เมื่อกล่าวถึงผลไม้ที่ขึ้นชื่อว่ามีรสชาติอร่อย สามารถทำอาหารคาวหวานได้หลากหลายเมนู อีกทั้งมีสรรพคุณที่เป็นยารักษาโรคได้หลายอย่าง อาจจะยังคงนึกชื่อไม่ออก แต่ถ้าบอกเอกลักษณ์ที่โดดเด่นถึงลักษณะว่า เป็นผลไม้ที่มีตารอบๆ ผลแล้ว คาดว่าจะต้องนึกถึง “สับปะรด” กันอย่างแน่นอน
ทำไมกินสับปะรดแล้วแสบลิ้น
ผู้คนส่วนใหญ่เมื่อรับประทานสับปะรดเข้าไปแล้วมักมีอาการแสบลิ้น บางรายอาจรู้สึกแสบคันมาจนถึงในคอ ทำให้มีอาการเข็ดหรือกลัวจนไม่อยากรับประทานสับปะรดไปเลยก็มี ทั้งนี้เป็นเพราะในสับปะรดมีเอนไซม์ที่ชื่อ “โบรมีเลน” (Bromelain) โดยเอนไซม์ชนิดนี้มีคุณสมบัติเด่นในเรื่องของการสลายโปรตีนให้มีโมเลกุลเล็กลง ช่วยไม่ให้มีโปรตีนตกค้างที่ลำไส้ ซึ่งที่ลิ้นของคนเราก็มีโปรตีนตามธรรมชาติเคลือบไว้อยู่ด้วยเช่นกัน
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
เมื่อรับประทานสับปะรดเข้าไปแล้ว เอนไซม์ชนิดนี้จึงทำหน้าที่สลายโปรตีนที่ลิ้นไปด้วย ประกอบกับลิ้น ปาก และลำคอเป็นบริเวณที่บอบบาง เมื่อเกิดการรบกวนจึงส่งผลให้เกิดอาการแสบลิ้น เจ็บลิ้น เจ็บปาก คันคอ หรือคันปากได้นั่นเอง แต่ไม่ต้องกังวลว่าจะทำให้ลิ้นแสบนานจนรับประทานอะไรไม่ได้ เพราะเมื่อหยุดรับประทานและใช้เวลาไม่นาน ร่างกายจะสามารถสร้างโปรตีนออกมาเคลือบลิ้นได้ และลิ้นของเราก็จะกลับมาหายแสบ ทำให้รับรู้รสชาติได้ตามปกติ
ประโยชน์ของเอนไซม์ “โบรมีเลน” ในสับปะรด
ในสับปะรดนอกจากจะอุดมไปสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายมากมายหลายชนิดแล้ว ยังอุดมไปด้วยกรดมะนาว(Citric) กรดมาลิก (Malic) รวมทั้งปริมาณวิตามินซีที่สูง แล้วยังพบว่าสับปะรดมีเอนไซม์โบรมีเลน (Bromelain) มากอีกด้วย โดยเอนไซม์ชนิดนี้มีประโยชน์ในด้านการย่อยเนื้อ ดังนั้นเราจึงสามารถนำคุณสมบัติของสับปะรดมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ดังนี้
- สับปะรดจะช่วยให้คลายจากอาการแน่นท้อง เมื่อใดก็ตามที่รับประทานอาหารประเภทเนื้อสัตว์เข้าไปมากๆ จนเกิดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ให้ดื่มน้ำสับปะรดหรือรับประทานสับปะรดเข้าไปก็จะช่วยลดอาการลงได้ อีกทั้งยังช่วยให้ระบบย่อยอาหารดีขึ้นและสมานแผลในกระเพาะอาหารได้อีกด้วย
- ในทางการแพทย์มีการนำเอาโบรมีเลนมาใช้ในการควบคุมการเจริญโตของเนื้องอกชนิดร้าย ลดการจับตัวหรืออุดตันของเกล็ดเลือด และลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคหัวใจ
- ใช้ในการหมักเนื้อสัตว์ก่อนการประกอบอาหาร เพื่อช่วยให้เนื้อสัตว์มีลักษณะนุ่ม อร่อย และน่ารับประทาน
ปัจจุบันในทางการแพทย์ได้มีการใช้โบรมีเลนในด้านการช่วยสมานแผล ลดการอักเสบของแผลที่เกิดจากการผ่าตัด ทำให้แผลหายเร็วและดูดีขึ้น โดยนำเอนไซม์ชนิดนี้มาทำเป็นยาเม็ดเพื่อลดการอักเสบ และนิยมใช้ร่วมกับยาปฏิชีวนะ
วิธีป้องกันไม่ให้แสบลิ้นหลังกินสับปะรด
ด้วยรสชาติที่แสนอร่อยและหวานฉ่ำของสับปะรด พร้อมคุณค่าของสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จนรู้สึกอดไม่ได้ที่จะอยากรับประทาน เรามีวิธีป้องกันไม่ให้สับปะรดกัดลิ้นจนรู้สึกแสบลิ้น โดยเมื่อปอกเปลือกสับปะรดเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้นำไปแช่น้ำเกลืออ่อนๆ ประมาณ 2 – 3 นาที อย่าใส่เกลือมากหรือแช่นานเกินไป เพราะจะทำให้มีรสเค็มจนทำให้สับปะรดเสียรสชาติและขาดความอร่อย หรือใช้วิธีเอาเกลือมาทาบางๆ ให้ทั่วผิว แล้วหั่นพอดีคำพร้อมเสิร์ฟ
นอกจากนี้วิธีรับประทานควบคู่กับพริกเกลือก็พอจะช่วยลดอาการแสบลิ้นได้ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มความอร่อยได้มากขึ้นอีกด้วย ทั้งนี้เนื่องจากเกลือมีส่วนช่วยทำให้ความเข้มข้นของเอนไซม์โบรมีเลนในสับปะรดเจือจางลง ส่งผลให้การทำงานของเอนไซม์ด้อยประสิทธิภาพหรือทำงานลดลงนั่นเอง
เมื่อเราทราบแบบนี้แล้วการรับประทานสับปะรดก็ไม่ใช่เรื่องน่าขยาดที่จะต้องกลัวอาการแสบลิ้น เจ็บคอ หรือคันคอกันอีกต่อไป เพราะสารอาหารที่อยู่ในสับปะรดมีมากมายเกินกว่าจะมองข้ามผลไม้อันทรงคุณค่าชนิดนี้ไปได้ การรับประทานบ่อยๆ นอกจากจะให้ความสดชื่นแล้ว ยังเหมาะกับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักหรือควบคุมน้ำหนักอีกด้วย หากไม่ลองหามาแช่ติดตู้เย็นไว้ก็คงไม่ได้เสียแล้ว