กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD

7 ปัญหาน่าระวังช่วงสงกรานต์ ผิวเสีย / เมาค้าง / ความร้อนขึ้น

รวมสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาเบื้องต้น ของปัญหาผิวและปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่มีโอกาสเป็นได้มากในช่วงเทศกาลสงกรานต์
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
7 ปัญหาน่าระวังช่วงสงกรานต์ ผิวเสีย / เมาค้าง / ความร้อนขึ้น

เทศกาลสงกรานต์อยู่ในช่วงเดือนเมษายนซึ่งอากาศค่อนข้างร้อนจัด อีกทั้งกิจกรรมเนื่องในเทศกาลนี้ไม่ว่าจะเป็นรวมกลุ่มกันเล่นสาดน้ำ ปะแป้ง ป้ายดินสอพอง กินเลี้ยงรวมญาติ หรือร่วมงานปาร์ตี้โฟม ก็ต่างเป็นสาเหตุให้เกิดปัญหาสุขภาพหรือเจ็บป่วยขึ้นได้ อาการเหล่านี้มีอะไรบ้าง สามารถป้องกันหรือรักษาได้อย่างไร HonestDocs มีคำตอบ

7 ปัญหาน่าระวังช่วงสงกรานต์ มีอะไรบ้าง? 

1. ผิวไหม้ คล้ำเสีย (Sunburn)

ผิวไหม้ คล้ำเสีย เป็นอาการที่มักเกิดจากผิวตากแดดเป็นเวลานานโดยไร้สิ่งป้องกัน จนเกิดอาการบวม แดง พอง ที่ผิวหนังชั้นนอก กระทั่งลอกออกในที่สุด วิธีป้องกันคือควรหลีกเลี่ยงแสงแดดในช่วงสายถึงบ่าย รวมถึงทา Sunscreen ปกป้องผิว แต่หากผิวไหม้ไปแล้ว สามารถบรรเทาเบื้องต้นได้ด้วยการประคบเย็นหรือทาครีมว่านหางจระเข้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

2. ผิวเกิดผื่นแดง (Dermatitis)

ผื่นแดงเกิดจากการอักเสบของผิวหนัง เนื่องจากสัมผัสกับสารที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคือง หรือบางครั้งเป็นผลมาจากการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายผิดปกติ วิธีป้องกันคือให้สังเกตตัวเองว่าเคยสัมผัสอะไรแล้วเกิดผื่นแดงมาก่อนหรือไม่ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสิ่งนั้นๆ หากเกิดอาการแพ้แล้ว ยาแก้แพ้ต้านฮิสตามีนอาจช่วยได้อาการดีขึ้นในเบื้องต้นได้ แต่หากจะให้การวินิจฉัยแม่นยำ เที่ยงตรง ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการซักประวัติและตรวจรอยผื่นแดงอย่างละเอียด

3. แพ้ดินสอพอง

แม้ว่าดินสอพองจะทำจากวัตถุดิบธรรมชาติ แต่กรรมวิธีการผลิตซึ่งต้องวางตากแดด ตากลม จึงอาจปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น แบคทีเรีย บาดทะยัก ดังนั้นจึงควรระมัดระวังไม่ให้ดินสอพองเข้าตาหรือแผลเปิด เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคือง ไม่ให้ดินสอพองเข้าปาก เพราะอาจทำให้เกิดโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินอาหาร นอกจากนี้ไม่ควรสูดดมดินสอพองนานๆ เพราะอาจเกิดการสะสมในปอด สิ่งที่พอจะช่วยป้องกันอาการแพ้ดินสอพองได้ คือให้เลือกดินสอพองที่ผลิตมาอย่างได้มาตรฐาน และถ้าเกิดอาการแพ้ ให้รีบใช้น้ำสะอาดล้างออกทันที ก่อนไปพบแพทย์หากอาการไม่ดีขึ้น

4. เป็นลมแดด (Heat Stroke)

ภาวะเป็นลมแดดนั้นอันตรายเพราะอาจส่งผลกระทบกับหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อได้ มักเกิดได้เมื่ออยู่ในอากาศร้อนจัดท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน โดยร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ อาการที่พอจะสังเกตได้ภายนอก ได้แก่ แม้อุณหภูมิสูงมาก แต่ไม่ขับเหงื่อออก ตัวร้อน ผิวมีสีแดง สับสน พูดไม่ชัดเจน กระสับกระสาย หากชักเกร็งด้วยหมายถึงอาการรุนแรงมากและกำลังจะเขาสู่ภาวะโคม่า วิธีป้องกันคือให้ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ร้อนและชื้น อาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดวางที่คอเพื่อลดอุณหภูมิร่างกาย หากพบผู้เป็นลมแดด ให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการใช้น้ำพรม ให้พัดลมเป่า นำถุงน้ำแข็งมาประคบตามข้อพับ แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด

5. ภาวะขาดน้ำ (Dehydrate)

ภาวะขาดน้ำคือภาวะที่ร่างกายมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอจนส่งผลต่อการทำงานของระบบไหลเวียนและอวัยวะต่างๆ จนทำให้ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ อาการได้แก่ ปากแห้ง รู้สึกกระหาย อ่อนเพลีย ปัสสาวะออกน้อย วิธีป้องกันคือดื่มน้ำให้เพียงพอ (ซึ่งในช่วงอาการร้อนอาจจะต้องการน้ำมากกว่าที่เคย) หากเกิดภาวะขาดน้ำ วิธีรักษาเบื้องต้นคือดื่มน้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอ แต่หากคุณมีโรคประจำตัวบางอย่างเช่นไตวายเรื้อรัง หรือโรคหัวใจล้มเหลว ซึ่งต้องจำกัดปริมาณน้ำ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล

6. เมาค้าง (Binge Drinking)

อาการเมาค้างจะเกิดขึ้นเมื่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลง ซึ่งมักตรงกับช่วงเช้าในวันรุ่งขึ้น หลังจากที่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนักในคืนก่อน ทั้งนี้ ชนิดของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปริมาณที่ดื่มเข้าไปก็ส่งผลให้เกิดอาการเมาค้างที่แตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักจะปวดศีรษะ สับสน มึนงง กะระยะผิดพลาด วิธีบรรเทาอาการเมาค้างเบื้องต้นคือ จิบน้ำเปล่าหรือน้ำผลไม้บ่อยๆ รับประทานอาหารรสจืดและย่อยง่าย กินยาแก้ปวด และพักผ่อนให้เพียงพอ (แต่ไม่ควรนอนทั้งวัน ควรลุกขึ้นสูดอากาศด้วย)

7. แพ้ปาร์ตี้โฟม

อาการระคายเคืองผิวหนังหรือแพ้ ที่เกิดหลังจากไปร่วมปาร์ตี้โฟม มักเกิดจากการสัมผัสสารลดแรงตึงผิวที่ใช้ทำโฟม โดยอาจเพียงมีผื่นคัน บวมแดง ผิวลอก จนถึงเป็นแผลตุ่มพุพอง ลุกลามถึงขั้นติดเชื้อได้ วิธีบรรเทาอาการแพ้ปาร์ตี้โฟมเบื้องต้นคือ ให้หยุดสัมผัสสารเคมีที่ทำให้แพ้ ประคบเย็นเพื่อคลายอาการแสบร้อน กินยาแก้แพ้กลุ่มต้านฮิสตามีน หากอาการยังไม่ดีขึ้นหรือรุนแรงกว่าเดิม ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนัง

ปัญหาผิวและปัญหาสุขภาพในช่วงอากาศร้อน แดดจัด ป้องกันได้ หากหมั่นสังเกตร่างกายของตัวเองอยู่เสมอ และการรักษาเบื้องต้นอย่างถูกต้องและทันท่วงทีก็จะทำให้โรคภัยต่างๆ ไม่ลุกลามไปจนเป็นอันตรายใหญ่โต สำหรับช่วงเทศกาล คุณอาจพกยาจำพวกยาแก้ปวด แก้แพ้ ไว้เป็นตัวช่วยเสริม แต่ไม่ว่าอาการใดๆ หากกินยาหรือรักษาด้วยตนเองเบื้องต้นแล้วไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะดีที่สุด


25 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Money & Family: Saving Money Tips & Advice. Parents. (https://www.parents.com/parenting/money/)
First Aid with Burns: Proper Response and Treatment. Healthline. (https://www.healthline.com/health/first-aid-with-burns)

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป