ภาวะเลือดออกง่าย เกิดจากการความผิดปกติในกระบวนการแข็งตัวของเลือด (Coagulation) เมื่อคุณได้รับบาดเจ็บ มีเลือดออก ร่างกายจะเริ่มกระบวนการแข็งตัวของเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้คุณเสียเลือดมากเกินไป แต่ในบางกรณี สภาวะหรือโรคบางอย่างอาจไปขัดขวางกระบวนการแข็งตัวของเลือด จึงทำให้เลือดออกมากกว่าปกติ และเลือดหยุดไหลยาก
ภาวะเลือดออกง่ายสามารถเกิดได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย ความผิดปกติบางชนิดอาจทำให้เกิดเลือดออกใต้ผิวหนัง หรือเลือดออกภายในอวัยวะที่มีความสำคัญ เช่น เลือดออกในสมอง เป็นต้น
อาการของภาวะเลือดออกง่าย
อาการของภาวะเลือดออกง่ายจะแตกต่างกันขึ้นกับสาเหตุของการเกิดโรค โดยอาการหลักที่สามารถพบได้ มีดังต่อไปนี้
- เลือดออกผิดปกติ เลือดออกง่าย
- ประจำเดือนมามากผิดปกติ
- เลือดกำเดาไหลบ่อยครั้ง
- มีเลือดจำนวนมากไหลออกมากจากแผลขนาดเล็ก หรือจากการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย
- มีเลือดออกในข้อ
สาเหตุของภาวะเลือดออกง่าย
ในกระบวนการแข็งตัวของเลือด ร่างกายจำเป็นต้องใช้โปรตีนภายในเลือดที่เรียกว่า โปรตีนหรือปัจจัยช่วยในการแข็งตัวของเลือด (Clotting Factors) และเซลล์เกล็ดเลือด (Platelets)
ตามปกติแล้วเกล็ดเลือดจะมาเกาะกลุ่มกันเป็นก้อนบริเวณเส้นเลือดที่ได้รับความเสียหาย หรือได้รับบาดเจ็บเพื่อห้ามเลือดในขั้นแรก จากนั้นโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดจะเข้ามาทำงานพร้อมๆ กัน และก่อตัวเป็นเส้นใยไฟบริน (Fibrin) ซึ่งจะเสริมความแข็งแรงของก้อนเกล็ดเลือดที่จับกันอยู่ จึงช่วยป้องกันให้เลือดหยุดไหลได้
หากโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดและเกล็ดเลือดไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ หรือมีปริมาณไม่เพียงพอจนทำให้เลือดไม่แข็งตัว จะส่งผลให้เลือดออกมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะเลือดออกที่เกิดขึ้นเอง (Spontaneous) หรือเลือดออกเฉียบพลัน (Sudden) ในกล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือในส่วนอื่นๆ ของร่างกาย
สาเหตุหลักของภาวะเลือดออกง่ายมาจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ซึ่งถ่ายทอดจากพ่อแม่มายังลูก แต่ก็สามารถพบจากสาเหตุอื่นๆ ได้อีก เช่น
- เซลล์เม็ดเลือดแดงต่ำ
- การขาดวิตามินเค
- เกิดจากผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Anticoagulants)
ชนิดของภาวะเลือดออกง่าย
ภาวะเลือดออกง่าย สามารถแบ่งได้หลายชนิด แต่ชนิดที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ฮีโมฟีเลียเอ และ บี (Hemophilia A and B) ผู้ป่วยจะมีโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดน้อยกว่าปกติ เป็นสาเหตุที่ทำให้เลือดออกในปริมาณมากหรือเลือดออกผิดปกติในข้อ โรคนี้สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อชีวิตได้
- การขาดโปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือด ได้แก่ Factor 2, 5, 7, 10 หรือ 12 (Factor II, V, VII, X or XII deficiencies) ซึ่งเป็นภาวะเลือดออกง่ายชนิดหนึ่ง ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาในการแข็งตัวของเลือด และมีเลือดออกผิดปกติ
- โรควอนวิลลิแบรนด์ (Von Willebrand's disease) เป็นภาวะเลือดออกง่ายชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อยที่สุด เกิดจากร่างกายขาดโปรตีน (แฟคเตอร์) วอนวิลลิแบรนด์ ซึ่งเป็นปัจจัยช่วยในการแข็งตัวของเลือดชนิดหนึ่ง
การวินิจฉัยภาวะเลือดออกง่าย
ในการวินิจฉัยภาวะเลือดออกง่าย แพทย์จะซักประวัติอาการ ประวัติทางการแพทย์ของคุณ และทำการตรวจร่างกายให้ โดยแพทย์อาจจะถามคำถามเหล่านี้ เพื่อช่วยให้การวินิจฉัยเป็นไปโดยง่ายขึ้น
- โรคหรือสภาวะความเจ็บป่วยที่คุณกำลังเป็นอยู่ในขณะนี้
- ยา อาหารเสริม สมุนไพร ที่กำลังใช้อยู่ในขณะนี้
- ประวัติการหกล้ม หรือได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ
- คุณมีอาการเลือดออกบ่อยครั้งเพียงใด
- เลือดออกแต่ละครั้งกินเวลานานเท่าใด
- คุณกำลังทำอะไรอยู่ก่อนที่จะเกิดอาการเลือดออก
แพทย์อาจให้คุณเจาะเลือดตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อมูลเพียงพอสำหรับการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง ดังนี้
- การตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด (Complete Blood Count (CBC)) : เป็นการวัดปริมาณเซลล์เม็ดเลือดแดงและเซลล์เม็ดเลือดขาวภายในร่างกาย
- การทดสอบการเกาะกลุ่มกันของเกล็ดเลือด (Platelet Aggregation Test) : เป็นการตรวจดูว่าเกล็ดเลือดสามารถเกาะกลุ่มกันได้เป็นปกติหรือไม่
- การวัดระยะเวลาตั้งแต่เลือดไหลจนหยุดไหล (Bleeding Time Test) : เป็นการวัดความเร็วในการแข็งตัวของเลือดเพื่อหยุดการไหลของเลือด
การรักษาภาวะเลือดออกง่าย
การรักษาภาวะเลือดออกง่าย ขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค แม้จะไม่สามารถรักษาภาวะนี้ให้หายขาดได้ แต่ก็ช่วยบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคได้ ด้วยวิธีการดังนี้
- การให้ธาตุเหล็กเสริม : แพทย์อาจสั่งธาตุเหล็กเสริมเพื่อชดเชยปริมาณธาตุเหล็กในร่างกายที่สูญเสียไปในกรณีที่มีเลือดออกมาก เพื่อป้องกันการเกิดภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก (Iron Deficiency Anemia) ซึ่งจะทำให้คุณมีอาการอ่อนเพลีย อ่อนแรง และเวียนศีรษะ
- การให้เลือดทดแทน (Blood Transfusion) : เป็นการรับเลือดจากผู้บริจาคเพื่อทดแทนเลือดที่สูญเสียไปจากร่างกาย ซึ่งต้องเป็นเลือดกรุ๊ปที่เข้ากันได้กับผู้รับเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
- การรักษาอื่นๆ : ภาวะเลือดออกบางภาวะ อาจรักษาด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์ทาบนผิวหนังหรือสเปรย์พ่นทางจมูก ส่วนภาวะเลือดออกชนิดฮีโมฟีเลียจะรักษาด้วยการให้โปรตีนช่วยในการแข็งตัวของเลือดทดแทน ซึ่งจะช่วยป้องกันการเกิดเลือดออกและควบคุมไม่ให้เกิดเลือดออกอย่างรุนแรงได้
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดจากภาวะเลือดออก
ภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเลือดออกส่วนใหญ่สามารถป้องกันได้ หรือสามารถควบคุมได้ด้วยการรักษา โดยภาวะแทรกซ้อนจากภาวะเลือดออกง่ายที่พบได้บ่อย ได้แก่
- เลือดออกในลำไส้
- เลือดออกในสมอง
- เลือดออกในข้อ
- ปวดข้อ
ผู้หญิงที่มีภาวะเลือดออกง่าย มักจะพบการมีประจำเดือนมากผิดปกติ ที่อาจทำให้เกิดโรคโลหิตจาง จึงทำให้มีอาการอ่อนเพลีย หายใจหอบเหนื่อย หายใจถี่ และเวียนศีรษะ ส่วนผู้หญิงที่เป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) อาจมีภาวะเลือดออกมากโดยไม่ทันได้สังเกต เพราะเลือดที่ออกนั้นถูกซ่อนอยู่ภายในช่องท้องหรือบริเวณอุ้งเชิงกราน
ดังนั้น หากพบอาการใดๆ ของภาวะเลือดออกง่าย ให้รีบไปพบแพทย์ทัน เพื่อรีบทำการรักษาและป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
ที่มาของข้อมูล
April Kahn, Bleeding Disorders (https://www.healthline.com/health/bleeding-disorders), February 26, 2018.