เกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia) คือภาวะที่เลือดมีปริมาณเกล็ดเลือดน้อยกว่า 150,000 เซลล์/ไมโครลิตร โดยปกติเกล็ดเลือดจะปริมาณปกติอยู่ระหว่าง 150,000 – 450,000 เซลล์/ไมโครลิตร เกล็ดเลือดมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการแข็งตัวของเลือด และการห้ามเลือดเมื่อเกิดบาดแผล ดังนั้นหากร่างกายเรามีเกล็ดเลือดต่ำ ก็มักส่งให้เกิดความผิดปกติมากมาย เช่น เลือดหยุดไหลช้า มีเลือดออกใต้ผิวหนัง ไปจนถึงมีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะภายในด้วย
สาเหตุของเกล็ดเลือดต่ำ
เกล็ดเลือดจะสร้างขึ้นในไขกระดูกและไหลเวียนในกระแสเลือดอยู่ประมาณ 10 วัน จากนั้นจึงส่งไปทำลายที่ม้าม ดังนั้นการมีเกล็ดเลือดต่ำจึงเกิดได้จาก 2 สาเหตุใหญ่ๆ คือ มีการสร้างเกล็ดเลือดน้อยลง และมีการทำลายเกล็ดเลือดมากเกินไป
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
สาเหตุที่ทำให้การสร้างเกล็ดเลือดน้อยลง ได้แก่
- ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไข้เลือดออก อีสุกอีใส หัดเยอรมัน ไวรัสตับอักเสบ
- เป็นโรคไขกระดูกฝ่อ (Aplastic anemia) ทำให้ไขกระดูกสร้างเม็ดเลือดทุกชนิดได้ลดลง กรณีนี้พบได้น้อยมาก
- เป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
- การใช้ยาเคมีบำบัด และการฉายรังสีรักษามะเร็ง
- การสัมผัสกับสารเคมีบางอย่างในปริมาณมาก เช่น เบนซิน ทำให้เซลล์ในไขกระดูกผิดปกติ
- การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักซึ่งไปยับยั้งการสร้างเกล็ดเลือด
- การขาดสารอาหาร เช่น ธาตุเหล็ก วิตามิน บี 12 และโฟเลท
สาเหตุที่ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลาย (หรือถูกใช้) มากเกินไป ได้แก่
- เกิดความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น เป็นโรคภูมิต้านทานตนเอง (Autoimmune Diseases) โรค Lupus หรือโรค Immune Thrombocytopenia ทำให้ภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเกล็ดเลือดเหมือนเป็นสิ่งแปลกปลอม
- เป็นผลจากยาบางชนิด เช่น ยาปฏิชีวนะ Vancomycin ยา quinine ต้านมาลาเรีย และยา heparin ที่ใช้ป้องกันลิ่มเลือดอุดตัน เป็นต้น
- การผ่าตัดใหญ่ เช่น ผ่าตัดบายพาส ทำให้เกล็ดเลือดปริมาณมากถูกใช้ในการสมานแผล
- การตั้งครรภ์ ซึ่งภาวะเกล็ดเลือดต่ำนั้นพบได้บ้าง โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ
อาการของเกล็ดเลือดต่ำ
หากเรามีเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อย (ไม่น้อยกว่า 150,000 เซลล์/ไมโครลิตร) ร่างกายมักไม่มีความผิดปกติใดๆ แต่หากปริมาณเกล็ดเลือดต่ำลงในระดับที่ทำให้หน้าที่การห้ามเลือดสูญเสียไป ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการดังต่อไปนี้
- เกิดจุดเลือดเล็กๆ สีแดง หรือม่วง กระจายอยู่ใต้ผิวหนัง โดยกดแล้วจะไม่จางลง
- เกิดรอยฟกช้ำได้ง่าย โดยบางครั้งไม่ทราบสาเหตุ
- มีเลือดออกมากเมื่อเกิดบาดแผล แม้จะเป็นแค่แผลเล็กๆ ก็ตาม และเลือดมักหยุดไหลช้า
- มีเลือดออกจากโพรงจมูก หรือเหงือก
- หากเกล็ดเลือดต่ำมากๆ อาจมีเลือดออกมาในปัสสาวะ อุจจาระ หรือถ่ายเป็นสีดำได้
- เลือดออกตามไรฟัน
อันตรายจากเกล็ดเลือดต่ำ
นอกจากเลือดหยุดไหลช้าและเกิดเลือดออกใต้ผิวหนังแล้ว การที่เกล็ดเลือดต่ำมาก (น้อยกว่า 50,000 เซลล์/ไมโครลิตร) อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ เช่น
- เกิดเลือดออกในสมอง ทำให้มีอาการเวียนหัว ปวดศีรษะ และการทำงานของระบบประสาทผิดปกติ
- มีเลือดออกตามเยื่อบุอวัยวะภายใน เช่น กระเพาะอาหาร ทำให้อวัยวะต่างๆ ผิดปกติไปด้วย
- มีเลือดออกในร่างกายมากจนความดันโลหิตต่ำ และอาจเกิดภาวะช็อกได้
การตรวจปริมาณเกล็ดเลือด
โดยทั่วไปการตรวจปริมาณเกล็ดเลือด จะใช้การเจาะเลือดมาตรวจ Complete blood count (CBC) เพื่อวัดจำนวนเกล็ดเลือด เม็ดเลือดแดง และเม็ดเลือดขาว เทียบกับเลือดปริมาตร 1 ไมโครลิตร ร่วมกับการตรวจ Blood smear เพื่อดูลักษณะรูปร่างของเกล็ดเลือดว่า มีการกระจายตัวปกติหรือไม่
การรักษาภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- การดูแลร่างกายตัวเอง หากปริมาณเกล็ดเลือดต่ำเพียงเล็กน้อยและไม่ส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพ เราสามารถใช้วิธีเพิ่มเกล็ดเลือดให้ตัวเองได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็ก วิตามิน บี 12 และโฟเลตสูง เช่น ผักใบเขียว เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ เพื่อช่วยให้ไขกระดูกสร้างเซลล์เม็ดเลือดทุกชนิดได้มากขึ้น รวมถึงอาหารที่มีวิตามิน เค สูง อย่างผักใบเขียวต่างๆ ซึ่งช่วยกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ร่วมกับการออกกำลังกายเป็นประจำ และพักผ่อนให้เพียงพอด้วย
- การรักษาด้วยยา ชนิดของยาที่ใช้ขึ้นอยู่กับสาเหตุของภาวะเกล็ดเลือดต่ำ เช่น
- หากเกิดการอักเสบ หรือการติดเชื้อ ทำให้เกล็ดเลือดถูกทำลายมาก อาจใช้ยากลุ่ม corticosteroids ทั้งชนิดทานและฉีด เช่น ยา Prednisone
- หากเกิดการทำลายเกล็ดเลือดจากภูมิคุ้มกันตัวเอง อาจต้องฉีดสาร Immunoglobulins หรือ Rituximab เพื่อยับยั้งระบบภูมิคุ้มกัน
- หากร่างกายสร้างเกล็ดเลือดได้น้อยลง อาจฉีดยากระตุ้นการสร้างเกล็ดเลือด เช่น ยา Eltrombopag และยา Romiplostim
- การให้เกล็ดเลือด หากมีเกล็ดเลือดต่ำมาก ถือเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องให้เกล็ดเลือดชดเชยโดยด่วน รวมถึงหากมีเลือดออกมากก็ต้องให้เลือดชดเชยเพื่อป้องกันภาวะร่างกายเสียเลือดด้วย การรักษาโดยการให้เลือดและเกล็ดเลือดนั้นสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลทั่วไป แต่หากโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีเลือดและเกล็ดเลือดหมู่ที่เข้ากันได้กับผู้ป่วย โรงพยาบาลก็จะส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น
- การผ่าตัดม้าม หากรักษาด้วยยาแล้วไม่ได้ผล หรือผู้ป่วยมีภาวะ Immune Thrombocytopenia ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดม้ามเพื่อลดการทำลายเกล็ดเลือด ซึ่งวิธีนี้อาจทำให้ร่างกายติดเชื้อโรคง่ายขึ้นด้วย
การป้องกันภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายอยู่แล้ว
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีเป็นประจำ เช่น เบนซิน และสารกำจัดศัตรูพืช
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ทำให้มีเลือดออกง่ายโดยไม่จำเป็น เช่น ยาแอสไพริน
- รับประทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 12 โฟเลต และธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ ไข่ ผักใบเขียว รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำและพักผ่อนให้เพียงพอด้วย