กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised anxiety disorder หรือ GAD) คืออะไร?

ความหมายของโรควิตกกังวลทั่วไป อาการ วิธีรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 7 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 4 ม.ค. 2021 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised anxiety disorder หรือ GAD) คืออะไร?

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • โรควิตกกังวล เป็นโรคที่ผู้ป่วยจะเกิดความวิตกกังวลในเรื่องบางอย่าง และไม่สามารถปล่อยวางได้ จนเกิดอาการป่วยทั้งทางกาย และทางใจตามมา เช่น ใจสั่น ปวดศีรษะ เหงื่อออกมาก หายใจเร็ว กังวลถึงเรื่องที่ยังมาไม่ถึง
  • โรควิตกกังวลสามารถส่งต่อได้ทางพันธุกรรม หากมีพ่อแม่เป็นโรควิตกกังวลมาก่อน ก็มีความโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคนี้ด้วย หรือโรควิตกกังวลก็อาจเกิดได้จากการเลี้ยงดูลูกไม่เหมาะสม ทำให้เด็กกดดัน รู้สึกกลัวการถูกตำหนิ จนเกิดความวิตกกังวลสะสม และกลายเป็นโรคตามมา
  • การรักษาโรควิตกกังวลสามารถรักษาได้ผ่านการรับประทานยาแก้เศร้า ยาคลายกังวล ร่วมกับการทำจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด และพฤติกรรมที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจปรึกษาสุขภาพจิต

นอกจากโรคซึมเศร้าที่เป็นโรคทางจิตเวชซึ่งหลายคนน่าจะเคยได้ยิน และรู้จักกันมาบ้าง ยังมีอีกโรคที่คนยุคปัจจุบันกำลังเผชิญ และมีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งมักเป็นโรคที่เกิดขึ้นควบคู่กับโรคซึมเศร้าด้วย นั่นก็คือ โรควิตกกังวล

ความหมายของโรควิตกกังวล

โรควิตกกังวลทั่วไป (Generalised anxiety disorder: GAD) เป็นโรคในกลุ่มวิตกกังวลชนิดหนึ่ง โดยปกติเมื่อเราต้องเจอกับสถานการณ์ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวล เมื่อเหตุการณ์นั้นคลี่คลาย ความวิตกกังวลก็จะหายไป 

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง

แต่ผู้ป่วยโรควิตกกังวลมักจะไม่สามารถปรับตัวกับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และยังคงมีความวิตกกังวลเรื่องเดิมวนเวียนอยู่ในความคิดจนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ไม่มีสมาธิในการทำงาน ความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานแย่ลง รวมทั้งอาจมีอาการทางกาย เช่น ใจสั่น นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ

อาการของโรควิตกกังวลทั่วไป

อาการของโรควิตกกังวล แบ่งเป็นอาการทางกาย และอาการทางความคิด ดังนี้

  • อาการทางกาย เกิดจากการตอบสนองทางระบบประสาทอัตโนมัติมากเกินไป เช่น เหงื่อออกมากผิดปกติ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใจสั่น หายใจเร็ว หายใจไม่ทั่วท้อง ปวดท้อง และท้องไส้ปั่นป่วน โดยมักจะมีอาการเฉพาะเวลาที่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดความวิตกกังวล
  • อาการทางความคิด มักคิดเรื่องเดิมๆ เป็นเวลานาน หรือมีความกังวลล่วงหน้าถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง บางคนจะรู้สึกด้วยว่า ตนเองจะต้องเผชิญกับสิ่งแลวร้าย หรือผลลัพธ์ในทางลบภายในอนาคตอันใกล้อย่างแน่นอน

โดยอาการทั้งทางกาย และทางความคิดที่เกิดขึ้นนั้นมีความสัมพันธ์กัน เมื่อเกิดอาการทางความคิดก็จะมีอาการทางร่างกายตามมา และเมื่อมีอาการทางกายผู้ป่วยก็จะมีอาการทางความคิดความกังวลเพิ่มขึ้น จนทำให้ไม่สามารถควบคุมให้อาการสงบ หรือไม่สามารถหยุดความคิดนั้นได้

สาเหตุของโรควิตกกังวลทั่วไป

โรควิตกกังวลทั่วไปเกิดขึ้นได้จาก 2 ปัจจัย คือ

  • ปัจจัยทางพันธุกรรม ซึ่งเป็นเรื่องของการถ่ายทอดพื้นฐานทางอารมณ์ โดยหากพ่อแม่มีพื้นฐานอารมณ์ทางลบ เครียดง่าย มีความเก็บกดทางอารมณ์ความรู้สึก ลูกก็มักจะได้รับพื้นฐานทางอารมณ์ที่คล้ายกัน ทำให้กลายเป็นเด็กที่เก็บกด เครียดง่าย  และมีภาวะวิตกกังวลได้ง่าย
  • ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม มีความเกี่ยวข้องกับวิธีการเลี้ยงดู โดยหากพ่อแม่ที่มักดุด่า ตำหนิลูก ไม่ให้กำลังใจ ไม่มีการชมเชยเมื่อเด็กทำดี หรือเลี้ยงดูด้วยการบังคับให้เดินตามกรอบของพ่อแม่ ก็อาจส่งผลให้เด็กรู้สึกกดดัน ไม่กล้าแสดงออก และเกิดภาวะวิตกกังวลได้ง่าย

การวินิจฉัยโรควิตกกังวลทั่วไป

โรคกังวลทั่วไปยังไม่มีการทดสอบที่ใช้สำหรับวินิจฉัยผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะ เช่นเดียวกับโรคเกี่ยวกับความวิตกกังวลอื่นๆ ที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน 

โดยแพทย์จะเริ่มจากการสอบถามอาการ และตรวจร่างกาย จากนั้นอาจมีการตรวจเลือดเพื่อให้แน่ใจว่า อาการที่เกิดขึ้นมาจากโรควิตกกังวล หรือโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันกันแน่

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

การวินิจฉัยโรควิตกกังวลทั่วไปจะเป็นการประเมินอาการทางร่างกาย และจิตใจเป็นหลัก เช่น 

  • รู้สึกกระวนกระวายบ่อยๆ
  • เหนื่อยง่าย เหงื่อออกมากเมื่อรู้สึกกังวล
  • หายใจถี่
  • ปวดศีรษะบ่อยๆ 
  • ไม่มีสมาธิ หรือคิดอะไรไม่ออก
  • หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
  • กล้ามเนื้อตึง
  • มีปัญหาในการนอนหลับ

อาการแสดงของโรคนี้จะรุนแรงมากพอที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และอาการที่เกิดขึ้นต้องไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้สารเสพติดหรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ

การรักษาโรควิตกกังวลทั่วไป

วิธีการรักษาที่ได้ผลดีต่อผู้ป่วยโรคนี้ มักเป็นการรักษาด้วยยาร่วมกับการทำจิตบำบัด

1. การรักษาด้วยยา

  • ยาต้านเศร้า (Antidepressant) ที่นิยมใช้คือยากลุ่มที่ออกฤทธิ์กับสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าเซโรโทนิน (Serotonin) เช่น ยาฟลูออกซิทีน (Fluoxetine) และ ยาเซอร์ทราลีน (Sertraline) โดยยากลุ่มนี้จะออกฤทธิ์ช้า และมักเห็นผลหลังจากใช้ยาไปแล้วเป็นเวลา 2 สัปดาห์
  • ยาคลายกังวล (Anxiolytic) เช่น ยาอัลปราโซแลม (Alprazolam) โคลนาซีแพม (Clonazepam) หรือลอราซีแพม (Lorazepam) ซึ่งมักออกฤทธิ์ทันที ช่วยลดการตื่นตัวของระบบประสาท และช่วยให้นอนหลับ แพทย์จึงมักให้ผู้ป่วยใช้ยากลุ่มนี้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกของการรักษา

2. การทำจิตบำบัด 

การรักษาเชิงจิตบำบัดที่นิยมใช้กับผู้ป่วยโรควิตกกังวลทั่วไป ได้แก่

  • การเผชิญหน้ากับสิ่งเร้าอย่างเป็นขั้นตอน (Systematic desensitization) โดยเริ่มจากสิ่งเร้าที่กังวลน้อยไปสู่สิ่งเร้าที่กังวลมากอย่างค่อยเป็นค่อยไป
  • การฝึกควบคุมกล้ามเนื้อและควบคุมการหายใจ (Bio feedback) เพื่อป้องกันไม่ให้ระบบประสาทอัตโนมัติตอบสนองต่อความวิตกกังวลรวดเร็วเกินไป 
  • การปรับความคิดเพื่อปรับพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เพื่อขจัดความคิดเชิงลบที่เป็นสาเหตุของความวิตกกังวลคิดว่าตนเองอาจเป

โรควิตกกังวลทั่วไปเป็นโรคที่ควบคุม และบรรเทาอาการให้ดีขึ้นได้ หากคุณสังเกตอาการผิดปกติดังที่กล่าวมาข้างต้น ควรปรึกษาแพทย์และรับการตรวจรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิต และทำกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเป็นปกติ

เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจปรึกษาสุขภาพจิต จากคลินิกและโรงพยาบาลใกล้คุณ และไม่พลาดทุกอัปเดตเรื่องสุขภาพและโปรโมชั่นเมื่อกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


39 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
วิธีการจัดการกับโรควิตกกังวล
วิธีการจัดการกับโรควิตกกังวล

คุณสามารถควบคุมโรคนี้ได้หากได้รับความช่วยเหลือ

อ่านเพิ่ม
แนวทางการวินิจฉัยโรควิตกกังวลตาม DSM5
แนวทางการวินิจฉัยโรควิตกกังวลตาม DSM5

อาการของโรคนี้คืออะไรแล้วจะใช้การประเมินอย่างไร?

อ่านเพิ่ม