ตะคริว (Muscle cramps) เป็นภาวะการเจ็บป่วยของกล้ามเนื้อที่เกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยมีลักษณะการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างฉับพลันอย่างไม่สามารถบังคับได้ จนทำให้มีอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อ แต่จะมีอาการเป็นอยู่ชั่วคราวแล้วทุเลาไปเอง ซึ่งมักจะมีอาการขณะที่กำลังเดิน ออกกำลังกาย นั่งพักหรือนอนพักเป็นระยะเวลานานๆ
สาเหตุของตะคริว
ในทางการแพทย์ยังไม่ทราบเกี่ยวกับสาเหตุอย่างแน่ชัดว่าเกิดจากอะไร เนื่องจากอาการตะคริวนั้นมีทั้งชนิดที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และชนิดที่มีสาเหตุร่วมด้วย
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*
แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท
- ตะคริวชนิดเกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
- ตะคริวชนิดมีสาเหตุร่วมด้วย
- กล้ามเนื้อมีความตึงเครียดมากเกินไป อย่างเช่นขณะออกกำลังกายจะทำให้เป็นตะคริวได้
- เส้นเอ็นในผู้สูงอายุมีการหดตัวลง เพราะเส้นเอ็นนี้จะเชื่อมต่อระหว่างกล้ามเนื้อกับกระดูก เมื่อเส้นเอ็นหดตัวจนสั้นเกินไป จะเป็นสาเหตุที่ทำให้กล้ามเนื้อเป็นตะคริว
- เลือดที่ไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อถูกยับยั้งอย่างฉับพลัน อย่างเช่นการนั่งทับขาข้างใดข้างหนึ่งเป็นระยะเวลานานๆ
- ระหว่างที่กำลังนอนหลับแล้วระบบประสาทมีการทำงานที่ผิดปกติ
- โรคต่างๆ เช่น โรคไตที่ทำให้เกลือแร่บางชนิดในร่างกายลดน้อยลง โรคตับที่ทำให้ตับทำงานผิดปกติ จนทำให้เกิดสารพิษส่งไปที่กระแสเลือดแล้วมีผลให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ภาวะบกพร่องฮอร์โมนพาราไทรอยด์ที่ทำให้มีภาวะแคลเซียมต่ำ
- ความผิดปกติของร่างกาย เกิดจากการที่ร่างกายมีเกลือแร่บางชนิดต่ำลง อย่างเช่นแคลเซียมและแมกนีเซียม เป็นต้น ภาวะปลายประสาทอักเสบ การติดเชื้อบางชนิดของร่างกายที่ทำให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง หรือแม้แต่ภาวะที่ร่างกายขาดน้ำด้วยเช่นกัน
- การออกกำลังกาย ตะคริวมักจะเกิดขึ้นหลังจากการออกกำลังกาย
- ยาบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาราโลซิฟีนที่ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน ยาไนเฟดิปีนที่ช่วยรักษาอาการเจ็บหน้าอก หรือยากรดนิโคตินิกที่ใช้รักษาภาวะคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
อาการของตะคริว
ตะคริวมักจะเกิดขึ้นที่ขา ทำให้รู้สึกเจ็บปวดและสามารถสังเกตเห็นกล้ามเนื้อเกร็งเป็นก้อนแข็งๆ ที่บริเวณใต้ผิวหนัง แต่เป็นอาการที่ไม่รุนแรงมากเพราะหายได้เอง แต่ถ้ามีอาการรุนแรงมากอย่างเช่นขามีลักษณะบวมแดง มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นแล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือเป็นตะคริวบ่อยๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุแล้วรับการรักษาที่ถูกต้อง
วิธีการรักษาตะคริว
ผู้ที่มีอาการตะคริวสามารถรักษาได้ด้วยตัวเอง ด้วยการประคบร้อนและประคบเย็นเพื่อบรรเทาอาการกล้ามเนื้อหดเกร็ง หรืออาการกล้ามเนื้อกระตุก และยังสามารถใช้วิธีบริหารร่างกายได้ดังนี้
- การยืดเหยียดกล้ามเนื้อที่เป็นตะคริว โดยเหยียดเท้าไปทางด้านหน้า ยกเท้าขึ้น และดัดข้อเท้าในลักษณะที่ให้นิ้วเท้ามาทางด้านหน้าแข้ง
- อาการตะคริวที่น่องให้ยืนห่างจากกำแพงประมาณ 1 เมตร วางเท้าให้ราบไปกับพื้น แล้วเอนตัวไปข้างหน้าโดยให้มือแตะกำแพง ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที แล้วทำซ้ำจนครบ 5 นาที หรือใช้มือดึงเท้าสูงเพื่อเป็นการยืดกล้ามเนื้อที่น่อง
นอกจากนี้การรับประทานยาแก้ปวดอย่างเช่นยาพาราเซตามอลหรือยาไอบูโพรเฟน จะช่วยบรรเทาอาการปวดหลังเป็นตะคริวได้
วิธีป้องกันตะคริว
เราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดตะคริวได้ด้วยตัวเอง โดยดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย พยายามหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ทำให้กล้ามเนื้อมีอาการตึงมากๆ หรือยืดกล้ามเนื้อก่อนออกกำลังกายทุกครั้ง ไม่ควรออกกำลังกายหลังรับประทานอาหารเสร็จใหม่ๆ
นอกจากนี้ควรเน้นรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม แคลเซียม และแมกนีเซียม แล้วลดหรือหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนประกอบของคาเฟอีนอย่างเช่นกาแฟ ชา และโกโก้ เป็นต้น รวมถึงเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ด้วยเช่นกัน
อาการตะคริวนั้นอาจจะเกิดขึ้นได้ง่ายกับทุกคนทุกวัย แต่เราสามารถป้องกันหรือลดความเสี่ยงโอกาสที่จะเป็นได้ เพียงเข้าใจถึงสาเหตุและที่มาของตะคริวนั้นเกิดจากอะไร หรือปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับสุขภาพและการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหรือวิตามิน เพื่อให้ร่างกายของเราได้รับสารอาหารอย่างครบถ้วน ก็จะช่วยให้เรารับมือในการป้องกันไม่ให้เป็นตะคริวได้นั่นเอง