กองบรรณาธิการ HD
เขียนโดย
กองบรรณาธิการ HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า วิธีการกินเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

รวมประโยชน์จากกล้วยน้ำว้า กินอย่างไรเพื่อสุขภาพแข็งแรง และใช้รักษาโรคอย่างไร
เผยแพร่ครั้งแรก 11 เม.ย. 2018 อัปเดตล่าสุด 26 ม.ค. 2021 ตรวจสอบความถูกต้อง 15 มี.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 4 นาที
ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า วิธีการกินเพื่อสุขภาพ และข้อควรระวัง

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • กล้วยน้ำว้าประกอบด้วยสารอาหาร วิตามิน และแร่ธาตุหลายชนิด เช่น โปรตีน กรดอะมิโน อาร์จินิน ฮีสติดิน แคลเซียม แมกนีเซียม วิตามินเอ วิตามินบี เส้นใย รวมทั้งมีน้ำตาลธรรมชาติถึง 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส
  • ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้ามีมากมาย เช่น แก้อาการนอนไม่หลับ บรรเทาโรคกระเพาะอาหาร อาการท้องผูก ท้องเสีย ชะลอความแก่ ลดน้ำหนัก 
  • กล้วยน้ำว้าช่วยลดน้ำหนักได้เพราะมีส่วนช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ และมีกากใยสูงซึ่งช่วยให้อิ่มไว จึงช่วยลดอาการอยากรับประทานของจุบจิบได้
  • การรับประทานกล้วยน้ำว้าห่ามมาก อาจทำให้เกิดการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ได้ เช่นเดียวกับกล้วยน้ำว้าสุกที่มีฤทธิ์ช่วยในการระบาย หากรับประทานมากๆ อาจส่งผลให้เกิดการท้องเสียได้
  • แม้กล้วยน้ำว้าจะมีประโยชน์มากแต่ควรรับประทานอย่างพอเหมาะเพราะกล้วยให้พลังงานสูง หากรับประทานมากๆ อาจทำให้อ้วนได้ (ดูแพ็กเกจกระชับสัดส่วนได้ที่นี่)

กล้วยน้ำว้าเป็นผลไม้ที่คนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี นอกจากจะหาซื้อง่าย รสชาติดี สามารถนำมาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ ได้หลากหลายแล้ว ยังเป็นผลไม้ที่หลายคนนิยมใช้บำรุงร่างกายและลดน้ำหนักด้วย 

ที่สำคัญกล้วยน้ำว้ายังมีประโยชน์ และสรรพคุณทางยาอีกมากมาย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

รู้จักกล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้าเป็นแหล่งพลังงานสำรองชั้นดีที่อุดมไปด้วยน้ำตาลธรรมชาติมากถึง 3 ชนิด ได้แก่ ซูโครส ฟรุกโตส และกลูโคส นอกจากนี้ยังมีเส้นใย กากอาหาร และยังมีแร่ธาตุอย่างแมกนีเซียมและโพแทสเซียมที่มีส่วนช่วยป้องกันโรคความดันโลหิตได้อีกด้วย

เมื่อเปรียบเทียบกล้วยน้ำว้ากับกล้วยสายพันธุ์อื่นๆ กล้วยน้ำว้าถือเป็นกล้วยที่ให้แคลเซียมสูง และยังอุดมไปด้วยวิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 6 และวิตามินซี

สำหรับสารอาหารที่ทำให้กล้วยชนิดนี้พิเศษกว่ากล้วยชนิดอื่นๆ คือ เป็นแหล่งของโปรตีน กรดอะมิโน อาร์จินิน และฮีสติดิน ซึ่งสารอาหารทั้งหมดนี้ล้วนจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของทารก ผู้ใหญ่จึงมักบดกล้วยน้ำว้าให้เด็กๆ รับประทานนั่นเอง

คุณค่าทางโภชนาการของกล้วยน้ำว้า

กล้วยน้ำว้า 100 กรัม ให้คุณค่าทางโภชนาการดังนี้

พลังงาน 122 กิโลแคลอรี มีสารอาหารสำคัญ ได้แก่ โปรตีน 1.2 กรัม ไนอาซิน 0.6  มิลลิกรัม วิตามินซี 14.0  มิลลิกรัม คาร์โบไฮเดรต 26.1 กรัม 

มีแร่ธาตุและวิตามินสำคัญ ได้แก่ แคลเซียม 12.0 มิลลิกรัม ไขมัน 0.3 กรัม, ฟอสฟอรัส 32.0 มิลลิกรัม วิตามินเอ 375 หน่วยสากล เหล็ก 0.8 มิลลิกรัม วิตามินบี 1 0.03 มิลลิกรัม วิตามินบี 2 0.04 มิลลิกรัม น้ำ 7.6 กรัม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ประโยชน์ของกล้วยน้ำว้า

  • แก้อาการนอนไม่หลับ กล้วยน้ำว้ามีส่วนช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ ช่วยลดอาการหงุดหงิดของผู้หญิงที่อยู่ในช่วงมีประจำเดือน รักษาโรคซึมเศร้า และช่วยลดความเครียดได้ เนื่องจากกล้วยน้ำว้ามีโปรตีน ทริปโตเฟน ซึ่งมีส่วนช่วยในการผลิตสาร “เซโรโทนิน” หรือ “ฮอร์โมนแห่งความสุข” จึงทำให้ร่างกายรู้สึกผ่อนคลาย และอารมณ์ดีขึ้นได้
  • บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวารและป้องกันการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ หากมีปัญหาเกี่ยวกับการขับถ่าย ถ่ายเป็นเลือด หรือเป็นโรคริดสีดวงทวาร สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยการรับประทานกล้วยน้ำว้า เพราะกล้วยมีกากใยจำนวนมากจึงทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายง่าย หากรับประทานเป็นประจำจะช่วยในการป้องกันการเกิดมะเร็งในลำไส้ด้วย
  • รักษาโรคโลหิตจาง กล้วยน้ำว้าอุดมไปด้วยธาตุเหล็กสูงจึงช่วยในการผลิตฮีโมโกลบินในเลือดได้ ผู้ที่มีปัญหาโลหิตจางจึงสามารถรับประทานกล้วยน้ำว้าเพื่อช่วยบรรเทาอาการได้
  • บรรเทาโรคกระเพาะอาหาร กล้วยน้ำว้าดิบมีฤทธิ์ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ โดยจะออกฤทธิ์สมานแผล ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้กับเนื้อเยื่อเมือกในกระเพาะ ช่วยลดอาการเสียดท้อง และช่วยลดกรดในกระเพาะอาหารด้วย 
  • แก้อาการท้องเสีย กล้วยน้ำว้าอุดมไปด้วยสารแทนนินซึ่งมีส่วนช่วยรักษาอาการท้องเสียชนิดที่ไม่รุนแรง (แทนนินทำให้ท้องผูก)
  • ช่วยชะลอความแก่ สารต้านอนุมูลอิสระที่อุดมอยู่ในกล้วยน้ำว้ามีส่วนช่วยชะลอความแก่ได้ ดังนั้นผู้ที่อยากชะลอวัยให้ผิวพรรณยังแลดูอ่อนเยาว์ จึงควรรับประทานกล้วยน้ำว้าเป็นประจำ
  • ช่วยลดน้ำหนัก กล้วยน้ำว้ามีส่วนช่วยปรับระดับน้ำตาลในเลือดได้ และมีกากใยสูงซึ่งช่วยให้อิ่มไว จึงช่วยลดอาการอยากรับประทานของจุบจิบได้

การใช้กล้วยน้ำว้าเพื่อสุขภาพ

กล้วยน้ำว้านอกจากนำมาใช้ประกอบอาหารได้หลากหลายเมนูแล้ว ยังมีประโยชน์ทางยาอีกด้วย 

  • รักษาอาการโรคกระเพาะ กล้วยน้ำว้ามีส่วนช่วยบรรเทาโรคกระเพาะอาหารได้ แนะนำให้รับประทานกล้วยที่กำลังห่าม (เปลือกยังมีสีเขียวอยู่บ้าง) เพราะจะมีสารเซโรโทนินทำให้กระเพาะหลั่งเมือกออกมาคลุมผนัง ทำหน้าที่เป็นยาเคลือบกระเพาะ จึงช่วยให้อาการทุเลาลงได้
  • ช่วยลดกลิ่นปาก การรับประทานกล้วยน้ำว้า 1 ผลในตอนเช้า ก่อนแปรงฟัน จะช่วยลดกลิ่นปากลงได้ โดยไม่ต้องพึ่งน้ำยาบ้วนปากเลย
  • รักษาอาการท้องเสีย ท้องร่วง ผู้ที่มีอาการท้องเสียและท้องร่วง ควรรับประทานกล้วยน้ำว้าดิบ หรือกำลังห่าม เพื่อให้ได้สารแทนนินและสารเพคตินช่วยบรรเทาอาการ ควรรัลประทานเพียง 1/2 - 1 ผล ก็เพียงพอ ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์
  • รักษาอาการเจ็บคอ ไอแห้ง ผู้ที่มีปัญหาไอ เจ็บคออย่างหนัก ให้ลองรับประทานกล้วยน้ำว้าวันละ 4-6 ผล โดยจะแบ่งรับประทานกี่ครั้งก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้รับประทานครั้งเดียวเพราะอาจส่งผลให้เกิดอาการจุกเสียดและอาเจียนได้
  • ลดความหยาบกร้านของผิวหนัง นำกล้วยสุกมาบดให้ละเอียด เติมน้ำผึ้งประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ คนให้เข้ากัน แล้วนำไปพอกบริเวณผิวที่หยาบกร้าน ทิ้งไว้ประมาณ 15 นาทีแล้วล้างออก จะช่วยให้ผิวนุ่มเนียนขึ้น
  • แก้ผื่นคันจากยุงกัด หากมีผื่นคันจากการถูกยุงกัด แนะนำให้ใช้ด้านในของเปลือกกล้วยมาทาบริเวณที่ถูกยุงกัดจะทำให้อาการคันลดลง

ข้อควรระวังการบริโภคกล้วยน้ำว้า

  • การรับประทานกล้วยน้ำว้าในปริมาณมาก โดยเฉพาะกล้วยห่าม อาจทำให้เกิดการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง ได้ เพราะมีแทนนินมาก
  • กล้วยน้ำว้าสุก มีฤทธิ์ช่วยในการระบาย และเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขับถ่าย หากรับประทานติดต่อกันในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดการท้องเสีย

กินกล้วยน้ำว้าแล้วอ้วนไหม?

เนื่องจากกล้วยน้ำว้าให้พลังงานมากกว่ากล้วยชนิดอื่น ๆ (1 ผล = 100 กิโลแคลอรี) การรับประทานมากเกินไปอาจส่งผลให้ร่างกายได้รับพลังงานเกินความจำเป็นจนอาจทำให้เกิดโรคอ้วนได้ แต่หากรับประทานในปริมาณที่พอเหมาะ กล้วยน้ำว้านับเป็นแหล่งพลังงานชั้นดีเลยทีเดียว

เมนูกล้วยน้ำว้าเพื่อสุขภาพ

  • กล้วยบวชชี นำกล้วยน้ำว้าแบบไม่ปอกเปลือกไปต้ม ประมาณ 4-5 นาที หรือจนกว่าเปลือกกล้วยจะแตกออก ตักขึ้นจากน้ำ ปอกเปลือก แล้วหั่นครึ่ง หรือหั่นเป็นชิ้นพอคำ พักไว้ จากนั้นต้มกะทิกับใบเตยให้มีกลิ่นหอม ใส่กล้วยลงไป แล้วปรุงรสด้วยน้ำตาลปี๊บ น้ำตาลทราย เกลือ และใส่หัวกะทิอีกครั้ง ต้มต่อให้เดือดแล้วปิดไฟ
  • กล้วยน้ำว้าคลุกมะพร้าว หั่นกล้วยเป็นชิ้นพอคำ พักไว้ นำมะพร้าวขูดมาคั่วให้เหลืองกรอบ แล้วคลุกกล้วยให้ทั่ว เสียบด้วยไม้จิ้มฟัน ราดด้วยนมข้นหวานก็ช่วยเพิ่มรสชาติได้มากขึ้น
  • แพนเค้กกล้วย นำกล้วยน้ำว้าสุกงอมจัด 2-3 ลูกมาบดให้ละเอียด ใส่ไข่ขาวลงไป 1-2 ฟอง คนผสมให้เข้ากัน แล้วนำไปหยอดลงบนกระทะที่ทาเนยไว้จนทั่ว เกลี่ยให้เป็นรูปวงกลมคล้ายกับแพนเค้ก พลิกให้สุกทั้งสองด้าน ราดด้วยน้ำผึ้ง หรือจะรับประทานกับเนยก็ได้

แม้กล้วยน้ำว้าจะเป็นผลไม้ที่มีสรรพคุณมากแต่ก็ควรรับประทานอย่างพอเหมาะ เพราะเป็นผลไม้ที่ให้พลังงานสูง อาจทำให้ประสบปัญหาน้ำหนักเกินได้ โดยวิธีรับประทานที่ทำให้ได้คุณประโยชน์สูงสุดคือ รับประทานผลสดโดยไม่ผ่านการแปรรูป

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android 


5 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ. ธรนัส กระต่ายทอง, กล้วยรักษาโรคกระเพาะได้ (http://paolohospital.com/phaho...), 30 กรกฎาคม 2562.
Gidanan ganghair, แนะกิน "กล้วยน้ำว้าดิบ" ยับยั้งโรคท้องร่วง (https://www.thaihealth.or.th/C...), 20 July 2562.
ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่, ‘5 ตัวช่วย’ เลิกบุหรี่ได้ ก็เป็นสุข (มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่) (https://www.thaihealth.or.th/C...), 30 กรกฎาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป