January 25, 2017 18:53
ตอบโดย
ชมชนัท ทับเจริญ (พญ.)
"ก่อนอื่นต้องตอบเลยว่าลูกอยู่ในภาวะอ้วนรุนแรงคะ ต้องลดน้ำหนัก คุมอาหารจริงจัง รวมถึงเจาะเลือดดูระดับไขมันและภาวะเบาหวานด้วย
ทีนี่มาทำความรู้จักกับโรคอ้วนในเด็กนะคะ
สาเหตุของโรคอ้วนในเด็ก
1. อาหาร และพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม
การรับประทานอาหารจุบจิบ รับประทานอาหารปริมาณมาก และบ่อยรับประทานอาหารที่ให้พลังงานสูง เช่น ไก่ชุบแป้งทอด ไอศกรีม น้ำอัดลม รับประทานอาหารมากเกินความต้องการของร่างกาย
2. ครอบครัว
การดําเนินชีวิตประจําวันของครอบครัวโดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการรับประทานอาหารในครอบครัวมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการรับประทานอาหารของเด็ก เด็กจะรับประทานอาหารตามที่บิดามารดารับประทานและจัดหาให้ ในครอบครัวที่มีบิดามารดาอ้วน พบว่า บุตรจะอ้วนด้วย
3. การออกกําลังกาย
ปัจจุบันเด็กใช้พลังงานน้อยลง เนื่องจากมีอุปกรณ์อํานวยความสะดวกมากขึ้น และบิดามารดาจะเป็นผู้ทําเองทั้งหมด หลังจากเด็กกลับจากโรงเรียนหรือช่วงวันหยุด เด็กมักจะใช้เวลาส่วนใหญ่สำหรับการดูทีวี การเล่นเกมส์ หรือเล่นอินเตอร์เน็ต ซึ่งอย่างน้อยเวลาเหล่านี้มักไม่ต่ำกว่า 2-3 ชั่วโมง/วัน และช่วงเวลาที่อยู่กับสิ่งเหล่านี้มักจะมีการรับประทานอาหารพวกขนมของหวาน ไอศกรีม หรือ น้ำอัดลม ร่วมด้วย สุดท้าย เด็กจะเกิดความอ้วน เพราะไม่มีเวลาออกกําลังกายหรือมีเพียงเล็กน้อย
4. พันธุกรรม
หากบิดามารดามีน้ำหนักมากลูกจะมีโอกาสอ้วนร้อยละ 80 ถ้าบิดามารดาคนใดคนหนึ่งอ้วน โอกาสที่ลูกอ้วนลดลงร้อยละ 40 ถ้าผอมทั้งบิดามารดาบุตรมีโอกาสอ้วนร้อยละ 14
5. สิ่งแวดล้อม
ปัจจัยที่มีผลต่อน้ำหนักตัว เช่น น้ำหนักเด็กแรกเกิดที่มาก ระยะเวลาที่ใช้ในการเปื้อนอาหาร อายุที่เริ่มอาหารผสม เพศชายมีผลต่อการเพิ่มน้ำหนัก
ผลกระทบโรคอ้วนในเด็ก
1.เคลื่อนไหวลําบาก เคลื่อนไหวเชื่องช้า และหากเกิดการพลัดตกหกล้มจะเจ็บมากกว่าเด็กที่ไม่อ้วน
2. กระดูก และข้อต่อเสื่อมสภาพเร็วกว่าวัยอันควร เนื่องจากต้องรับน้ําหนักตัวมาก
3. ทําให้เกิดโรคเบาหวาน เด็กที่อ้วนมากจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน ร่างกายไม่ตอบสนองต่ออินซูลิน อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ควบคุมระดับน้ำตาลในร่างกาย ทําให้เกิดโรคเบาหวานคล้ายในผู้ใหญ่ได้โรคนี้เป็นโรคเรื้อรัง ซึ่งอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อตาไต ระบบประสาท และหัวใจตามมาได้
4. ทําให้เกิดภาวะไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะในผู้ที่ชอบรับประทานอาหารไขมันสูงอาหารมัน อาหารทอด
5. เกิดโรคความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ เนื่องจากเด็กที่อ้วนมักมีภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง ทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง และมีปัญหากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ง่าย
6. ภาวะทางเดินหายใจอุดกั้น เนื่องจากเด็กอ้วนมักเกิดอาการนอนกรน บางรายมีภาวะทางเดินหายใจอุดกั้นร่วมด้วย ซึ่งมีผลทําให้เลือดมีออกซิเจนน้อยลงขณะหลับ ในรายที่เป็นรุนแรงจะมีปัญหาภาวะหัวใจโต
7. ทําให้เกิดไขมันสะสมในตับ เกิดตับอักเสบ มีปัญหาทางไต ปัญหาทางด้านจิตใจ
เนื่องจากถูกเพื่อนล้อ ทําให้ขาดความมั่นใจในตนเอง ไม่อยากไปโรงเรียนหรือไม่อยากเข้าสังคม
การป้องกันโรคอ้วนในเด็ก
1. การควบคุมอาหาร
การควบคุมอาหาร เป็นการควบคุมปริมาณสารอาหาร และพลังงานที่เด็กควรได้รับให้เหมาะสม โดยเฉพาะเด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปี ขึ้นไป เนื่องจากเด็กในวัยนี้จะชอบรับประทานอาหารประเภทขนมของหวานมาก หากไม่ควบคุมจะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วนได้ง่าย
2. เพิ่มการออกกำลังกาย
การออกกำลังกาย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันโรคอ้วนที่สำคัญ เนื่องจาก จะช่วยให้เกิดการเผาพลาญพลังงานส่วนเกินได้ ไม่เกิดการสะสมพลังงานในร่างกาย ซึ่งการออกกำลังกายอาจเป็นการออกกำลังกายโดยตรง เช่น พาเด็กออกวิ่งหรือเล่นกีฬาฝนวันหยุด หรือ การออกกำลังกายทางอ้อม เช่น ฝึกให้เด็กปัดกวาดเช็ดถูบ้าน เป็นต้น
3. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
– พฤติกรรมหลายอย่างที่ช่วยส่งเสริมการรับประทานอาหารที่ถูกต้อง ได้แก่ การฝึกให้เด็กรับประทานอาหารเป็นเวลา รับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ เป็นต้น
– การควบคุมปัจจัยเอื้อต่อการบริโภคอาหาร ได้แก่ การไม่ซื้ออาหารพวกขนม ของหวานเก็บไว้ในบ้าน การให้อิสระในการตักหรือเลือกกินอาหารให้แก่เด็ก การกินอาหาร และดูโทรทัศน์ไปด้วย การปล่อยให้เด็กกินอาหารเพียงลำพัง การตักอาหารให้เด็กมากเกินความจำเป็น เป็นต้น
– การให้รางวัล (Reinforcement) การให้รางวัล คำชมเชย จะทำให้พฤติกรรมที่พยายามป้องกันโรคอ้วนนั้นคงอยู่และมีกำลังใจที่จะทำต่อไป"
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต คำตอบของแพทย์เป็นการให้ความรู้และคำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรค หรือการรักษา คุณควรพบแพทย์ที่สถานพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจทุกครั้ง หากคุณมีเหตุฉุกเฉินกรุณาโทรแจ้ง 1669
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
อยากถามค่ะว่าเด็กที่มีน้ำหนักเยอะ เด็กอ้วนค่ะ มีสิทธ์ที่จะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานไหมค่ะ และเสี่ยงเป็นโรคอื่นด้วยไหมค่ะ ลูกชายอายุ 6 ขวบมีน้ำหนัก 40 กิโล ตอนนี้แม่กังวลมากๆค่ะ
ตอบโดยแพทย์ที่มีใบอนุญาต (คำตอบนี้เป็นการให้คำแนะนำเบื้องต้น ไม่สามารถแทนการวินิจฉัยโรคหรือการรักษา คุณควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหากมีอาการน่ากังวล)