ปัสสาวะบำบัด...ใช้ปัสสาวะเราเองบำบัดโรค?

รวมเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ปัสสาวะบำบัด” แนวทางการใช้ปัสสาวะของตัวเราเองเพื่อประโยชน์ด้านสุขภาพ
เผยแพร่ครั้งแรก 20 ส.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ปัสสาวะบำบัด...ใช้ปัสสาวะเราเองบำบัดโรค?

หลายปีที่ผ่านมา การดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อสุขภาพเคยเป็นกระแสข่าวครึกโครม และมีนักวิชาการออกมาสนับสนุนเกี่ยวกับประโยชน์ของการดื่มน้ำปัสสาวะ ยิ่งทำให้ศาสตร์ทางการแพทย์ศาสตร์นี้ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันและเกิดกระแสนิยมเป็นครั้งคราว แต่ยังมีการปฏิบัติกันในหมู่นักปฏิบัติธรรมและผู้รักสุขภาพบางกลุ่ม เหตุที่การดื่มน้ำปัสสาวะไม่มีกระแสรุนแรงเหมือนผลิตภัณฑ์สุขภาพอื่นๆ อาจเป็นเพราะทุกคนเป็นเจ้าของน้ำปัสสาวะ ไม่ต้องซื้อขาย จึงไม่มีกระแสธุรกิจเข้ามาส่งเสริม

ปัสสาวะนั้นสร้างขึ้นที่ไต การผลิตน้ำจากปัสสาวะโดยไตออกมาอย่างไม่ขาดสาย โดยแต่ละวันไตจะผลิตน้ำปัสสาวะได้ประมาณวันละหนึ่งลิตรครึ่ง เริ่มจากหยดเล็กๆ ของของเหลวจากหลอดไตจำนวนหลายล้านหยด และไหลเข้าสู่แอ่งเก็บขนาดเล็กในใจกลางไต แอ่งเก็บน้ำปัสสาวะจะมีท่อต่อไปยังกระเพาะปัสสาวะ จากนั้นก็มีท่อต่อออกสู่ภายนอกร่างกาย ในตอนกลางคืน การทำงานของไตจะช้าลงเหลือเพียงประมาณ 1 ใน 3 ของตอนกลางวัน ในช่วงอากาศเย็นไตจะผลิตปัสสาวะมากขึ้น เนื่องจากเลือดที่ไหลไปเลี้ยงผิวหนังจะลดลงเพื่อถนอมความร้อนภายในร่างกายเอาไว้ แต่ขณะเดียวกันเลือดกลับไหลผ่านอวัยวะภายในต่างๆ รวมทั้งไตมากขึ้น ทำให้ไตผลิตปัสสาวะมากขึ้นด้วย

โดยธรรมชาติแล้ว ปัสสาวะที่ขับออกมาจะมีสีเหลืองอ่อนใส ไม่มีกลิ่นเหม็น มีความเป็นกรดอ่อนๆ ถ้าปัสสาวะสีเข้ม ปัสสาวะนั้นจะมีความเข้มข้นมากกว่าปัสสาวะใส ในปัสสาวะปกติจะมีรสเค็ม แต่ถ้าปัสสาวะมีความเข้มข้นมากอาจมีรสขมนิดๆ อย่างไรก็ตาม สีและรสของปัสสาวะอาจแปรเปลี่ยนไปตามชนิดของอาหารที่รับประทานได้ มีการวิจัยในต่างประเทศพบว่า ในปัสสาวะมีส่วนประกอบของสารต่างๆ มากมาย เช่น ยูเรีย กรดยูริก ครีเอตินีน แร่ธาตุต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกลือโซเดียมฟอสเฟตและกรดอินทรีย์ มีโปรตีนเล็กน้อย ส่วนใหญ่เป็นอัลบูมิน และมีฮอร์โมน กลูโคส และวิตามินที่ละลายน้ำ เล็กน้อย

นอกจากนี้นักวิจัยยังเชื่อว่า มีสารอีกมากมายในปัสสาวะที่เรายังไม่รู้จัก น้ำปัสสาวะจะบริสุทธิ์ปราศจากเชื้อโรคเมื่อเกิดขึ้นในไต แต่เมื่อปล่อยออกจากร่างกายแล้วมักจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค

ปัสสาวะบำบัดคืออะไร?

ปัสสาวะบำบัด (Urine therapy) หมายถึง การใช้ปัสสาวะตนเองในการส่งเสริมสุขภาพ รักษาโรค การใช้ปัสสาวะบำบัดโรคปรากฏอยู่ในตำราโบราณของหลายชนชาติมาแต่โบราณกาล ปัจจุบันมีแหล่งข้อมูลที่อ้างอิงการวิจัยในต่างประเทศเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ปัสสาวะบำบัด แต่พบว่าจำนวนงานวิจัยยังมีไม่มาก สำหรับประเทศไทย ข้อมูลเกี่ยวกับปัสสาวะบำบัดเป็นข้อมูลจากผู้ที่มีประสบการณ์ตรงจากการใช้ปัสสาวะบำบัด มากกว่าแหล่งข้อมูลด้านวิชาการ เช่น งานวิจัย หรือบทความจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้

การดื่มหรือการใช้น้ำปัสสาวะของคนหรือของสัตว์เพื่อการบำบัดโรคนั้น ถูกบันทึกไว้ว่ามีการใช้กันทั่วโลกมานานกว่าพันปี ผู้คนที่ใช้ปัสสาวะบำบัด เรียกปัสสาวะว่าเป็น “ทองคำจากเลือด” และ “ยาอายุวัฒนะ”

วิธีใช้ปัสสาวะบำบัด

กลุ่มผู้ที่ใช้ปัสสาวะตัวเองเพื่อผลทางสุขภาพได้มีวิธีการใช้ปัสสาวะบำบัด 2 แบบ ได้แก่ แบบใช้ภายในร่างกายและแบบใช้ภายนอกร่างกาย โดยเชื่อว่าจะให้ผลดีต่อสุขภาพดังนี้

  1. แบบใช้ภายในร่างกาย เป็นการดื่ม การกลั้วคอ การสวนทวาร หรือการสูดเข้าจมูก
    1. การดื่มปัสสาวะ จะดื่มปัสสาวะในตอนเช้า โดยปัสสาวะที่ใช้สำหรับดื่มจะเป็นน้ำปัสสาวะในช่วงกลาง กล่าวคือ ให้ปัสสาวะทิ้งไปก่อนสักเล็กน้อย จากนั้นจึงใช้แก้วรองปัสสาวะไว้สำหรับดื่ม ปริมาณปัสสาวะที่ดื่มจะเริ่มจาก 5-10 หยดในครั้งแรก จากนั้นจึงจะเพิ่มปริมาณขึ้นเอยๆ จนถึง 1 แก้ว เชื่อว่าการดื่มปัสสาวะตลอดทั้งวัน (ยกเว้นตอนเย็น) และดื่มน้ำสะอาดตามด้วย หรือนำปัสสาวะ 1 หยด ใส่ลงในน้ำ 1 ช้อนชา เขย่าประมาณ 50 ครั้ง หรือในวันแรกจะหยดปัสสาวะ 1-5 หยดในปาก วันต่อมาอาจหยด 6-10 หยด และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกว่าจะชิน เป็นการล้างพิษออกจากร่างกายทางอุจจาระ เหงื่อ และทางเดินหายใจ ส่งผลให้เลือดสะอาดขึ้น
    2. กลั้วคอ ใช้น้ำปัสสาวะช่วงกลางปริมาณ 30 มิลลิลิตร กลั้วคอเมื่อมีอาการเจ็บคอ ปวดฟัน และเมื่อมีอาการไอเป็นหวัด
    3. สวนทวาร เป็นการสวนปัสสาวะเข้าไปทางทวารหนัก เพื่อล้างลำไส้และเป็นการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกาย
    4. สูดเข้าจมูก สูดเอาปัสสาวะสดๆ ตอนเช้าเข้าจมูกทั้งสองข้าง เพื่อล้างโพรงจมูกสำหรับคนที่เป็นไซนัส เป็นหวัด ภูมิแพ้ หรือ ผู้ที่มีอาการน้ำมูกไหลเป็นประจำ
  2. แบบใช้ภายนอกร่างกาย เป็นการทาและนวดผิวหนัง ล้างเท้า หรือสระผม
    1. ทาและนวดผิวหนัง โดยการนวดร่างกายทั้งหมด หรือ บางส่วนทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วล้างออก จะช่วยรักษาโรคผิวหนัง หรือผิวหนังที่โดนแดดเผา เนื่องจากสารยูเรียในปัสสาวะเปรียบเสมือนมอยส์เจอไรเซอร์ หรือสารทำความชื้นในเครื่องสำอาง
    2. ล้างเท้า กรณีมีปัญหาที่ผิวหนังและเล็บเท้า
    3. สระผม ช่วยทำให้ผมสะอาด นุ่มสลวย และทำให้ผมดกขึ้น

ปัสสาวะบำบัดเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลสุขภาพเท่านั้น ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรได้รับการรักษาด้วยการแพทย์ปัจจุบัน เช่น การรับประทานยา การผ่าตัด ร่วมกับการปรับพฤติกรรมให้เหมาะสมกับโรค ปัสสาวะที่ใช้ดื่มควรเป็นปัสสาวะในตอนเช้าหลังตื่นนอน ไม่ควรดื่มทั้งวัน หรือดื่มแทนน้ำ

อาการที่เกิดขึ้นได้ระหว่างวันแรกๆ ที่ดื่มน้ำปัสสาวะ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ใจสั่น ท้องเสีย หรือมีไข้ต่ำๆ ข้อควรระวังสำหรับการใช้ปัสสาวะบำบัดคือ อย่าดื่มหรือใช้น้ำปัสสาวะของคนอื่น และผู้ที่มีโรคระบบทางเดินปัสสาวะ มีประจำเดือน ไม่ควรดื่มน้ำปัสสาวะ เพราะอาจมีเชื้อโรคติดมาด้วย


2 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
นพ. สมเกียรติ ศรไพศาล, ปัสสาวะบำบัด (https://thaicam.go.th/wp-content/uploads/2019/06/บทความ.pdf)
จุฑา ลิ้มสุวัฒน์, การรวบรวมองค์ความรู้เรื่องปัสสาวะบำบัด (Urine therapy) (Short url: at/wDIY5), สืบค้น 7 กรกฎาคม 2562.

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)