กนกกาญจน์  ดวงสุวรรณกุล
เขียนโดย
กนกกาญจน์ ดวงสุวรรณกุล
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา
ตรวจสอบความถูกต้องโดย
นพ.วรพันธ์ พุทธศักดา

ไวรัสลงกระเพาะ...ไวรัสโรต้า? สาเหตุ อาการ การรักษา ป้องกัน

ไวรัสลงกระเพาะเป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหารจากเชื้อไวรัส แพร่กระจายได้ง่าย แต่ก็สามารถรักษาและป้องกันการติดเชื้อได้
เผยแพร่ครั้งแรก 17 ม.ค. 2020 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 1 เม.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ไวรัสลงกระเพาะ...ไวรัสโรต้า? สาเหตุ อาการ การรักษา ป้องกัน

เรื่องควรรู้

ขยาย

ปิด

  • เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของโรคไวรัสลงกระเพาะที่พบได้บ่อย ได้แก่ ไวรัสโรต้า(Rotavirus) ไวรัสไนโร (Norovirus) และไวรัสอะดีโน (Adenovirus)
  • อาการของโรคไวรัสลงกระเพาะมักจะเกิดประมาณ 1-2 วัน หลังจากได้รับเชื้อ อาการที่สามารถพบได้แก่ คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายเป็นน้ำ ปวดท้อง เป็นไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด 
  • หากถ่ายเหลวเป็นปริมาณมากหลายๆ ครั้ง ร่างกายอาจสูญเสียน้ำจนมีภาวะขาดน้ำซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและหมดสติตามมาได้
  • เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัสจึงไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะต่อเชื้อ การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยต้องได้รับน้ำและเกลือแร่ทดแทนอย่างเพียงพอ
  • การป้องกันไวรัสลงกระเพาะที่สำคัญที่สุดคือ การรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคลให้ดีทั้งการรับประทานอาหาร การใช้สิ่งของต่างๆ การล้างมือบ่อยๆ และการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง (ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพได้ที่นี่)

ไวรัสลงกระเพาะ หรือหวัดลงกระเพาะ เป็นโรคติดต่อของระบบทางเดินอาหาร ผู้ป่วยโรคนี้มักไปพบแพทย์ด้วยอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำปริมาณมาก ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และอาจมีไข้ร่วมด้วย

โดยทั่วไปอาการมักไม่รุนแรง ผู้ป่วยมักหายจากโรคเองได้โดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ แต่ในทารก ผู้สูงอายุ และผู้ที่ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา อาจเป็นไวรัสลงกระเพาะแบบรุนแรงจนทำให้เสียชีวิตได้

แม้โรคนี้จะมีชื่อเรียกคล้ายกับไข้หวัด แต่ไวรัสก่อโรคไข้หวัดใหญ่ๆ ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคนี้

ไวรัสลงกระเพาะไม่มีวิธีการรักษาที่เฉพาะเจาะจง ดังนั้นการป้องกันจึงเป็นเรื่องสำคัญ วิธีง่ายๆ ที่ทุกคนทำได้นอกเหนือจากการไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยแล้วคือ "การล้างมือบ่อยๆ" เพื่อลดความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อซึ่งปนเปื้อนมาในน้ำและอาหารมากขึ้น

ไวรัสลงกระเพาะ ติดต่อได้ไหม?

ไวรัสลงกระเพาะติดต่อกันได้ง่ายมาก สามารถแพร่กระจายไปกับอาเจียน อุจจาระ หรือเสมหะของผู้ที่ติดเชื้อ ด้วยวิธีต่อไปนี้

  • การสัมผัส คลุกคลีกับผู้ติดเชื้อ เช่น การจับมือกับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสปนเปื้อนอยู่
  • การใช้สิ่งของเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ เช่น จาน ชาม ช้อน
  • การบริโภคอาหารและน้ำดื่มที่มีการปนเปื้อนเชื้อ

ไวรัสลงกระเพาะเกิดจากอะไร?

เชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยของโรคไวรัสลงกระเพาะมีดังนี้

  • ไวรัสโรต้า (Rotavirus) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในทารกวัยตั้งแต่ 3 เดือนถึง 1 ปี 3 เดือน อาการของโรคจะคงอยู่ตั้งแต่ 3-7 วัน พบได้ทุกฤดู แต่พบบ่อยในช่วงอากาศเย็น หรือฤดูหนาว
  • ไวรัสโนโร (Norovirus) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ มักพบแพร่ระบาดในกลุ่มผู้ที่เดินทางโดยเรือสำราญ สามารถพบการติดเชื้อได้ตลอดปี อาการจะเป็นอยู่ตั้งแต่ 1-3 วัน
  • ไวรัสอะดีโน (Adenovirus) มักจะเกิดการติดต่อในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี อาการจะคงอยู่ตั้งแต่ 5-12 วัน และพบการติดเชื้อได้ตลอดทั้งปี

ไวรัสลงกระเพาะอาการเป็นอย่างไร?

อาการของโรคไวรัสลงกระเพาะมักจะเกิดประมาณ 1-2 วัน หลังจากได้รับเชื้อ อาการที่สามารถพบได้มีดังนี้

เมื่อมีการถ่ายเหลวเป็นปริมาณมากหลายๆ ครั้ง ร่างกายอาจสูญเสียน้ำจนมีภาวะขาดน้ำซึ่งเป็นอันตรายมาก เพราะอาจนำไปสู่ภาวะช็อกและหมดสติตามมาได้

อาการที่บ่งบอกว่า ผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำ ได้แก่

  • ปัสสาวะสีเข้มขึ้น หรือปริมาณปัสสาวะลดลง
  • ริมฝีปากปากแห้ง ผิวแห้ง
  • ตาโหล
  • วิงเวียนศีรษะ
  • กระหม่อมหน้ายุบลง (ในทารก)

ไวรัสลงกระเพาะ รักษาอย่างไร?

เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัสจึงไม่มีวิธีการรักษาที่จำเพาะต่อเชื้อ การรักษาทำได้เพียงรักษาตามอาการเท่านั้น

เป้าหมายหลักคือ ผู้ป่วยต้องได้รับน้ำและเกลือแร่ทดแทนอย่างเพียงพอ แม้ว่าผู้ป่วยจะสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ แต่การได้รับผงเกลือแร่ชงผสมน้ำทดแทนระหว่างมื้ออาหารก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นอยู่ดี

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการเบื่ออาหาร หรือคลื่นไส้อาเจียน จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้ อาจมีความจำเป็นต้องให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำทดแทน

บางรายอาจมีการเช็ดตัว ให้ยาลดไข้ ยาแก้อาเจียน และยาแก้ปวดท้องตามอาการที่เกิดขึ้น

ไวรัสลงกระเพาะ กินอะไรได้บ้าง ห้ามกินอะไรบ้าง?

  • เด็กที่ยังดื่มนมแม่ ให้ดื่มได้ตามปกติ
  • เปลี่ยนนมเป็นชนิดที่ไม่มีแลกโตส เช่น นมถั่วเหลือง เนื่องจากขณะที่ลำไส้มีการติดเชื้อ โดยเฉพาะจากไวรัสโรต้า ในร่างกายจะย่อยน้ำตาลประเภทนี้ได้แย่ลง
  • ให้เน้นอาหารพวก ข้าว มัน เผือก เนื้อไม่ติดมัน โยเกิร์ต กล้วย และผัก 
  • งดอาหารมันๆ หรือเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลเข้มข้นสูง เนื่องจากช่วงที่มีอาการอุจจาระร่วง การดูดซึมของอาหารประเภทแป้งจะดีกว่าไขมันและโปรตีน

การป้องกันโรคไวรัสลงกระเพาะ

แม้ปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกันไวรัสลงกระเพาะผลิตออกมา สามารถป้องกันการติดเชื้อและลดความรุนแรงของโรคได้ แต่ก็ยังสามารถป้องกันได้เพียงไวรัสโรต้าเท่านั้นและมีราคาสูง

ดังนั้นคุณจึงควรระวังรักษาสุขภาพด้วยตนเองร่วมด้วย ดังนี้

  • รับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ หรืออุ่นให้ร้อนก่อน
  • ล้างผักผลไม้ให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ
  • ล้างมือให้สะอาด ถูกวิธีบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร ผู้ใหญ่ควรสอนให้เด็กเล็กรู้จักวิธีล้างมือที่ถูกต้อง
  • ขณะเดินทางควรพกน้ำสะอาดไปด้วยเสมอเพื่อใช้ดื่มและแปรงฟัน
  • จัดบ้านให้สะอาด ถูกสุขลักษณะ
  • ไม่คลุกคลี หรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย
  • หากมีลูก หรือมีเด็กในการดูแลซึ่งอยู่ในวัยเรียนป่วยเป็นไวรัสลงกระเพาะ ควรให้เด็กหยุดเรียน หรือแยกตัวออกจากเด็กคนอื่นๆ ประมาณ 48 ชั่วโมง หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น

สำหรับผู้ที่มีความจำเป็นต้องทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ อาเจียน หรืออุจจาระของผู้ป่วย มีคำแนะนำเพื่อป้องกันโรคและไม่ให้เป็นตัวกลางในการแพร่กระจายเชื้อ ดังนี้

  • ใส่ถุงมือและผ้าปิดปากทุกครั้ง ขณะทำความสะอาด
  • ล้างมือด้วยน้ำสะอาดและสบู่ โดยให้น้ำไหลผ่านเป็นเวลาอย่างน้อย 10 วินาที
  • เก็บผ้าขี้ริ้วที่เช็ดทำความสะอาดในถุงพลาสติกที่ปิดมิดชิดก่อนทิ้งลงถังขยะ
  • ทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้ด้วยน้ำร้อนและผงซักฟอก จากนั้นรอให้แห้งก่อนแล้วจึงค่อยมานำมาใช้ใหม่

ไวรัสลงกระเพาะแม้จะยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษาโดยเฉพาะ แต่มีวิธีที่สามารถป้องกันตนเองและบุตรหลานให้ห่างไกลจากโรคนี้ได้ 

ดูแลสุขอนามัยตั้งแต่วันนี้เพื่อให้สุขภาพแข็งแรง ห่างไกลโรคไวรัสลงกระเพาะและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารอื่นๆ

ดูแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เปรียบเทียบราคา โปรโมชั่นล่าสุดจากโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำได้ที่นี่ หรือไม่พลาดทุกการอัปเดตแพ็กเกจเหล่านี้ เมื่อกดเป็นเพื่อนทางไลน์ @hdcoth และกดดาวน์โหลดแอป iOS และ Android


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
National Institute of Health (2018), National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. Viral Gastroenteritis (Stomach Flu)(https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/viral-gastroenteritis/definition-facts), 20 March 2020.
Michael M. Phillips, Viral gastroenteritis (https://medlineplus.gov/ency/article/000252.htm), 20 March 2020.
Khatri, M. WebMD (2018). Gastroenteritis (Stomach Flu) (https://www.webmd.com/digestive-disorders/gastroenteritis), 20 March 2020.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)