ฟันน้ำนม คืออะไร มีทั้งหมดกี่ซี่? สำคัญไหม มีประโยชน์อย่างไร?

ฟันน้ำนม แม้จะไม่อยู่อย่างถาวรแต่มีหน้าที่หลายอย่าง ตั้งแต่บดเคี้ยว ช่วยในการออกเสียง ดังนั้นจึงควรดูแลความสะอาดฟันน้ำนมให้ดี หากผุต้องรีบรักษา
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ก.พ. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 6 นาที
ฟันน้ำนม คืออะไร มีทั้งหมดกี่ซี่? สำคัญไหม มีประโยชน์อย่างไร?

ฟันน้ำนมมีความสำคัญมาก เป็นฟันชุดแรกที่ขึ้นสู่ช่องปากเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน โดยฟันหน้าน้ำนมล่างคู่แรกจะเริ่มขึ้นที่ตรงกลางของสันเหงือกล่าง จากนั้นจะค่อยๆ ขึ้นจนครบ 20 ซี่ ที่อายุประมาณ 2 ขวบครึ่ง

ฟันน้ำนมประกอบด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

  • ฟันหน้าน้ำนมบนและล่าง รวม 8 ซี่
  • ฟันเขี้ยวน้ำนมบนและล่าง รวม 4 ซี่
  • ฟันกรามน้ำนมบนและล่าง รวม 8 ซี่

ประโยชน์ของฟันน้ำนม

ฟันน้ำนมมีความสำคัญ และมีประโยชน์ดังนี้

1. ฟันน้ำนม ใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร

ทำให้เด็กสามารถรับประทานอาหารที่ต้องบดเคี้ยวได้ตามวัย หากเด็กไม่มีฟันน้ำนม หรือฟันน้ำนมผุ ปวด เด็กจะทรมาน ร้องไห้งอแง รับประทานอาหารไม่ได้ ทำให้น้ำหนักน้อย ขาดสารอาหาร สุขภาพทรุดโทรม ป่วยง่าย

2. ฟันน้ำนม ใช้ในการออกเสียง

การออกเสียงพยัญชนะต่างๆ ให้ชัดเจนนั้น จะต้องเปล่งเสียงผ่านอวัยวะต่างๆ ในช่องปาก เช่น ฟัน ลิ้น ริมฝีปาก

หากเด็กไม่มีฟันหน้า ฟันผุจนสั้น หรือต้องถอนไปก่อนเวลาอันควร ก็จะทำให้เด็กพูดออกเสียงไม่ชัด อาจโดนเพื่อนล้อ กระทบกับจิตใจของเด็ก อาจอายเพื่อน หรือไม่อยากไปโรงเรียน มีผลต่อการเรียนหนังสือ

3. ฟันน้ำนม มีผลกับความสวยงาม

หากเด็กมีฟันผุ ดำ เป็นรู แหว่ง สั้น หรือผุปวดจนต้องถอนไปก่อนเวลาอันควร ฟันหลอ จะมีปัญหาเรื่องความสวยงาม อาจโดนเพื่อนล้อ อายเพื่อน กระทบกับจิตใจของเด็ก มีผลกับการเข้าสังคม

4. ฟันน้ำนม มีความสำคัญต่อการขึ้นของฟันแท้

ฟันน้ำนมแต่ละซี่จะช่วยกำหนดช่องว่างที่เหมาะสม ไว้ให้ฟันแท้ตรงตำแหน่งนั้นสามารถขึ้นสู่ช่องปากได้อย่างถูกต้อง เรียงตัวสวยงาม

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่อถึงเวลาที่ฟันน้ำนมขึ้นแต่ละซี่ เด็กอาจมีอาการคันเหงือก น้ำลายเยอะ ชอบกัดสิ่งของ อาจปวดเหงือก ร้องไห้กลางคืน เหงือกบวมเล็กน้อย หรือไข้ขึ้นเล็กน้อย

หากผู้ปกครองสังเกตในช่องปากของลูกแล้วเห็นว่าเป็นอาการของฟันขึ้น ก็สามารถวางใจได้ อาการเหล่านี้เป็นอาการปกติ สามารถให้ยาลดไข้ได้

แต่หากไม่มั่นใจว่าเกิดจากฟันขึ้นหรือจากสาเหตุอื่น เหงือกบวมมากผิดปกติ หรือมีไข้ขึ้นสูง ควรปรึกษาแพทย์

การดูแลฟันน้ำนม

ผู้ปกครองต้องดูแลฟันน้ำนมของลูกตั้งแต่ซี่แรก โดยการแปรงฟันให้ลูก ใช้แปรงสีฟันตามวัยของเด็ก และยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ 1000 ppm โดยใช้ปริมาณเพียงเล็กน้อย เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กกลืนยาสีฟัน ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะฟันตกกระได้

ในวัยที่เด็กยังบ้วนเองไม่ได้ หลังแปรงฟันแล้วควรใช้ผ้าก๊อซสะอาด เช็ดคราบยาสีฟันออกให้ลูก

ควรพาลูกไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันและเคลือบฟลูออไรด์สม่ำเสมอ ตามทันตแพทย์แนะนำ หรือทุก 6 เดือน เพื่อป้องกันฟันผุ และควรพาไปตั้งแต่เนิ่นๆ ไม่ควรรอให้ผุหรือมีอาการ

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ตรวจสุขภาพฟันวันนี้ ที่คลินิกใกล้บ้านคุณ เริ่มต้นที่ 0 บาท ลดสูงสุด 100%

จองผ่าน HD ประหยัดกว่า / จ่ายทีหลังได้ / ผ่อน 0% ได้ / พร้อมแอดมินคอยตอบทุกคำถาม!

เมื่อเด็กโตขึ้น แม้ว่าเด็กจะเริ่มถือแปรงสีฟันแล้วแปรงฟันเอง อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองควรตระหนักว่า เด็กในวัยนี้ยังไม่สามารถแปรงฟันเองให้สะอาดได้จริง เนื่องจากความสามารถของกล้ามเนื้อมัดเล็กยังไม่พัฒนาเต็มที่ ผู้ปกครองจึงควรแปรงฟันซ้ำให้ลูกทุกวันจนถึงอายุ 8 ขวบ

เคล็ดลับกาาแปรงฟันให้เด็กเล็ก เพื่อฟันน้ำนมสะอาด แข็งแรง

เคล็ดลับการแปรงฟันให้ลูก ให้ลูกนอนหงายบนตัก การแปรงฟันควรทำด้วยความนุ่มนวล แต่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

ทำในที่ที่มีแสงสว่างเพียงพอ ใช้นิ้วมืออีกข้างช่วยแหวกแก้มและปากลูก เพื่อให้มองเห็นชัดเจนว่าแปรงได้สะอาดดีหรือไม่ ควรมีกระจกเล็กๆ ไว้ส่องดูฟันบนหลังแปรงเสร็จ

เมื่อฟันน้ำนมของลูกขึ้นมาหลายซี่ และบริเวณซอกฟันน้ำนมแต่ละซี่ชิดติดกันแล้ว ควรใช้ไหมขัดฟันทำความสะอาดซอกฟันให้ลูกด้วย เพื่อป้องกันฟันผุบริเวณซอก

ก่อนแปรงฟันให้ลูก อาจเตรียมแปรงสีฟันน่ารักๆ ไว้หลายอัน แล้วให้ลูกช่วยเลือกว่าวันนี้อยากใช้แปรงสีฟันอันไหน เพื่อเพิ่มความร่วมมือของลูก ผู้ปกครองอาจร้องเพลงไปด้วยเพื่อเพิ่มความสนุกสนาน

อย่างไรก็ตาม ลูกอาจต่อต้านและงอแง เป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องอดทน และเข้าใจ การดูแลสุขภาพฟันของลูกในวันนี้ เพื่อประโยชน์ของลูกเอง มีสุขภาพฟันที่ดี ส่งผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีในอนาคต

หากลูกต่อต้าน หรือดิ้นมาก ถ้าเด็กเล็กอาจใช้ผ้าห่อตัว ถ้าโตขึ้น อาจใช้ขาทั้งสองข้างของผู้ปกครอง พาดกั้นไหล่ทั้งสองข้างของลูกไว้ ระวังอย่าทับแรง

การเลือกอาหาร วิธีกินอาหาร ที่สัมพันธ์กับฟันน้ำนมผุ

การเลือกชนิดอาหารและวิธีกินอาหาร สามารถส่งผลต่อสุขภาพของฟันน้ำนมได้ โดยเฉพาะในเด็กที่ยังไม่สามารถดูแลความสะอาดของฟันตัวเองได้อย่างเต็มที่

ผู้ปกครองควรดูแลเรื่องอาหารให้แก่เด็กๆ ดังนี้

  • การกินนม ไม่ว่าจะเป็นเต้านม หรือขวดนม ไม่ควรให้เด็กหลับคานม เพราะจะทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย
  • การเลือกอาหาร อาหารว่าง หรือขนมให้กับเด็ก ควรเลือกอาหารที่มาจากธรรมชาติ ไม่เติมน้ำตาล ไม่ให้ดื่มน้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ลูกอม ขนมถุง ฯลฯ ที่เหนียวหรือเกาะติดฟัน ก่อให้เกิดฟันผุได้ง่าย
  • ผู้ใหญ่ไม่ควรเคี้ยวอาหารแล้วป้อนเด็ก ไม่ควรใช้ช้อนส้อมแก้วน้ำร่วมกับเด็ก โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่มีฟันผุหรือโรคเหงือก เพราะเป็นการแพร่เชื้อแบคทีเรียก่อโรคฟันผุและโรคเหงือกไปสู่เด็ก

การหลุดของฟันน้ำนม และการแทนที่ด้วยฟันแท้

การหลุดของฟันน้ำนมแต่ละซี่ และการแทนที่ด้วยฟันแท้ มีรูปแบบและความจำเพาะ

ฟันแท้ซี่แรกที่ขึ้นสู่ช่องปาก คือ ฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง เมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ จะขึ้นถัดไปด้านหลังของฟันน้ำนม ทั้ง บน ล่าง ซ้าย ขวา ฟันแท้ซี่นี้ ผู้ปกครองมักจะคิดว่าเป็นน้ำนม และมักจะผุไปเนื่องจากดูแลไม่ดี ซึ่งการสูญเสียฟันหลักที่สำคัญนี้ส่งผลเสียตามมามากมาย

ฟันหน้าน้ำนมทั้ง 8 ซี่จะค่อยๆ ห่างออกจากกัน เพื่อให้มีพื้นที่เพียงพอสำหรับฟันแท้ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่า ฟันหน้าน้ำนมจะโยกและหลุดไปเมื่ออายุ 7-8 ขวบ และมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่เองตามธรรมชาติ

ฟันกรามน้ำนมทั้ง 8 ซี่จะค่อยๆ โยกหลุด และมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่เมื่ออายุประมาณ 9-11 ปี

และท้ายสุด ฟันเขี้ยวน้ำนมทั้ง 4 ซี่จะค่อยๆ โยกหลุด และมีฟันแท้ขึ้นมาแทนที่เมื่ออายุประมาณ 12 ปี รวมทั้งมีฟันกรามแท้ซี่ที่สองขึ้นต่อจากด้านหลังสุดอีกทั้ง บน ล่าง ซ้าย ขวา

นอกจากนี้ ยังอาจมีฟันกรามแท้ซี่ที่สาม ข้ึนสู่ช่องปากเมื่ออายุประมาณ 16-19 ปี โดยฟันซี่ดังกล่าวนี้ บางรายอาจขึ้นสู่ช่องปากไม่ได้ กลายเป็นฟันคุด ซึ่งถ้ามีฟันคุดก็ต้องถอนหรือผ่าตัดออกไป

ฟันน้ำนมผุ เป็นอะไรหรือไม่ ผุแล้วควรทำอย่างไร?

ฟันน้ำนม หากไม่ได้รับการดูแล หรือเลือกอาหารให้ลูกไม่เหมาะสม มีน้ำตาลมากเกินไป ก็จะผุได้ง่าย ลักษณะของฟันผุ เริ่มแรกจะมีสีขาวขุ่น ดูกร่อนๆ จากนั้นจะผุแหว่งเป็นรู มีสีขาวขุ่น เหลือง ส้ม น้ำตาล หรือดำ

ฟันผุในระยะเริ่มต้น รอยผุจะยังอยู่ที่ชั้นเคลือบฟันและเนื้อฟัน ทันตแพทย์สามารถอุดได้โดยใช้เวลาไม่นาน เด็กให้ความร่วมมือกับการรักษาได้ไม่ยากนัก

แต่เนื่องจากฟันผุในระยะเริ่มต้นนี้ เด็กจะยังไม่มีอาการเสียวฟันหรือปวดฟันใดๆ ร่าเริง กินได้ปกติ ถ้าผู้ปกครองไม่สังเกตเห็น หรือไม่พาไปให้ทันตแพทย์ตรวจฟันสม่ำเสมอ รอยผุก็จะไม่ได้รับการรักษา

อาการปวดฟัน จะเกิดขึ้นเมื่อฟันผุนั้นทะลุโพรงประสาทฟันไปแล้ว เชื้อโรคเข้าสู่โพรงประสาทฟัน รากฟัน และเนื้อเยื่อรอบรากฟัน เกิดอาการปวด บวม เป็นหนอง

หากอาการปวดนั้นเพิ่งเริ่มเป็นไม่นาน ยังไม่มีการบวมเป็นหนอง ถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ แล้วพบว่ากระดูกรองรับรากฟันยังปกติ และกำหนดของฟันน้ำนมซี่นั้นๆ ยังต้องอยู่ให้เด็กใช้งานอีกหลายปี ทันตแพทย์จะแนะนำให้รักษารากฟันน้ำนมไว้ และครอบฟันน้ำนมเพื่อความแข็งแรง

หากมีอาการปวดเรื้อรัง บวม เป็นหนอง ถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์แล้วพบว่ากระดูกรองรับรากฟันเกิดการละลาย หนองลุกลามไปถึงหน่อฟันแท้ หรือเป็นช่วงที่ฟันน้ำนมซี่นั้นๆ กำลังจะหลุดอยู่แล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้ถอนฟันน้ำนมที่ปวดนี้ และอาจต้องใส่เครื่องมือกันช่องว่าง ในกรณีที่ต้องรอเวลาให้ฟันแท้ในตำแหน่งนี้ขึ้นสู่ช่องปากตามธรรมชาติ

หากมีอาการปวดบวมมาก มีหนองมาก แก้มบวม หน้าบวม ตาบวม ต้องรีบพาไปโรงพยาบาล อาจต้องนอนโรงพยาบาล รับยาฆ่าเชื้อทางเส้นเลือดก่อนถอนฟันออก เพื่อไม่ให้การติดเชื้อลุกลามจนเป็นอันตรายสู่อวัยวะอื่น หรืออันตรายถึงแก่ชีวิตได้

ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นหากฟันน้ำนมผุ ไม่ได้รับการรักษา

หากปล่อยให้ฟันน้ำนมผุ จะเกิดปัญหาเหล่านี้ตามมาได้

  1. เด็กไม่สามารถเคี้ยวอาหารให้ละเอียดได้ ส่งผลให้อาหารไม่ย่อย มีผลต่อกระเพาะและลำไส้ อาจอาเจียนออกมา นอกจากนี้เด็กที่กินได้น้อย อาจขาดสารอาหาร เสียสุขภาพและพัฒนาการไม่ดี
  2. เด็กมีอาการปวดฟัน ทำให้เด็กต้องทนทรมาน นอนไม่หลับ ผู้ปกครองเองก็นอนไม่หลับไปด้วยเพราะลูกร้องไห้ทั้งคืน ยาแก้ปวดลดไข้ก็อาจช่วยไม่ได้มากนัก และอาจต้องหยุดเรียน เสียการเรียน
  3. การไปรักษาเมื่อลุกลามมากแล้วอาจต้องใช้เวลานาน และต้องรักษาติดต่อกันหลายครั้ง อาจจำเป็นต้องฉีดยาชา เด็กจะต่อต้านและมีความทรงจำที่ไม่ดี อาจทำให้กลัวการทำฟันไปตลอดชีวิตได้
  4. การรักษาเมื่อลุกลามมากแล้วจะมีค่าใช้จ่ายสูง หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องมีการรักษาจำนวนมาก ทันตแพทย์อาจจำเป็นต้องทำการรักษาภายใต้ยาสลบ เพื่อไม่ให้เด็กต่อต้านและได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจมากนัก แม้จะจำเป็น แต่ก็มีความเสี่ยงจากการดมยาสลบ และมีค่าใช้จ่ายของการดมยาสลบเพิ่มขึ้นอีก
  5. เมื่อฟันน้ำนมนั้นไม่สามารถรักษาไว้ได้ จำเป็นต้องถอน หรือรักษาได้ แต่ผู้ปกครองเลือกถอนไปก่อนเวลาที่กำหนด และไม่พาลูกมาทำเครื่องมือกันช่องว่างสำหรับฟันแท้ เมื่อฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งขึ้นในช่องปากจะล้มมาชิดกับฟันน้ำนมที่เหลืออยู่ ทำให้ฟันกรามน้อยซี่ที่หนึ่งและสองซึ่งต้องขึ้นแทนฟันกรามน้ำนม ไม่มีช่องว่างเพียงพอที่จะขึ้นสู่ช่องปาก อาจซ้อนไปด้านแก้มหรือด้านลิ้น ส่งผลให้ฟันเรียงตัวไม่สวยงาม ทำความสะอาดยาก มีปัญหาฟันผุและอาจต้องเสียค่าใช้จ่ายจัดฟันเพื่อความสวยงามในอนาคต หรือในบางราย ฟันขึ้นไม่ได้เลย กลายเป็นฟันฝังหรือถุงน้ำ ซึ่งต้องผ่าตัดออกในอนาคต
  6. การมีสุขภาพช่องปากที่ไม่ดีตั้งแต่เด็กจะส่งผลถึงสุขภาพช่องปากเมื่อโตขึ้น เพราะแบคทีเรียก่อโรคฟันผุจะลุกลามไปยังซี่อื่นๆ ได้เสมอ ดังนั้น หากมีฟันผุ ควรรักษาให้เรียบร้อย ไม่ปล่อยทิ้งไว้

ดังนั้น วิธีการดูแลรักษาฟันน้ำนมที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรักษา แต่เป็นการป้องกัน จำเป็นอย่างมากที่ผู้ปกครองจะต้องตระหนักถึงความสำคัญของฟันน้ำนม การแปรงฟันให้ลูก และการเลือกอาหารการกินให้ลูก เพื่อป้องกันฟันผุ รวมทั้งต้องพาไปพบทันตแพทย์สม่ำเสมอ เพื่อเคลือบฟลูออไรด์ป้องกันฟันผุ และตรวจฟันเป็นระยะ

หากมีฟันผุจะได้รักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือหากเป็นมากแล้วก็ตาม ต้องรีบพาไปรักษาก่อนจะสายเกินไป สุขภาพช่องปากที่ดีของลูก คือพื้นฐานที่สำคัญของสุขภาพช่องปาก กาย และใจของลูกเมื่อเติบโตขึ้น


3 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ. ทาคาชิ อิงาราชิ, คู่มือเลี้ยงลูก 0-3 ขวบ สไตล์คุณแม่ญี่ปุ่น, พฤศจิกายน 2018.
ผศ. ทพญ.วรณัน ประพันธ์ศิลป์, ฟัน (น้ำนม) ผุ (https://dt.mahidol.ac.th/th/ฟันน้ำนมผุ/), 2561
Michael Friedman, DDS, Dental Health and Your Child's Teeth (https://www.webmd.com/oral-health/guide/dental-health-your-childs-teeth), 11 October 2019.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป
ยาแก้ปวดฟัน
ยาแก้ปวดฟัน

ปวดฟัน กินยาอะไรดี? จึงจะช่วยบรรเทาอาการอย่างปลอดภัยและได้ผล

อ่านเพิ่ม
ฟันเหลือง ทำอย่างไรดี?
ฟันเหลือง ทำอย่างไรดี?

รู้จัก 8 สาเหตุของฟันเหลือง ทั้งโดยธรรมชาติและจากพฤติกรรมที่คุณหลีกเลี่ยงได้ พร้อมแนะนำ 7 วิธีเพื่อให้ฟันกลับมาขาวสดใส

อ่านเพิ่ม