ด้วยวิวัฒนาการก้าวล้ำในวงการแพทย์ที่ก่อให้เกิดการผลิตยารักษาโรคต่างๆ ได้อย่างก้าวหน้ากว่าสมัยก่อนอย่างมากมาย แต่ทั้งนี้ยาจะให้ผลดีสูงสุดหรือเกิดผลข้างเคียงน้อยก็ต่อเมื่อใช้อย่างถูกวิธีและปฏิบัติตามแพทย์สั่ง โดยยาขับปัสสาวะถือว่าเป็นยาอีกหนึ่งชนิดที่ต้องอาศัยความร่วมมือ รวมทั้งการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัดของผู้ป่วยเองด้วย
ยาขับปัสสาวะ คืออะไร
เป็นยาที่ใช้ช่วยกระตุ้นการขับปัสสาวะ ซึ่งตัวยาของยาขับปัสสาวะจะเข้าไปกระตุ้นการทำงานของไต เพื่อให้ขับโซเดียมและน้ำออกมาร่วมกับการขับปัสสาวะส่วนเกินให้ออกมาจากร่างกาย มักใช้เพื่อรักษาโรคความดันโลหิตสูง ภาวะบวมน้ำ หัวใจวาย ตับวาย นิ่วในไต โดยแบ่งได้เป็น 5 กลุ่ม ดังนี้
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- กลุ่มไธอะไซด์ไดยูเรติก แพทย์มักใช้ยาขับปัสสาวะกลุ่มนี้มากที่สุด เป็นยาที่ออกฤทธิ์โดยตรงกับไต เพื่อช่วยยับยั้งการส่งโซเดียมและคลอไรด์ภายในหลอดไตส่วนปลาย
- กลุ่มลูปไดยูเรติก มักใช้ในผู้ป่วยโรคหัวใจวาย โรคตับ โรคไต และภาวะความดันโลหิตสูง เพื่อช่วยลดโพแทสเซียมโดยให้ขับออกมาทางปัสสาวะ
- กลุ่มโพแทสเซียม-สแปริ่งไดยูเรติก เป็นกลุ่มที่ใช้เพื่อลดปริมาณน้ำในร่างกาย แต่จะไม่ลดปริมาณโพแทสเซียม มักจะใช้ในผู้ป่วยที่เป็นโรคต้อหินและอาการแพ้ความสูง
- กลุ่มยายับยั้งเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไฮเดรส ในอดีตเคยใช้เป็นยาขับปัสสาวะผ่านการยับยั้งเอนไซม์คาร์บอนิกแอนไฮเดรสทำให้มีผลในการขับกรดและโซเดียม แต่ปัจจุบันใช้ในการรักษาต้อหินและโรคกลัวความสูง
- กลุ่มออสโมติกไดยูเรติก ยากลุ่มนี้อาศัยกลไกเกี่ยวกับแรงดันออสโมติก ทำให้การเกิดออสโมซิสของน้ำที่หน่วยไตน้อยลง และส่งผลให้เกิดการขับแร่ธาตุเกือบทุกชนิด ปัจจุบันใช้ในการลดความันในกะโหลกศีรษะและลดความดันลูกตา
วิธีใช้และวิธีปฏิบัติตัวขณะใช้ยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะเป็นยาที่จำเป็นต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่ดูแล และต้องใช้ตามขนาดที่ระบุไว้ตามฉลากยาอย่างเคร่งครัด เนื่องจากมักจะต้องใช้ยาขับปัสสาวะร่วมกับยาประเภทอื่น หากใช้ในปริมาณที่น้อยหรือมากจนเกินไป อาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงต่อผู้ป่วยได้
- ก่อนเริ่มใช้ยาขับปัสสาวะ ผู้ป่วยจะต้องแจ้งถึงการใช้ยาทุกประเภททั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณที่ผู้ป่วยรับประทานอยู่ รวมทั้งปัญหาทางสุขภาพอื่นๆที่เป็น เนื่องจากยาขับปัสสาวะเป็นยาที่มักจะมีปฏิกิริยาต่างๆ กับยาอื่นด้วย
- ในระหว่างการใช้ยาขับปัสสาวะ แพทย์อาจจำเป็นต้องตรวจร่างกาย วัดความดัน ตรวจเลือด และตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจดูไตและแร่ธาตุต่างๆ หากมีค่าใดที่ผิดปกติจะช่วยให้แพทย์สามารถปรับการใช้ยาได้ทัน
- ยาขับปัสสาวะบางกลุ่มอาจมีการเพิ่มหรือลดลงของปริมาณโพแทสเซียมในร่างกายได้ โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเสริมเพื่อเพิ่มโพแทสเซียม หรือเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมมากๆ ดังนั้นผู้ป่วยจะต้องปฏิบัติตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด
- หากต้องรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ก็ควรจะรับประทานยาขับปัสสาวะในช่วงเช้า หรือถ้ารับประทานวันละ 2 ครั้ง ควรรับประทานช่วงเช้าและบ่าย เพราะการรับประทานในตอนเย็นหรือก่อนนอน จะทำให้ต้องตื่นลุกขึ้นมากลางดึก อาจทำให้พักผ่อนไม่เพียงพอแล้วส่งผลเสียต่อผู้ป่วยได้ และต้องไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงเกิดได้
- ไม่ควรหยุดยาขับปัสสาวะเอง แต่ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
ผลข้างเคียงของยาขับปัสสาวะ
ยาขับปัสสาวะอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้บ้าง ทั้งนี้หากพบอาการผิดปกติใดๆ ระหว่างการใช้ยา จะต้องแจ้งแพทย์ที่ดูแลทันที โดยผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นมีดังนี้
- วิงเวียนศีรษะ มึนงง ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ
- ปวดกล้ามเนื้อ รวมทั้งอาจได้ยินเสียงแปลกๆ
- มีอาการแพ้ยา เช่น รู้สึกคัน มีผื่นขึ้น เจ็บคอ ตาพร่า ปวดศีรษะ เป็นจ้ำเลือดขึ้นตามผิวหนัง
- ปริมาณน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง
- ระบบสืบพันธุ์มีการเปลี่ยนแปลง เช่น ประจำเดือนมาผิดปกติสำหรับผู้หญิง และในเพศชายอาจพบเต้านมขยายใหญ่ผิดปกติ (พบในยากลุ่มโพแทสเซียมสแปริ่ง spironolactone)
- หากมีการสูญเสียโพแทสเซียมต่ำอาจมีอาการปัสสาวะมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นตะคริว กระหายน้ำ
- มักมีปฏิกิริยากับยาอื่นๆ เช่น ยาซัลฟา ยาเกี่ยวกับโรคตับ โรคไต โรคเบาหวาน ยาแก้ข้ออักเสบ ยานอนหลับ หรือยาลดความดัน
โดยปกติยาขับปัสสาวะจะไม่มีผลข้างเคียงใดๆ ถ้าอยู่ภายใต้การควบคุมและไม่ละเลยการปฏิบัติตามคำสั่งของแพทย์ หากเกิดการแพ้ยาหรือมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้นขณะใช้ยา จะต้องรีบแจ้งแพทย์ให้ทราบทันที เพื่อให้แพทย์ได้พิจารณาการปรับใช้ยา อีกทั้งห้ามหยุดยาด้วยตัวเองก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากแพทย์ เพราะอาจทำให้โรคที่เป็นทรุดลงไม่หายขาดได้