ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
เขียนโดย
ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

โสม ข้อมูล ประโยชน์ ข้อควรระวัง และวิธีการกินเพื่อสุขภาพ

รวมข้อมูลเกี่ยวกับโสมแต่ละชนิด สรรพคุณทางยาตามศาสตร์การแพทย์จีน งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 5 เม.ย. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 19 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โสม ข้อมูล ประโยชน์ ข้อควรระวัง และวิธีการกินเพื่อสุขภาพ

โสม เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นชื่อด้านสรรพคุณทางยา โดยโสมสามารถแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ ดังนี้

  1. โสมเกาหลี ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax ginseng C.A. Mey. ชื่อท้องถิ่น โสมคน หรือ หยิ่งเซียม
  2. โสมจีน ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax pseudoginseng Wall ชื่อท้องถิ่น ชั่งชิก
  3. โสมอเมริกัน ชื่อวิทยาศาสตร์ Panax quinquefolium L. ชื่อท้องถิ่น เอี่ยเซียม

ทั้ง 3 สายพันธุ์เป็นพืชตระกูลเดียวกัน อยู่ในวงศ์ ARALIACEAE สกุล Panax มีสารสำคัญหลักตัวเดียวกันคือ จินเซนโนไซต์ (Ginsenosides) และพาแน็กโซไซด์ (Panaxosides) ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบำรุงร่างกาย บำรุงเลือด บำรุงสมอง และใช้ในการรักษาอาการหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้ แต่สารทั้ง 2 นี้อาจมีปริมาณแตกต่างกันไปในโสมแต่ละสายพันธุ์

โสมชนิดต่างๆกับสรรพคุณทางยาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

  • โสมจีน หรือ ชั่งชิก แพทย์แผนจีนกล่าวว่า ใช้บำบัดอาการอาเจียนมีเลือดปน มีประจำเดือนไม่หยุด มีเลือดออกหลังคลอดบุตร ขยายหลอดเลือด ลดความดันโลหิต
    • วิธีรับประทาน นำเครื่องยาสมุนไพรแบบแห้งบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม ละลายน้ำต้มสุกดื่ม
    • กรณีใช้ห้ามเลือด ให้บดเป็นผงโรยบริเวณที่มีเลือดออกหรือที่มีบาดแผล
  • โสมเกาหลี หรือ โสมคน หรือ หยิ่งเซียม มีต้นเนิดที่เกาหลี แต่ก็นำมาใช้แพร่หลายในประเทศจีน แพทย์แผนจีนกล่าวว่า โสมเกาหลีมีรสหวานอมขมเล็กน้อย ออกฤทธิ์ตามเส้นลมปราณของปอดและม้าม จัดอยู่ในกลุ่มสมุนไพรบำรุงกำลัง ช่วยแก้ไขเรื่องระบบย่อยอาหาร แก้เบื่ออาหาร บำรุงปอด ช่วยแก้อาการหอบ บำรุงหัวใจ บำรุงไต และบรรเทาอาการเสื่อมสมรรถภาพทางเพศ
    • วิธีรับประทาน นำเครื่องยาสมุนไพรแบบแห้งมาบดเป็นผงรับประทานครั้งละ 1-1.5 กรัม ละลายน้ำต้มสุกดื่ม หากรับประทานแบบสด ให้นำไปต้มให้สุกก่อน รับประทานครั้งละ 1-9 กรัม
  • โสมอเมริกัน หรือ เอี่ยเซียม แม้จะมีต้นกำเนิดอยู่ที่สหรัฐอเมริกา แต่ก็มีนำเข้าไปยังประเทศจีน แพทย์แผนจีนนิยมใช้ในผู้ป่วยที่ร่างกายมีความร้อนมากเกินไป จึงมีอาการปาก คอ และลิ้นแห้งแดง กระหายน้ำ เสียงแหบ เหงือกอักเสบ นอกจากนี้ยังสามารถรักษาผู้ป่วยที่มีอาการไอแห้งมีเลือดปน ไอเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่เพิ่งฟื้นไข้
    • วิธีรับประทาน อมครั้งละ 1-2 แผ่น หรือชงด้วยน้ำร้อน ครั้งละ 2-3 แผ่น ดื่ม

ประโยชน์ของโสมชนิดต่างๆ ที่มีงานวิจัยรองรับ

  • การศึกษาฤทธิ์ต้านภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ของสารสกัดจากดอกตูมของโสมจีนในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสกัดนี้มีความเกี่ยวข้องกับการสร้างหลอดเลือดและทำให้หลอดเลือดที่ผิดปกติบางส่วนได้รับการซ่อมแซม
  • อีกการศึกษาหนึ่งที่ได้ทำการทดลองในหนูแรทที่ถูกเหนี่ยวนำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน จากนั้นจึงให้หนูแรทรับสารสกัดจากดอกตูมของโสมจีน ในขนาด 50 มก./กก. ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 2 สัปดาห์ พบว่าสารสกัดนี้ทำให้ความหนาแน่นของหลอดเลือดบริเวณที่เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายบางส่วนเพิ่มขึ้น
  • การศึกษาผลของสารสกัดจากโสมอเมริกันต่อการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในหนูทดลอง โดยให้หนูกินสารสกัดนี้ติดต่อกัน 4 สัปดาห์ แล้วให้กินอาหารปกติต่ออีก 8 สัปดาห์ จากนั้นจึงทำการการุณยฆาตหนู แล้วทำการแยกเซลล์ภูมิคุ้มกันทั้ง 5 ชนิด ได้แก่ Lymphocytes, Nucleated Erythroid Cells, Granulocytes, Immature Granuloid Precursors และ Monocytes จากไขกระดูก ม้าม และเลือดออกมาวิเคราะห์ พบว่าสารสกัดจากโสมอเมริกันช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายได้เป็นอย่างดี
  • การศึกษาฤทธิ์ป้องกันตับเสียหายด้วยโสมอเมริกัน โดยป้อนสารสกัดโสมอเมริกา ให้แก่หนูทดลองติดต่อกัน 7 วัน แล้วป้อนยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) ขนาด 250 มก./กก. เพื่อเหนี่ยวนำให้ตับเกิดความเสียหาย จากผลการศึกษาพบว่า การป้อนสารสกัดโสมอเมริกาป้องกันความเสียหายของตับจากยาอะเซตามิโนเฟนได้ โดยมีกลไกในการต้านออกซิเดชันยับยั้งการตายของเซลล์และต้านการอักเสบ

ข้อควรระวังในการรับประทานโสม

  • การรับประทานโสมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น นอนไม่หลับ เป็นต้น ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับ ควรรับประทานโสมด้วยความระมัดระวัง
  • ผู้ที่กำลังตั้งครรภ์หรือผู้ที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสม เพราะยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าการรับประทานโสมในช่วงให้นมบุตรหรือตั้งครรภ์จะส่งผลให้เกิดอันตรายต่อมารดาหรือทารกหรือไม่
  • ผู้ที่มีภาวะเลือดออกผิดปกติ หรือรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด ไม่ควรรับประทานโสม เพราะโสมมีฤทธิ์ต้านการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด จึงทำให้เลือดหยุดไหลช้า เกิดแผลฟกช้ำ หรือเลือดออกได้ง่าย
  • ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจไม่ควรรับประทานโสม เนื่องจากโสมอาจส่งผลต่อการเต้นของหัวใจและความดันโลหิตได้เล็กน้อย
  • การรับประทานโสมร่วมกับยารักษาเบาหวานหรืออินซูลินอาจส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้นผู้ที่รับประทานยารักษาเบาหวานจึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสมพร้อมกับยา
  • การรับประทานโสมร่วมกับยากดภูมิคุ้มกัน อาจไปกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน และลดประสิทธิภาพและการทำงานของยาได้ ดังนั้นผู้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานโสมพร้อมกับยา

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
สูตรอาหารเสริม รวมสารสำคัญ 9 ชนิด สำหรับ เบาหวาน น้ำตาลในเลือดสูง ความดัน ไขมัน

ซื้อผ่าน HD ประหยัดกว่า / ราคาพิเศษสำหรับ นศ. / ผ่อน 0% / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ฤทธิ์ป้องกันตับเสียหายของสารสกัดซาโปนินจากใบโสมอเมริกัน, 2560.
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ฤทธิ์ต้านภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันของสารซาโปนินจากดอกชั่งชิก, 2559.
สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของโสมอเมริกัน, 2555

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป