ทีมเภสัชกร HD
เขียนโดย
ทีมเภสัชกร HD
ทีมแพทย์ HD
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
ทีมแพทย์ HD

ยาบำรุงเลือดชนิดต่างๆ ประโยชน์ และวิธีใช้

ไขคำตอบ ยาบํารุงเลือดเม็ดสีเหลืองและสีแดงเหมือนกันหรือไม่ มีข้อบ่งใช้อย่างไร มีผลข้างเคียงใดบ้างที่ต้องพิจารณา
เผยแพร่ครั้งแรก 22 มี.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 16 เม.ย. 2019 เวลาอ่านประมาณ 5 นาที
ยาบำรุงเลือดชนิดต่างๆ ประโยชน์ และวิธีใช้

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • ยาบำรุงเลือดเป็นยาช่วยเสริมธาตุเหล็กทั้งในกรณีการเสียเลือด โลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก รวมทั้งช่วยในการเจริญเติบโตของทารก
  • ยาบำรุงเลือดมีหลายประเภท เช่น ยาที่มีส่วนประกอบของธาตุเหล็ก วิตามินบี 12 กรดโฟลิก ยากระตุ้นการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาว
  • ภาวะโลหิตจางเกิดได้จากหลายสาเหตุ ยาบำรุงเลือดก็มีหลายชนิดและมีวิธีใช้แตกต่างกัน หากหน้ามืดเป็นลมบ่อย เหนื่อยง่าย หนาวเย็นง่าย ป่วยบ่อยควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดมารับประทานเอง
  • ยาบำรุงเลือดเม็ดสีแดงกับยาบำรุงเลือดเม็ดสีเหลืองกลม เป็นตัวยาคนละตัวกัน แต่มีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดทั้งสิ้น แพทย์ หรือเภสัชกร จะจ่ายยาบำรุงเลือดตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย
  • การรับประทานยาบำรุงเลือดให้มีประสิทธิภาพ ต้องรับประทาน หรือฉีดอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะให้หยุดยาได้ (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่

ยาบำรุงเลือดตามที่เราเรียกกันจนชินปาก จริงๆ แล้วเป็นยาที่ช่วยเสริมธาตุเหล็กในร่างกาย โดยทั่วไปแพทย์มักให้รับประทานยาบำรุงเลือดเพื่อรักษาภาวะโลหิตจางจากการขาดธาตุเหล็ก หรือภาวะที่ร่างกายเสียเลือดมาก เช่น หลังบริจาคโลหิต ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมามากผิดปกติ 

นอกจากนี้ยาบำรุงเลือดยังใช้ในหญิงตั้งครรภ์เพื่อให้คุณแม่ไม่หน้ามืดเป็นลมเนื่องจากภาวะโลหิตจาง ช่วยในการเจริญเติบโตของร่างกายและสมองของทารกอีกด้วย

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

หากสงสัยว่าตัวเองมีภาวะที่ควรต้องกินยาบำรุงเลือดหรือไม่ การตรวจสุขภาพกับแพทย์ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่อาจช่วยได้ 

ประเภทของยาบำรุงเลือด

  1. ยากลุ่มที่เป็นสารประกอบของธาตุเหล็ก (Ferrous Compound) เช่น เฟอร์รัสซัลเฟต (Ferrous Sulfate) เฟอร์รัสกลูโคเนต (Ferrous Gluconate) เฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 
  2. วิตามินบี 12 (Vitamin B12) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า "ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamine)" เช่น ไซยาโนโคบาลามีน (Cyanocobalamin) และไฮดรอกโซโคบาลามิน (Hydroxocobalamin)
  3. กรดโฟลิก (Folic acid) หรือนิยมเรียกว่า "โฟเลต (Folate)"
  4. ยากระตุ้นการแบ่งตัวและการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดแดง (Erythropoiesis-Stimulating Agent : ESAs) เช่น ยาอิโพอิติน (Epoetin) หรืออีพีโอ (EPO)
  5. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์ (Granulocyte Colony-Stimulating Factor : G-CSF) เช่น ยาฟิลกราสทิม (Filgrastim) เพกฟิลกราสทิม (Pegfilgrastim) ลีโนกราสทิม (Lenograstim)
  6. ยากระตุ้นให้มีการผลิตเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดแกรนูโลไซต์และเซลล์มาโครฟาจ (Granulocyte-Macrophage Colony-Stimulating factor : GM-CSF) เช่น ยาซาร์กรามอสทิม (Sargramostim)

ยาในกลุ่ม 1-3 มีจำหน่ายทั้งชนิดเป็นยาเดี่ยวและในรูปแบบยาบำรุงเลือดหลายชนิดผสมเป็นวิตามินรวมในเม็ดเดียว เนื่องจากการสร้างเม็ดเลือดแดงต้องอาศัยสารอาหารหลายชนิดร่วมกัน ได้แก่ ธาตุเหล็ก วิตามินบี 1 วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 และโฟเลต 

ส่วนยาในกลุ่ม 4-6 เป็นยาเฉพาะ แพทย์จะสั่งจ่ายเฉพาะในผู้ป่วยบางรายที่มีความผิดปกติของระบบเลือด กล่าวคือ ผู้ป่วยเป็นโรคโลหิตจาง แต่ร่างกายยังสามารถสร้างเม็ดเลือดเองได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

วิธีรับประทานยาบำรุงเลือด

  • ควรรับประทานยาบำรุงเลือดเมื่อท้องว่างเพื่อให้ยาดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้ดี แต่อาจทำให้รู้สึกไม่สบายท้อง หรือคลื่นไส้อาเจียน ดังนั้นแพทย์ หรือเภสัชกรจึงมักแนะนำให้รับประทานหลังมื้ออาหารทันที หรือก่อนนอน เพราะจะช่วยลดอาการเหล่านั้นได้ 
  • ผู้ป่วยบางรายที่มีการใช้ยาหลายชนิดร่วมกัน แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาบำรุงเลือดก่อนนอน เพื่อหลีกเลี่ยงการรับประทานพร้อมกับยาบางตัว จะได้ไม่เกิดปัญหายาตีกัน
  • ปริมาณยาบำรุงเลือดที่ต้องรับประทานอาจแตกต่างกันได้ตั้งแต่ 1-3 มื้อ ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ต้องการใช้ หรือตามความรุนแรงของโรคโลหิตจางที่เป็น 
  • การรับประทานยาบำรุงเลือดให้มีประสิทธิภาพ ต้องรับประทานยา หรือฉีดยาอย่างต่อเนื่อง จนกว่าแพทย์จะพิจารณาว่า ให้หยุดยาได้

ควรซื้อยาบำรุงเลือดรับประทานเองหรือไม่?

ภาวะโลหิตจางสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุและยาบำรุงเลือดก็มีหลายชนิด แต่ละชนิดใช้รักษาภาวะที่แตกต่างกัน หากสงสัยว่า ตนเองมีภาวะโลหิตจาง หรือมีอาการผิดปกติดังนี้ 

  • หน้ามืดเป็นลมบ่อย 
  • เหนื่อยง่าย 
  • เมื่อยล้า 
  • ตัวซีด มือเท้าซีด 
  • หนาวเย็นง่าย 
  • เล็บเปราะหักง่าย 
  • ป่วยบ่อย 

ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือด หรือวิตามินใดๆ มารับประทานเอง เพื่อที่จะได้ใช้ยารักษาโดยตรงกับสาเหตุของโรค และช่วยหลีกเลี่ยงภาวะเหล็กเกิน หรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น

หญิงตั้งครรภ์รับประทานยาบำรุงเลือดได้หรือไม่ มีข้อควรระวังอะไรบ้าง?

สูตินรีแพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์ใช้ยาบำรุงเลือดร่วมด้วย เนื่องจากธาตุเหล็กจำเป็นสำหรับการสร้างเม็ดเลือด สร้างอวัยวะต่างๆ รวมถึงสมองของทารก 

นอกจากนี้ยาบำรุงเลือดยังจำเป็นสำหรับตัวคุณแม่เอง เนื่องจากเด็กทารกในครรภ์จะดูดซึมธาตุเหล็กจากแม่ไปใช้ หากร่างกายแม่ได้รับปริมาณธาตุเหล็กเท่าเดิมตามที่ร่างกายเคยได้รับ ร่างกายอาจเกิดภาวะขาดธาตุเหล็ก ทำให้มีอาการหน้ามืด เป็นลม และเกิดอันตรายได้

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

อย่างไรก็ตาม ควรปรึกษาแพทย์และฝากครรภ์เมื่อตั้งครรภ์ ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เนื่องจากชนิดและปริมาณยาที่ได้รับอาจมาก หรือน้อยเกินไป อาจทำให้มีผลกระทบต่อแม่และลูกในครรภ์ได้

ยาบํารุงเลือดที่ได้รับหลังบริจาคเลือดช่วยอะไรได้บ้าง จำเป็นต้องรับประทานหรือไม่?

ซองบรรจุยาเม็ดยาสีแดงที่จะได้รับหลังบริจาคเลือดกับสภากาชาดไทย คือ ยาเสริมธาตุเหล็กชนิดวิตามินรวม ประกอบด้วยเฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 200 มิลลิกรัม วิตามิน B1 วิตามิน B12 วิตามิน C และเกลือแร่ รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน 

การนำวิตามินและแร่ธาตุหลายชนิดมารวมกันนั้นเพื่อช่วยในการดูดซึมและกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ยาบำรุงเลือดที่ได้จากการบริจาคเลือดบางแห่งอาจแตกต่างจากนี้ได้ แต่โดยรวมแล้วก็คือ ยาที่ให้สำหรับเสริมธาตุเหล็กเหมือนกัน 

จากข้อมูลของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย พบว่า การบริจาคเลือดแต่ละครั้ง ผู้บริจาคจะเสียธาตุเหล็กไปประมาณ 350-450 มิลลิลิตร แม้ปริมาณเท่านี้จะไม่ได้ทำให้ร่างกายเกิดอันตราย แต่ก็ควรจะได้รับธาตุเหล็กชดเชยส่วนที่สูญเสียไป

นอกจากนี้การบริจาคเลือดต้องไม่ทำบ่อยเกินกว่า 3 เดือน/ครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงภาวะโลหิตจาง โดยเฉพาะผู้หญิงจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะซีด หรือโลหิตจางได้ง่ายกว่าผู้ชาย เนื่องจากการมีประจำเดือนทุกเดือนด้วย

นอกจากกินยาบำรุงเลือดแล้ว ผู้บริจาคเลือดควรรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูงร่วมด้วย เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องใน ไข่แดง ผักใบเขียว ธัญพืช และอาหารทะเล เป็นต้น

ยาบํารุงเลือดเม็ดสีแดงกับเม็ดสีเหลืองแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร?

ยาบำรุงเลือดเม็ดสีแดง ประกอบไปด้วยเฟอร์รัสฟิวมาเรต (Ferrous Fumarate) 200 มิลลิกรัม วิตามิน B1 B12 วิตามิน C และเกลือแร่ รวมอยู่ในเม็ดเดียวกัน 

ในขณะที่ยาบำรุงเลือดเม็ดสีเหลืองกลม ผิวด้าน ขนาดเล็ก เป็นกรดโฟลิก หรือที่เรียกว่า "โฟเลต" เป็นตัวยาคนละตัวกัน 

อย่างไรก็ตาม วิตามินทุกตัวตามที่กล่าวมาล้วนมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดทั้งสิ้น แพทย์ หรือเภสัชกรส่วนใหญ่ อาจพิจารณาจ่ายตัวใดตัวหนึ่ง หรือจ่ายควบคู่กันทั้ง 2 ตัว ขึ้นอยู่กับภาวะโรคที่ผู้ป่วยเป็น

นอกจากนี้ยังมียาเม็ดสีเหลืองมันวาวเคลือบน้ำตาล ที่หลายคนเข้าใจว่า เป็นยาบำรุงเลือด แต่แท้จริงแล้วเป็นวิตามินบีรวม 

วิตามินบีรวม 1 เม็ด จะมีปริมาณวิตามินใกล้เคียงกับที่ควรได้รับต่อวัน ประกอบด้วย วิตามินบี 1 บี 2  บี 3 บี 5 บี 6 บี 7 บี 9  และบี 12 โดยไม่ได้มีส่วนประกอบของธาตุเหล็กตามที่เข้าใจกัน แต่ก็เป็นวิตามินรวมที่ร่างกายต้องการ และมีความสำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดอีกด้วย

ข้อควรระวังในการรับประทานยาบำรุงเลือด

  • การใช้ยาบำรุงโลหิตในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี ต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์อย่างใกล้ชิด เนื่องจาการได้รับยาเกินขนาดอาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาลีโวไทโรซีน (Levothyroxine) ภายใน 4 ชั่วโมง ภายหลังการให้ยาบำรุงเลือด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาบำรุงเลือดในผู้ป่วยโรคฮีมาโครมาโทซิส (Hemachromatosis) เนื่องจากอาจทำให้ร่างกายเป็นพิษจากภาวะธาตุเหล็กเกิน
  • ควรแจ้งแพทย์ หรือเภสัชกรให้ทราบถึงยาอื่นๆ ที่กำลังใช้อยู่ เนื่องจากยาบางชนิดอาจมีผลต่อการเพิ่ม หรือลดระดับของธาตุเหล็กในร่างกาย หรือเกิดการตีกันของยาได้
  • ไม่ควรซื้อยาบำรุงเลือดรับประทานเอง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาทุกครั้ง

ยาบำรุงเลือดแม้จะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรศึกษาวิธีใช้ให้ดีทุกครั้งก่อนรับประทาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากอยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ ให้นมบุตร มีโรคเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ทุครั้งก่อนการใช้ยาเพื่อความปลอดภัย 

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจต่างๆ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Medscape, Iron Deficiency Anemia Medication (https://emedicine.medscape.com/article/202333-medication), 21 Febuary 2020.
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย, ธาตุเหล็กสารอาหารสำคัญ ป้องกันภาวะโลหิตจาง (https://blood.redcross.or.th/sites/default/files/users/8_blooddonation/NBC4-Aus-Sep%2018.pdf), 21 กุมภาพันธ์ 2563.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป