ทานตะวัน (Sunflower)

ประโยชน์ของทานตะวัน แนวทางการใช้เพื่อสุขภาพ ตัวอย่างเมนูน่ากินจากทานตะวัน และข้อควรระวัง
เผยแพร่ครั้งแรก 6 พ.ค. 2019 อัปเดตล่าสุด 17 พ.ย. 2020 ตรวจสอบความถูกต้อง 22 ต.ค. 2019 เวลาอ่านประมาณ 3 นาที
ทานตะวัน (Sunflower)

ประโยชน์ของทานตะวัน แนวทางการใช้เพื่อสุขภาพ ตัวอย่างเมนูน่ากินจากทานตะวัน และข้อควรระวัง

ทานตะวันเป็นดอกไม้สีเหลืองที่มีลักษณะเด่นคือหันช่อดอกไปยังทิศของดวงอาทิตย์ คือหันไปยังทิศตะวันออกในตอนเช้า และหันไปยังทิศตะวันตก เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า นอกจากสีสันที่โดดเด่นแล้ว ทานตะวันยังสามารถนำไปทำประโยชน์ได้มากมาย ทั้งในส่วนของเมล็ด ใบ ดอก และลำต้น

แพ็กเกจที่คุณอาจสนใจ
ปรึกษาเภสัช สั่งยา ฟรีค่าส่งทั่วประเทศ*

แชทกับเภสัชกรฟรี! 9 โมงเช้าถึงเที่ยงคืน พร้อมรับส่วนลดค่ายา 5% HDmall ออกค่าส่งให้สูงสุด 40 บาท

ทำความรู้จักทานตะวัน

ทานตะวัน (Sunflower) เป็นพืชล้มลุกที่มีอายุประมาณ 1 ปี มีถิ่นกำเนิดในประเทศสหรัฐอเมริกา และมีหลักฐานว่าเป็นพืชที่ได้รับการปลูกในประเทศเม็กซิโกมาตั้งแต่ 4,000 ปีที่แล้ว ลำต้นมีลักษณะเป็นแกนแข็งตั้งตรงสูงประมาณ 3 เมตร ใบเป็นขอบหยักทรงหัวใจ ส่วนดอกทานตะวันเป็นมีลักษณะเป็นจานขนาดใหญ่ที่มีกลีบดอกซ้อนกันเป็นชั้น มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25-30 เซนติเมตร

ประโยชน์ของทานตะวัน

ทานตะวันสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ดังนี้

  1. บรรเทาอาการจากโรคเบาหวาน ใบของต้นทานตะวัน สามารถนำมารับประทานเพื่อช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ แต่ควรปรึกษาแพทย์แผนปัจจุบันก่อนใช้รับประทานทุกครั้ง
  2. บรรเทาอาการแสบร้อนจากแผลไฟไหม้ นำใบทานตะวันสดมาล้างให้สะอาดแล้วโขลกให้แหลก พอกไว้บริเวณแผลที่โดนไฟไหม้เป็นประจำจนกว่าจะหาย
  3. บรรเทาอาการปวดฟัน นำดอกทานตะวันไปตากแดดให้แห้ง แล้วใช้ประมาณ 25 กรัม นำมามวนสูบเหมือนยาสูบ จะช่วยบรรเทาอาการปวดฟันลงชั่วคราวได้ แนะนำว่าควรรีบไปพบทันตแพทย์ เพื่อรักษาฟันที่เป็นสาเหตุของการปวดโดยตรง
  4. แก้ปวดประจำเดือน นำฐานรองดอก 1 อัน หรือประมาณ 30-60 กรัม ผสมกับน้ำตาลทรายแดง 30 กรัม และกระเพาะหมู ต้มกับน้ำเปล่า ดื่มก่อนประจำเดือนจะมา ช่วยบรรเทาอาการปวดได้ดี
  5. รักษาแผลสด นำต้นทานตะวันมาสกัดเป็นขี้ผึ้งเก็บใส่กระปุกหรือตลับ เมื่อเป็นแผลสดก็ให้นำขี้ผึ้งนี้ไปทาแผล จะช่วยให้แผลหายเร็วขึ้น และไม่ทิ้งรอยแผลเป็นไว้
  6. ขับพยาธิไส้เดือน ใช้รากสดประมาณ 25-30 กรัม ต้มกับน้ำสะอาดและน้ำตาลทรายแดง ดื่มเมื่อต้องการถ่ายพยาธิ
  7. ป้องกันการเกิดโรคมะเร็ง ต้นอ่อนทานตะวัน มีสารประกอบฟีนอล ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้เป็นอย่างดี
  8. ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ในเมล็ดทานตะวัน เต็มไปด้วยวิตามินอี ที่ช่วยกระตุ้นให้ร่างกายผลิตเม็ดเลือดแดงมากขึ้น จึงช่วยทำให้ระบบไหลเวียนโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
  9. ลดคอเลสเตอรอล น้ำมันที่สกัดจากเมล็ดทานตะวัน สามารถลดระดับคอเลสเตอรอลลงได้ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีต่อสุขภาพหลายชนิด ปัจจุบันจึงมีความนิยมนำไปใช้เป็นน้ำมันสำหรับประกอบอาหารมากขึ้น
  10. บรรเทาอาการหูอื้อ นำเปลือกของเมล็ดทานตะวัน ประมาณ 5-10 กรัม มาล้างน้ำเปล่าให้สะอาด แล้วนำไปต้ม กรองเอากากของเมล็ดทิ้งก่อนดื่ม จะช่วยให้อาการดีขึ้น
  11. ขับปัสสาวะ ใช้แกนต้น 15 กรัม ต้มน้ำกิน หรือรากสด 15- 30 กรัม คั้นน้ำแล้วผสมกับน้ำผึ้งกิน 
  12. จากการวิจัยของ Lucian Blaga University of Sibiu ประเทศโรมาเนีย พบว่าน้ำมันที่สกัดจากเมล็ดดอกทานตะวันสามารถให้ความชุ่มชื้นกับผิวได้เป็นอย่างดี

เมนูสุขภาพจากทานตะวัน

ส่วนของต้นทานตะวันที่นิยมนำมารับประทานมากที่สุด ได้แก่ต้นอ่อน และเมล็ดทานตะวัน โดยมีเมนูตัวอย่างง่ายๆ แนะนำดังนี้

  1. ต้นอ่อนทานตะวันผัดน้ำมันหอย เริ่มจากตั้งกระทะใส่น้ำมันเมล็ดดอกทานตะวัน เจียวกระเทียม แล้วใส่เห็ดหอมลงไปผัดจนสุก ตามด้วยต้นอ่อนทานตะวัน และพริกชี้ฟ้าแดง ปรุงรสตามชอบ  รีบผัดพอให้ต้นอ่อนทานตะวันสลด ตักขึ้นใส่จาน
  2. ยำต้นอ่อนทานตะวัน เริ่มจากทำน้ำยำ โดยการผสมพริกสด น้ำปลา มะนาว และปรุงด้วยน้ำตาลตามชอบ คนให้น้ำยำเข้ากัน จากนั้นนำต้นอ่อนทานตะวัน มะเขือเทศ เห็ดเข็มทอง แครอท และเนื้อสัตว์ตามใจชอบ (ลวกเนื้อสัตว์ให้สุกก่อน) ไปคลุกกับน้ำยำ
  3. สลัดทานตะวัน นำต้นอ่อนทานตะวันใส่รวมกับผักชนิดอื่นๆ เช่น แครอท แตงกวา กะหล่ำปลี ผักกาดหอม เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการให้มากขึ้น ด้วยการใส่ไข่ต้มหรืออกไก่ย่างหรือนึ่งเข้าไป ราดด้วยน้ำสลัดรสที่ชอบ พร้อมรับประทานทันที
  4. เมล็ดทานตะวันคั่วเกลือ นำเมล็ดทานตะวันมาคั่วให้แห้ง เติมเกลือลงไปเล็กน้อย นำมารับประทานในมื้อว่าง

ข้อควรระวัง

สตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีส่วนประกอบของต้นทานตะวัน เนื่องจากเคยมีการทดลองในหนูขาว พบว่าสารบางชนิดในน้ำมันจากเมล็ดทานตะวัน ทำให้เกิดภาวะแท้งได้ ผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้ควรใช้ด้วยความระมัดระวัง


7 แหล่งข้อมูล
กองบรรณาธิการ HD มุ่งมั่นตั้งใจให้ผู้อ่านได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง โดยทำงานร่วมกับแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงเลือกใช้ข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือจากสถาบันต่างๆ คุณสามารถอ่านหลักการทำงานของกองบรรณาธิการ HD ได้ที่นี่
Herbpathy, Sunflower Herbs Uses, Benefits, Cures, Side Effects, Nutrients (https://herbpathy.com/Uses-and-Benefits-of-Sunflower-Cid808)
Meenakshi Nagdeve, Benefits & Uses Of Sunflower (https://www.organicfacts.net/sunflower.html), 13 February 2019
ไทยเกษตรศาสตร์, ทานตะวันมีประโยชน์อย่างไร (https://www.thaikasetsart.com/ต้นทานตะวัน), 4 สิงหาคม 2556

บทความนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่ผู้อ่าน และไม่สามารถแทนการแนะนำของแพทย์ การวินิจฉัยโรค หรือการรักษาได้ ผู้อ่านควรพบแพทย์เพื่อให้แพทย์ตรวจที่สถานพยาบาลทุกครั้ง และไม่ควรตีความเองหรือวางแผนการรักษาด้วยตัวเองจากการอ่านบทความนี้ ทาง HD พยายามอัปเดตข้อมูลให้ครบถ้วนถูกต้องอยู่เสมอ คุณสามารถส่งคำแนะนำได้ที่ https://honestdocs.typeform.com/to/kkohc7

ผู้เขียนและผู้รีวิวบทความไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสินค้าหรือบริการที่นำเสนอแต่อย่างใด เว้นแต่จะระบุในเนื้อหา การแนะนำสินค้าและบริการแสดงขึ้นอัตโนมัติจากระบบของเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน

ขอบคุณที่อ่านค่ะ คุณคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์มากแค่ไหนคะ
(1 ดาว - น้อย / 5 ดาว - มาก)

บทความต่อไป