กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

Cyproheptadine Hydrochloride (ไซโปรเฮปทาดีน ไฮโดรคลอไรด์)

เผยแพร่ครั้งแรก 13 ส.ค. 2018 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที

ไซโปรเฮปทาดีน ไฮโดรคลอไรด์ (Cyproheptadine hydrochloride) เป็นยาต้านอาการแพ้ในกลุ่ม ยาต้านฮิสตามีน ในรุ่นที่ 1 นอกจากฤทธิ์การยับยั้งฮิสตามีนแล้ว ยาไซโปรเฮปทาดีนยังมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของอะเซทิลโคลีน (ให้ฤทธิ์ Anticholinergic ส่งผลให้เกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยา ได้แก่ ปากแห้ง คอแห้ง ตาพร่า ปัสสาวะขัด ท้องผูก) แม้ว่าข้อบ่งใช้ในการรักษาอาการแพ้ของไซโปรเฮปทาดีนจะเป็นข้อบ่งใช้เดียวที่ได้รับการอนุมัติ แต่ในปัจจุบันมีการนำ ไซโปรเฮปทาดีนมาใช้กับโรคไมเกรน เนื่องจากมีฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเซโรโทนิน โดยยับยั้งที่ตัวรับเซโรโทนิน 5-HT2A 

นอกจากนี้แล้วจากการศึกษาทางคลินิกพบว่า ผลข้างเคียงหนึ่งของยา คือ ทำให้น้ำหนักตัวของกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น (จากการศึกษาที่มีกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กที่เป็นโรคหืด) จึงมีการนำไซโปรเฮปทาดีนมาใช้เพื่อกระตุ้นการเจริญอาหาร

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ไซโปรเฮปทาดีน ไฮโดรคลอไรด์มีการออกฤทธิ์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ยับยั้งการทำงานของฮิสตามีน อะเซทิลโคลีน เซโรโทนิน และคุณสมบัติการปิดกั้นช่องแคลเซียม (Calcium channel blocker) ในเซลล์ ฤทธิ์ในการต้านฮิสตามีนนั้นออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับฮิสตามีน ชนิด H1 แบบแข่งขันที่ระบบทางเดินอาหาร หลอดเลือด และทางเดินหายใจ 

ไซโปรเฮปทาดีน ไฮโดรคลอไรด์ ถูกจัดเป็นยาอันตรายในประเทศไทย ตามการจำแนกโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มีวางจำหน่ายในรูปแบบยาเม็ด รู้จักดีในชื่อการค้า PERIACTIN® ซึ่งมีตัวยาสำคัญ คือ Cyproheptadine hydrochloride ขนาด 4 มิลลิกรัม ชื่อการค้าอื่นที่มีวางจำหน่ายในประเทศไทย เช่น Anpro® Cycodine® Cyprocap® Cyprogin® Cyprosian® Cyprotec® เป็นต้น

ข้อบ่งใช้ของ Cyproheptadine hydrochloride

  • รักษาอาการแพ้
  • ป้องกันการเกิดไมเกรน (ไม่ใช่ข้อบ่งใช้บนฉลาก)
  • กระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง (ไม่ใช่ข้อบ่งใช้บนฉลาก)
  • รักษาภาวะกลุ่มอาการเซโรโทนิน จากการที่มีระดับเซโรโทนินสูงเกิน (ไม่ใช่ข้อบ่งใช้บนฉลาก; off-label)

ขนาดและวิธีการใช้ยา Cyproheptadine hydrochloride 

  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษาอาการแพ้ ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 4 มิลลิกรัม ทุก 8 ชั่วโมง ขนาดยาในระยะรักษา 4-20 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถให้ยาได้ถึง 32 มิลลิกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานทุก 8 ชั่วโมงในผู้ป่วยบางราย ขนาดยาสูงสุดไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม ต่อวัน
  • ข้อบ่งใช้สำหรับป้องกันการเกิดไมเกรน (ข้อบ่งใช้นี้ไม่ใช้ข้อบ่งใช้บนฉลาก) ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 2 มิลลิกรัม ทุก 12 ชั่วโมง โดยสามารถใช้ร่วมกับโพรพาโนลอล (Propranolol) หรือไม่ก็ได้
  • ข้อบ่งใช้สำหรับกระตุ้นความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคมะเร็ง (ข้อบ่งใช้นี้ไม่ใช่ข้อบ่งใช้บนฉลาก) ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาด 2 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นปรับขนาดยาเป็น 4 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง
  • ข้อบ่งใช้สำหรับรักษากลุ่มอาการเซโรโทนิน (ข้อบ่งใช้นี้ไม่ใช่ข้อบ่งใช้บนฉลาก) ยาในรูปแบบยารับประทาน ขนาดการใช้ยาในผู้ใหญ่ ขนาดเริ่มต้น 12 มิลลิกรัม จากนั้นปรับขนาดยาเหลือ 2 มิลลิกรัม ทุก 2 ชั่วโมง หรือ 4-8 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง

ผลข้างเคียงของยา Cyproheptadine hydrochloride

ผลข้างเคียงอันไม่พึงประสงค์จากการใช้ Cyproheptadine hydrochloride ได้แก่ 

  • ก้าวร้าว 
  • วิตกกังวล 
  • ความอยากอาหารผิดปกติ 
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ 
  • เพิ่มความเหนียวของสารคัดหลั่งที่ถุงลม 
  • แน่นหน้าอก 
  • หนาวสั่น 
  • สับสน มึนงง
  • ท้องผูก ท้องเสีย 
  • ปากแห้ง คอแห้ง 
  • อ่อนแรง เห็นภาพหลอน 
  • การทำงานของตับผิดปกติ 
  • ความดันโลหิตต่ำ 
  • ปวดเส้นประสาท 
  • บวมน้ำ 
  • อาการชัก 

ข้อควรระวังของยา Cyproheptadine hydrochloride

  • ยา Cyproheptadine hydrochloride ในรูปแบบยารับประทาน ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม category B ตามดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์ (Pregnancy Safety Index) ยาค่อนข้างมีควรปลอดภัยกับทารกในครรภ์ แต่อย่างไรก็ตามการใช้ยานี้ในสตรีมีครรภ์ควรพิจารณาถึงประโยชน์ที่ผู้ป่วยจะได้รับจากการใช้ยาว่ามีมากกว่าความเสี่ยง
  • ห้ามใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคต้อหินมุมแคบ ต่อมลูกหมากโต หรือผู้ที่ใช้ยา MAOI ในการรักษาอยู่
  • ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้ในเด็กแรกเกิด เด็กเล็ก และสตรีให้นมบุตร 
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง และโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีความดันในลูกตาสูง
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยโรคหืด หรือโรคทางเดินหายใจเรื้อรังอื่นๆ
  • ควรระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไทรอยด์
  • ยานี้ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานที่ใช้การประสานกันของร่างกาย อาจส่งผลให้เกิดอาการง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการทำงานที่ใช้เครื่องจักร หรือการขับขี้ยานพาหนะหลังใช้ยา
  • ไม่ควรใช้ยา Cyproheptadine hydrochloride ร่วมกับยาในกลุ่ม Mono Amine Oxidase Inhibitor ได้แก่ Isocarboxazid Phenelzine Selegiline และ Tranylcypromine เนื่องจากยาเหล่านี้อาจเสริมฤทธิ์การยับยั้งการทำงานของอะเซทิลโคลีน ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้
  • ไม่ควรใช้ยานี้ร่วมกันกับแอลกอฮอล์ เนื่องจากยาเสริมฤทธิ์การกดระบบประสาทส่วนกลาง


4 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน ผู้อ่านไม่ควรเลือกใช้ยาเองจากการอ่านบทความ ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง เพราะแต่ละท่านอาจมีสาเหตุของโรค โรคประจำตัว และประวัติการรักษาที่ต่างกัน ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)