กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ. ธนู โกมลไสย แพทย์ทั่วไป

"ลำไส้อักเสบ" โรคที่มนุษย์สายกินควรระวัง

โรคลำไส้อักเสบ ผลกระทบจากการปนเปื้อนของเชื้อโรคและสารพิษในอาหาร
เผยแพร่ครั้งแรก 18 ก.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 25 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 29 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
"ลำไส้อักเสบ" โรคที่มนุษย์สายกินควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรคลำไส้อักเสบ เกิดจากการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก มักเกิดจากเชื้อโรคหรือสารพิษปนเปื้อนในอาหาร ส่วนมากจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 1-2 สัปดาห์ แต่บางรายอาจเกิดอาการเรื้อรังเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
  • ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบจะมีอาการปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ ท้องเสีย ถ่ายเหลว อาจมีมูกเลือดปน คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร อาจมีไข้สูง หนาวสั่น ผู้ที่อาการเฉียบพลันอาจน้ำหนักลด ขาดสารอาหาร
  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับแร่ธาตุทดแทนเช่นน้ำเกลือแร่ กินอาหารอ่อนย่อยง่าย รสไม่จัด หากมีไข้สูงอาจต้องให้ยาลดไข้ หากสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย อาจให้ยาฆ่าเชื้อ ผู้ป่วยเรื้อรังอาจได้รับสเตียรอยด์ลดการอักเสบ 
  • โรคลำไส้อักเสบป้องกันได้โดยกินอาหารสะอาดปรุงสุก รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

โรคลำไส้อักเสบคืออะไร

โรคลำไส้อักเสบ (Enteritis) คือ ภาวะที่มีสาเหตุจากการอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก ซึ่งส่วนมากเกิดจากเชื้อโรค หรือสารพิษที่ปนเปื้อนในอาหาร โรคลำไส้อักเสบสามารถพบได้ในคนทุกเพศทุกวัย โดยส่วนมากจะเกิดอาการแบบเฉียบพลัน และจะค่อยๆ ดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ แต่ผู้ป่วยบางรายก็อาจเกิดอาการแบบเรื้อรังนานเป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้ ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความร้ายแรงของโรค

สาเหตุของโรคลำไส้อักเสบ   

การบาดเจ็บและอักเสบของเยื่อบุผนังลำไส้เล็ก มักมีสาเหตุจากการปนเปื้อนของอาหารที่รับประทานเข้าไป หรือสารพิษภายในอาหารซึ่งจะสร้างความระคายเคืองให้กับทางเดินอาหารของเราได้ แต่ในบางกรณี โรคลำไส้อักเสบก็เกิดจากสาเหตุอื่นได้เช่นกัน โดยปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบ ได้แก่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจ รักษาโรคทางเดินอาหาร วันนี้ ที่คลินิกหรือรพ. ใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 116 บาท ลดสูงสุด 74%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • มีการติดเชื้อในลำไส้: ซึ่งส่วนมากจะเป็นเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในอาหาร เช่น เชื้ออีโคไล (Escherichia coli: E.coli) เชื้อแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) เชื้อแบคทีเรียชิเกลลา (Shigella)
  • ได้รับสารพิษในอาหาร: เช่น เผลอรับประทานเห็ดพิษเข้าไป การดื่มน้ำหรือรับประทานอาหารที่มีสารโลหะปนเปื้อน ซึ่งนอกเหนือจากโรคลำไส้อักเสบแล้ว สารพิษดังกล่าวยังทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนอื่นๆ ได้อีกด้วย
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด: เช่น ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs: NSAIDs) อย่างไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) ผู้ป่วยบางรายหากรับประทานกลุ่มยานี้อย่างต่อเนื่อง ก็อาจทำให้มีอาการลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังได้
  • เป็นโรคออโตอิมมูน (Autoimmune) หรือโรคแพ้ภูมิตนเอง (Systemic Lupus Erythematosus: SLE): เช่น โรคโครห์น (Crohn’s disease) ซึ่งจะทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวนและลำไส้อักเสบเรื้อรังได้
  • แพ้สารอาหารบางชนิด: ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องและอาการลุกลามเป็นโรคลำไส้อักเสบได้ เช่น แพ้น้ำตาลแลคโทส (Lactose) แพ้โปรตีนกลูเทน (Gluten) 
  • เป็นผลจากการรักษามะเร็ง: เพราะการฉายรังสีและการใช้ยาเคมีบำบัด อาจทำให้เนื้อเยื่อในช่องท้อง และเยื่อบุผนังลำไส้อักเสบได้ 
  • ลำไส้อักเสบจากการขาดเลือดไปเลี้ยง เกิดจากภาวะช็อคจึงทำให้มีเลือดไปเลี้ยงลำไส้ไม่เพียงพอ ลำไส้จึงเกิดการขาดเลือด อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดลำไส้ส่วนที่ตายออก

อาการของโรคลำไส้อักเสบ

ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบจะมีอาการเจ็บป่วยเกี่ยวกับการขับถ่ายและระบบทางเดินอาหาร ซึ่งเป็นผลมาจากการดูดซึมอาหารในลำไส้ที่ผิดปกติ

  • ปวดท้องบิดรุนแรงเป็นพักๆ หรือปวดท้องหน่วงๆ 
  • ท้องเสีย ถ่ายเหลวเป็นน้ำ บางครั้งอาจถ่ายมีมูกเลือดปน
  • คลื่นไส้อาเจียน เบื่ออาหาร
  • อาจมีไข้สูง หนาวสั่น โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีอาการอย่างเฉียบพลัน
  • น้ำหนักลด 
  • ขาดสารอาหาร

การสูญเสียน้ำจากอาการท้องเสีย ท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะร่างกายขาดน้ำ โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตาแห้ง ปากแห้ง ผิวแห้ง ซึ่งเป็นภาวะอันตรายที่ต้องรีบรักษาโดยด่วน ทางที่ดีเมื่อคุณรู้สึกว่าตนเองมีความเสี่ยงจะเป็นโรคลำไส้อักเสบ หรือคลื่นไส้อาเจียน ขับถ่ายหลายครั้งจนรู้สึกอ่อนเพลียไม่มีแรง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็วจะดีที่สุด 

การดูแลตนเองและการรักษาโรคลำไส้อักเสบ

โรคลำไส้อักเสบ มีแนวทางการดูแลและรักษา ดังนี้

  • ผู้ป่วยจะต้องได้รับสารน้ำและแร่ธาตุทดแทนโดยการดื่มน้ำผสมเกลือแร่ หรือการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ เพื่อป้องกันภาวะร่างกายขาดน้ำ ซึ่งเกิดจากการท้องร่วงและอาเจียนหลายครั้ง
  • ในช่วงที่มีอาการป่วย ระบบย่อยอาหารจะยังทำงานได้ไม่เต็มที่ ผู้ป่วยจึงควรรับประทานอาหารอ่อนๆ ที่ย่อยง่าย รสไม่จัด เช่น ซุป โจ๊ก รวมถึงหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารบางประเภทซึ่งย่อยยาก ทำให้เกิดความระคายเคืองต่อทางเดินอาหารได้ และทำให้ถ่ายบ่อยกว่าเดิม เช่น 
    • เนื้อสัตว์ติดมัน 
    • เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและเครื่องดื่มบำรุงกำลัง
    • น้ำอัดลมทุกชนิด รวมถึงโซดาเปล่าด้วย 
    • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
    • อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของนม
    • อาหารประเภทถั่ว 
    • ผลไม้แห้ง ผลไม้ที่มีกากใยสูงและมีเมล็ดเยอะ
    • อาหารที่มีไฟเบอร์สูง
    • อาหารที่มีส่วนผสมของน้ำตาลขาวบริสุทธิ์ (Refined Sugar)
    • อาหารรสจัดและรสเผ็ด
  • โดยทั่วไปโรคลำไส้อักเสบแบบเฉียบพลันมักหายได้เองโดยไม่ต้องใช้ยารักษา เพียงแต่ต้องมีการให้น้ำเกลือเพื่อไม่ให้ผู้ป่วยอ่อนเพลียจากภาวะขาดน้ำเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากและมีไข้สูง ก็อาจต้องให้รับประทานยาแก้ปวดลดไข้ เช่น พาราเซตามอล (Paracetamol) และหากแพทย์พบว่าสาเหตุของโรคมาจากเชื้อแบคทีเรีย ก็อาจให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อด้วย

ผู้ป่วยโรคลำไส้อักเสบแบบเรื้อรังอาจได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid) เพื่อลดการอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงจากยาตัวนี้อาจทำให้ผู้ป่วยหน้าบวม มีขนขึ้น กระสับกระส่าย ไปจนถึงความดันสูง จึงไม่ควรใช้ยาอย่างต่อเนื่องหากไม่จำเป็น หรือให้ใช้ภายใต้คำแนะนำของแพทย์เท่านั้น

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบ

  • รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุก เพื่อป้องกันการติดเชื้อโรคที่ปนเปื้อนมากับอาหาร
  • รักษาสุขอนามัยให้ดี โดยการล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เยื่อบุทางเดินอาหารระคายเคือง เช่น รับประทานอาหารรสจัดบ่อยๆ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานยาปฏิชีวนะโดยไม่จำเป็นหรือไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์

โรคลำไส้อักเสบมีสาเหตุสำคัญมาจากสิ่งสกปรกที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร ดังนั้น การเลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก มีภาชนะจัดเก็บที่ทำความสะอาดและฆ่าเชื้อมาอย่างดี รวมถึงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโรค เช่น อยู่ข้างถนนซึ่งจะทำให้อาหารปนเปื้อนฝุ่นควัน ฝุ่นละออง หรืออยู่ใกล้แหล่งสิ่งปฏิกูลที่สกปรก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคลำไส้อักเสบไปได้เกินครึ่งแล้ว

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจตรวจสุขภาพ จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกการอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Gregg, null; Nassar, null (1999-04-01). "Infectious Enteritis". Current Treatment Options in Gastroenterology. 2 (2): 119–126. doi:10.1007/s11938-999-0039-9. ISSN 1092-8472. PMID 11096582
Dugdale, David C., IIII, and George F Longretch "Enteritis". MedlinePlus Medical Encyclopedia, 18 October 2008. Accessed 24 August 2009.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ภาวะมีลมในช่องท้อง ท้องอืด และมะเร็งลำไส้ใหญ่
ภาวะมีลมในช่องท้อง ท้องอืด และมะเร็งลำไส้ใหญ่

ถอดรหัสสัญญาณแสดงอาการปวดในทางเดินอาหาร

อ่านเพิ่ม
อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นผลมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร
อาการเจ็บแน่นหน้าอก อาจเป็นผลมาจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร

ปวดท้องแน่นหน้าอก อาการที่อาจเกิดจากโรคแผลในกระเพาะอาหาร ไม่ใช่โรคหัวใจ

อ่านเพิ่ม
โรคกระเพาะอาหาร แผลที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร
โรคกระเพาะอาหาร แผลที่เกิดจากกรดในกระเพาะอาหาร

หิวก็ปวด อิ่มก็ปวด อาการเด่นของโรคกระเพาะอาหาร โรคยอดฮิตของคนที่กินอาหารไม่ตรงเวลา

อ่านเพิ่ม