อาการบ้านหมุน (Vertigo) คืออะไร
บ้านหมุน คืออาการวิงเวียนศีรษะรูปแบบหนึ่ง ซึ่งต่างจากอาการวิงเวียนทั่วไปตรงที่ เราจะรู้สึกว่าสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุนหรือเคลื่อนไหวไปด้วย บางครั้งอาจรู้สึกว่าพื้นโคลงเคลง บ้านหมุนคล้ายอาการเมา และบางคนอาจถึงขั้นเสียการทรงตัว เดินโซเซ หรือมีอาการคลื่นไส้อาเจียน จนเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตและการทำงาน หรืออาจเกิดอุบัติเหตุและบาดเจ็บได้
ทำความรู้จักอาการบ้านหมุน
เวียนศีรษะบ้านหมุน (Vertigo) เป็นอาการที่ทำให้คุณเกิดความรู้สึกเหมือนรอบๆ ร่างกายของคุณขยับหรือหมุนอยู่ โดยสามารถเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและคงอยู่เพียงไม่กี่วินาที หรืออาจเกิดขึ้นต่อเนื่องและนานหลายวันก็ได้ โดยอาการบ้านหมุนมักเกิดกับคนที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
อาการที่เกี่ยวข้องกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนมีดังนี้:
- คงสมดุลร่างกายไม่ได้ ทำให้เดินหรือยืนลำบาก
- รู้สึกคลื่นไส้หรืออาเจียน
- วิงเวียน
- อาการอื่นๆ เช่น มีไข้สูง หูอื้อ (Tinnitus) และสูญเสียการได้ยิน
สาเหตุของอาการบ้านหมุน
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเกิดได้จากหลายๆ สาเหตุ โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
- อาการเวียนศีรษะที่มาจากหูชั้นใน (Peripheral vertigo)
- อาการเวียนศีรษะจากสมอง (Central vertigo)
1. สาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากหูชั้นใน
เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยเกิดจากปัญหาด้านกลไกควบคุมสมดุลของหูชั้นใน สาเหตุส่วนมากของอาการประเภทนี้มีดังนี้:
โรคหินปูนในหูชั้นในหลุด หรือ BPPV
โรคนี้เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด และมักเกิดในผู้สูงอายุ โดยผู้เชี่ยวชาญคาดว่า BPPV เกิดจากเศษตะกอนหินปูนในหูชั้นในที่หลุดออกจากเยื่อบุของช่องทางในหูชั้นในเข้าไปในโพรงในหูที่เต็มไปด้วยของเหลว ซึ่งขณะที่ศีรษะของคุณอยู่นิ่งๆ เศษตะกอนนี้จะตกอยู่อยู่ที่ก้นของโพรง แต่เมื่อมีการเคลื่อนไหวของศีรษะบางท่า เช่น การก้ม การเงย การหันคอ เศษตะกอนดังกล่าวอาจไหลไปพร้อมกับน้ำในหู และส่งสัญญาณแปลกปลอมไปยังสมองของคุณจนทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นได้นั่นเอง อาการบ้านหมุนจากโรคนี้จะเกิดขึ้นเป็นช่วงสั้นๆ และหายไป แล้วกลับมาเป็นใหม่เมื่อมีการขยับศีรษะอีกครั้ง โรค BPPV ทำให้เกิดอาการบ้านหมุนและคลื่นไส้อาเจียนได้ โดยไม่มีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง อ่อนเพลีย หรือแขนขาอ่อนแรงแต่อย่างใด
BPPV สามารถเกิดขึ้นโดยไม่มีสาเหตุ หรือเกิดขึ้นหลังจาก:
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
- การติดเชื้อในหู
- การผ่าตัดหู
- การบาดเจ็บที่ศีรษะ
- การนอนบนเตียงเป็นเวลานาน – ยกตัวอย่างเช่นขณะนอนพักรักษาตัวจากอาการเจ็บป่วย
ภาวะหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) คือภาวะติดเชื้อภายในหูชั้นในที่ทำให้โครงสร้างภายในหูชั้นใน (Labyrinth) อักเสบขึ้นมา โดยหูในส่วนนี้มีลักษณะคล้ายเขาวงกตที่เต็มไปด้วยของเหลวที่ใช้ควบคุมการได้ยินและควบคุมสมดุลของร่างกาย
เมื่อหูชั้นในอักเสบ ข้อมูลที่ส่งไปยังสมองจะแตกต่างจากข้อมูลที่สมองได้รับจากหูและตาที่ไม่เป็นโรค ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่ทำให้เกิดอาการวิงเวียนและอาการบ้านหมุน โรคหูชั้นในอักเสบมักเกิดมาจากการติดเชื้อไวรัสอย่างไข้หวัดอย่างรุนแรง จนเชื้อแพร่กระจายเข้าไปยังหูชั้นในและเกิดอักเสบขึ้น อาการที่พบตามมาคือปวดหัว และวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง แต่ก็มีบ้างที่เกิดมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะส่งผลให้มีอาการรุนแรงกว่าและอาจถึงขั้นสูญเสียการได้ยินได้
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดจากโรคหูชั้นในอักเสบอาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียน สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ และอาจทำให้มีอาการปวดหูและไข้สูงได้ด้วย
ภาวะเส้นประสาทการทรงตัวอักเสบ (Vestibular neuronitis) คือภาวะของหูชั้นในที่ทำให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทที่เชื่อมระหว่างหูชั้นในไปยังสมอง ซึ่งในบางกรณีก็อาจทำให้หูชั้นในอักเสบได้ด้วย
หมดปัญหาเหงื่อออกมากที่มืออย่างถาวร รักษาแล้วมือแห้ง ชีวิตง่ายขึ้น!
จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / เบิกประกันได้ / ผ่อน 0% ได้ / ปรึกษาหมอก่อนผ่าตัดได้ไม่จำกัดครั้ง
ภาวะนี้มักเกิดขึ้นจากการติดเชื้อไวรัส โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันและทำให้มีอาการอื่น ๆ ตามมา เช่น เดินโซเซ คลื่นไส้ และอาเจียน แต่มักจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเรื่องการได้ยินใด ๆ ภาวะนี้มักคงอยู่นานไม่กี่ชั่วโมงหรือไม่กี่วัน หรืออาจเกิดขึ้นนานสามถึงหกสัปดาห์ก็ได้ กว่าจะทุเลาลงเอง
โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
ในบางครั้งอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรงก็เกิดขึ้นจากภาวะหายากที่ส่งผลต่อหูชั้นในที่เรียกว่าโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Ménière's disease) ซึ่งโรคนี้สามารถทำให้ผู้ป่วยสูญเสียการได้ยิน หูอื้อ และรู้สึกถึงแรงดันในหู (Aural fullness) โดยคุณอาจประสบกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างฉับพลันที่คงอยู่นานหลายชั่วโมงหรือหลายวันได้ โดยมักทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนและเดินโซเซจนหกล้มได้ง่ายอีกด้วย
สาเหตุของโรคน้ำในหูไม่เท่ากันยังคงไม่เป็นที่แน่ชัด แต่อาการจากโรคนี้สามารถควบคุมได้ด้วยอาหารและยา และมีผู้ป่วยเพียงส่วนน้อยที่จำต้องเข้ารับการผ่าตัดรักษา
2. สาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสมอง
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสมอง (Central vertigo) เกิดจากปัญหาเกี่ยวกับสมองบางส่วน เช่น ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ที่อยู่ล่างสุดของสมอง หรือก้านสมอง (Brainstem) ซึ่งเชื่อมไปยังไขสันหลัง
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการประเภทนี้มีดังนี้:
- ไมเกรน – อาการปวดศีรษะรุนแรงที่มักปวดแบบตุบๆ ที่ส่วนหน้าหรือขมับด้านข้างของศีรษะ และมักพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุยังน้อย
- โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (Multiple sclerosis) – ภาวะที่ส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองและไขสันหลัง
- โรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหู (Acoustic neuroma) – ภาวะที่มีเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งโตบนเส้นประสาทหูที่มีหน้าที่ช่วยควบคุมสมดุลและการได้ยิน
- โรคเนื้องอกในสมองส่วนซีรีเบลลัม
- ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราว (Transient ischaemic attack; TIA) หรือ stroke – ซึ่งส่งผลให้การไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองถูกตัดขาดบางตำแหน่ง
- การใช้ยาบางประเภท
เนื้องอกในสมอง
บางครั้งอาการวิงเวียนและเสียการทรงตัวอาจเกิดจากการมีเนื้องอกไปกดทับเส้นประสาทในสมอง ผู้ป่วยที่มีเนื้องอกในสมอง นอกจากจะมีอาการเวียนหัวแบบบ้านหมุนได้แล้ว ยังอาจเดินโซเซ ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อไม่ได้ สูญเสียการได้ยิน หูอื้อ คล้ายมีเสียงรบกวนภายในหู จนถึงเป็นอัมพาตที่ใบหน้าได้
การใช้ยาบางประเภท
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอาจเป็นอาการข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภทได้เช่นกัน ดังนั้นจึงควรตรวจสอบข้อมูลบนฉลากยาว่ามีผลข้างเคียงเป็นอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ห้ามหยุดใช้ยาที่แพทย์จ่ายให้เอง แต่หากคุณกังวลเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากยาควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์อาจจ่ายยาชนิดอื่นทดแทน
สาเหตุอื่นๆ
อาการบ้านหมุนจากสมองอาจเกิดจากอาการเมาค้าง กะโหลกศีรษะบาดเจ็บเสียหาย หรือโรคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสมอง
การวินิจฉัยอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
คุณควรไปพบแพทย์เมื่อมีสัญญาณของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนเรื้อรังหรือมีอาการเกิดขึ้นซ้ำๆ โดยแพทย์จะสอบถามอาการและตรวจร่างกายเบื้องต้นเพื่อระบุชนิดของอาการ จากนั้นอาจตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีอื่นๆ ต่อไป
1. ซักประวัติในเบื้องต้น
เพื่อประเมินอาการในเบื้องต้น แพทย์ต้องการทราบข้อมูลต่อไปนี้
- อาการแรกเริ่มของคุณ เช่น อาการหน้ามืดหรือเห็นภาพหมุนรอบตัวคุณก่อนหน้าอาการบ้านหมุนหรือไม่
- อาการร่วมอื่นๆ เช่น สูญเสียการได้ยิน หูอื้ออึง คลื่นไส้ อาเจียน หรือรู้สึกแน่นหู
- คุณมีอาการบ่อยแค่ไหนและแต่ละครั้งมีอาการเกิดขึ้นนานเพียงใด
- อาการของคุณส่งผลต่อกิจกรรมการใช้ชีวิตประจำวันหรือไม่ เช่น ไม่สามารถเดินหรือยืนขณะที่มีอาการได้เลย เป็นต้น
- มีสิ่งใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการหรือทำให้อาการทรุดลงหรือไม่ เช่น การขยับศีรษะในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง
- มีวิธีบรรเทาอาการให้ดีขึ้นอย่างไร
2. การตรวจร่างกายเบื้องต้น
แพทย์อาจต้องตรวจร่างกายเพื่อหาสัญญาณของภาวะที่เป็นสาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน ซึ่งอาจใช้การตรวจใบหูและตรวจดวงตาเพื่อดูว่ามีอาการตากระตุก (Nystagmus) หรือไม่ นอกจากนี้อาจตรวจสมดุลและการทรงตัวของคุณหรือลองกระตุ้นให้เกิดอาการขึ้นด้วยการให้คุณเปลี่ยนอิริยาบถจากท่านั่งไปเป็นนอน
3. การทดสอบการได้ยิน
หากคุณมีอาการหูอื้อ (Tinnitus) มีเสียงดังในหู หรือสูญเสียการได้ยิน แพทย์อาจส่งคุณไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหู จมูก และคอ (ENT) เพื่อรับการทดสอบการได้ยิน ซึ่งอาจมีขั้นตอนดังนี้:
- การตรวจระดับการได้ยิน (Audiometry test) – จะมีการใช้เครื่องจักรที่เรียกว่า Audiometer ปล่อยเสียงออกมาในระดับความดังและความสูงที่ต่างกัน คุณต้องฟังเสียงเหล่านี้ทางหูฟังและส่งสัญญาณว่าคุณได้ยินเสียงหรือไม่
- การตรวจการได้ยินด้วยส้อมเสียง (Tuning fork test) – เป็นการใช้ส้อมเสียงซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะปล่อยคลื่นเสียงออกมาในระดับเสียงที่คงที่เมื่อมีการเคาะเบาๆ โดยผู้ทดสอบจะต้องเคาะส้อมเสียงก่อนยกส้อมขึ้นในระดับศีรษะทั้งสองข้าง
4. การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวในหู
การตรวจการทำงานของอวัยวะทรงตัวในหู (Videonystagmography: VNG) ถูกนำมาใช้เพื่อตรวจหาสัญญาณของอาการตากระตุกอย่างละเอียดมากขึ้น โดยอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณที่บ่งชี้ถึงปัญหาที่อวัยวะที่ควบคุมสมดุลการทรงตัว
ระหว่างการทดสอบนี้จะมีการใช้แว่นตาชนิดพิเศษสวมให้ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะต้องมองไปยังเป้าหมายทั้งแบบที่อยู่นิ่งๆ และแบบเคลื่อนไหวอยู่ แว่นตานี้จะบันทึกการเคลื่อนไหวของดวงตาของคุณตลอดการทดสอบ หรือในบางครั้งก็อาจใช้การตรวจการทำงานของตาอีกวิธีหนึ่ง ที่เรียกว่า Electronystagmography ซึ่งจะเป็นการวางอีเล็กโทรดรอบดวงตาแทนการใช้แว่นตา
5. การทดสอบด้วยความเย็นร้อน
การทดสอบด้วยความเย็นร้อน (Caloric reflex test) เป็นการทดสอบโดยใช้วิธีเปิดน้ำอุ่น น้ำเย็น หรืออากาศ เข้าไปในหูของคุณนานประมาณ 30 นาที การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิจะกระตุ้นสมดุลของอวัยวะในหู ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถตรวจสอบได้ว่าอวัยวะเหล่านั้นทำงานเป็นปกติดีหรือไม่ การทดสอบนี้ไม่สร้างความเจ็บปวด แต่ก็อาจทำให้ผู้เข้ารับการทดสอบรู้สึกเวียนศีรษะหลังการทดสอบได้บ้าง
6. การทดสอบการทรงตัว
การทดสอบการทรงตัว (Posturography) คือการทดสอบสมดุลร่างกายเพื่อให้ได้ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สายตา การรับรู้อากัปกิริยาความรู้สึกจากเท้าและข้อต่อต่าง ๆ และการรับรู้การทำงานของหูในการทรงตัวของคุณเอง ซึ่งข้อมูลนี้จะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนโปรแกรมฟื้นฟูและติดตามการรักษาของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
7. การสแกน
ในบางกรณีอาจมีการสแกนศีรษะของคุณเพื่อตรวจหาสาเหตุของอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เช่น โรคเนื้องอกบนเส้นประสาทหู เป็นต้น ซึ่งโดยมากมักเป็นการถ่ายภาพสะท้อนแม่เหล็ก (Magnetic resonance imaging: MRI) ที่เป็นการใช้คลื่นแม่เหล็กกำลังสูงและคลื่นวิทยุสร้างภาพภายในศีรษะของคุณอย่างละเอียด หรือการถ่ายภาพคอมพิวเตอร์หรือซีทีสแกน (Computerised tomography: CT) ซึ่งเป็นการถ่ายชุดภาพเอกซเรย์ (X-rays) เพื่อก่อร่างภาพออกมา
การรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน
การรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ โดยในกรณีที่มีอาการคุณสามารถดูแลตนเองได้ง่ายๆ ด้วยการนอนในห้องเงียบๆ มืดๆ ซึ่งจะช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และลดความรู้สึกบ้านหมุนได้ หรือคุณอาจจะเข้าพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาและรับยามาใช้ก็ได้ นอกจากนี้คุณควรพยายามเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียดต่างๆ เพราะความวิตกกังวลจะสามารถทำให้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรงมากขึ้นได้
การรักษาบ้านหมุนจากโรคหินปูนในหูชั้นใน
เช่นเดียวกับโรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ โรคหินปูนในหูชั้นใน (Benign paroxysmal positional vertigo: BPPV) ก็มักจะหายเองภายในเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน แต่หากอาการไม่ทุเลาลง การรักษาอาจเป็นทั้งการละลายหรือฝังให้ตะกอนเหล่านั้นอยู่ในที่ที่หนึ่งจนไม่สามารถก่อให้เกิดอาการบ้านหมุนได้อีก แต่ก็อาจมีอาการซ้ำได้
ดังนั้น จนกว่าอาการทั้งหมดจะหายไปหรือรักษาแล้ว คุณควรค่อย ๆ ลุกจากเตียงนอนอย่างช้าๆ หลังจากตื่นนอน และเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องเงยหน้าบ่อยๆ
การรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากโรคหินปูนชั้นใน มีวิธีดังนี้:
- Epley maneuvre เป็นการบริหารศีรษะด้วยท่าทาง 4 แบบ เพื่อขยับเศษตะกอนที่ทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนให้อยู่กับที่และไม่ทำให้เกิดอาการขึ้นอีก โดยตำแหน่งศีรษะแต่ละท่าต้องคงอยู่อย่างน้อย 30 นาที ในระหว่างการบริหารคุณอาจรู้สึกถึงอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนบ้าง อาการของคุณควรจะดีขึ้นหลังจากบริหาร Epley maneuvre ไม่นาน แต่ก็อาจต้องใช้เวลานานถึง 2 สัปดาห์กว่าจะหายจากอาการนี้โดยสมบูรณ์ โดยคุณควรกลับไปพบแพทย์หากอาการของคุณไม่ดีขึ้นหลังบริหาร Epley maneuvre ไปแล้ว 4 สัปดาห์ อีกทั้งวิธีบริหารนี้ก็มักไม่ได้ช่วยรักษาในระยะยาวและอาจต้องทำซ้ำๆ หลายครั้ง
- การออกกำลังแบบ Brandt-Daroff หาก Epley manoeuvre ไม่ได้ผล อาจเปลี่ยนไปออกกำลังแบบ Brandt-Daroff แทน โดยการออกกำลังกายนี้จะประกอบด้วยรูปแบบการเคลื่อนไหวหลายท่าทางที่คุณสามารถลองทำเองที่บ้านได้ โดยคุณต้องออกกำลังเช่นนี้ 3-4 ครั้งต่อวันนาน 2 สัปดาห์ติดกัน หลังจากนั้นอาการจะดีขึ้นเอง
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์หู จมูก และคอ (ENT) หากพบว่า:
- คุณลอง Epley maneuvre แล้วไม่ได้ผล หรือไม่สามารถบริหารร่างกายด้วยวิธีนี้ได้
- อาการของคุณยังไม่ดีขึ้นหลังจากบริหารแล้ว 4 สัปดาห์
- คุณมีสัญญาณหรืออาการผิดปกติเพิ่มเติม
หากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่คงอยู่นานหลายเดือนหรือหลายปี อาจต้องใช้การผ่าตัดเข้ามาช่วย โดยเป็นการกั้นโพรงที่เต็มไปด้วยของเหลวในหู แต่กรณีนี้นับว่าพบได้น้อยมาก
การรักษาหูชั้นในอักเสบ
ภาวะหูชั้นในอักเสบ (Labyrinthitis) คือการติดเชื้อในหูชั้นใน โดยมากมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัสและมักจะหายไปเองโดยไม่ต้องรับการรักษาใดๆ แต่ในกรณีที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย จะต้องรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ
หากคุณประสบกับอาการสูญเสียการได้ยิน แพทย์จะส่งคุณไปพบแพทย์เฉพาะทางด้านหู จมูก และคอ (ENT) หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทรงตัวที่ชำนาญในการรักษาภาวะผิดปกติด้านการได้ยินและการทรงตัว เพื่อทำการรักษาการได้ยินของคุณอย่างเร่งด่วนตามกรณี โดยภาวะหูชั้นในอักเสบนี้อาจรักษาได้ด้วยการฟื้นฟูการทรงตัว (Vestibular rehabilitation therapy)
การรักษาโรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ
โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบ (Vestibular neuronitis) คือภาวะอักเสบของเส้นประสาทการทรงตัวในหูที่ใช้ในเรื่องสมดุลร่างกาย โดยมากภาวะนี้เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ซึ่งอาการของโรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบมักจะดีขึ้นเองภายในเวลาหลายสัปดาห์โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา แต่หากมีอาการรุนแรงคุณอาจต้องนอนพักบนเตียง และควรไปพบแพทย์หากอาการรุนแรงขึ้นหรือไม่ดีขึ้นหลังจากผ่านไป 1 สัปดาห์ โดยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วยการฟื้นฟูการทรงตัวและการใช้ยาต่างๆ
บางครั้งอาการอาจรุนแรงขึ้นในกรณีที่คุณดื่มแอลกอฮอล์ อ่อนเพลีย ทำงานหนัก ซึ่งคุณควรเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว เพื่อช่วยให้โรคเส้นประสาทการทรงตัวในหูอักเสบดีขึ้น
การรักษาบ้านหมุนจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
หากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนของคุณเกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มีวิธีรักษามากมายดังนี้
- การปรับเปลี่ยนอาหารการกิน โดยรับประทานอาหารที่มีเกลือต่ำ
- การใช้ยารักษาการกำเริบของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- การใช้ยาป้องกันการกำเริบของโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
- การรักษาอาการหูอื้อ – เช่น การบำบัดด้วยเสียง
- การรักษาภาวะสูญเสียการได้ยิน – เช่นการใช้เครื่องช่วยฟัง
- กายภาพบำบัดเพื่อจัดการกับปัญหาการทรงตัว
- การรักษาอาการทุติยภูมิต่าง ๆ จากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน – เช่น ภาวะเครียด ภาวะวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า
การรักษาบ้านหมุนจากสมอง
อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสมอง (Central vertigo) มาจากปัญหาที่เกิดกับสมองบางส่วน เช่น ซีรีเบลลัม (Cerebellum) ที่อยู่ล่างสุดของสมอง หรือก้านสมอง (Brainstem) ที่อยู่ส่วนล่างของสมองที่เชื่อมไปยังไขสันหลัง
สาเหตุของอาการประเภทนี้มีทั้งไมเกรนและเนื้องอกในสมองซึ่งพบได้น้อย หากแพทย์คาดการณ์ว่าคุณมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสมอง แพทย์อาจให้คุณเข้ารับการสแกนสมองหรือส่งคุณไปพบผู้เชี่ยวชาญที่โรงพยาบาล เช่น นักประสาทวิทยา แพทย์ ENT หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการทรงตัว นอกจากนี้การรักษาไมเกรนก็จะช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากไมเกรนได้ด้วย
การรักษาบ้านหมุนจากสาเหตุที่ไม่แน่ชัด
หากอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนของเกิดจากสาเหตุที่ไม่ชัดเจน คุณอาจต้องเข้าโรงพยาบาลในกรณีที่
- มีอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรงและไม่สามารถดื่มน้ำได้
- มีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนอย่างกะทันหันและเกิดขึ้น แม้ไม่ได้เปลี่ยนอิริยาบถก็ตาม
- อาจมีอาการเวียนศีรษะจากสมอง
- มีภาวะสูญเสียการได้ยินกะทันหันแต่คาดว่าไม่ได้เกิดจากโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน
โดยคุณอาจจะถูกส่งไปพบผู้เชี่ยวชาญอย่างนักประสาทวิทยา ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการรักษาภาวะที่ส่งผลต่อระบบประสาท ผู้เชี่ยวชาญด้านภาวะที่ส่งผลต่อหู จมูก หรือคอ และผู้เชี่ยวชาญด้านการทรงตัว
การฟื้นฟูการทรงตัวสำหรับผู้ป่วยบ้านหมุน
การฟื้นฟูการทรงตัวหรือที่เรียกว่า Vestibular rehabilitation therapy (VRT) คือโปรแกรมการบริหารที่ช่วยกระตุ้นสมองให้ปรับตัวกับความผิดปกติจากหู โดยระหว่างที่ทำ VRT คุณจะต้องเคลื่อนไหวต่อไปแม้ว่าจะรู้สึกวิงเวียนหรือบ้านหมุน สมองของคุณจะเริ่มจดจำสัญญาณที่ส่งจากร่างกายส่วนอื่น เช่น ตาและขา แทนที่สมองจะสับสนจากสัญญาณที่มาจากหูชั้นในของคุณ การทำเช่นนี้จะทำให้ร่างกายเริ่มคุ้นชินกับสัญญาณอื่น และลดอาการวิงเวียนกับช่วยควบคุมสมดุลการทรงตัว
การใช้ยารักษาอาการบ้านหมุน
การใช้ยาสามารถรักษาอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนที่เกิดจากโรคเส้นประสาททรงตัวในหูอักเสบ หรือโรคน้ำในหูไม่เท่ากันได้ อีกทั้งยังสามารถใช้ยากับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนจากสมองหรือจากสาเหตุที่ไม่แน่ชัดได้เช่นกัน
ยาที่ใช้มักจะเป็นยา Prochlorperazine หรือยา Antihistamines หรือในบางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้คุณใช้ยา Betahistine ซึ่งเป็นยาในระยะยาวสำหรับภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน
- Prochlorperazine ยานี้สามารถช่วยบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนได้ โดยออกฤทธิ์ด้วยการเข้ายับยั้งผลของสารเคมีในสมองที่เรียกว่าโดพามีน (Dopamine) แต่สามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ตัวสั่น หรือมีการเคลื่อนไหวของใบหน้าและร่างกายแบบผิดปกติหรือควบคุมไม่ได้ นอกจากนี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้ด้วย แต่หากต้องการทราบถึงผลข้างเคียงทั้งหมดจากยาควรศึกษาการแนะนำจากฉลากยาที่ใช้ด้วยตนเอง
- Antihistamines ใช้เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนรุนแรงได้ โดยยาชนิดนี้ออกฤทธิ์ด้วยการเข้ายับยั้งสารเคมีที่เรียกว่าฮิสตามีน ยานี้อาจทำให้เกิดอาการง่วงนอนได้เช่นเดียวกับยา Prochlorperazine และอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงอื่นๆ อย่างปวดศีรษะและปวดท้องด้วย หากต้องการทราบถึงผลข้างเคียงทั้งหมดจากยาควรศึกษาจากฉลากของยา ยากลุ่ม antihistamines ที่นิยมจ่ายให้คนไข้ ได้แก่ Cinnarizine, Cyclizine, และ Promethazine
- Betahistine ยานี้ทำงานคล้ายกับยา Antihistamines โดยยากลุ่มนี้ใช้รักษาโรคน้ำในหูไม่เท่ากันและอาจใช้กับปัญหาการทรงตัวอื่นๆ ได้ด้วย แต่อาจต้องใช้เป็นเวลานาน อีกทั้งผลที่ได้รับจากยาก็แตกต่างกันออกไปตามกรณี
ความปลอดภัยของคุณเมื่อเกิดอาการบ้านหมุน
หากคุณมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุน คุณควรคำนึงถึงความปลอดภัยในการใช้ชีวิตด้วย เพราะอาการเวียนศีรษะ เดินโซเซ อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันตามมาได้ โดยสิ่งที่ควรปฏิบัติ เช่น แจ้งหัวหน้างาน หากว่าหน้าที่ของคุณคือการควบคุมเครื่องจักรหนักหรือเสี่ยงอันตราย เป็นต้น
นอกจากนี้อาการเวียนศีรษะบ้านหมุนยังส่งผลต่อความสามารถในการขับขี่ ดังนั้นควรเลี่ยงการขับรถหากเพิ่งหายจากอาการหรือมีอาการบ่อยครั้ง