ายในระยะสั้น ๆ หากมีความจำเป็นต้องใช้ในระยะยาวแพทย์จะนัดติดตามอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด
- ยาที่ออกฤทธิ์ลดระดับกรดยูริก
ยารักษาโรคเกาต์บางตัวสามารถลดระดับกรดยูริคในกระแสเลือดได้ เช่น แอลโลพูรินอล (Allopurinol หรือชื่อทางการค้าว่า Zyloric®) และฟีบูโซสแทต (Febuxostat) อย่างไรก็ตาม ยาในกลุ่มนี้จะไม่ใช้เป็นยาตัวแรกที่เริ่มใช้รักษา เนื่องจากผลข้างเคียงค่อนข้างมาก เช่น ท้องเสีย (มักทำให้ผู้ป่วยทนการใช้ยาไม่ได้) คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น นอกจากนี้ ยาในกลุ่มดังกล่าว ห้ามใช้ในผู้ป่วยสูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร เด็ก ผู้ป่วยโรคหัวใจ ตับ ไต หรือมีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร โดยจะให้ใช้ยากลุ่มเอ็นเซด (NSAIDs) หรือสเตียรอยด์แทน
- ยาที่ออกฤทธิ์ขับกรดยูริคออกจากร่างกาย
ยารักษาโรคเกาต์บางตัวขับกรดยูริกออกจากร่างกายได้ เช่น ยาโพรเบเนซิส (Probenecid หรือชื่อทางการค้าว่า Bencid®) ซัลพินไพราโซน (Sulfinpyrazone หรือชื่อทางการค้าว่า Sulfin®) เบนโบรมาโรน (Benzbromarone หรือชื่อทางการค้าว่า Benarone®) เป็นต้น แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งในกลุ่มนี้ระยะยาวเพื่อควบคุมไม้ให้อาการของโรคเกาต์กำเริบในระยะยาว โดยยาในกลุ่มนี้จะยังไม่ให้ใช้ในช่วงที่ผู้ป่วยมีโรคเกาต์กำเริบ แต่จะให้เริ่มใช้เมื่ออาการของโรคสงบแล้วเท่านั้น อาการข้างเคียงของยาในกลุ่มนี้ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
ข้อควรระวัง
การใช้ยาโพรเบเนซิสอาจทำให้เกิดนิ่วในไตได้ โดยสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดนิ่วได้โดยแนะนำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำมากๆ และปรับ pH ของปัสสาวะให้เป็นด่างเล็กน้อยเพื่อเพิ่มการละลายของกรดยูริกในปัสสาวะ และมีข้อห้ามใช้ในผู้ป่วยโรคไต