คุณแม่ที่เพิ่งเริ่มตั้งครรภ์ใหม่ๆ ทราบหรือไม่ว่า ลูกน้อยในครรภ์ของคุณแม่นั้นมีพัฒนาการอย่างไรนับตั้งแต่วันเริ่มปฏิสนธิ วันนี้เราจะแนะนำให้คุณแม่ทราบถึงการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตลอด 9 เดือนในการตั้งครรภ์ค่ะ สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเดือนแรกนี้ก็คือ ลูกของเรายังเป็นแค่ตัวอ่อนค่ะ ซึ่งจะมีขนาดเท่าเมล็ดข้าว รูปร่างก็คล้ายๆ ลูกอ๊อด แต่หลังจากนั้น 2 สัปดาห์ (หลังปฏิสนธิ) ตัวอ่อนก็จะเริ่มสร้างเนื้อเยื่อ ระบบประสาท หัวใจ ทางเดินอาหาร อวัยวะสัมผัส และแขนขา นั้นหมายความว่า หัวใจดวงน้อยๆ ของลูกในครรภ์ของเรา เริ่มต้นตั้งแต่ 14 วันแรกนับจากวันที่อสุจิเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ของคุณแม่แล้วค่ะ
สำหรับการดูแลครรภ์ในช่วงเดือนแรก สิ่งที่คุณแม่ควรจะต้องทำอันดับแรกคือ การฝากครรภ์ ซึ่งในการฝากครรภ์นี้จะมีการซักถามประวัติสุขภาพและตรวจร่างกายโดยละเอียด ซึ่งต่างจากตรวจสุขภาพทั่วๆ ไป ในการฝากครรภ์นี้คุณแม่สามารถสอบถามสิ่งต่างๆ ที่สงสัยและข้อควรปฏิบัติตัวกับคุณหมอได้ทุกเรื่องค่ะ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
ความเปลี่ยนแปลงเมื่อเริ่มตั้งครรภ์ที่สามารถสังเกตุได้
ในช่วงเดือนแรกนี้ คุณแม่มือใหม่บางคนอาจมีอาการประจำเดือนไม่มาตามกำหนด บางคนมีเลือดออกเพียงเล็กน้อย เหนื่อยง่ายหรือหายใจลำบากซึ่งสัมพันธ์กับอายุครรภ์ที่มากขึ้น หลับง่าย ปัสสาวะบ่อย คลื่นไส้ อาเจียน อาหารไม่ย่อย อึดอัดแน่นท้อง เบื่ออาหาร เหม็นกลิ่นอาหาร เต้านมคัดตึง รู้สึกเจ็บบริเวณหัวนม เต้านมขยายใหญ่ อารมณ์แปรปรวนง่าย ร้องไห้โดยไมมีเหตุผล หงุดหงิดง่าย ผิวหนังสีคล้ำขึ้น พบบ่อยบริเวณสะดือ อวัยวะเพศ ข้อพับต่างๆ แนวกลางหน้าท้อง ฝ้าบริเวณใบหน้า เป็นต้น แต่สำหรับบางคนก็อาจจะไม่เกิดอาการเหล่านี้ทั้งหมด อาจเกิดเพียงแค่บางอาการก็ได้ ดังนั้นเพื่อความมั่นใจว่าจะตั้งครรภ์หรือไม่ ควรไปปรึกษาแพทย์จะดีที่สุดค่ะ
ข้อควรปฏิบัติในช่วงการตั้งครรภ์เดือนที่ 1
เมื่อมั่นใจว่าตอนนี้เราตั้งครรภ์แล้ว คุณแม่จะต้องใส่ใจกับสุขภาพของตนเองให้มากขึ้น และควรสร้างความรู้สึกที่ดีกับตัวเอง และที่สำคัญคือการพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ เนื่องจากหญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะอ่อนเพลียง่าย เพราะร่างกายจะมีการทำงานมากกว่าปกติหลายเท่าเพื่อสร้างอวัยวะและเนื้อเยื่อของทารกในครรภ์ ซึ่งกระบวนการสร้างเนื้อเยื่อในช่วงเดือนที่ 1 ถึงเดือนที่ 3 นั้นถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญที่สุด เมื่อผ่านช่วง 3 เดือนแรกไปแล้ว ระบบการสร้างเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆ จะเสร็จสมบูรณ์ ร่างกายของคุณแม่ก็จะกลับมีเรี่ยวแรงอีกครั้ง
ดังนั้นในช่วงเดือนแรกๆ จะต้องพักผ่อนให้มากๆ ลดการใช้พลังงานของร่างกายที่มากเกินไป อาจนอนพักผ่อนในตอนกลางวันซักงีบก็จะช่วยได้มาก นอกจากนี้ยังต้องดูแลอาหารการกินในแต่ละมื้อ ควรเสริมโปรตีน ธาตุเหล็กและแคลเซียมให้เพียงพอ หรือจะให้ดีที่สุดก็คือ คุณแม่ควรที่จะเสริมโฟลเลทตั้งแต่ก่อนจะตั้งครรภ์ด้วยซ้ำ (เมื่อตั้งใจว่าจะมีลูก ก็ควรเสริมโฟลเลทก่อนได้เลย เพราะเราอาจจะไม่รู้ว่าจะปฏิสนธิสำเร็จในรอบเดือนไหน) ที่สำคัญคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ไม่ควรทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกาย เช่น เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทานของหวานมากเกินไป หรือสูบบุหรี่ เป็นต้นค่ะ
อาการแพ้ท้องที่อาจจะเกิดขึ้น
คุณแม่ที่ตั้งครรภ์ใหม่ๆ อาจจะเกิดอาการแพ้ท้อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นอาการปกติของการตั้งครรภ์ และมักจะมีอาการแพ้มากถ้าเป็นการตั้งครรภ์ครั้งแรก (ท้องแรก) การแพ้ท้องมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายและจิตใจของตัวคุณแม่เอง โดยจะมีอาการแพ้มากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับความสามารถในการปรับตัวทั้งทางร่างกายและจิตใจ การดูแลอารมณ์ไม่ให้วิตกกังวล เศร้าหมอง กลัว ก็จะช่วยให้อาการแพ้ท้องลดลงได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการช่วยลดอาการแพ้ท้องดังนี้
- ทานอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนสูง แต่ควรเป็นอาหารที่ย่อยง่ายๆ เช่น นม น้ำซุป หรือน้ำหวาน เป็นต้น การทานเนื้อสัตว์นั้นควรเลือกประเภทที่ย่อยง่ายๆ เช่น ปลา เพราะหากเป็นเนื้อสัตว์ประเภท หมู เนื้อ จะย่อยยาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้
- ดื่มน้ำให้มากขึ้น เนื่องจากร่างกายของคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์อาจต้องสูญเสียน้ำจากการอาเจียน การดื่มน้ำสะอาดหรือกินอาหารที่มีน้ำหรือผลไม้ที่มีน้ำมากๆ ก็จะช่วยได้ การดื่มน้ำ ควรดื่มทีละน้อยๆ แต่ดื่มบ่อยๆ ไม่ควรดื่มน้ำทีละมากๆ หลังอาหารทันที เพราะจะไปรบกวนการย่อยอาหารได้
- ควรกินวิตามินเสริมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากการอาเจียน อาจทำให้ร่างกายไม่ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน จึงควรทานวิตามินเสริม และในรายที่มีอาการแพ้ท้องมากๆ คุณหมออาจให้ยาแก้อาเจียน สำหรับในกรณีที่จำเป็นต้องใช้ยา หรือกินยาใดๆ ก็ตาม ไม่ควรซื้อยาใดๆ มากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลครรภ์ของเราโดยเด็จขาดเพราะยาบางตัวอาจเป็นอันตรายต่อเด็กในครรภ์ ยาวิตามินที่แนะนำสำหรับลดอาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์คือ วิตามินบี 6 (pyridoxine) 10-25 มิลลิกรัม 1 เม็ด 3-4 ครั้งต่อวัน โดยขนาดสูงสุดไม่ควรเกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน
- หลีกเลี่ยงกลิ่น รส หรืออาหารที่ไม่ชอบ อาหารรสเผ็ด อาหารมัน อาหารที่มีความเป็นกรดสูง อาหารหวานมากๆ แม้แต่อาหารที่มีกลิ่นฉุน เช่น กระเทียม ก็อาจกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้
- หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้คลื่นไส้เจียน เช่น กลิ่น, ความร้อน, ความชื้น, เสียงดัง, แสงไฟกระพริบ
- กินให้บ่อยขึ้น อย่าปล่อยให้ท้องว่างนานเกินไป เพราะว่ากระเพาะจะหลั่งน้ำย่อยออกมา ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน ควรแบ่งมื้ออาหารออกเป็น ทุก 1-2 ชั่วโมง แทน 3 มื้อหลักๆ เพื่อไม่ให้แน่นท้องมากเกินไป อาหารว่างที่ดีควรเป็นขนมปังกรอบหรือผลไม้ต่างๆ เป็นต้น พยายามอย่าปล่อยให้ท้องว่างจนเกิดอาการหิว หรือน้ำย่อยออกมามากเกินไป เพราะอาจจะทำให้เกิดการอาเจียน เช่น ในตอนเช้าหลังจากตื่นนอนมา ควรได้ดื่มน้ำ กินขนมปังปิ้งซัก 1-2 แผ่น บางคนอาจจะไม่ค่อยมีแรง ก็อาจต้องกินบนเตียงนอนก่อนลุกจากที่นอน การกินอาหารลงไปบ้างก็มีส่วนช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้เช่นกัน บางคนอาจมีอาการอาเจียนตอนเย็นหลังเลิกงาน ก็ควรที่จะกินอาหารว่างในช่วงก่อนเลิกงานซักเล็กน้อย ทั้งนี้ควรสังเกตอาการของตัวเองแล้วปรับการกินให้เข้ากับอาการของตนเองค่ะ หากเกิดอาการหิวขึ้นมากลางดึกก็ควรดื่มนมซักแก้ว หรือกินของว่างเบาๆ ได้ค่ะ สามารถเตรียมขนม ไว้ข้างเตียงเพื่อจะได้หยิบกินสะดวกได้ค่ะ แนะนำรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของขิงสามารถช่วยลดอาการคลื่นไส้ได้ เช่น น้ำขิง, ลูกอมรสขิง โดยรูปแบบที่แนะนำคือ รับประทานเป็นแคปซูลขนาด 1-1.5 กรัมต่อวัน (แคปซูลละ 250 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 4 ครั้ง) ร่วมกับยา Doxylamine หรือ Dimenhydrinate จะได้ผลดีกว่า
- พักผ่อนให้มากขึ้น และผ่อนคลายความเครียดซึ่งเป็นสาเหตุของอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ อาจจะใช้เวลาบ่ายเอนหลังนอนหลับสักงีบ หรือหากิจกรรมเพลินๆ เช่น อ่านหนังสือ ฟังเพลง หรือร้องเพลงบ้างเพื่อผ่อนคลายความเครียด
- อย่าเพิ่งลุกจากเตียงเมื่อตื่นนอน การรีบลุกจากเตียงทันทีหลังจากตื่นนอนอาจจะทำให้หน้ามืดได้ นอกจากนั้นในช่วงเช้าคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ส่วนใหญ่อาจจะต้องมีหน้าที่ เช่น เตรียมอาหารเช้าให้กับสามีสุดที่รัก ซึ่งการรีบตื่นรีบลุกมาทำงานทันทีจะทำให้เสียพลังงานมากและเหนื่อยโดยไม่จำเป็น ควรจัดเวลานอนให้มีเวลาหลังจากตื่นนอนให้นอนอยู่บนเตียงซัก 10-20 นาที แล้วกินอาหารว่าง หรือทานมื้อเช้าบนเตียงก่อนที่จะลุกจากเตียงมาทำภารกิจประจำวัน
- หมั่นดูแลทำความสะอาดฟันอยู่เสมอ สุขภาพปากและฟันที่ไม่ดีก็สามารถทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ได้ บ้วนปากด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำเกลืออ่อนๆ เป็นประจำ นอกจากจะช่วยให้ปากสะอาดแล้วยังช่วยฆ่าเชื้อในช่องปากได้ด้วยค่ะ
หากทำตามที่ได้กล่าวมาแล้วอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรืออาการแพ้ต่างๆ ยังไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำต่อไป บางรายที่แพ้ท้องมากๆ อาจต้องให้แพทย์ดูแลใกล้ชิดที่โรงพยาบาลก็ได้ค่ะ