พญ. สุชาดา สมศักดิ์ แพทย์เวชกรรมทั่วไป
เขียนโดย
พญ. สุชาดา สมศักดิ์ แพทย์เวชกรรมทั่วไป
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

เป็นลมแดด ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในช่วงสงกรานต์

สาเหตุ อาการ วิธีป้องกัน และวิธีรักษาอาการเป็นลมแดด (Heat Stroke) ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้บ่อยในช่วงอากาศร้อน
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 2 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 2 นาที
เป็นลมแดด ฮีทสโตรก (Heat Stroke) ในช่วงสงกรานต์

ช่วงอากาศร้อนอบอ้าว หรืออยู่ในที่แออัด อาจมีความเสี่ยงที่คุณจะเกิดอาการเป็นลมแดด หรือ ฮีทสโตรก ได้ อาการนี้ถือว่าอันตรายมาก ต้องได้รับปฐมพยาบาลให้ถูกวิธีหรือนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน

สาเหตุของฮีทสโตรก

ปกติคนเราจะสามารถรักษาอุณหภูมิกายได้เป็นปกติ ที่ 36.5-37.5 องศาเซลเซียส แต่ในภาวะที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงเกินไป ภายหลังการสัมผัสกับอากาศที่ร้อนจัด อยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน หรือออกกำลังกายอย่างหนัก โดยที่ร่างกายไม่สามารถระบายความร้อนได้ตามปกติ ร่างกายอาจมีอุณหภูมิเพิ่มสูงจนส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหัวใจ สมอง ไต และกล้ามเนื้อ เป็นอันตรายแก่ชีวิตได้

อาการฮีทสโตรก

  • อุณหภูมิในร่างกายเพิ่มสูงขึ้นถึง 40 องศาเซลเซียสขึ้นไป
  • วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ
  • หายใจติดขัด เหนื่อย หายใจถี่และตื้น
  • ร่างกายไม่ขับเหงื่อออก แม้จะมีอุณหภูมิในร่างกายสูง
  • อ่อนเพลีย กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว และมีอาการคลื่นไส้
  • เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ อาจทำให้เกิดอาการผิดปกติ เช่น สับสน พูดไม่ชัดเจน กระสับกระส่าย หรือเห็นภาพหลอน หากรุนแรงมากอาจทำให้เกิดการชักเกร็งและมีเข้าสู่ภาวะโคม่าได้ในที่สุด
  • เมื่อสัมผัสผู้ที่มีอาการฮีทสโตรก จะพบว่าตัวร้อนมากและมีผิวสีแดงกว่าปกติ (Flushing)

วิธีป้องกันฮีทสโตรก

  • ดื่มน้ำมากๆ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีอากาศร้อนและชื้น
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้จะเพิ่มการขับปัสสาวะ และทำให้สูญเสียเกลือแร่ไปด้วย
  • สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมกับกิจกรรมที่ทำและสภาพอากาศ เช่น เนื้อผ้าเบาบาง ไม่รัดแน่นจนเกินไป ซึ่งจะช่วยให้ร่างกายมีอุณหภูมิเหมาะสม รวมทั้งสวมหมวก ใช้ร่ม ทาครีมกันแดดที่ SPF เหมาะสม
  • หลีกเลี่ยงแดดจัด หรือออกไปกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อน เวลาประมาณ 11.00-15.00 น. รวมถึงในที่คนแออัด หรือการนั่งในรถยนต์ที่จอดไว้ ถึงแม้จะเปิดกระจกหรือจอดรถยนต์ไว้ในที่ร่มก็ตาม เพราะอุณหภูมิในรถสามารถร้อนจัดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเวลาเที่ยงวัน
  • ใช้น้ำพรมตามผิวหนังและเสื้อผ้า หรืออาจใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆ วางไว้ที่คอ เพื่อช่วยลดอุณหภูมิในร่างกาย ลดเสี่ยงฮีทสโตรก
  • หมั่นสังเกตพฤติกรรมการปัสสาวะของตนเอง หากไม่ค่อยปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีสีเข้ม แสดงว่าร่างกายกำลังขาดน้ำ ควรดื่มน้ำให้มาก

วิธีรักษาฮีทสโตรก

  • ควรได้รับการรักษาอย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเป้าหมายคือการลดอุณหภูมิภายในร่างกายของผู้ป่วย เช่น การใช้น้ำพรมตามร่างกายและใช้พัดลมเป่าให้น้ำระเหย หรือการใช้ถุงน้ำแข็งประคบตามรักแร้ คอ หลังและขาหนีบ
  • หากผู้ป่วยฮีทสโตรกยังรู้สึกตัว ควรให้ดื่มน้ำเย็นที่ไม่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ รวมทั้งอาจให้ดื่มเกลือแร่ เพื่อลดการสูญเสียน้ำและทดแทนเกลือแร่ในร่างกาย
  • นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลโดยเร็วเพื่อลดภาวะแทรกซ้อนของฮีทสโตรก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่เกิดอาการ และหากได้รับการช่วยเหลือล่าช้า อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อสมองหรืออวัยวะที่สำคัญอื่นๆ ของร่างกาย เช่น ไตวายหรือหัวใจวาย และอาจทำให้เกิดความเสียหายของอวัยวะอย่างถาวรได้

2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
ผศ.พญ.สาทริยา ตระกูลศรีชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล, โรคลมแดด ภัยจากธรรมชาติร้ายแรงถึงชีวิต: รายการพบหมอรามา ช่วง Big Story ลมแดด อันตรายอย่างไร (https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/โรคลมแดด-ภัยจากธรรมชาติ), 25 มีนาคม 59.
WebMD Medical Reference, reviewed by Carol DerSarkissian, Heat Stroke: Symptoms and Treatment (https://www.webmd.com/a-to-z-guides/heat-stroke-symptoms-and-treatment), 25 November 2018.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป